กพช.เห็นชอบขยายระยะเวลาชดเชยราคาน้ำมันที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพออกไปอีก 2 ปีเป็นสิ้นสุด 24 ก.ย.2569 เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรและกลุ่มโรงงานเอทานอลและโรงงานผลิตน้ำมันปาล์มมีเวลาในการปรับตัว

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) รายงานว่าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งประชุมเมื่อวันที่ 4 ก.ย.2567 มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาชดเชยราคาน้ำมันที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพออกไปอีก 2 ปี จากเดิมที่จะหมดอายุลงในวันที่ 24 กันยายน 2567 นี้ โดยจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันที่ 17 กันยายน นี้เป็นลำดับต่อไป 

ทั้งนี้ พ.ร.บ. กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ได้กำหนดให้กองทุนน้ำมันฯ ต้องยกเลิกการชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ ทั้งกลุ่มน้ำมันแก๊สโซฮอล์ต่างๆ และน้ำมันดีเซล B7 และดีเซล B20 มาตั้งแต่ปี 2565 แต่กฎหมายเปิดโอกาสให้ขอยืดเวลาการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวได้ 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 2 ปี ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้ขอขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวไปแล้วหนึ่งครั้ง โดยจะสิ้นสุดในวันที่ 24 ก.ย. 2567 นี้ ดังนั้นจะเหลือโอกาสในการขอขยายเวลาได้อีก 1 ครั้ง ซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย โดยจะไปสิ้นสุดในวันที่ 24 ก.ย. 2569 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายออกไปอีก 2 ปี เพื่อให้เวลาอย่างจริงจังในการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรและกลุ่มโรงงานเอทานอล รวมถึงน้ำมันปาล์ม ให้มีระยะเวลาในการปรับตัวไปจำหน่ายผลผลิตในตลาดส่วนอื่นๆ แทนการนำมาผสมในน้ำมัน เช่น จำหน่ายในตลาดเครื่องสำอาง เวชภัณฑ์สุขภาพต่างๆ เป็นต้น

Source : Energy News Center

บริษัทจีนได้ประกาศเปิดตัวแบตเตอรี่แบบโซลิดสเตท โดยมีแผนจะผลิตจำนวนมากภายในปี 2026 เทคโนโลยีใหม่นี้มีศักยภาพที่จะปฏิวัติอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งจะทำให้รถ EV มีราคาถูกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

แบตเตอรี่โซลิดสเตท (Solid-State) แน่นอนว่าสามารถลดต้นทุนของรถยนต์ไฟฟ้าได้ ซึ่งปัจจุบันต้นทุนที่สูงของแบตเตอรี่ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่รถยนต์ไฟฟ้า

CREDIT : CnEVPost
CREDIT : CnEVPost

Sunwoda ซึ่งเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่รายอื่นของจีนคาดการณ์ว่าภายในปี 2026 ต้นทุนของแบตเตอรี่แบบโซลิดสเตตทั้งหมดจะเทียบเท่ากับแบตเตอรี่แบบกึ่งโซลิดสเตต ซึ่งมีราคาถูกกว่าแบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออน

หนึ่งในเหตุผลหลักที่แบตเตอรี่โซลิดสเตท มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า คือกระบวนการผลิตที่ง่ายขึ้น  แต่ปัจจุบันกระบวนการของ Penghui Energy ยังสามารถผลิตแบตเตอรี่โซลิดสเตตได้ด้วยต้นทุนที่สูงกว่าแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน 15% และบริษัทคาดว่าจะบรรลุความเท่าเทียมด้านต้นทุนกับแบตเตอรี่แบบดั้งเดิมภายใน 3-5 ปีข้างหน้า

CREDIT : ArenaEV
CREDIT : ArenaEV

อนาคตแบตเตอรี่โซลิดสเตท จะช่วยให้รถยนต์ไฟฟ้ามีต้นทุนที่ต่ำและทำให้รถยนต์ไฟฟ้ามีราคาถูกกว่ามาก ตัวอย่างเช่น Nio ผู้ผลิตรถ EV ของจีนที่ได้เปิดตัวชุดแบตเตอรี่แบบกึ่งโซลิดสเตต 150kWh ในรถราคาราวๆ 1.3 – 1.4 ล้านบาท อย่าง Nio ET5

