Highlight & Knowledge

ติดโซลาร์เซลล์ราคาเท่าไหร่ ต้องรู้อะไรบ้าง

หลายคนกำลังให้ความสนใจหาโซลาร์เซลล์มาติดตั้งตามบ้าน อาจจะมาจากเรื่องของค่าไฟที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ หรือบางท่านอาจจะไม่อยากเสียเงินให้กับค่าไฟ เรียกว่าอยากผลิตไฟฟ้าไว้ใช้เองก็ได้ และไม่อยากต้องกังวลเรื่องค่าไฟ อยากเปิดแอร์ทั้งวัน ในปัจจุบันก็มีหลายท่านได้ติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่บ้านไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งผลที่ออกมาก็คือ ช่วยลดค่าไฟไปได้มากพอสมควร แต่เราอาจจะต้องลงทุนในครั้งแรกด้วยจำนวนเงินที่ค่อนข้างมาก ทำให้หลายๆ ท่านก็เกิดความลังเลว่า จะติดดีมั้ย คุ้มค่ามั้ย ต้องใช้เงินขนาดไหน ต้องดูแลยังไงบ้าง วันนี้เราจะนำเสนอเรื่องนี้ เพื่อตอบคำถามสำหรับคนที่กำลังอยากจะติดตั้งโซลาร์เซลล์กัน

จะติดโซลาร์เซลล์ต้องรู้อะไรบ้าง

มาเริ่มกันกับสิ่งที่เราควรรู้ก่อนจะไปติดตั้งโซลาร์เซลล์กัน ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานที่ควรทราบก่อน จะช่วยให้เราเวลาไปคุยกับผู้ให้บริการติดตั้งง่ายกว่าเดิม สามารถเลือกรูปแบบโซลาร์เซลล์ และเรื่องของการติดตั้งได้ง่ายขึ้น มาดูกันว่า เราต้องรู้อะไรบ้าง

1.รู้จักประเภทของโซลาร์เซลล์กันก่อน ซึ่งจะแบ่งได้ 3 รูปแบบด้วยกัน

  • ระบบโซลาร์เซลล์แบบ On Grid ระบบนี้จะเป็นลักษณะการใช้งานร่วมกันระหว่างไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ และไฟฟ้าจากการไฟฟ้า ซึ่งจะมีตัว Inverter เป็นตัวแปลงกระแสไฟฟ้าสำหรับการใช้งาน โดยจะเลือกใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ในช่วงกลางวัน เมื่อเข้าสู่ช่วงกลางคืนหรือช่วงที่แสงอาทิตย์หมด ระบบจะสลับไปใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าอัตโนมัติ ระบบ On Grid ได้รับความนิยมค่อนข้างมาก เพราะลงทุนไม่สูงมากนัก เหมาะกับผู้ใช้ที่ต้องการประหยัดไฟที่ใช้ในตอนกลางวัน
  • ระบบโซลาร์เซลล์แบบ Off Grid เป็นระบบที่จะไม่มีการทำงานร่วมกับไฟฟ้าจากการไฟฟ้าเลย โดยจะมีการเพิ่มแบตเตอรี่เข้ามาในระบบ เพื่อทำหน้าที่เก็บไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโซลาร์เซลล์ เป็นลักษณะการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เพื่อใช้งาน 100% ระบบนี้จะมีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในส่วนของแบตเตอรี่ที่มีราคาค่อนข้างแพง ยิ่งมีความจุมากเท่าไหร่ ก็แพงมากขึ้นเท่านั้น เหมาะสำหรับคนที่เน้นใช้งานเฉพาะที่ และไม่มีไฟฟ้าจากการไฟฟ้าเข้าถึง
  • ระบบโซลาร์เซลล์แบบ Hybrid ระบบที่เอาแบบ On Grid และ Off Grid มาทำงานร่วมกัน ซึ่งระบบแบบนี้จะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง แต่ก็สะดวกสบายขึ้น เพราะจะมีแบตเตอรี่สำหรับจัดเก็บไฟฟ้าที่ผลิตได้ และส่งต่อไปใช้งาน และเมื่อแบตเตอรี่หมด ก็สามารถสลับไปใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าได้แบบอัตโนมัติ นอกจากนี้ยังสามารถเลือกสลับการใช้งานไปอีกระบบได้อีกด้วย แบบนี้ก็จะเหมาะกับคนที่มีงบประมาณค่อนข้างมาก และต้องพร้อมในเรื่องของการจ่ายค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาในอนาคตอีกด้วย

