ช่วงนี้ใครเจอค่าไฟเข้าไป คงตกใจกันมากมาย เพราะแทบทุกบ้านจ่ายค่าไฟเพิ่มกันทั้งนั้น หลายคนอาจจะหันมาหาวิธีประหยัดไฟด้วยการติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์กัน แต่ก็ตกใจกับราคาค่าติดตั้งอีกเช่นกัน ซึ่งถ้าเราคำนวณกันดีดีแล้ว หากเรามีปริมาณการใช้ไฟที่ค่อนข้างมาก และมีงบประมาณพอสมควร ก็นับว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าในระยะยาว หากใช้ไฟมากก็อาจจะคืนทุนได้ภายใน 3 – 5 ปี แต่ถ้าใช้ไฟน้อยอาจจะขยับไปที่ 7 – 9 ปี ซึ่งอันนี้ก็แล้วแต่การตัดสินใจของแต่ละท่านว่าจะติดตั้งหรือไม่ และหลายคนยังไม่ทราบว่า หากเราติดตั้งโซล่าร์เซลล์แล้ว สามารถผลิตไฟได้มากกว่าที่ต้องใช้แล้ว เราสามารถขายไฟฟ้า คืนให้กับ การไฟฟ้าได้อีกด้วย ก็จะช่วยลดต้นทุนการติดตั้งไปได้พอสมควรครับ

วันนี้ทางผู้เขียนได้รวมข้อมูลในเรื่องของขั้นตอนต่างๆ ในการยื่นขอขายไฟให้กับการไฟฟ้ามาฝากกัน ขั้นตอนไม่ได้ยุ่งยากอะไรมากมาย และมีค่าใช้จ่ายเพียงแค่ 2,000 บาทเท่านั้นเอง สามารถทำเองได้เลย หรือหากผู้ที่มาติดตั้งโซล่าร์เซลล์เขามีบริการยื่นขอขายไฟให้ด้วย ก็แจ้งกับผู้ติดตั้งให้ดำเนินการแทนได้เลยครับ

ทั้งนี้ไม่ใช่เฉพาะผู้ที่ติดตั้งโซล่าร์เซลล์เท่านั้นที่สามารถยื่นขอขายไฟได้ แต่การไฟฟ้ายังเปิดโอกาสให้กับผู้ที่ผลิตไฟฟ้าในรูปแบบอื่นๆ ด้วยไม่ว่าจะเป็น ชีวมวล , ก๊าซชีวภาพ , ขยะ , พลังงานลม , แสงอาทิตย์ แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) , แสงอาทิตย์ แบบติดตั้งบนดิน (Solar Farm) และ แสงอาทิตย์ แบบติดตั้งบนทุ่นลอยน้ำ (Solar Floating)

คุณสมบัติของผู้ยื่นขายไฟ

ผู้ที่ต้องการจะยื่นขายไฟให้กับการไฟฟ้าจะต้องเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 1 เฉพาะบ้านอยู่อาศัย และต้องเป็นผู้ครอบครองเครื่องจ่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้า และมีชื่อในทะเบียนผู้ใช้ไฟฟ้า เอาง่ายๆ ก็คือ เป็นเจ้าของบ้าน และเจ้าของมิเตอร์ที่เราไปยื่นขอไฟฟ้าตอนสร้างบ้านนั่นแหละครับ ซึ่งเราสามารถดำเนินเรื่องเอง หรือจะมอบอำนาจให้ผู้อื่นดำเนินการแทนก็ได้ โดยเมื่อทางการไฟฟ้าพิจารณาอนุมัติเรียบร้อยแล้ว ถ้าผู้ยื่นขอขายไฟต้องมาติดต่อเพื่อขอเปลี่ยนเครื่องวัดหน่อยไฟฟ้าเป็นระบบดิจิตอล ชำระค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเชื่อมต่อไฟฟ้า และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าตรวจสอบระบบ ทั้งหมด