CREDIT : NIO
CREDIT : NIO

ซึ่งหากการคาดการณ์ของ Sunwoda เป็นจริง แบตเตอรี่โซลิดสเตทขนาด 150 kWh อาจมีราคาเท่ากับลิเธียมไอออนภายในปี 2026 นั่นแปลว่าภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า “รถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกอาจถูกลง” 

นอกจากราคาที่ถูกกว่าลิเธียมไอออน แบตเตอรี่ Solid-State ยังมีข้อดีอื่นๆมากกว่าแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนหลายข้อ เช่น ความหนาแน่นสูงขึ้น ระยะทางต่อการชาร์จมากขึ้น หรือแปลว่าวิ่งได้ไกลกว่าเดิมนั่นเอง

CREDIT : ArenaEV
CREDIT : ArenaEV

แบตเตอรี่ Solid-State ปัจจุบันของ Penghui Energy มีความหนาแน่นของพลังงาน 280 Wh/kg ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 300 Wh/kg เมื่อเข้าสู่การผลิตจำนวนมาก

อีกหนึ่งข้อดีที่น่าสนใจของแบตเตอรี่ Solid-State คือ ไม่ติดไฟ ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงของไฟไหม้ โดยแบตเตอรี่ของ Penghui Energy ได้ผ่านการทดสอบการแทรกเข็ม แสดงให้เห็นถึงความปลอดภัยของโซลิดสเตทที่ดีกว่าลิเธียมไอออน

หากจะพูดในเรื่องของการรีไซเคิล แบตเตอรี่ Solid-State สามารถทนทานต่อการชาร์จและปล่อยไฟฟ้าได้มากกว่าแบตเตอรี่แบบดั้งเดิม ซึ่งหมายความว่าการเสื่อมสภาพจะน้อยกว่าแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน

การพัฒนาแบตเตอรี่โซลิดสเตท ถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า ความหนาแน่นของพลังงานสูงขึ้น ความปลอดภัยที่ดีขึ้น และอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น

Solid-State Battery แบตเตอรี่ประเภทใหม่ที่อาจมาแทนที่ลิเธียมไอออนมีศักยภาพที่จะทำให้รถยนต์ไฟฟ้าเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมากขึ้นสำหรับผู้บริโภค และอาจเร่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พาหนะด้วยไฟฟ้า 100% ได้รวดเร็วกว่าเดิม

CREDIT : ArenaEV
CREDIT : ArenaEV

ล่าสุดจีนได้ลงทุนมากถึง 6 พันล้านหยวน (ประมาณ 830 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในการวิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่แบบโซลิดสเตต (Solid-State Battery)

ซึ่งทางรัฐบาลจีนได้รวมบริษัทชั้นนำของจีน เช่น CATL, BYD, FAW, SAIC, WeLion และ Geely ร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ การลงทุนนี้แสดงถึงความมุ่งมั่นของจีนในการรักษาตำแหน่งผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยมุ่งเน้นไปที่ศักยภาพของแบตเตอรี่แบบโซลิดสเตท 

