News & Update

กพช.อนุมัติ กฟผ.ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ปากลาย และ หลวงพระบาง พร้อมเลื่อนปลดแม่เมาะเครื่องที่ 8-11 ไปสิ้นปี 68

2 โครงการซื้อขายไฟ สปป.ลาว ทั้ง ปากลาย และหลวงพระบาง ผ่านฉลุย กพช.เห็นชอบ ให้ กฟผ. ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับผู้พัฒนาโครงการ พร้อมอนุมัติเลื่อนปลดโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะ เครื่องที่ 8 – 11 ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 เพื่อลดภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าให้ประชาชน

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วันที่ 22 มิถุนายน 2565 ว่า ที่ประชุม ได้รับทราบหลักการร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) โครงการปากลาย และโครงการหลวงพระบาง และมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามใน PPA โครงการปากลาย และโครงการหลวงพระบาง ที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว

ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องมีการแก้ไข PPA ที่ไม่กระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้าที่ระบุไว้ในร่าง PPA และเงื่อนไขสำคัญ รวมทั้งการปรับกำหนดเวลาของแผนงาน (Milestones) ที่เกี่ยวข้องกับกำหนดการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในช่วงก่อนการลงนาม PPA ให้อยู่ในอำนาจการพิจารณาของคณะกรรมการ กฟผ. ในการแก้ไข

สำหรับ​โครงการหลวงพระบาง ผู้พัฒนาโครงการ คือ CK Power ร่วมกับ PT (Sole) Company Limited ร่วมกับ Ch.Karnchang และ Petro Vietnam Power Corporation ตั้งอยู่บนแม่น้ำโขง สปป. ลาว กำลังผลิตติดตั้ง 1,460 เมกะวัตต์ ปริมาณเสนอขาย ณ จุดส่งมอบ 1,400 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าประเภทเขื่อนน้ำไหลผ่าน (Run off River) พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้เฉลี่ยต่อปีประมาณ 6,577 ล้านหน่วย อายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 35 ปี กำหนด SCOD วันที่ 1 มกราคม 2573

พร้อมกันนี้ กพช. ยังได้มีมติเห็นชอบการเลื่อนแผน
การปลดเครื่องโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะ เครื่องที่ 8 – 11 ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 โดยเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากสถานการณ์ LNG มีราคาสูง ซึ่งจะสามารถช่วยลดค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าได้ รวมถึงสามารถบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การผลิตก๊าซธรรมชาติของแหล่งเอราวัณ (G1/61) ที่ลดลงในช่วงเปลี่ยนผ่านการให้สัมปทานก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย และไม่กระทบต่อเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ของประเทศตามเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ภายในปี 2573 และมีความสอดคล้องกับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA)

โดยที่ประชุมมอบหมายให้ กฟผ. และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ที่ประชุม กพช. ได้รับทราบผลการบริหารอัตราค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ช่วงปี 2563 – ปัจจุบัน ซึ่งมอบหมายให้ กฟผ. ช่วยรับภาระค่า Ft ที่เพิ่มขึ้น โดยชะลอการนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงซึ่งสูงขึ้นตั้งแต่งวดเดือนกันยายน 2564 – เดือนธันวาคม 2564 จนถึงปัจจุบัน ที่ต้องเรียกเก็บกับประชาชนในระยะนี้ไว้ก่อน เพื่อช่วยเหลือลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 และวันที่ 29 มีนาคม 2565 และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอ ครม. รับทราบผลการดำเนินงานตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 และวันที่ 29 มีนาคม 2565 ต่อไป

Source : Energy News Center

เนื้อหาน่าสนใจ :  GAC Aion เปิดโรงงานในประเทศไทย มุ่งสู่ฮับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของอาเซียน
Tags:

กกพ.เปิดรับผู้ร่วมโครงการ ERC Sandbox เฟส 2 เพิ่มทางเลือกผู้ใช้พลังงาน

กกพ.เปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการ ERC Sandbox เฟส 2 มุ่งเป้าหมายเพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้ใช้พลังงาน เพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการให้บริการทางพลังงาน รองรับธุรกิจพลังงานรูปแบบใหม่ๆ สู่การกำหนดแนวทางพัฒนาการกำกับดูแลนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม นายคมกฤช…

ขอเชิญอบรม หลักสูตรการบริหารจัดการการเปลี่ยนผ่านพลังงาน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ETC) รุ่นที่ 5

ขอเชิญอบรม หลักสูตรการบริหารจัดการการเปลี่ยนผ่านพลังงาน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศENERGY TRANSITION & CLIMATE CHANGE MANAGEMENT (ETC) รุ่นที่…

‘บ้านปู’ ลุยใช้เทคโนโลยี ลดต้นทุน-คาร์บอน สร้างความมั่นคงระยะยาว

"บ้านปู" ใช้เทคโนโลยี_AI ลดต้นทุน-คาร์บอน เผยงบลงทุนปีนี้กว่า 350 ล้านดอลลาร์ ย้ำการลงทุนต้องรอบคอบเพื่อสร้างความมั่นคงในระยะยาว เตรียมพร้อมประมูลขายไฟสะอาดรอบ2 กว่า 3.6…

Leave a Reply