กฟผ. ร่วมมือ สวทช. ผลักดัน EV Ecosystem แบบครบวงจรในประเทศไทย อัพเกรดแล็บทดสอบอุปกรณ์อัดประจุรถยนต์ไฟฟ้า (EV Charger) กำลังสูง 150 kW ของศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หรือ PTEC สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อรองรับผู้ประกอบการหัวชาร์จไฟฟ้าในไทย

วันที่ 7 กรกฎาคม 2565 นายวฤต รัตนชื่น ผู้ช่วยผู้ว่าการ Project Management Office การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นายสาธิต ครองสัตย์ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ กฟผ. นางเกศวรงค์ หงส์ลดารมภ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ด้านกิจการพิเศษ และ ดร.ไกรสร อัญชลีวรพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) เปิดตัวศูนย์ทดสอบอุปกรณ์อัดประจุรถยนต์ไฟฟ้ากำลังสูงตามมาตรฐาน IEC 61851 ณ ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี

นายวฤต รัตนชื่น เปิดเผยว่า การร่วมมือครั้งนี้นับเป็นอีกก้าวสำคัญของการผลักดัน EV Ecosystem ในประเทศไทย โดยทั้งสองหน่วยงานภาครัฐที่มีเป้าหมายเดียวกันได้ร่วมมือขับเคลื่อนอนาคตยานยนต์ไฟฟ้าไทย ในการสร้างบรรทัดฐานด้านความปลอดภัยของระบบชาร์จสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าโดยสารสาธารณะ ทั้งบนถนนและแม่น้ำให้ได้ระดับมาตรฐานสากล

สถานีชาร์จจัดเป็นองค์ประกอบหลักของ EV Ecosystem นอกจากต้องมีทำเลที่ตั้งที่เหมาะสม ปลอดภัย ครอบคลุมพื้นที่การเดินทางแล้ว สิ่งสำคัญอย่างยิ่งคือ “มาตรฐาน” ของสถานีชาร์จที่ต้องสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการ  ทั้งยานยนต์ไฟฟ้าทั่วไป และยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง

“กฟผ. จึงได้ร่วมมือกับ สวทช. สร้างความมั่นใจ พร้อมส่งเสริมผู้ประกอบการผลิตหัวชาร์จไฟฟ้าในประเทศ โดยการพัฒนาแล็บทดสอบหัวชาร์จไฟฟ้า ที่มีมาตรฐานสากลรองรับ ณ ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จากเดิมที่สามารถทดสอบได้เพียง 60 กิโลวัตต์ ขยายการทดสอบเพิ่มเป็น 150 กิโลวัตต์ เพื่อให้ผู้สนใจผลิตหัวชาร์จไฟฟ้าสามารถนำมาทดสอบเพื่อให้ได้มาตรฐาน

อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาองค์ความรู้การทดสอบเครื่องอัดประจุไฟฟ้าในประเทศไทยด้วย โดยจะเปิดให้บริการทดสอบ 15 กรกฎาคม 2565 นี้ ศูนย์ทดสอบแห่งนี้จะมีประโยชน์ในวงกว้างต่อประเทศชาติ และเป็นโอกาสในการสร้างนวัตกรรมเครื่องอัดประจุไฟฟ้า ส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศให้เข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป” นายวฤต ย้ำในตอนท้าย

ดร.ไกรสร อัญชลีวรพันธุ์ กล่าวเสริมว่า จากนโยบายภาครัฐที่ต้องการให้ประเทศไทยยังคงเป็นฐานในการผลิตยานยนต์แบบเดิมและยานยนต์ไฟฟ้าของโลกนั้น  หลายหน่วยงานได้ระดมสรรพกำลัง ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ทั้งการผลิตแบตเตอรี่ การประกอบยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ และการนำยานยนต์ไฟฟ้าไปใช้ขนส่งในระบบสาธารณะ  PTEC เห็นถึงวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นของ กฟผ. ในการสร้างระบบนิเวศน์ยานยนต์ไฟฟ้า (EV Ecosystem) จึงได้ร่วมมือกันพัฒนาแล็บทดสอบดังกล่าวขึ้น

โดยเน้นไปที่การทดสอบหัวชาร์จไฟฟ้าแบบกระแสตรงขนาดใหญ่ 150 กิโลวัตต์ สำหรับการใช้งานของรถโดยสารสาธารณะไฟฟ้า หัวรถลากไฟฟ้า และเรือเฟอร์รี มุ่งหวังลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการในการส่งหัวชาร์จไปรับรองมาตรฐานที่ต่างประเทศ ลดต้นทุนในการผลิต ลดระยะเวลาในการพัฒนา ส่งผลให้ราคาของหัวชาร์จไฟฟ้าไม่สูงมาก สามารถแข่งขันในตลาดได้

นอกจากนี้ สวทช. โดย PTEC ยังให้บริการทดสอบชิ้นส่วนสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้าตามมาตรฐานสากลอีกหลายชนิด ทั้งเซลล์แบตเตอรี่ลิเธียม โมดูลแบตเตอรี่ของมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า แบตเตอรี่แพ็กของยานยนต์ไฟฟ้า การทดสอบประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้าของมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเบอร์ 5  การทดสอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในยานยนต์ชนิดต่าง ๆ รวมไปถึงการทดสอบความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า (EV) สำหรับยานยนต์ทั้งคัน PTEC และ กฟผ. พร้อมสนับสนุน EV Ecosystem ของประเทศไทยให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างยั่งยืนต่อไป

Source : ประชาชาติธุรกิจ

จากการพัฒนาของเทคโนโลยีทำให้ปัจจุบันมีตัวเลือกมากมายให้กับสังคมและผู้บริโภคที่จะเลือกใช้ผลิตภัณฑ์และบริการจากช่องทางไหน ซึ่งแนวโน้นความต้องการในปัจจุบันเริ่มมีทิศทางชัดเจนมากขึ้นว่าต้องการที่จะดูแลสิ่งแวดล้อมแต่ยังได้รับความสะดวกสบายอยู่ หลายสินค้าจึงได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบให้ตอบโจทย์ด้านนี้มากยิ่งขึ้น รวมถึงการคมนาคมที่รถยนต์ไฟฟ้า หรือ อีวี เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นจากเมื่อปีก่อนๆ ปี 2565 นี้ประเทศไทยเองก็มีความชัดเจนเพิ่มขึ้นจากมาตรการการส่งเสริมของรัฐ

หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, มูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน, สมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย (อาร์อี100), สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ, หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และ ทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ ให้ผู้ประกอบการผู้ใช้บริการ ผู้ผลิต ภาคขนส่งได้เตรียมตัวตั้งรับต่อสถานการณ์น้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ร่วมกันหาทางออกในการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานด้วยรถ EV ตลอดจนมาตรการสนับสนุนทางการเงิน

นำโดย

  1. ดร.สุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานคณะทำงาน กกร. ด้านพลังงาน
  2. ดร.สุรทิน ธัญญะผลิน ผู้แทนจากสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย
  3. คุณธเนศร เนื่องจำนงค์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายซัพพลายเชน เซ็นทรัลรีเทล
  4. คุณอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด(มหาชน)
  5. ดร.จิระวัฒน์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ คณะทำงาน กกร. ด้านพลังงาน จากสมาคมธนาคารไทย

ดำเนินรายการโดย : ดร.ดิษฐา นนทิวรวงษ์
คณะทำงานด้านพลังงานหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย