การพัฒนาแบตเตอรี่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เรียกได้ว่ามีข่าวคราวออกมาอยู่ตลอดว่า มีการเปิดตัวแบตเตอรี่รุ่นใหม่ ซึ่งมักจะระบุเอาไว้เลยว่ามีขนาดเท่าไหร่ ติดตั้งกับรถแล้ววิ่งได้ระยะทางสูงสุดเท่าไหร่ และล่าสุดก็มีการเปิดตัวแบตเตอรี่รุ่นใหม่ออกมา แต่คราวนี้มีจุดเด่นที่ไม่เหมือนใคร เพราะเป็นแบตเตอรี่แบบชาร์จไว้ ชาร์จ 5 นาที วิ่งได้ถึง 200 กิโลเมตร และวันนี้ทางทีมงานจะพาทุกท่านมารู้จักกับแบตเตอรี่ลิเธียมเหล็กฟอสเฟตชาร์จเร็ว 6C ซึ่ง SAIC-GM ร่วมมือกับทาง CATL ได้เปิดตัวแบตเตอรี่ลิเธียมเหล็กฟอสเฟตชาร์จเร็ว 6C รุ่นแรกของโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
แบตเตอรี่ลิเธียมเหล็กฟอสเฟตชาร์จเร็ว 6C รุ่นแรกของโลก
แบตเตอรี่ลิเธียมเหล็กฟอสเฟต (Lithium Iron Phosphate Battery หรือ LFP) เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่ได้รับความสนใจอย่างมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากมีข้อดีหลายประการที่น่าสนใจ เริ่มจากความปลอดภัยสูง แบตเตอรี่ LFP มีความเสถียรทางเคมีสูง ทำให้มีโอกาสน้อยที่จะเกิดการลัดวงจรหรือระเบิดเมื่อเทียบกับแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนชนิดอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีอายุการใช้งานยาวนาน แบตเตอรี่ LFP สามารถผ่านการชาร์จและคายประจุได้หลายรอบโดยไม่สูญเสียความจุมากนัก ทำให้มีอายุการใช้งานยาวนานกว่าแบตเตอรี่ชนิดอื่นๆ และยังมีต้นทุนที่ต่ำ วัสดุที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่ LFP มีราคาถูกกว่าวัสดุที่ใช้ในแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนชนิดอื่นๆ ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลงตามไปด้วย และทนทานต่ออุณหภูมิสูง แบตเตอรี่ LFP สามารถทำงานได้ดีในสภาพอากาศที่ร้อนจัด ทำให้เหมาะสำหรับการใช้งานในภูมิภาคที่มีอุณหภูมิสูง
สำหรับแบตเตอรี่ลิเธียมเหล็กฟอสเฟตชาร์จเร็ว 6C ก็ถือว่าเป็นการพัฒนาแบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่งจะขออธิบายคร่าวๆ ให้ทุกท่านเข้าใจถึงเรื่องของ แบตเตอรี่ 6C โดย C-rate คืออัตราการคายประจุของแบตเตอรี่ที่สัมพันธ์กับความจุของแบตเตอรี่นั้นๆ ยิ่งค่า C-rate สูง แสดงว่าแบตเตอรี่สามารถคายประจุได้เร็วขึ้น และชาร์จได้เร็วขึ้นถึง 6 เท่า ส่วนคำว่า แบตเตอรี่ 6C ก็เป็น แบตเตอรี่สามารถชาร์จจาก 0% ถึง 100% ได้ภายในเวลาเพียง 10 นาที (สมมติว่าความจุแบตเตอรี่ 100Ah) ซึ่งเร็วกว่าแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าทั่วไปมาก
จุดเด่นของ แบตเตอรี่ลิเธียมเหล็กฟอสเฟตชาร์จเร็ว 6C
- ชาร์จเร็ว ช่วยลดเวลาในการรอชาร์จ ทำให้ผู้ใช้สามารถเดินทางได้ไกลขึ้นโดยไม่ต้องกังวลเรื่องแบตเตอรี่หมด
- เพิ่มความสะดวก ช่วยให้การชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเป็นเรื่องง่ายและรวดเร็วเหมือนการเติมน้ำมันรถยนต์ทั่วไป
- เทคโนโลยีที่ล้ำสมัย แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีแบตเตอรี่ และมีศักยภาพในการปฏิวัติอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