ขั้นตอนการยื่นขายไฟให้กับการไฟฟ้า

  1. ผู้ที่ต้องการขายไฟให้ดำเนินการสมัครบัญชีผู้ใช้งานในระบบ PPIM แล้วก็ลงทะเบียนเพื่อเข้าระบบให้เรียบร้อย
  2. เลือกหมายเลข CA พร้อมกรอกรายละเอียดต่างๆ ตามคำขอ และโอพโหลดเอกสารรายละเอียดต่างๆ ตามที่การไฟฟ้ากำหนดเข้าสู่ระบบให้เรียบร้อย
  3. การไฟฟ้าจะพิจารณาเอกสารต่างๆ แล้วแจ้งผลการพิจารณาให้กับผู้ยื่นขอขายไฟผ่านทางอีเมล์
  4. การไฟฟ้าจะประกาศผลการคัดเลือกในระบบ PPIM ภายใน 45 วัน โดยจะประกาศในวันจันทร์ที่ 2 และ 4 ของเดือน
  5. ผู้ผ่านการคัดเลือกจะต้องชำระค่าเชื่อมต่อระบบไฟฟ้า และจัดส่งต้นฉบับแบบคำขอขายไฟฟ้าพร้อมเอกสารประกอบตามที่การไฟฟ้ากำหนด ที่การไฟฟ้าเขตพื้นที่รับผิดชอบภายใน 30 วัน หากพ้นกำหนดคำขอจะถูกยกเลิก
  6. ผู้ผ่านการคัดเลือกลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า โดยมีกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ ภายใน 270 วัน
  7. ผู้ยืนขอทำการตรวจสอบระบบ และติดตั้งระบบต่างๆ ให้ตรงกับรายละเอียดที่ยื่นไว้กับการไฟฟ้า และขอเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าในเขตพื้นที่ให้เรียบร้อย
  8. ทางการไฟฟ้าจะเข้าทำการตรวจสอบระบผลิตไฟฟ้า และเปลี่ยนมิเตอร์ให้ใหม่ พร้อมกับทดสอบการเชื่อมต่อเข้าระบบโครงค่ายไฟฟ้า

ขั้นตอนโดยสรุปก็จะมีประมาณนี้ หากจะสรุปให้ง่ายขึ้นก็คือ ลงทะเบียนระบบระบบ PPIM จากนั้นกรอกรายละเอียดและอัพโหลดเอกสารเข้าระบบ รอการพิจารณา เมื่อผ่านแล้วก็ชำระเงิน ตรวจสอบระบบการผลิตไฟฟ้าของเราให้เรียบร้อย รอการไฟฟ้ามาตรวจสอบอุปกรณ์​ เปลี่ยนมิเตอร์ และเชื่อมต่อระบบเข้ากับของการไฟฟ้า

สำหรับค่าใช้จ่ายในการยื่นขอจะอยู่ที่ 2,000 บาทเท่านั้น (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) และเราสามารถขายไฟให้กับการไฟฟ้าได้หน่วยละ 2.20 บาท

ข้อมูลจากการไฟฟ้าที่ได้ประกาศเอาไว้

ตามประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง ประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา สำหรับภาคประชาชนประเภทบ้านอยู่อาศัย พ.ศ. 2565 ประกาศ ณ วันที่ 20 พฤษภาคม 2565 ให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) รับซื้อไฟฟ้าจากการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาประเภทบ้านอยู่อาศัย ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ (kWp) ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป โดยมีเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้า 5 MWp ต่อปี  ดังน้ัน PEA จึงขอเปิดรับคำขอขายไฟฟ้าโครงการฯ ผ่านระบบ PPIM ตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป 

ข้อควรทราบก่อนเข้าร่วมโครงการ (สำคัญโปรดอ่านทำความเข้าใจ !!!)