ที่มา : CNEVPOSTArenaEV
Source : Spring News

ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) มีมติเรียกเก็บเงินผู้ใช้ดีเซลเพื่อส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ เพิ่มอีก 50 สตางค์ต่อลิตร เป็น 1.76 บาทต่อลิตร ส่วนผู้ใช้ดีเซลเกรดพรีเมียมทำสถิติจ่ายสูงสุด 3.26 บาทต่อลิตร ส่วนผู้ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 โดนเรียกเก็บสูงถึง 4.10 บาทต่อลิตร เนื่องจากราคาน้ำมันโลกปรับลดลง และ กองทุนฯ เร่งเสริมสภาพคล่องเตรียมใช้หนี้เงินต้นก้อนแรก พ.ย. 2567 ขณะผู้ค้าน้ำมันเก็บค่าการตลาดผู้ใช้น้ำมันทุกชนิดเฉลี่ย 2.55 บาทต่อลิตร โดยผู้ใช้แก๊สโซฮอล์ 91 ถูกเก็บสูงสุด 3.93 บาทต่อลิตร ด้านสถานะกองทุนฯ ล่าสุดติดลบเหลือ -108,559 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) รายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2567 ได้มีมติเรียกเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลเพื่อส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มเติมอีก 50 สตางค์ต่อลิตร โดยผู้ใช้ดีเซลธรรมดา และดีเซล B20 ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ 1.76 บาทต่อลิตร ขณะที่ผู้ใช้ดีเซลเกรดพรีเมียม ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ ถึง 3.26 บาทต่อลิตร ซึ่งถือว่าสูงสุดนับตั้งแต่เรียกเก็บเงินมา  

สำหรับผู้ใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ยังคงเรียกเก็บเงินส่งเข้ากองทุนฯ ตามอัตราเดิมดังนี้ น้ำมันเบนซินออกเทน 95 จ่ายเข้ากองทุนฯ 10.68 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 จ่ายเข้ากองทุนฯ 4.10 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 จ่ายเข้ากองทุนฯ 2.11 บาทต่อลิตร และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 จ่ายเข้ากองทุนฯ 1.46 บาทต่อลิตร

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่ากองทุนฯ ยังคงเรียกเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 ในระดับสูง ซึ่งที่ผ่านมากองทุนฯ เคยเรียกเก็บสูงสุดถึง 4.20 บาทต่อลิตร เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา จากนั้นได้ปรับลดลงเหลือ 3.70 บาทต่อลิตร เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2567 และกลับมาปรับสูงขึ้นอีกในครั้งนี้ที่ 4.10 บาทต่อลิตร  

การเรียกเก็บเงินดังกล่าวส่งผลให้กองทุนฯ มีเงินไหลเข้ารวม 252.64 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งมาจากรายรับของกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์รวม 126.36 ล้านบาทต่อวัน และรายรับจากดีเซล 115.21 ล้านบาทต่อวัน รวมทั้งรายรับจากก๊าซหุงต้ม (LPG) อีก 10.75 ล้านบาทต่อวัน และน้ำมันเตา 10 ล้านบาทต่อวัน

ส่งผลให้สถานะกองทุนน้ำมันฯ ติดลบน้อยลง จากเดือน ก.ค. 2567 ที่กองทุนฯ ติดลบถึง 111,663 ล้านบาท ล่าสุดสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) รายงานฐานะเงินกองทุนฯ สุทธิติดลบรวม 108,559 ล้านบาท ซึ่งมาจากบัญชีน้ำมันติดลบรวม -61,003 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบรวม -47,556 ล้านบาท

โดยสาเหตุที่ กบน. ต้องเร่งเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันทุกคนส่งเข้ากองทุนฯ เพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลง ประกอบกับต้องการลดภาระเงินกองทุนฯ ให้ติดลบน้อยลง และมีเงินไหลเข้ามามากขึ้น เพื่อเก็บเงินไว้ทยอยจ่ายคืนหนี้เงินต้นให้สถาบันการเงินที่ไปกู้ยืมมารวมทั้งสิ้น 105,333  ล้านบาท โดยจะต้องเริ่มจ่ายคืนหนี้ครั้งแรกในเดือน พ.ย. 2567 นี้

อย่างไรก็ตามนอกจากผู้ใช้น้ำมันจะถูกเรียกเก็บเงินเพื่อส่งเข้ากองทุนฯ ตามอัตราดังกล่าวแล้ว ทางผู้ค้าน้ำมันยังได้เรียกเก็บค่าการตลาดน้ำมันในอัตราสูงเช่นกัน โดยล่าสุดสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้รายงานค่าการตลาดน้ำมัน ณ วันที่ 30 ส.ค. 2567 ดังนี้

