โคเวสโตร เป็นหนึ่งในผู้ผลิตวัสดุโพลิเมอร์และส่วนประกอบทางโพลิเมอร์คุณภาพสูงชั้นนำของโลก ด้วยนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ กระบวนการ และวิธีการที่ช่วยส่งเสริมความยั่งยืนและคุณภาพชีวิตในหลายแง่มุม

โคเวสโตร ให้บริการลูกค้าทั่วโลกในอุตสาหกรรมหลัก เช่น การเดินทางและการขนส่ง อาคารและที่อยู่อาศัย ตลอดจนอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ โพลีเมอร์จากโคเวสโตร ยังใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น กีฬาและสันทนาการเครื่องสำอางและสุขภาพ ตลอดจนในอุตสาหกรรมเคมีด้วย

โคเวสโตร สร้างยอดขายได้ประมาณ 15.9 พันล้านยูโรในปีงบประมาณ 2564 บริษัทมีโรงงานผลิต 50 แห่งทั่วโลกและมีพนักงานประมาณ 17,900 คน รวมถึงประเทศไทย

นายมาร์คุส สไตเลอแมน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารโคเวสโตร กล่าวว่า บริษัท ได้กำหนดวิสัยทัศน์องค์กรเพื่อมุ่งสู่การหมุนเวียนอย่างเต็มรูปแบบ หนึ่งในมาตรการสำคัญตามแนวทางนี้คือความเป็นกลางทางสภาพภูมิอากาศ โดยกลุ่มบริษัท โคเวสโตร ตั้งเป้าหมายการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas หรือ GHG ) ให้เป็นศูนย์ภายในปี 2578

โดยในปี 2573 บริษัทมีเป้าหมายที่จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 60% จากการดำเนินกิจกรรมในส่วนการผลิตของบริษัทเอง (scope 1) และจากแหล่งพลังงานจากภาย นอก (scope 2) หรือลดลงไปที่ 2.2 ล้านเมตริกตันภายในปี 2573 จากฐานปี 2563 ที่มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยูที่ 5.6 ล้านเมตริกตัน

“โคเวสโตร” ทุ่ม 2 หมื่นล้าน  ลดก๊าซเรือนกระจก 60% ปี 73

นอกจากนี้ จะทำการลดการปล่อยปริมาณก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมตลอดกระบวนการผลิต (scope 3) ควบคู่ไปด้วย ซึ่งในปี 2564 ที่ผ่านมาโคเวสโตรได้ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่มาจากการผลิตต่อเมตริกตันลง 54% เมื่อเทียบกับปี 2548 ถือว่าสำเร็จเกินกว่าเป้าหมายความยั่งยืนที่กำหนดไว้สำหรับปี 2568

การบรรลุเป้าหมายการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์นี้ จะมีการทยอยลงทุนในแต่ละปีประมาณ 100 ล้านยูโร ที่คาดว่าจะใช้เงินลงทุนทั้งหมดราว 600 ล้านยูโร หรือประมาณ 21,00 ล้านบาท ภายในปี 2573 ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้ 100 ล้านยูโรต่อปีหรือประมาณ 3,500 ล้านบาทต่อปี

นายมาร์คุส สไตเลอแมน กล่าวอีกว่า ในเศรษฐกิจหมุนเวียนนี้ จะสามารถปกป้องสภาพภูมิอากาศ ธรรมชาติ และทรัพยากร เพื่อบรรลุการเติบโตอย่างยั่งยืนที่เคารพขอบเขตและขีดจำกัดของโลกโคเวสโตรและอุตสาหกรรมเคมีเป็นส่วนหนึ่งของทางแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งความยั่งยืนไม่สามารถทำสำเร็จได้โดยลำพัง ต้องอาศัยความพยายามที่มากขึ้นจากทุกฝ่ายเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย”