  • ผู้เข้าร่วมโครงการต้องเป้น ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 1 บ้านอยู่อาศัยกับ PEA เท่านั้น
  • เน้นให้ติดตั้ง Solar Rooftop ผลิตไฟฟ้าใช้เอง (Self Consumption) และไฟฟ้าที่เหลือสามารถขายไฟฟ้าได้
  • กำลังผลิตติดตั้งแผงโซลาร์ (PV) ไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ (kWp) ต่อรายสำหรับ เชื่อมต่อแบบ 3 เฟส (220/380 V) และ ไม่เกิน 5 kWp ต่อราย สำหรับเชื่อมต่อแบบ 1 เฟส (220 V)
  • ผู้ยื่นขอขายไฟฟ้าเป็นผู้ลงทุนการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เองทั้งหมด
  • PEA จะเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบการเชื่อมต่อระบบ ภายหลังได้รับการพิจารณา ในราคา 2,000 บาท (ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
  • ราคาที่ PEA รับซื้อไฟฟ้าส่วนเกิน 2.2 บาท/หน่วย (kWh) ระยะเวลา 10 ปี
  • ปริมาณรับซื้อรวมในพื้นที่ PEA ปริมาณ 5 เมกะวัตต์ (MW) ต่อปี
  • รับข้อเสนอแบบ First come First served ผ่านเว็บไซด์นี้ https://ppim.pea.co.th
  • ตรวจสอบรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณา และประกาศผล ภายใน 45 วันนับจากวันที่ยื่นคำขอฯ ได้ที่ https://ppim.pea.co.th/project/solar/list 
  • โปรดแนบบิลค่าไฟฟ้าหรือหลักฐานการเป็นผู้ใช้ไฟฟ้า ให้ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน (บิลค่าไฟฟ้าไม่ควรเกิน 3 เดือน) สอดคล้องกับข้อมูลผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการและผู้ใช้ไฟฟ้า ได้แก่ ชื่อ-นามสกุล , เลขที่บ้านที่ติดตั้ง, ประเภทใช้ไฟฟ้าโดยหากข้อมูลดังกล่าวยังไม่ถูกต้องเป็นปัจจุบัน ให้ติดต่อ สำนักงานการไฟฟ้าในพื้นที่ใช้ไฟฟ้า (ตามบิลค่าไฟฟ้า) เพื่อขอแก้ไขข้อมูลให้แล้วเสร็จ ก่อนยื่นเข้าร่วมโครงการ

คู่มือการดำเนินการโครงการ สามารถศึกษา ดูรายละเอียดได้ตาม Link ด้านล่าง

https://drive.google.com/drive/u/0/folders/1HuTylJ2BUFsBOk8CoAgua8_-4igOXkpA

กฟผ.แจงไม่ได้ผูกขาดอุตสาหกรรมไฟฟ้าไทย ลั่นกำไรน้อยกว่าเอกชน ชี้เหลือกำลังผลิตเพียง 34% ระบุปี 64 ปี มีกำไรสุทธิเพียง 2.5 หมื่นล้านบาท

นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงกรณีที่ กฟผ. ถูกมองว่าเป็นผู้ผูกขาดอุตสาหกรรมไฟฟ้าไทย โดยมีกำไรจากการขายไฟฟ้ามากกว่าผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ 12 รายรวมกัน ว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่มีมูลความจริง เนื่องจากกำลังผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ณ เดือนตุลาคม 2565 มีกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 16,920.32 เมกะวัตต์ (MW) คิดเป็น 34.44% ของกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัญญาในระบบไฟฟ้า 

อีกทั้งตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ในปี 2580 กฟผ. จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัญญาเหลือเพียง 18,614 MW คิดเป็น 24% 

อย่างไรก็ตาม กฟผ. มีภารกิจหลักสำคัญที่สุดคือ การดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ เช่นที่ผ่านมาโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ได้ทำหน้าที่สำคัญในการนำระบบไฟฟ้ากลับคืนสู่ภาวะปกติ (Blackout Restoration Plan) ดังเช่นเหตุการณ์ไฟฟ้าดับในปี 2561 จากการหยุดเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าหงสา เป็นต้น 

รวมถึงยังเป็นกลไกสำคัญของรัฐในการขับเคลื่อนนโยบายด้านเศรษฐกิจพลังงานสำคัญเร่งด่วนเพื่อดูแลประชาชนให้มีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ มั่นคง ได้แก่ ช่วงวิกฤตพลังงานของประเทศใน 2 ปีนี้ กฟผ. ได้ปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า กฟผ. มาใช้เชื้อเพลิงประเภทน้ำมัน คือ น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาทดแทน LNG ที่มีราคาสูง 

การนำโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 4 กลับมาผลิตไฟฟ้า และเลื่อนการปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 8 ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2568 เนื่องจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะใช้ถ่านหินในประเทศซึ่งเป็นเชื้อเพลิงราคาถูกเพื่อช่วยพยุงค่าไฟฟ้า ลดภาระค่าครองชีพของประชาชน

กำลังผลิตไฟฟ้ารวมทั้งระบบ

ส่วนระบบส่งไฟฟ้า กฟผ. ยังจำเป็นต้องดูแลเพื่อให้เกิดความมั่นคงในการจ่ายไฟฟ้าได้ทั่วประเทศ ทำให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าของศูนย์ควบคุมระบบกำลังผลิตไฟฟ้าแห่งชาติซึ่งต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบกิจการพลังงานปี 2550 เพื่อให้เกิดการสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าอย่างเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ

ขณะที่การรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน กฟผ. เป็นเพียงผู้ปฏิบัติตามนโยบายที่ภาครัฐกำหนด โดยอัตราค่าไฟฟ้าที่ กฟผ. รับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนและขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)

นายประเสริฐศักดิ์ กล่าวต่อไปถึงประเด็นที่ระบุว่า กฟผ. มีกำไรจากการขายไฟฟ้ามากกว่าผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ 12 รายรวมกันนั้น เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน โดยกำไรจากการดำเนินงานประมาณ 59,000 ล้านบาท ที่สื่อมวลชนหยิบยกมา เป็นกำไรขั้นต้นที่บวกรวมการขายสินค้าและบริการอื่นและยังหักต้นทุนไม่ครบ 

โดยในปี 2564 กฟผ. มีกำไรสุทธิเพียง 25,771 ล้านบาท และนำส่งเงินรายได้เข้ารัฐจำนวน 17,426 ล้านบาท หรือคิดเป็น 57% ของกำไร สำหรับกำไรส่วนที่เหลือนำไปลงทุนในระบบไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและส่งไฟฟ้าของประเทศให้มีความมั่นคงทางพลังงานเพื่อลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาล

ด้านกำไรสะสมของ กฟผ. จำนวน 3.96 แสนล้านบาท ที่ปรากฎในงบแสดงฐานะทางการเงินนั้นมิใช่เงินสด เป็นเพียงการแสดงตัวเลขสะสมของมูลค่าสินทรัพย์ที่ กฟผ. นำกำไรส่วนที่เหลือจากการนำส่งกระทรวงการคลังในแต่ละปีไปลงทุนในรูปของสินทรัพย์ที่ใช้ผลิตและส่งไฟฟ้าให้แก่ประชาชน อาทิ โรงไฟฟ้า สถานีส่งไฟฟ้า สายส่งไฟฟ้า นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกิจการในปี 2512 – 2564 จึงไม่สามารถนำกำไรสะสมดังกล่าวมาใช้สำหรับการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าได้

“กฟผ. เป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจจึงไม่ได้มุ่งแสวงหากำไรจากการดำเนินงาน โดยราคาค่าไฟฟ้าและกำไรของ กฟผ. ถูกกำกับโดย กกพ. ให้มีรายได้เพียงพอต่อการลงทุนและบริหารกิจการเท่านั้น รวมถึงต้องนำส่งกระทรวงการคลังเป็นเงินรายได้แผ่นดินเพื่อนำไปใช้พัฒนาประเทศด้านอื่น สำหรับในช่วงวิกฤตพลังงานที่ต้องเผชิญกับความยากลำบาก กฟผ. ร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าอย่างเต็มกำลังเพื่อแบ่งเบาภาระของประชาชน”

Source : ฐานเศรษฐกิจ

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมเสนอ บอร์ด พิจารณาร่างโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ปี 2565-2568 เร็วๆ นี้ หลังผ่านการรับฟังความเห็นประชาชนแล้ว คาดประกาศใช้ได้ภายในปี 2565 ระบุเนื่องจากเป็นการปรับโครงสร้างในช่วงสถานการณ์พลังงานไม่ปกติ ดังนั้นจะไม่ปรับค่า Ft เป็นศูนย์เพื่อไปรวมไว้กับค่าไฟฟ้าฐาน โดยยังคงใช้อัตราค่า Ft ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วยต่อไปก่อน 

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เบรกแถลงค่าไฟฟ้า Ft งวด ก.ย.-ธ.ค. 2565  เป็นรอบที่ 2 คาดรัฐบาลให้มาหารือมาตรการช่วยค่าไฟฟ้าประชาชนให้ได้ข้อสรุปก่อน เหตุค่า Ft ที่ กกพ. พิจารณาเป็นอัตราที่สูงตามต้นทุนเชื้อเพลิงที่พุ่งขึ้น ทำค่าไฟฟ้าทุบสถิติใหม่ 4.72 บาทต่อหน่วย หวั่นผลกระทบประชาชน

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ได้เลื่อนการประกาศค่าไฟฟ้า ในส่วนของอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวดเดือน ก.ย. –ธ.ค. 2565  ออกไปเป็นรอบที่ 2 โดยเลื่อนไปอย่างไม่มีกำหนด และเป็นการตัดสินใจเลื่อนแบบเร่งด่วน ก่อนเวลาแถลงข่าวเพียง 30 นาที จากเดิมที่กำหนดไว้ว่าจะแถลงในวันที่ 5 ส.ค. 2565 เวลา 10.30 น.