ค่าการตลาดน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เก็บค่าการตลาด 4.53 บาทต่อลิตร,  น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 เก็บอยู่ 3.86 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 เก็บอยู่ 3.93 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 เก็บอยู่ 3.78 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 เก็บอยู่ 1.91 บาทต่อลิตร ส่วนน้ำมันดีเซลธรรมดา เก็บอยู่ 2.23 บาทต่อลิตร, น้ำมันดีเซล B20 เก็บอยู่ 1.13 บาทต่อลิตร โดยตั้งแต่วันที่ 1-30 ส.ค. 2567 ผู้ค้าน้ำมันเรียกเก็บค่าการตลาดเฉลี่ย 2.55 บาทต่อลิตร (จากค่าการตลาดที่ควรได้ 1.50-2 บาทต่อลิตร) 

สำหรับสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกล่าสุด ณ วันที่ 30 ส.ค. 2567 เวลาประมาณ 15.00 น. ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ระดับ 77.53 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ลดลง 0.08 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) อยู่ที่ 76.47 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.56 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล  และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) อยู่ที่ 80.60 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.66 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

Source : Energy News Center

Krungthai COMPASS ชี้แผนพีดีพีฉบับใหม่ หนุนรายได้ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเติบโตไม่ต่ำกว่า 1.9 แสนล้านบาท ภายในปี 2580

ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ชี้แผนพีดีพีฉบับใหม่ สนับสนุนให้เกิดการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าพลังงานลม และโรงไฟฟ้าชีวมวล คาดเอกชนมีการลงทุนกว่า 1.7 ล้านล้านบาท ในปี 2567-2580 หนุนรายได้แตะ 2.9 แสนล้านบาทในอีก 13 ปีข้างหน้า

ดร.สุปรีย์ ศรีสำราญ ผู้อำนวยการฝ่าย ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS เปิดเผยว่า แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ พีดีพี (PDP) ฉบับใหม่ ให้ความสำคัญกับความมั่นคงของระบบไฟฟ้า และการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากกระบวนการผลิตไฟฟ้า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 ทำให้ภาครัฐสนับสนุนการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนและระบบบริหารจัดการไฟฟ้ามากขึ้น โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าพลังงานลม และโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่ภาครัฐมีแนวโน้มเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนมากขึ้น โดยคาดว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าทั้ง 3 ประเภท จะขยายตัว 14.5% ต่อปี มาอยู่ที่ 48,666 เมกะวัตต์ในปี 2580 ซึ่งคิดเป็น 43% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน จากกระบวนการผลิตไฟฟ้าได้ถึง 27.5 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2e) คิดเป็น 57% ของเป้าหมาย Carbon Neutrality ซึ่งยังอยู่ในระดับที่สามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวภายในปี 2593

นายพงษ์ประภา นภาพฤกษ์ชาติ นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า รายได้รวมของธุรกิจโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าพลังงานลม และโรงไฟฟ้าชีวมวลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 1 แสนล้านบาทในปี 2566 เป็น 2.9 แสนล้านบาทในปี 2580 หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 7.9% ตามกำลังการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าดังกล่าว ซึ่งมาจากการรับซื้อไฟฟ้าจากกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ของภาครัฐทั้งหมด 39,693 เมกะวัตต์ในช่วงปี 2567-2580 โดยแบ่งเป็น โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ 30,412 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานลม 7,845 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าชีวมวล 1,436 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ การรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าพลังงานลม และโรงไฟฟ้าชีวมวล ของภาครัฐที่จะเกิดขึ้นในช่วงปี 2567-2580 คาดว่าจะก่อให้เกิดเงินเม็ดลงทุนในการก่อสร้างทั่วประเทศกว่า 1.7 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็นโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ราว 1.1 ล้านล้านบาท โรงไฟฟ้าพลังงานลม 4.6 แสนล้านบาท และโรงไฟฟ้าชีวมวล 1.3 แสนล้านบาท โดยแต่ละพื้นที่ของประเทศจะมีการดึงดูดการลงทุนโรงไฟฟ้าที่แตกต่างกันไป โดยภาคเหนือจะมีศักยภาพในการลงทุนโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์มากที่สุด เนื่องจากภาครัฐรับซื้อไฟฟ้าแสงอาทิตย์จากโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ในภาคเหนือมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 30.5% ของการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งประเทศ ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพในการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานลมมากที่สุด โดยภาครัฐรับซื้อไฟฟ้าพลังงานลมจากภาคตะวันออกเหนือเกือบทั้งหมด หรือ 92% ของการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานลมทั้งหมด