นอกจากจะมีจุดเด่นแล้ว ก็มีข้อจำกัดบางอย่างเช่นกัน เริ่มจากเรื่องของความร้อน การชาร์จเร็วอาจทำให้แบตเตอรี่ร้อนขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่ออายุการใช้งานของแบตเตอรี่ในระยะยาว และยังมีเรื่องของราคาแบตเตอรี่ ที่อาจจะมีราคาสูงกว่าแบตเตอรี่แบบปกติทั่วๆ ไปในช่วงแรกๆ นอกจากนี้ยังต้องอาศัยสถานีชาร์จที่มีความเร็วในการชาร์จที่สูงอีกด้วย
อนาคตของ แบตเตอรี่ลิเธียมเหล็กฟอสเฟตชาร์จเร็ว 6C ของ SAIC-GM
SAIC-GM ได้มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับแบตเตอรี่ 6C เอาไว้ว่า ในปีหน้าจะนำไปใช้กับสถาปัตยกรรมแบตเตอรี่รุ่นใหม่ที่มีชื่อว่า Autoneng quasi-900V ซึ่งจะเป็นแบตเตอรี่ที่เข้ามาปลดล็อคข้อจำกัดต่างๆ และให้ประสบการณ์ใหม่ในการชาร์จแบตเตอรี่ของรถไฟฟ้าที่รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
โดยแบตเตอรี่ลิเธียมเหล็กฟอสเฟตที่ชาร์จเร็วพิเศษ 6C นั้น ได้รวมเอาเทคโนโลยีการชาร์จเร็วระดับอะตอมหลายอย่างเข้ามาในแบตเตอรี่ ซึ่งรวมถึง เทคโนโลยีแคโทดเครือข่ายอิเล็กตรอนระดับสูง เทคโนโลยีวงแหวนไอออนเร็วในกราไฟท์รุ่นที่สอง สูตรอิเล็กโทรไลต์ที่มีการนำไฟฟ้าสูงมาก เมมเบรนอินเตอร์เฟซอิเล็กโทรไลต์แข็ง SEI ที่มีความหนาในระดับนาโน เมมเบรนกั้นความร้อนที่มีรูพรุนสูงที่ได้รับการปรับปรุง และอื่นๆ
เทคโนโลยีแบตเตอรี่ลิเธียมเหล็กฟอสเฟตที่ชาร์จเร็วพิเศษ 6C ที่ SAIC-GM ร่วมกับ CATL ไม่เพียงแต่กำหนดมาตรฐานทางเทคนิคใหม่ให้กับอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นวิสัยทัศน์ของ SAIC-GM เกี่ยวกับแนวทางพลังงานใหม่ และความร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยียานยนต์เอเชีย ในด้านการวิจัยและพัฒนาที่ยอดเยี่ยมเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ในอนาคต SAIC-GM จะยังคงร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำในอุตสาหกรรม เพื่อนำเสนอโซลูชันการเดินทางด้วยพลังงานใหม่ที่ชาญฉลาด มีประสิทธิภาพและสะดวกสบายยิ่งขึ้นให้แก่ผู้บริโภค และร่วมกันส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่ที่ยั่งยืน
บทสรุป
การพัฒนาแบตเตอรี่ชาร์จเร็วออกมา จะช่วยให้ประสบการณ์การใช้รถไฟฟ้าเปลี่ยนไป ไม่ต้องรอชาร์จนานๆ แบบเดิม ซึ่งก็ต้องรอดูต่อไปว่าแบตเตอรี่ 6C ที่ทาง SAIC-GM ที่ร่วมกับ CATL จะถูกนำไปใช้กับรถไฟฟ้ารุ่นไหนกันบ้าง นอกจากนี้ยังมีข่าวคราวของทาง BYD ที่คาดว่าจะเปิดตัว Blade battery 2.0 แบตเตอรี่ลิเทียมชนิต LFP ภายในช่วงปีนี้ ซึ่งจะรองรับการชาร์จระดับ 6C เช่นเดียวกัน (อ้างอิงจากสื่อในจีน) และทาง CATL ก็ได้มีการวางแผนปล่อยแบตเตอรี่ Qilin 2.0 ที่เป็นชนิต LFP เช่นกัน และจากสามารถรองรับการชาร์จ 6C ภายในช่วงสิ้นปีนี้ ก็เรียกได้ว่าปลายปีนี้ เราจะเห็นการเปิดตัวแบตเตอรี่รุ่นใหม่กันอย่างต่อเนื่อง และต้องรอดูกันต่อไปครับว่า จะมีรถรุ่นไหนติดตั้งแบตเตอรี่รุ่นใหม่นี้บ้าง และจะเปิดราคาขายกันที่เท่าไหร่