โดยก่อนหน้านี้ กกพ. กำหนดจะประกาศค่า Ft ของงวดปลายปี เดือน ก.ย.-ธ.ค. 2565 ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2565 หลังจากผ่านการรับฟังความเห็นประชาชนแล้ว แต่ในวันดังกล่าวทาง กกพ. ก็ประกาศเลื่อนการแถลงข่าว โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่า เนื่องจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน  ได้เรียก กกพ. ไปหารือมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าก่อนการแถลงข่าว เพราะเห็นว่าค่า Ft งวด ก.ย.-ธ.ค. 2565 ปรับตัวสูงขึ้นมาก

ในครั้งนั้น กกพ. ยืนยันว่า ทาง กกพ.ไม่มีเงินเหลือเพื่อมาลดค่า Ft ให้ประชาชนได้อีกแล้ว เนื่องจากที่ผ่านมาได้นำเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าไปช่วยลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชนในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาดที่ผ่านมาจนหมด ดังนั้น กกพ. จำเป็นต้องประกาศค่า Ft งวดนี้ตามอัตราที่ได้เปิดรับฟังความเห็นประชาชนไว้ที่ประมาณ 68.66 สตางค์ต่อหน่วย แต่หากภาครัฐมีเงินมาช่วยลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชน ทาง กกพ. ก็พร้อมดำเนินการตาม โดยทางภาครัฐก็อยู่ระหว่างพิจารณาหาแนวทางช่วยค่าไฟฟ้าประชาชน

จนกระทั่งในวันที่ 5 ส.ค. 2565 กกพ. กำหนดเปิดแถลงข่าวค่า Ft อีกครั้งเป็นรอบที่ 2 เพื่อให้ประชาชนรับทราบ เนื่องจากค่า Ft ต้องประกาศล่วงหน้า 1 เดือนก่อนจะเริ่มเก็บในอัตราใหม่ หรือต้องประกาศภายในเดือน ก.ค. 2565 ที่ผ่านมา แต่เกิดความล่าช้า และก่อนเวลาแถลงข่าวเพียงครึ่งชั่วโมง กกพ. ก็ประกาศเลื่อนอีกครั้ง โดยคาดว่า เนื่องจากทางนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ต้องการให้ทาง กกพ. หารือกับภาครัฐให้ได้ข้อสรุปก่อนจะไปแถลงข่าวให้ประชาชนได้รับทราบ โดยก่อนหน้านี้ แหล่งข่าวในกระทรวงพลังงานเปิดเผยว่าทางพลเอกประยุทธ์​ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เรียก นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มี​เชาว์​ รองนายกรัฐมนตรี​และ​รัฐมนตรี​ว่าการกระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึง กกพ. เข้าหารือเพื่อพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการตรึงค่า Ft งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 65 เอาไว้ก่อน โดยจะให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่ง​ประเทศ​ไทย (กฟผ.)​ เข้ามาช่วยแบกรับภาระต้นทุนเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นแทนประชาชนต่อเนื่องอีกงวด         

สำหรับค่า Ft งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2565 ทางคณะกรรมการ (บอร์ด) ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ได้เปิดประชุมวันนี้ 27 ก.ค. 2565 สรุปค่า Ft งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2565 อยู่ที่  68.66 สตางค์ต่อหน่วย เนื่องจากเป็นต้นทุนที่แท้จริงตามราคาเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าที่ปรับสูงขึ้น และเมื่อรวมกับค่า Ft งวดปัจจุบัน (พ.ค. –ส.ค. 2565) ที่เก็บอยู่  24.77 สตางค์ต่อหน่วย จะส่งผลให้ค่า Ft โดยรวมในเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2565 มาอยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย

ดังนั้นหากค่า Ft เท่ากับ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อนำมารวมกับค่าไฟฟ้าฐานประมาณ 3.79 บาทต่อหน่วย จะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าโดยรวมที่ประชาชนต้องจ่ายอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย เพิ่มขึ้นจากงวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 2565 ที่ประชาชนจ่ายอยู่ 4 บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นอัตราค่าไฟฟ้าที่สูงสุดทำสถิติใหม่อีกรอบ