ทั้งนี้ การดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว โคเวสโตรทั่วโลก ได้ดำเนินงานใน 3 ส่วนที่เกี่ยวข้องได้แก่ 1.การปรับปรุงกระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานเพื่อให้เกิดการผลิตที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น ที่นำไปสู่การลดปริมาณการปล่อยก๊าซฯ ผ่านการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมตัวเร่งปฏิกิริยา พร้อมกับนำระบบเทคโนโลยีดิจิตัลมาใช้ควบคุมโรงงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมากขึ้น และยังช่วยประมวลและติดตามข้อมูลการปล่อยก๊าซตลอดห่วงโซ่คุณค่าได้อีกด้วย 

2.โรงงานผลิตของโคเวสโตรทั่วโลกจะค่อย ๆ เปลี่ยนไปใช้พลังงานไฟฟ้าทดแทน รวมถึงการใช้พลังงานลมนอกชายฝั่ง เช่น มีการสนับสนุนความร่วมมือ เช่น ผ่านความตกลงการซัพพลายพลังงานกับบริษัทจัดหาพลังงาน Ørsted ซึ่งจะครอบคลุมความต้องการใช้พลังงาน 10 % ของโรงงานของบริษัทในประเทศเยอรมนีตั้งแต่ปี ค.ศ. 2025 เป็นต้นไป มีการนำพลังงานลมบนชายฝั่งมาใช้ เช่น ภายใต้ความตกลงการซื้อพลังงานจาก ENGIE ที่ครอบคลุมความต้องการใช้พลังงาน 45% ของโรงงานโคเวสโตรในเมืองแอนต์เวิร์ป ประเทศเบลเยี่ยม หรือโรงงานโคเวสโตรที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ประมาณ 10% มาจากโซลาร์ ปาร์คของบริษัท Datang Wuzhong New Energy รวมถึงยังมีแผนที่จะทำความตกลงอื่นๆ เพื่อให้บรรลุปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์สุทธิที่เป็นศูนย์

 3.การนำพลังงานสะอาด เช่น ก๊าซชีวภาพ ก๊าซธรรมชาติ ไฮโดรเจน แอมโมเนีย และไฟฟ้าที่ได้จากแหล่งธรรมชาติ ใช้เป็นแหล่งพลังงานทดแทน แหล่งพลังงานจากฟอสซิลสำหรับการผลิตไอน้ำ

นายมาร์คุส สไตเลอแมน กล่าวเสริมอีกว่า นอกจากนี้โคเวสโตร ยังได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ทุกชนิดในรูปแบบที่เป็นกลางทางสภาพภูมิอากาศ ที่มุ่งเน้นเปลี่ยนกระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ทั้งหมด ให้เป็นไปตามหลักการหมุนเวียนในระยะยาว และตั้งใจที่จะสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายสภาพภูมิอากาศของบริษัทและลูกค้าในเวลาเดียวกัน อาทิ การผลิตเมทิลีนไดฟีนิลไดไอโซไซยาเนต หรือ MDI ที่ใช้เป็นวัตถุดิบผลิตโฟมโพลียูรีเทน (PU) ที่มีการใช้เป็นจำนวนมากเป็นฉนวนกันความร้อนที่มีประสิทธิภาพสูงมากสำหรับอาคารและตู้เย็น

ปัจจุบันโคเวสโตรได้เพิ่ม MDI ที่มีความเป็นกลางทางสภาพภูมิอากาศตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำ เข้าสู่สายผลิตภัณฑ์ ซึ่งการใช้ผลิตภัณฑ์ฉนวนกันความร้อน PU จะสามารถช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2  ได้เทียบเท่ากับ 40 ล้านเมตริกตัน

รวมถึงการนำนวัตกรรมใหม่มาผลิตโพลีคาร์บอเนต ที่มีความเป็นกลางทางสภาพภูมิอากาศ แบบแรกของโลก ที่ผลิตโดยใช้วัตถุดิบจากของเสียที่เป็นสมดุลมวลสารชีวภาพและวัสดุเหลือใช้ มาใช้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี เช่น การใช้ตัวชาร์จ EVโพลีคาร์โบเนต ที่มีความเป็นกลางทางสภาพภูมิอากาศ สามารถประหยัดพลังงานเทียบเท่ากับการลดการปล่อยก๊าซ CO2 ได้มากถึง 450 กิโลตันภายในปี 2573 ซึ่งผลิตภัณฑ์ของโคเวสโตรนี้ ได้ถูกส่งไปยังลูกค้าแล้วตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3773 วันที่ 10-13 เมษายน 2565