เมื่อเรารู้จักประเภทของระบบโซลาร์เซลล์กันแล้ว ทีนี้เราต้องมาพิจารณาเลือกกันแล้ว ซึ่งแบบแรก On Grid นั้นจะมีค่าใช้จ่ายที่ถูกที่สุด และเหมาะกับการใช้งานในบ้านเรามากที่สุด เพราะสามารถใช้ไฟจากการโซลาร์เซลล์ และยังคงใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าแบบปกติได้อีกด้วย

2.คำนวณขนาดของระบบโซลาร์เซลล์ที่ต้องการใช้

สำหรับเรื่องขนาดของระบบโซลาร์เซลล์นั้นจะเป็นตัวกำหนดค่าใช้จ่ายที่เราต้องจ่าย รวมถึงระยะเวลาการคุ้มทุน ซึ่งถ้าใครไม่รู้จะคำนวณแบบไหนจริงๆ ผู้ให้บริการติดตั้งโซลาร์เซลล์ส่วนใหญ่ก็จะสามารถช่วยคำนวณให้ได้ โดยอิงตามความต้องการของเรานั่นเอง แต่ถ้าเราสามารถคำนวณได้เองก่อน ก็จะช่วยให้เราทราบความต้องการใช้ไฟฟ้าของเราคร่าวๆ และจะทราบค่าใช้จ่ายในเบื้องต้น เพื่อไปสืบหาราคาจากผู้ให้บริการได้ก่อน

วิธีการคำนวณนั้นให้เริ่มจาก หาจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่เราใช้ในแต่ละเดือนก่อน เอาแบบเฉลี่ยก็ได้ ถ้าถามว่าแล้วจะรู้จากไหน ก็ง่ายๆ ครับ ดูจากบิลค่าไฟฟ่า หรือในแอพการไฟฟ้าก็ได้ จะมีบอกข้อมูลส่วนนี้ จากนั้นเมื่อเราได้ตัวเลขมาแล้ว เราก็มาดูว่า แผงโซลาร์เซลล์ที่เราจะซื้อมาใช้นั้นเราต้องใช้ขนาดไหน ถึงจะผลิตไฟฟ้าได้ตามจำนวนหน่วยการใช้งานของเรา อันนี้ต้องบอกก่อนว่า ปกติแล้วเราจะไม่คำนวณว่าจะต้องใช้แผงมากแค่ไหน ถึงจะผลิตไฟฟ้าเท่ากับที่เราใช้ได้ เพราะถ้าจะต้องผลิตได้ขนาดนั้น ค่าใช้จ่ายคงหลายล้านบ้าน ซึ่งมากเกินไปครับ

เราจะอ้างอิงแค่ว่า เรามีงบเท่าไหร่ เพื่อเลือกแผงโซลาร์เซลล์ แล้วหาตัวเลขออกมาว่าเราจะประหยัดไฟฟ้าได้เท่าไหร่ ก็ให้เอาตัวเลขในเว็บไซต์ต่างๆ ที่ลงไว้ก็ได้ครับว่า เขามีขนาดการผลิตไฟฟ้าเท่าไหร่ให้เราเลือกบ้าง เช่น ผลิตไฟฟ้าได้ 3KW ราคา 120,000 บาท , 5KW ราคา 170,000 บาท เป็นต้น เมื่อได้ตัวเลขการผลิตไฟฟ้าได้แล้ว ให้เอาไปคูณระยะเวลาที่ผลิตไฟฟ้าได้ต่อวัน ปกติตัวเลขจะเฉลี่ยอยู่ที่ 4.5 ตัวอย่างเช่น เรามีงบอยู่ 120,000 บาท ก็ต้องเลือกที่ 3KW

3 KW x 4.5 = 13.5 หน่วยต่อวัน ดังนั้น 1 เดือนเราจะผลิตไฟฟ้าใช้เองได้ประมาณ 405 หน่วยต่อเดือน

แบบนี้เราจะประหยัดไฟฟ้า 1 เดือนได้เท่าไหร่

ก็ให้เอาไฟฟ้าที่เราผลิตได้ 405 หน่วยต่อเดือน x ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 4.4 บาท ได้ออกมาที่ 1,782 บาท ซึ่งตัวเลขนี้ก็เป็นค่าเฉลี่ยเท่านั้นนะครับ เพราะในความเป็นจริง เราอาจจะไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เต็ม 100% ตามที่เราคำนวณมา เนื่องจากจะมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ไม่ว่าจะเป็น ฝนตก แดดไม่มี หรือแดดมีแต่น้อยมาก รวมถึงความผิดปกติหรือเสียหายของแผงโซลาร์เซลล์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ด้วย

