News & Update

เปิด 10 เทรนด์ด้านความยั่งยืนปี 2025 พร้อมเปลี่ยนโลก แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

ปี 2024 ประเด็นด้านความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมกลายเป็นเทรนด์ที่หลายบริษัทให้ความสำคัญ มีการพัฒนาในด้านเกษตรกรรมฟื้นฟู การจัดการน้ำอย่างยั่งยืน และการบูรณาการใช้หลัก ESG โดยมีบริษัทชั้นนำ เช่น Nescafé, Carlsberg และ Toyota เป็นผู้นำในการผลักดัน ขณะเดียวกันโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนก็ได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเห็นได้จากความพยายามของบริษัทฝรั่งเศส Dipli ในการอัปไซเคิลอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

ขณะที่เอไอกลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับกลยุทธ์ขององค์กร และปฏิวัติด้านความยั่งยืนในหลายๆ ด้าน ตั้งแต่โครงข่ายพลังงานอัจฉริยะไปจนถึงการสร้างแบบจำลองสภาพอากาศ ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอย่าง Google พัฒนาซอฟต์แวร์คาดการณ์น้ำท่วม นอกจากนี้ การตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานมีความเข้มข้นมากขึ้น ส่วนการรายงานความยั่งยืนมีมาตรฐานมากขึ้น โดยเฉพาะในสหภาพยุโรป

Sustainbility Mag ได้สรุป 10 เทรนด์ซัสเทนที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2025 ส่งผลให้เกิดอนาคตที่ยั่งยืนมากขึ้นในทุกอุตสาหกรรมและทุกพื้นที่

กฎระเบียบด้านความยั่งยืน

ในปี 2025 กระบวนการรายงานและการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนจะยิ่งก้าวหน้าขึ้น เนื่องจากข้อกำหนดการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนมีความเข้มงวดและเป็นมาตรฐานมากขึ้นทั่วโลก บริษัทต่าง ๆ จะต้องเผชิญกับการตรวจสอบที่เข้มงวดมากขึ้น ทั้งจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้บริโภค และพนักงาน รวมถึงบทลงโทษที่อาจเกิดขึ้นจากการฟอกเขียว

เป้าหมายด้านความยั่งยืนในระยะยาวหลังปี 2030 จะกลายเป็นเรื่องปรกติมากขึ้น โดยบริษัทต่าง ๆ จะนำแนวทางการมองการณ์ไกลเชิงกลยุทธ์มาใช้ ทำให้บริษัทต่าง ๆ จะต้องสื่อสารคุณลักษณะด้านความยั่งยืนอย่างชัดเจนและถูกต้อง มีข้อมูลที่โปร่งใสและ KPI ที่แข็งแกร่ง และต้องมีแนวทางเชิงกลยุทธ์ในการบูรณาการความยั่งยืนเข้ากับการดำเนินงานหลักด้วย

การเงินที่ยั่งยืน

ในปี 2025 การเงินที่ยั่งยืนมีแนวโน้มเติบโตอย่างมาก โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เชื่อมโยงกับ ESG และพันธบัตรสีเขียว คาดการณ์ว่าตลาดพันธบัตรสีเขียวจะขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจสูงถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2025 ด้วยอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น 25%

พันธบัตรสีเขียวและเครื่องมือทางการเงินที่ยั่งยืนอื่น ๆ จะยังคงระดมทุนเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยรัฐบาลและบริษัทขนาดใหญ่ใช้เครื่องมือเหล่านี้ เพื่อระดมทุนสำหรับโครงการด้านความยั่งยืน

นอกจากนี้ สินเชื่อที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืนจะได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเชื่อมโยงอัตราดอกเบี้ยกับผลลัพธ์ที่ต้องการด้าน ESG และส่งเสริมให้บริษัทต่างๆ ผนวกความยั่งยืนเข้ากับการดำเนินงานของตน ส่วนการลงทุนด้าน ESG คาดว่าจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากนักลงทุนให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนและมีจริยธรรมมากขึ้น

ความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการรวมเป็นหนึ่ง

บริษัทต่าง ๆ กำหนดเป้าหมายด้านความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการรวมเป็นหนึ่ง หรือ DEI (Diversity, equity and inclusion) ให้ไกลมากขึ้น ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลและใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากขึ้น โดยจะใช้เอไอในการวิเคราะห์อคติ วัดความพยายามในการรวมเข้าเป็นหนึ่ง และติดตามความคืบหน้าแบบเรียลไทม์

บริษัทต่าง ๆ จะใช้แนวทางที่มีความละเอียดอ่อนมากขึ้น และการรวมทุกคนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจะกลายเป็นสกีลที่ผู้นำยุคใหม่จะต้องมี ซึ่งผู้นำจำเป็นจะต้องได้รับการฝึกอบรม เพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่พนักงานทุกคนรู้สึกมีคุณค่า