Source : ฐานเศรษฐกิจ

การขาดแคลนกราไฟท์วัตถุดิบในการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ที่ใช้ในยานยนต์ไฟฟ้าอาจต้องชะลอการขับเคลื่อนทั่วโลกให้เป็นสีเขียว

แบตเตอรี่รถยนต์ขาดแคลน เพราะ กราไฟต์ซึ่งเป็นแร่ธาตุสำคัญที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ประสบปัญหาการขาดแคลนอุปทานท่ามกลางความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่พุ่งสูงขึ้น อาจชะลอการขับเคลื่อนทั่วโลกให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

กราไฟต์ใช้สำหรับการเป็นขั้วลบของแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่เรียกว่าแอโนด ผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลกมักใช้แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนเพื่อขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้า (EV)

จอร์จ มิลเลอร์ (George Miller) นักวิเคราะห์จากผู้ให้บริการข้อมูลด้านวัสดุแบตเตอรี่และหน่วยข่าวกรองในลอนดอน เปิดเผยว่า ด้วยยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าที่คาดว่าจะสูงถึง 11 ล้านคันในปี 2022 อาจมีกราไฟต์ขาดดุลประมาณ 40,000 ตันในปีนี้

“มีความเป็นไปได้ที่จะขาดวัตถุดิบในกราไฟท์ ซึ่งจะขัดขวางอัตราการใช้ประโยชน์ที่เซลล์ [แบตเตอรี่] และโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า แม้ว่าการขาดดุลจะไม่ทำลายความต้องการรถยนต์ไฟฟ้า แต่ก็สามารถ ผลักดันไทม์ไลน์สำหรับการบูรณาการยานพาหนะไฟฟ้าในสังคมที่กว้างขึ้น” มิลเลอร์ กล่าว

พร้อมเสริมด้วยว่า “รัฐบาลได้ส่งเสริมให้ผู้ผลิตรถยนต์ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าด้วยเงินอุดหนุนและการเปลี่ยนแปลงนโยบาย ในขณะที่ผู้บริโภครถยนต์ไฟฟ้ายอมรับเพิ่มขึ้นด้วย การเติบโตของความต้องการกราไฟท์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 18% เมื่อเทียบเป็นรายปีจนถึงปี 2030 ตามเกณฑ์มาตรฐานแร่ธาตุ

มิลเลอร์ กล่าวต่อว่า “แนวโน้มอุปสงค์มีความแข็งแกร่งอย่างเหลือเชื่อสำหรับกราไฟท์ มันจะยังคงเป็นแร่ธาตุที่สำคัญสำหรับการเติบโตของลิเธียมไอออนและการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน มีกราไฟท์เกล็ดธรรมชาติประมาณ 50-100 กิโลกรัมในรถยนต์ไฟฟ้าทุกคันที่ใช้วัสดุแอโนดกราไฟท์ธรรมชาติ”

ซูซาน ชอว์ (Suzanne Shaw) นักวิเคราะห์หลักของ วู้ด แมคเคนซี่ (Wood Mackenzie) ที่ปรึกษาด้านพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ คาดการณ์ว่าความต้องการกราไฟท์ทั้งหมดจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในปี 2035 โดยได้แรงหนุนจากการเติบโตของแบตเตอรี่ที่แข็งแกร่ง

“ในขณะที่ปริมาณกราไฟท์ไม่ได้หายากและตัวเลขอุปทานทั้งหมดมักจะตอบสนองความต้องการ แต่อุปทานกราไฟท์เกรดแบตเตอรี่ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับแบตเตอรี่ในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้านั้นเข้มงวดกว่ามาก” ชอว์ เขียนระบุ