คำถามต่อไป แบบนี้เราจะคืนทุนเมื่อไหร่

ก็ให้เอาราคาค่าติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์มา ในตัวอย่างนี้ก็ 120,000 บาท แล้วก็เอาค่าไฟฟ้าที่เราประหยัดได้มา โดยเปลี่ยนเป็นต่อปีก่อน 1,782 x 12 = 21,384 บาท มาตั้งหารกับค่าติดตั้ง

120,000 บาท หารด้วย 21,384 บาท จะได้ออกมาที่ 5.6 ปี ซึ่งระยะเวลาคืนทุนก็อยู่ที่ 5 ปีครึ่ง แต่ในความเป็นจริงอาจจะประมาณ 6 ปี เพราะมีปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง หลังจากคืนทุนแล้ว หลังจากนี้ก็เป็นกำไรล้วนๆ ครับ ซึ่งอันนี้ต้องพิจารณาเอาเองว่า ถ้าตัวเลขออกมาแบบนี้แล้ว คุณคิดว่าจะลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์หรือไม่

3.หลังคาบ้าน ทิศทางของการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์

เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องพิจารณาก่อน ซึ่งเรื่องนี้เราอาจจะไม่สามารถประเมินเองได้ ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญที่จะเข้ามาดูว่า หลังคาบ้านของเราสามารถติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ได้หรือไม่ มีพื้นที่เพียงพอหรือไม่ ถ้าบ้านเรามีขนาดใหญ่ พื้นที่ในการติดตั้งแผงนั้นก็ใหญ่ไปด้วย ทำให้เราสามารถเลือกจำนวนการผลิตไฟฟ้าได้จำนวนมากๆ ได้ แต่ถ้าหลังคาบ้านเรามีขนาดเล็ก หรือบ้านเราเล็ก อาจจะต้องพิจารณาหาจุดติดตั้งแผงโซลลาร์เซลล์ในตำแหน่งอื่นๆ รวมด้วย เช่น บ้านใครชั้นบนสุดทำเป็นดาดฟ้า อาจจะต้องยอมเสียพื้นที่บางส่วนเพื่อติดตั้งโครงสร้างสำหรับแผงโซล

นอกจากนี้เมื่อพื้นที่พร้อมแล้ว ต้องตรวจสอบต่อว่า โครงสร้างหลังคามีความแข็งแรงพอที่จะติดตั้งแผงโซลลาร์เซลล์หรือไม่ จากนั้นก็ต้องดูถึงทิศทางของการวางแผงโซลาร์เซลล์ที่เหมาะสมและดีที่สุดเพื่อให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากที่สุดนั่นเอง ซึ่งทั้งหมดนี้แนะนำให้ทางผู้ให้บริการติดตั้งเป็นผู้สำรวจตรวจสอบจะดีที่สุด

4.ติดโซลาร์เซลล์ต้องขออนุญาตด้วย

ในการติดตั้งโซลาร์เซลล์เราในฐานะเจ้าของบ้านต้องทำการขออนุญาตจากหน่วยงานภาครัฐด้วย ซึ่งจะประกอบไปด้วย เขต หรือเทศบาล การไฟฟ้า (นครหลวง หรือส่วนภูมิภาค) และคณะกรรมการกองกำกับกิจการพลังงาน (หากติดตั้งโซล่าเซลล์ที่มีกำลังผลิตติดตั้งไม่ถึง 1000 kVA หรือประมาณ 800 kW จะต้องยื่นขอยกเว้นการขอใบอนุญาตจากสำนักงาน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน) ดูชื่อหน่วยงานต่างๆ แล้ว ต้องบอกว่าอาจจะยุ่งยากสำหรับบางท่าน ส่วนนี้ผู้ให้บริการติดตั้งโซลาร์เซลล์ส่วนใหญ่ จะเรียกว่าเกือบทุกเจ้าก็ได้ จะมีบริการจัดการยื่นขออนุญาตให้ทั้งหมด ค่าใช้จ่ายจะร่วมกับค่าติดตั้งทั้งหมดแล้ว ซึ่งเราเองก็เพียงแต่เตรียมเอกสารตามที่ผู้ให้บริการแจ้งมาเท่านั้น ก็สะดวกนี้ครับ แต่ถ้าใครอยากทำเอง ก็สามารถยื่นขอจากทุกหน่วยงานได้เองเช่นกัน

เนื้อหาน่าสนใจ :  สินเชื่อติดตั้งโซลาร์เซลล์ มีธนาคารไหนบ้าง เงื่อนไขเป็นอย่างไรไปชม