ESG

ตัวชี้วัด ESG กำลังกลายมาเป็นมาตรฐาน KPI สำหรับผู้บริหารระดับสูงอย่างรวดเร็ว เป็นตัวชี้ขาดรายได้ของพวกเขา และแนวโน้มนี้จะทวีความรุนแรงมากขึ้นภายในปี 2025

ปัจจุบัน บริษัททั่วโลก 81% ใช้ตัวชี้วัด ESG ในแผนจูงใจผู้บริหาร เพิ่มขึ้นจาก 68% ในปี 2020 ขณะที่ในสหรัฐมีอัตราการนำไปใช้สูงกว่าทั่วโลก โดยพุ่งสูงขึ้นจาก 52% ในปี 2020 เป็น 76% ในปี 2023 ซึ่งตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการลดการปล่อยคาร์บอน เป็นตัวชี้วัดที่ถูกนำไปใช้มากที่สุด เนื่องจากสามารถนำไปเชื่อมโยงกับแผนของบริษัทได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

การเปลี่ยนแปลงนี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่เพิ่มขึ้นต่อความยั่งยืน ความหลากหลาย และการกำกับดูแลที่มีจริยธรรม รวมถึงการตอบสนองต่อความคาดหวังของนักลงทุนและแรงกดดันด้านกฎระเบียบ

การจัดการน้ำ

โครงการการจัดการน้ำจะกลายมาเป็นสิ่งสำคัญ ในปี 2025 คาดว่าประชากร 1,800 ล้านคนจะเผชิญกับภาวะขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง และประชากรโลก 2 ใน 3 กำลังเผชิญกับภาวะขาดแคลนน้ำ จึงจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน

อุตสาหกรรมต่าง ๆ พยายามตั้งเป้าหมายให้สูงขึ้น เช่น PepsiCo ตั้งเป้าที่จะเติมเต็มน้ำมากกว่า 100% ที่ใช้ในพื้นที่ขาดแคลนเสี่ยงสูงภายในปี 2030 ขณะที่ รัฐบาลและธุรกิจต่าง ๆ กำลังดำเนินการตามแผนการจัดการน้ำ โดยเน้นที่การลดการใช้น้ำ ปรับปรุงเทคนิคการชลประทาน และอนุรักษ์ระบบนิเวศ

เศรษฐกิจหมุนเวียน

ปี 2025 จะมีการนำแบบจำลองเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยเน้นที่การยืดอายุผลิตภัณฑ์ การนำกลับมาใช้ใหม่ และการรีไซเคิล ทำให้เกิดนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน และบริษัทต่าง ๆ จะเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง

ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ผู้จำหน่ายจะต้องมุ่งเน้นไปที่การลดผลกระทบต่อวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์และบริการ ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับการลดการบริโภค ซึ่งผู้บริโภค หน่วยงานกำกับดูแล นักวิจัย ผู้รีไซเคิล ซัพพลายเออร์ และบริษัทเทคโนโลยีต้องร่วมกันขับเคลื่อน เพื่อผลลัพธ์ที่ยั่งยืน

ธรรมชาติ

แนวทางในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน หรือ NbS (Nature-based solutions) เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่จะได้รับความนิยมอย่างมากในปี 2025 ในตอนนี้ธุรกิจต่างเพิ่มการลงทุนในโครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์ระบบนิเวศ คาดว่าภายในปี 2025 จะมีเงินทุนลงทุนในแนวทาง NbS สูงถึง 384,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าจากปี 2024 ที่อยู่ประมาณ 154,000 ล้านดอลลาร์

การเพิ่มขึ้นของงบประมาณเกิดขึ้นจากความต้องการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และปัญหาที่ดินเสื่อมโทรม ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าภาคเอกชนจะมีส่วนร่วมเพิ่มขึ้นอย่างมาก เพิ่มขึ้นจาก 17% ของการลงทุน NbS ทั้งหมดในปัจจุบัน

บริษัทต่าง ๆ จะบูรณาการ NbS เข้ากับการดำเนินงาน โดยเน้นที่ห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนและชดเชยผลกระทบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ผ่านตลาดธรรมชาติที่มีความสมบูรณ์สูง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้จะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการใช้ประโยชน์จากพลังของธรรมชาติ ลดการปล่อยมลพิษ ฟื้นฟูภูมิทัศน์ที่เสื่อมโทรม และหยุดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

พลังงานหมุนเวียน

บริษัทต่าง ๆ ลงทุนในพลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น พร้อมตั้งเป้าจะใช้พลังงานสะอาด 100% เนื่องจากต้นทุนลดลงอย่างต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้น และจำเป็นต้องเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด เพื่อเข้าสู่ยุคความเป็นกลางทางคาร์บอน และมุ่งสู่เศรษฐกิจสีเขียวที่กำลังเกิดขึ้นใหม่ สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) คาดว่าการลงทุนในเทคโนโลยีสะอาดและโครงสร้างพื้นฐานจะสูงถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2024 ซึ่งมากกว่าการลงทุนในเชื้อเพลิงฟอสซิลเกือบสองเท่า

การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งได้แรงหนุนจากกลไกของตลาดและกฎระเบียบระดับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป สินทรัพย์เชื้อเพลิงฟอสซิลจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเพื่อรองรับเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ เช่น เชื้อเพลิงหมุนเวียน หรือการจับกักและกักเก็บคาร์บอน ซึ่งจะทำให้สินทรัพย์ที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้จะมีคุณค่าลดลงอย่างต่อเนื่องในทศวรรษหน้า 

ขณะที่ความต้องการพลังงานหมุนเวียนจะสูงเกินกว่าพลังงานที่ผลิตได้ เพราะแต่ละบริษัทต้องการบรรลุ เป้าหมายเน็ตซีโร่ภายในปี 2030 ซึ่งจะทำให้บริษัทที่ไม่ได้วางแผนจัดหาแหล่งพลังงานหมุนเวียนตั้งแต่เนิ่น ๆ จะต้องซื้อพลังงานสะอาดในราคาสูง 

เอไอ

ในปี 2025 เอไอจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง และขยายขอบเขตความสามารถเพิ่มมากขึ้นจนสามารถนำมาใช้งานได้ด้านความยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุกขั้นตอนการดำเนินงานและห่วงโซ่อุปทาน เช่น การปรับแต่งเส้นทาง การตัดสินใจโดยอัตโนมัติ ปรับเส้นทางได้แบบเรียลไทม์ ควบคุมความผันผวนของต้นทุน การวิเคราะห์ของเอไอและบิ๊กดาต้าจะเพิ่มประสิทธิภาพให้กับโครงการกักเก็บคาร์บอนและกลยุทธ์การซื้อขาย 

คาร์บอน

การติดตามและเพิ่มประสิทธิภาพคาร์บอนจะกลายเป็นกระแสหลักในปี 2025 โดยบริษัทต่าง ๆ จะนำเอไอมาใช้เพื่อวัดและลดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของตน โดยเทคโนโลยีการดักจับคาร์บอนจะมีประสิทธิภาพและคุ้มทุนมากขึ้น สามารถนำไปใช้ในวงกว้างขึ้น และเทคโนโลยีบล็อกเชนจะปฏิวัติตลาดเครดิตคาร์บอน เพิ่มความโปร่งใส การตรวจสอบย้อนกลับ และความปลอดภัย

ขณะที่ ตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจ (VCM) มีแนวโน้มขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งขับเคลื่อนผ่านการก้าวเข้าสู่เน็ตซีโร่และนโยบายด้านสภาพอากาศของแต่ละองค์กรที่เข้มงวดยิ่งขึ้น อีกทั้งความร่วมมือระหว่างประเทศจะช่วยให้เกิดวิธีการคิดเครดิตคาร์บอนและกระบวนการตรวจสอบที่มีมาตรฐาน ซึ่งอำนวยความสะดวกในการซื้อขายข้ามพรมแดน

ทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ แต่เป้าหมายเหล่านี้จะได้ผลอย่างยั่งยืนเมื่อทุกองคาพยพต่างร่วมใจกันลงมือทำ


ที่มา: ForbesSustainability Mag
Source : กรุงเทพธุรกิจ

สงครามยื้อ-เข้าฤดูหนาว จับตาน้ำมันดิบพุ่ง 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

สถานการณ์การความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ที่ส่อไปในทางรุนแรงเพิ่มมากขึ้น เมื่อกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอนยิงจรวดโจมตีเข้าใส่ทางภาคเหนือของอิสราเอล และเตรียมเข้าสู่ภาวะสงคราม ขณะที่สหรัฐอเมริกา ได้เสริมอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับอิสราเอลอย่างต่อเนื่อง พร้อมส่งเรือรบหลายลำและเรือบรรทุกเครื่องบินที่ใหญ่ที่สุดในโลก ยูเอสเอส เจอรัลด์ อาร์…

“บลูคาร์บอน”หนุนบทบาททะเล เร่งธุรกิจสู่ Net Zero เร็วขึ้น

ประเทศไทยเป็นประเทศมีพื้นที่ด้านป่าชายเลน พื้นที่ราบน้ำขึ้นถึง และหญ้าทะเลบนเวทีเดียวกัน เพื่อแบ่งปันแนวทางการฟื้นฟูและอนุรักษ์แหล่งกักเก็บคาร์บอนทะเล (Blue Carbon) ที่กักเก็บได้มากกว่าระบบนิเวศป่าบกถึงเกือบ 10 เท่า

Leave a Reply