“ในแง่ของวัตถุดิบ จีนคิดเป็น 76% ของการจัดหากราไฟท์ธรรมชาติของโลก และ 56% ของการจัดหากราไฟท์สังเคราะห์ โดยทั่วไปแล้ว การผลิตของจีนจะมีราคาถูกกว่าในภูมิภาคอื่นๆ มาก เนื่องจากต้นทุนแรงงาน พลังงาน และรีเอเจนต์ต่ำกว่ามาก” ชอว์ กล่าว

ในปี 2021 จีนเป็นผู้ผลิตกราไฟท์ธรรมชาติชั้นนำของโลก โดยผลิตได้ประมาณ 820,000 ตันหรือประมาณ 79% ของผลผลิตทั้งหมดทั่วโลก ตามรายงานของสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐในเดือนมกราคม

จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในภาคปลายน้ำซึ่งรวมถึงแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน คาดว่าจีนจะผลิตกราไฟท์ธรรมชาติได้ประมาณ 913,000 ตันในปี 2568 ตามรายงานของฟรอส์ทแอนด์ซัลลิแวน (Frost & Sullivan) ในหนังสือชี้ชวนการเสนอขายหุ้น IPO ของ China Graphite Group เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์

เดนนิส อิป (Dennis Ip) และลีโอ โฮ (Leo Ho) นักวิเคราะห์จากไดวะแคปิตอลมาร์เก็ต (Daiwa Capital Markets) ระบุว่า “ตลาดแอโนดแกรไฟต์มีความตึงตัว ซึ่งน่าจะคงอยู่จนถึงสิ้นปีนี้”

ราคากราไฟท์ส่วนใหญ่มีเสถียรภาพโดยผลิตภัณฑ์ระดับล่างที่ 35,000 หยวนต่อตัน และผลิตภัณฑ์ระดับไฮเอนด์ที่ 60,000 หยวนต่อตัน กราไฟต์คิดเป็นประมาณ 5-15% ของต้นทุนในแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าทั่วไป

ในขณะที่ Benchmark Mineral Intelligence คาดการณ์ถึงการขาดแคลนกราไฟท์ที่อาจเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้ แต่สิ่งนี้สามารถจูงใจให้ราคาสูงขึ้นและทำให้อุปทานแร่เข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป “ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าจะเพียงพอหรือไม่ที่จะป้องกันปัญหาการขาดแคลนในตลาด แต่หวังว่าเราจะได้เห็นภายในสิ้นปีนี้”

Source : Spring News

สรรพสามิต ปลื้มยอดจองรถอีวี ในงานมอเตอร์โชว์กว่า 3 พันคัน คาดหลังสงกรานต์ ค่ายรถทั้งจีนและญี่ปุ่นตบเท้าเข้าทำ MOU ร่วมมาตรการส่งเสริมฯอีวี ต่อเนื่อง พร้อมเผย ช่วงต้น พ.ค. นี้ รองนายก ”สุพัฒนพงษ์” ลุยโรดโชว์ญี่ปุ่นคุยทุกค่ายรถ หวังดึงเข้ามาลงทุนผลิตรถอีวีในไทย

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรมสรรพสามิตเริ่มเห็นสัญญาณการหันมาใช้รถอีวีเพิ่มมากขึ้น หลังจากบริษัท เกรทวอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และบริษัทเอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้เข้าร่วมมาตรการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรือ อีวี  

ซึ่งเริ่มจำหน่ายในงานมอเตอร์โชว์ที่จบลงเมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา พบว่า มียอดจองรถอีวีเข้ามากว่า 3,000 คัน คิดเป็น 10% จากยอดจองรถทั้งหมดภายในงาน 30,000 คัน ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีมาก

ขณะที่ค่ายรถน้องใหม่ อย่าง เนต้า ก็มีการทำหนังสือถึงกรมสรรพสามิต โดยระบุอย่างชัดเจนว่าสนใจเข้าร่วมมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในไทย ตั้งแต่ช่วงการจัดงานมอเตอร์โชว์ที่ผ่านมา คาดว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการปรึกษาบริษัทแม่ และจัดทำรายละเอียดแพ็คเกจรถอีวีเพิ่มเติม ซึ่งเชื่อว่าจะเข้ามาทำ MOU ได้ในไม่ช้านี้