สำหรับการลงทุนโรงไฟฟ้าชีวมวลนั้น ทุกพื้นที่มีศักยภาพในการผลิต ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อเพลิงที่นำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า โดยควรเลือกใช้วัสดุเหลือใช้ในการเกษตรมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ตั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลาง ควรเลือกใช้ใบและยอดอ้อย และฟางข้าวเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ขณะที่โรงไฟฟ้าชีวมวลที่ตั้งในภาคใต้ควรเลือกใช้ผลพลอยจากปาล์มเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า เพราะเป็นวัสดุที่เหลือใช้ในภาคดังกล่าวจำนวนมาก

Source : มติชนออนไลน์

“ประเสริฐ” ปลัดพลังงาน เร่งปรับร่างแผนPDP 2024 ขยับโครงการโซลาร์ ฟาร์มเกิดเร็วขึ้น หวังตอบโจทย์ความเป็นกลางทางคาร์บอน หนุนกฟผ.ลงทุนโครงการโซลาร์ ฟาร์มในพื้นที่แม่เมาะ ทับสะแกและกระบี่ เพิ่มสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่าขณะนี้ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (PDP2024) อยู่ระหว่างการดำเนินการปรับปรุงภายหลังจากรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและภาคประชาชน โดยร่างแผนPDP 2024 นี้จะขยับโครงการพลังงานหมุนเวียนให้อยู่ช่วงต้นแผนฯ เพื่อตอบโจทย์ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) แต่คงต้องหารือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อให้เร่งปรับปรุงสายส่งทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้เร็วขึ้น รองรับพลังงานหมุนเวียนได้เพิ่มขึ้น

ซึ่งการขยับแผนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้มาอยู่ปีแรกๆของแผนPDP 2024 ทำให้การไฟฟ้ามีโอกาสได้เป็นผู้ลงทุนโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนพื้นดิน(โซลาร์ฟาร์ม)ด้วย นอกเหนือจากโครงการโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อนกำลังผลิตรวม 2,700เมกะวัตต์ เนื่องจากตามแผนPDP2024 จะมีกำลังการผลิตโซลาร์ ฟาร์มเพิ่มเติมหลายหมื่นเมกะวัตต์ที่ไม่ได้ระบุว่าชัดเจนว่าใครเป็นผู้ลงทุน แต่ทั้งนี้ แผน PDP2024 จะมัสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้รเป็น51%

“หากกฟผ.สามารถทำโครงการโรงไฟฟ้าเป็นผลสำเร็จได้รวดเร็ว ก็มีโอกาสที่กฟผ.จะทำโครงการโซลาร์เพิ่มเติม นอกเหนือจากโครงการโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อน เพราะการไฟฟ้ายังมีหลายพื้นที่เช่นแม่เมาะ จ.ลำปาง จ.กระบี่ รวมถึงทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อลงทุนทำโครงการโซลาร์ ฟาร์มได้ แต่ยังไม่ identify ส่วนระบบกักเก็บแบบแบตเตอรี่ และพลังน้ำแบบสูบกลับ ก็เป็นงานใหม่ของการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นมารวมถึงระบบส่ง ก็ต้องมีการลงทุนเพิ่มด้วย ดังนั้นกำลังการผลิตไฟฟ้าของกฟผ.ไม่ลดแน่”

สำหรับร่างแผนPDP2024จะนำมารวมกับ 4แผน คือ แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ(Gas Plan)และ แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) รวมเป็นแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan :NEP 2024) แล้วเปิดรับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง ก่อนเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติภายในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งล่าช้ากว่าเป้าหมายเดิมที่กำหนดไว้เดือนกันยายน 2567

Source : MGROnline