5.การรับประกัน และการดูแลหลังการขายสำคัญมาก

เรื่องการรับประกัน ต้องย้ำกันเลยว่า สำคัญมาก เพราะแผงโซลาร์เซลล์ และอุปกรณ์ต่างๆ ในระบบนั้น หากมีอันไหนทำงานผิดปกติเราจะไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เลย แนะนำว่าก่อนจะใช้บริการจากรายไหน ให้ดูว่าเขามีระยะเวลาการรับประกันนานแค่ไหน ยิ่งนานยิ่งดี บางเจ้าที่ราคาสูงหน่อย แต่ได้การรับประกันที่ยาวนานขึ้น แบบนี้ก็ควรจะพิจารณาเลือกใช้บริการเป็นอันดับต้นๆ และอย่าลืมดูเงื่อนไขการรับประกันด้วยว่า มีอะไรบ้าง ส่วนนี้มักจะไม่ค่อยอ่านกัน แนะนำให้อ่านแบบละเอียดเลยครับ ไม่เข้าใจตรงไหน หรือมีข้อสงสัยให้สอบถามผู้ให้บริการทันที

นอกจากการรับประกันแล้ว บริการหลังการขายก็สำคัญมาก มีผู้ให้บริการหลายเจ้ามีบริการตรวจเช็คระบบตามรอบ รวมถึงมีการให้บริการทำความสะอาดแผงโซลลาร์เซลล์ด้วย หลายคนอาจจะสงสัยว่าเราต้องทำตามสะอาดด้วยเหรอ ตอบเลยว่า ต้องทำความสะอาดครับ เพราะถ้าแผงโซลาร์เซลล์สกปรก จะทำให้ประสิทธิภาพในการรับแสงน้อยลง ระบบก็จะผลิตไฟฟ้าได้น้อยลงตามไปด้วย อาจจะมีคนสงสัยว่า แผงโซลาร์เซลล์มันสกปรกได้ด้วยเหรอ อยู่บนหลังคาไม่น่าจะสกปรก บอกเลยว่าสกปรกครับ ยิ่งนานวันก็ยิ่งสกปรกมากขึ้นด้วย มีการสะสมทับถมของเศษฝุ่นต่างๆ รวมถึงมีพวกขี้นก หรือเศษของวัสดุบางอย่างที่ลอยมาติดบนแผงได้ด้วย ดังนั้นอย่าลืมดูด้วยว่า มีบริการดูแลในส่วนของการทำความสะอาดให้หรือไม่ ให้กี่ปี และถ้าหมดระยะการให้บริการตามการรับประกันแล้ว หลังจากนี้คิดค่าบริการทำความสะอาดเท่าไหร่ เพราะยังไงเราก็ต้องใช้บริการครับ ไม่แนะนำให้ทำเองนะครับ เพราะนอกจากจะเสี่ยงอันตรายแล้ว ยังเสี่ยงต่อการไปทำให้แผงโซลาร์เซลล์เสียหายหรือชำรุดได้อีกด้วย ให้ผู้เชี่ยวชาญเขาทำจะดีกว่า

6.ติดโซลาร์เซลล์ราคาเท่าไหร่

ต้องบอกว่ามีหลายขนาด หลายราคาครับ ก็ขอหยิบเอาราคาคร่าวๆ มาเป็นแนวทางให้ก็แล้วกันครับ ซึ่งราคาจริงอาจจะแตกต่างจากนี้ได้ทั้งถูกกว่า และแพงกว่า ซึ่งอยู่ที่คุณภาพของอุปกรณ์ การบริการ ระยะเวลาการรับประกัน รวมถึงผู้ให้บริการที่มีการกำหนดราคาที่แตกต่างกันไปครับ ก็เอาไว้พอเป็นแนวทางละกันครับ

ความสามารถในการผลิตไฟฟ้าราคา
3KW125,000 บาท
5KW180,000 บาท
5KW (ไฟ 3 เฟส)200,000 บาท
10KW280,000 บาท
10KW (ไฟ 3 เฟส)290,000 บาท
15KW380,000 บาท
20KW500,000 บาท

ราคาที่แสดงนี้ ปกติจะรวมค่าบริการต่างๆ เอาไว้ด้วย เช่น ค่าขออนุญาตจากหน่วยงานต่างๆ ค่าบริการตรวจเช็คระบบตามรอบ และค่าบริการทำความสะอาดแผงโซลลาร์เซลล์ ซึ่งแน่นอนว่าอาจจะผู้ให้บริการบางรายมีเงื่อนไขต่างๆ ที่แตกต่างไปจากนี้ แนะนำให้ดูรายละเอียด หรือสอบถามให้เรียบร้อยก่อนเซ็นต์สัญญาใช้บริการนะครับ

7.มีสินเชื่อสำหรับติดตั้งโซลลาร์เซลล์หรือไม่ อยากผ่อนรายเดือน

ตอบเลยว่ามีครับ ธนาคารส่วนใหญ่จะมีบริการสินเชื่อส่วนนี้เอาไว้ให้ ซึ่งถ้าเป็นลักษณะการผ่อนรายเดือน อาจจะต้องจ่ายในราคาที่เพิ่มจากราคาปกติประมาณ 10 – 20% ก็ถือว่าเป็นดอกเบี้ยนั่นเอง อาจจะผ่อนได้ 10 เดือน เดือนละเท่ากัน หรือบางธนาคารก็จะเป็นในลักษณะสินเชื่อแบบมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่จะสามารถผ่อนชำระได้ระยะเวลาที่นานขึ้น เช่น 5 ปี หรือ 60 เดือน ซึ่งแบบนี้ก็จะช่วยเรื่องของการลงทุนได้ค่อนข้างเยอะ เสมือนว่าเราผ่อนจ่ายค่าไฟล่วงหน้านั่นเอง ใครสนใจก็ลองติดต่อกับธนาคารต่างๆ ได้เลยไม่ว่าจะเป็น ออมสิน ไทยพาณิชย์ หรือธนาคารกสิกรไทย

และทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องที่เราควรจะรู้หลักๆ ก่อนการตัดสินใจที่จะติดตั้งโซลลาร์เซลล์กันนะครับ เชื่อว่าการติดตั้งโซล์ลาร์เซลล์นั้นจะอยู่ที่เรื่องของความคุ้มค่าในระยะยาวมากที่สุด ซึ่งบ้าน 1 หลังใครที่จะอาศัยอยู่เกิน 10 ปี และมีงบประมาณในการลงทุน บอกเลยว่ายังไงก็คุ้มค่าครับ ยิ่งใช้นานก็ยิ่งคุ้ม ส่วนใครที่มักจะไม่ได้อยู่บ้านนานๆ บางคนอยู่แค่ 5 ปี ก็ย้ายแล้ว แบบนี้แนะนำว่าไม่ควรลงทุน เพราะไม่คุ้มค่าครับ ยกเว้นว่าจะเอาไว้ติดบ้าน เพื่อช่วยให้การขายบ้านง่ายขึ้น คนซื้อต่อตัดสินใจง่าย แบบนี้ก็บวกเขาไปในราคาขายบ้านก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่น่าสนใจ

Photo : freepik

รู้จัก แบตเตอรี่ลิเธียมเหล็กฟอสเฟตชาร์จเร็ว 6C รุ่นแรกของโลก ชาร์จ 5 นาที วิ่งได้ 200 โล

การพัฒนาแบตเตอรี่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เรียกได้ว่ามีข่าวคราวออกมาอยู่ตลอดว่า มีการเปิดตัวแบตเตอรี่รุ่นใหม่ ซึ่งมักจะระบุเอาไว้เลยว่ามีขนาดเท่าไหร่ ติดตั้งกับรถแล้ววิ่งได้ระยะทางสูงสุดเท่าไหร่ และล่าสุดก็มีการเปิดตัวแบตเตอรี่รุ่นใหม่ออกมา แต่คราวนี้มีจุดเด่นที่ไม่เหมือนใคร เพราะเป็นแบตเตอรี่แบบชาร์จไว้ ชาร์จ 5…

ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์ของจีน ใช้ผลิตเป็นพลังงานสะอาด

‘ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์’ ของจีน ที่มีชื่อว่า EAST ประสบความสำเร็จในการทำงานต่อเนื่องภายใต้สภาวะอุณหภูมิสูงเป็นเวลา 1,056 วินาที ระหว่างการทดลองรอบล่าสุด ถือเป็นระยะเวลาการทำงานที่ยาวนานที่สุดเท่าที่เคยทำการทดลองมา

StoreDot แบตเตอรี่สำหรับรถ EV ชาร์จจาก 10% ไป 80% ได้ใน 10 นาที

StoreDot EV Battery คือแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าชนิดใหม่ ที่ถูกพัฒนาโดยบริษัท StoreDot สตาร์ทอัพสัญชาติอิสราเอล มีความพิเศษกว่าแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นเดิมๆ ที่เด่นชัดมากทึ่สุดคือ ความเร็วในการชาร์จแบตจาก…

Leave a Reply