“จากยอดจองรถอีวีในงานมอเตอร์โชว์ ถือเป็นสัญญาณที่ดี และเชื่อว่าโมเม้นตั้มจะไปเร็ว ซึ่งจากยอดจองในงาน เมื่อมีการจดทะเบียนรถเกิดขึ้น ทางค่ายรถยนต์ก็จะสามารถนำยอดมาเคลมรับเงินอุดหนุนจากสรรพสามิต ตั้งแต่ 70,000-150,000 บาท

ซึ่งใบจดทะเบียนรถจะเป็นหลักฐานสำคัญว่าเกิดการซื้อขายจริง แม้ตัวเลขที่เกิดขึ้นจะเป็นยอดจอง แต่ถือเป็นการนับ 1 เพราะจะมีการซื้อเกิดขึ้นจริง ราคารถอีวีมีการปรับลดจริง มีดีมานด์เกิดขึ้นจริง กรมฯ ยืนยันรัฐบาลมีเงินสนับสนุนตามที่ประกาศไว้อย่างแน่นอน” นายลวรณ กล่าว

ลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต
ลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต 

ทั้งนี้ มาตรการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรือ อีวี  จากรัฐบาลไทย ค่ายรถยนต์ที่เข้าร่วมต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ในปีที่ 3 คืนในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 หรือเท่ากับจำนวนที่นำเข้ามาขายในช่วง 2 ปีแรก ส่วนปีที่ 4 จะต้องผลิตคืนในอัตราส่วน 1 ต่อ 1.5

หากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขจะมีบทลงโทษ ตามเงื่อนไข ในเอ็มโอยู ตามที่ได้มีการเซ็นสัญญาไว้ เช่น เบี้ยปรับเงินเพิ่มจากภาษีอากรขาเข้า และภาษีสรรพสามิต

นายลวรณ กล่าวอีกว่า ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมนี้ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ซึ่งมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เป็นประธาน จะเดินทางไปที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อหารือกับผู้ประกอบการรถยนต์ในญี่ปุ่นทุกค่าย ตามระเบียบของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)

ซึ่งจะผลักดันและสนับสนุนการลงทุนรถอีวีในประเทศไทย ซึ่งยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่ารัฐบาลต้องการขับเคลื่อนนโยบายการใช้รถอีวีอย่างเต็มที่ และอยากให้ทุกค่ายรถอีวีเข้ามาร่วมมาตรการส่งเสริมการใช้รถอีวีในประเทศไทยด้วย โดยแพ็คเกจมาตรการเปิดกว้างให้กับทุกค่ายรถยนต์

ส่วนกรณีการลดอัตราภาษีสรรพสามิตรถอีวี เพื่อสนับสนุนให้รถอีวีมีราคาถูกลง จาก 8% เหลือ 2% ซึ่งยังไม่ได้มีการประกาศลงราชกิจจานุเบกษานั้น นายลวรณ ระบุว่า กรณีดังกล่าวจะไม่มีปัญหา และจะทันในการจำหน่ายรถอีวีล็อตใหม่แน่นอน

หรือหากไม่ทัน ก็สามารถระบุในประกาศให้มีผลย้อนหลังได้ ฉะนั้น ผู้ที่มีความต้องการซื้อรถอีวี ไม่ต้องกังวลในเรื่องภาษีดังกล่าว โดยยืนยันจะได้รับสิทธิส่วนลดภาษีสรรพสามิตอย่างแน่นอน 

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้ค่ายรถยนต์โตโยต้า ได้แสดงความสนใจขอเข้าร่วมมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามาที่กรมสรรพสามิตแล้ว ซึ่งคาดว่าจะมีการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันในช่วงหลังสงกรานต์ หรือ ภายในเมษายนนี้