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจาก กกพ.ระบุว่า ที่ผ่านมามีการตรึงค่า Ft โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มารับภาระแทนประชาชนไปก่อน ตั้งแต่งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2564, ม.ค-เม.ย. 2565 และงวด พ.ค.-ส.ค. 2565 จน กฟผ.มีภาระสะสมรวม 87,849 ล้านบาท และมีปัญหาการขาดสภาพคล่องนั้น ถือเป็นนโยบายที่ต้องสั่งการโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในฐานะที่กำกับดูแล กฟผ.และเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.)​ให้ความเห็นชอบ ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของทาง กกพ.ที่จะสั่งการ กฟผ.ให้มาช่วยตรึงค่า Ft ได้

Source : Energy News Center

กฟผ. เตรียมมาตรการ 5 ด้าน รองรับแหล่งก๊าซJDA-A18 หยุดซ่อมบำรุงประจำปี ตั้งแต่วันที่ 1-14 สิงหาคม 2565 ยืนยันไม่ส่งผลต่อ การใช้ไฟฟ้าภาคใต้ พร้อมรณรงค์ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนในพื้นที่ภาคใต้ร่วมประหยัดพลังงานในช่วงเวลา 18.00-21.30 น.

นายกิตติ เพ็ชรสันทัด รองผู้ว่าการระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า แหล่งก๊าซธรรมชาติในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย หรือ JDA-A18 ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีกำหนดซ่อมบำรุงรักษาประจำปี ตั้งแต่วันที่ 1-14 สิงหาคม 2565 รวม 14 วัน ส่งผลให้ไม่สามารถส่งจ่ายก๊าซฯ ให้กับโรงไฟฟ้าจะนะ จ.สงขลา ซึ่งเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าสำคัญ ในพื้นที่ภาคใต้ได้ตามปกติ กฟผ. ได้เตรียมความพร้อมโดยให้โรงไฟฟ้าจะนะเปลี่ยนเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซฯ มาใช้น้ำมันดีเซลทดแทน และเตรียมพร้อมมาตรการ 5 ด้าน เพื่อไม่ให้กระทบต่อการใช้ไฟฟ้าของประชาชนในภาพรวม ประกอบด้วย

• ด้านเชื้อเพลิง ได้สำรองปริมาณน้ำมันดีเซลไว้สำหรับเดินเครื่องโรงไฟฟ้าจะนะให้เพียงพอต่อความต้องการใช้งานในช่วงเวลาหยุดจ่ายก๊าซฯ รวมทั้งมีแผนรองรับหากการทำงานล่าช้ากว่ากำหนด

• ด้านระบบผลิต เตรียมการให้โรงไฟฟ้าจะนะเดินเครื่องด้วยน้ำมันดีเซล พร้อมประสานโรงไฟฟ้าอื่น ๆ ในภาคใต้ ได้แก่ โรงไฟฟ้าขนอม โรงไฟฟ้ากระบี่ โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนรัชชประภา เขื่อนบางลาง โรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านสันติ และโรงไฟฟ้า SPP ให้เตรียมเดินเครื่องเต็มกำลังการผลิต ทำให้มีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 2,914 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของภาคใต้ที่คาดการณ์ในช่วงเวลาการหยุดจ่ายก๊าซฯ ไว้ประมาณ 2,500 เมกะวัตต์ และในกรณีฉุกเฉินสามารถรับไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซียได้ทันที

• ด้านระบบส่ง มีการส่งไฟฟ้าเชื่อมโยงจากภาคกลางมายังภาคใต้อีก 800-1,100 เมกะวัตต์ ผ่านสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 500 กิโลโวลต์ (kV) บางสะพาน2-สุราษฎร์ธานี2-ภูเก็ต3 อีกทั้งตรวจสอบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงและอุปกรณ์สำคัญให้พร้อมใช้งาน รวมถึงงดการทำงานบำรุงรักษาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง

• ด้านบุคลากร ได้จัดเตรียมทีมงานเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมเข้าแก้ไขสถานการณ์ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน

• ด้านผู้ใช้ไฟฟ้า กฟผ. ขอความร่วมมือจากภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาชน ร่วมกันประหยัดพลังงานไฟฟ้าตั้งแต่วันที่ 1-14 สิงหาคม 2565 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลา 18.00-21.30 น. ซึ่งเป็นช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด

Source : Energy News Center