ซึ่งจะถือเป็นค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นค่ายแรก ที่เข้าร่วมมาตรการ และเชื่อว่าจะยิ่งเป็นตัวเร่งให้ค่ายรถอื่นๆ ทั้งของญี่ปุ่น และยุโรป ตื่นตัวและเข้าร่วมมาตรการตามมาอย่างแน่นอน เพื่อไม่ให้เสียโอกาสทางธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม ได้มีค่ายรถยนต์น้องใหม่จากจีน 3 ค่าย ที่ได้แจ้งความสนใจมาที่กรมสรรพสามิตเพื่อเข้าร่วมมาตรการส่งเสริมใช้อีวีแล้ว ได้แก่ ค่ายเนต้า ค่ายจีลี่ และค่ายฉางอัน ซึ่งขณะนี้กำลังหารือในรายละเอียดร่วมกันอยู่

ขณะที่ค่ายรถญี่ปุ่นอย่างฮอนด้า ก็มีความสนใจ แต่ในกระบวนการผลิต และในรายละเอียดอื่นๆ อาจจะดำเนินการไม่ทัน โดยอาจจะเข้าร่วมแพ็กเกจได้ในปี 2566

Source : ฐานเศรษฐกิจ

การไฟฟ้านครหลวง เปิดใช้งาน MEA EV Application เวอร์ชันใหม่ ครบทุกเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าซึ่งเปิดให้ดาวน์โหลดฟรี สะดวก แม่นยำ ทันสมัย พร้อมสิทธิพิเศษชาร์จไฟฟรี ถึงวันที่ 30 มิ.ย. 65 สำหรับหัวชาร์จ MEA EV จำนวน 22 สถานี ที่ทำการไฟฟ้านครหลวงเขตต่างๆ เชื่อมต่อ Platform ระบบบริหารจัดการเครื่องอัดประจุไฟฟ้าอัจฉริยะ Function โดยอำนวยความสะดวกครบครันแก่ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า

วันนี้ (7 เม.ย.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข่าวสารในสื่อสังคมออนไลน์เรื่อง MEA เปิดใช้ MEA EV Application มอบสิทธิพิเศษชาร์จไฟฟรี ถึง 30 มิ.ย. 65 ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย การไฟฟ้านครหลวง กระทรวงมหาดไทย พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลจริง

MEA หรือ การไฟฟ้านครหลวง ได้เปิดใช้งาน MEA EV Application เวอร์ชันใหม่ ครบทุกเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเปิดให้ดาวน์โหลดฟรี สะดวก แม่นยำ ทันสมัย พร้อมสิทธิพิเศษชาร์จไฟฟรี ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565 สำหรับหัวชาร์จ MEA EV จำนวน 22 สถานี ที่ทำการไฟฟ้านครหลวงเขตต่าง ๆ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ และที่บริเวณ 7-Eleven สาขาบ้านสวนลาซาล (ศรีนครินทร์) และ สาขาสน.บางขุนนนท์ สวนเบญจกิตติ พร้อมเชื่อมต่อ Platform ระบบบริหารจัดการเครื่องอัดประจุไฟฟ้าอัจฉริยะ Function โดยอำนวยความสะดวกครบครันแก่ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า ดังนี้

1. ทราบตำแหน่งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าทุกค่าย
2. จองหัวชาร์จล่วงหน้า
3. มีระบบนำทางไปสถานีชาร์จบนแผนที่
4. สั่ง Start/Stop การชาร์จ พร้อมทั้งแสดงข้อมูลการชาร์จ
5. ชำระเงินด้วย MEA Wallet แบบ Energy Based
6. ตรวจสอบประวัติการชาร์จได้
7. เชื่อมต่อกับ MEA EV Application

ทั้งหมดนี้ได้รองรับกับการใช้งานและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างครบวงจร ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลด MEA EV Application ได้ฟรี โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายทั้งในระบบปฏิบัติการ iOS และ Android ได้ที่ https://onelink.to/meaev

อย่างไรก็ตาม MEA ในฐานะหน่วยงานผู้รับผิดชอบด้านระบบจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ พร้อมขับเคลื่อนพลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร ตามแผนงานด้านพลังงานในการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย และพลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้ดำเนินนโยบายในด้านรถยนต์ไฟฟ้า (EV) มาอย่างต่อเนื่อง MEA ครบรอบ 10 ปี EV ในการเตรียมความพร้อมรองรับการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่จะมาทดแทนรถยนต์น้ำมันต่อไปในอนาคต ภายใต้โครงการ “มหานครสดใส ชาร์จไฟกับ กฟน.” ตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทย ในการติดตั้งหัวชาร์จ MEA EV จำนวน 100 หัวชาร์จ และจะดำเนินการติดตั้งหัวชาร์จ MEA EV ขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้าในพื้นที่สาธารณะในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ แล้วเสร็จครบทุกจุดในเดือนธันวาคม 2565 นี้ ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการใช้งานหัวชาร์จ MEA EV ที่ได้มาตรฐานและปลอดภัยครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ด้วยการใช้บริการหัวชาร์จที่สะดวกผ่าน MEA EV Application และจะดำเนินการติดตั้งหัวชาร์จ MEA EV แล้วเสร็จครบทุกจุดในเดือนธันวาคม

ทั้งนี้ ผู้ใช้ไฟฟ้าที่สนใจใช้บริการออกแบบและติดตั้งเครื่องชาร์จไฟยานยนต์ไฟฟ้าภายในที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยของ MEA สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ ศูนย์บริการข้อมูลผู้ใช้ไฟฟ้าการไฟฟ้านครหลวง MEA Call Center 1130 รวมถึงแจ้งผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ได้แก่

Facebook : การไฟฟ้านครหลวง MEA
Line : MEA Connect
Twitter: @mea_news
ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

Source : MGR Online

บมจ.ปัญจวัฒนาพลาสติก เซ็นบันทึกความร่วมมือกับ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ “EA” เพื่อการวิจัยและพัฒนาเปลือกแบตเตอรี่ – ระบบหล่อเย็นสำหรับแบตเตอรี่ และระบบหล่อเย็นสำหรับมอเตอร์ขับเคลื่อน ด้วยพลาสติกคุณภาพสูงเตรียมผลิตแบบจำลองภายในปีนี้ และเริ่มผลิตพาณิชย์ในปี 2566

วันนี้( 8 เม.ย.65) นายวิวรรธน์ เหมมณฑารพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ปัญจวัฒนาพลาสติก จำกัด (มหาชน) หรือ “PJW” เปิดเผยว่า บริษัทฯได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ “EA” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการวิจัยและพัฒนาเปลือกแบตเตอรี่ ระบบหล่อเย็นสำหรับแบตเตอรี่ และระบบหล่อเย็นสำหรับมอเตอร์ขับเคลื่อน ด้วยพลาสติกคุณภาพสูงที่มีคุณสมบัติพิเศษสามารถช่วยลดอุณหภูมิการทำงานของแบตเตอร์รี่ให้อยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสม คือ 20-40 องศาเซลเซียส และทนปฏิกิริยาเคมีได้ดี เข้ามาทดแทนส่วนประกอบของรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์ (Commercial Vehicle) ที่มาจากโลหะ เพื่อลดน้ำหนักของรถ สามารถเพิ่มระยะทางการวิ่งของรถ และลดจำนวนการชาร์จช่วยยืดอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ขึ้น พร้อมทั้งยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้นกว่าเดิม

โดยบริษัทฯคาดว่าจะสามารถผลิตแบบจำลอง (Prototype) ได้ภายในปี2565นี้  ก่อนที่จะเริ่มลงทุนเพื่อผลิตเปลือกแบตเตอรี่ ระบบหล่อเย็นสำหรับแบตเตอรี่ และระบบหล่อเย็นสำหรับมอเตอร์ขับเคลื่อน ด้วยพลาสติกคุณภาพสูงสำหรับรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ในปี 2566 โดยคาดว่าจะมียอดขายในปีแรกไม่ต่ำว่า 100 ล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นเป็น 500 ล้านบาท ภายในปี 2569

ในส่วนของรถยนต์นั่งส่วนบุคคล (Passenger Car) ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงมีชิ้นส่วนพลาสติก ที่บริษัทฯผลิตและจำหน่าย มีอยู่ทั้งหมด 3 ส่วน แบ่งเป็น 1.)อุปกรณ์ห้องเครื่องยนต์ สัดส่วน 10-20 %  2.)อุปกรณ์ตกแต่งภายนอก สัดส่วน 40- 50 % และอุปกรณ์ตกแต่งภายใน สัดส่วน 30-40 % หลังจากที่มีการปรับเปลี่ยนสู่รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไฟฟ้า (EV Car) จะส่งผลให้อุปกรณ์ในห้องเครื่องหายไปเกือบทั้งหมด ขณะที่สัดส่วนหลัก70-90 % คือ อุปกรณ์ตกแต่งภายใน และ อุปกรณ์ตกแต่งภายนอก ยังคงมีอยู่ ซึ่ง “PJW” ได้รับผลกระทบไม่มากนัก จากการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยานยนต์

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯได้มองหาการเติบโตเพิ่มเติมจากการเปลี่ยนแปลงของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลสู่พลังงานไฟฟ้า(EV Car) โดยในปี2566  บริษัทฯได้เตรียมที่จะนำองค์ความรู้ (Know-how) ที่ได้จากการพัฒนาส่วนประกอบในรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ มาต่อยอดเพื่อพัฒนาและผลิตชิ้นส่วนสำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไฟฟ้า โดยเฉพาะเปลือกแบตเตอรี่ที่มาจากพลาสติกคุณภาพสูง สำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไฟฟ้าที่สามารถวางแบตเตอรี่ได้เฉพาะใต้ท้องรถ และ มีการออกแบบจัดวางพื้นที่ในเชิงของวิศวกรรม ส่งผลให้รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไฟฟ้ามีจำนวนการใช้โลหะต่อกิโลวัตต์มากกว่ารถยนต์ไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์ถึงเท่าตัว

นอกจากนี้ ยังมีแผนในการวิจัยและพัฒนาชิ้นส่วนพลาสติกในระบบหล่อเย็นสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคล รวมไปถึงชิ้นส่วนพลาสติกในระบบระบบหล่อเย็นสำหรับมอเตอร์ขับเคลื่อน เพื่อที่จะให้มีการทำงานในอุณหภูมิที่เหมาะสม และช่วยน้ำหนักของรถลง โดยตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไฟฟ้าถือว่าเป็นตลาดขนาดใหญ่มาก โดยมีการประมาณการว่าในปี 2567 จะมีจำนวน 150,000-200,000  คัน และในปี 2568 จะมีจำนวน 250,000- 300,000  คัน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกๆปี ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องใช้แบตเตอรี่และระบบหล่อเย็นจำนวนมาก หรือคิดเป็นมูลค่าตลาดไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท และในอนาคตตลาดมีโอกาสที่จะเติบโตขึ้นเป็น 4,000-5,000  ล้านบาท ตามการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าที่ภาครัฐบาลมีนโยบายในการสนับสนุนให้มีการผลิตได้ครบ1 ล้านคัน ภายในปี 2573 

“การร่วมมือกับ “EA” ในครั้งนี้ ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงศักยภาพทางธุรกิจของ“ PJW ” สู่การบุกธุรกิจ EV อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างโอกาสใหม่ๆในการขยายตัวทางธุรกิจ รวมถึงยังเป็นการเปิดโอกาสในการหาผู้ร่วมทุนหรือพันธมิตรทางธุรกิจเข้ามาเพิ่มศักยภาพความแข็งแกร่ง และยังสามารถเพิ่มขีดการแข่งขันและยกระดับของบริษัทฯ ในการก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนพลาสติกยานยนต์ ที่มีนวัตกรรมเทคโนโลยีที่ได้มาตรฐานระดับโลก สอดรับกับยุคการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV Car) พร้อมทั้งเชื่อว่าเทรนด์การใช้รถ EV ในประเทศไทย สามารถเพิ่มโอกาสการเติบโตให้กับธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ได้อีกมาก จากนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐที่สนับสนุนให้มีการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า” 

Source : TNN online