กลุ่มธุรกิจเนสท์เล่ ไอศกรีม ภายใต้บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด นำร่องผลิตไอศกรีมโดยใช้พลังงานทดแทน 100% ภายใต้โครงการนำร่องรูปแบบใหม่กับ กฟผ. ในปี 2023 นับเป็นรายแรกของอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) ในประเทศไทย ที่ใช้รูปแบบการซื้อขายพลังงานทดแทนแบบเจาะจงแหล่งที่มา (Utility Green Tariff) ซึ่งการเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดจะช่วยให้บริษัทสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ขับเคลื่อนสู่เป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050

สำหรับ “การใช้ไฟฟ้าสีเขียว” ในครั้งนี้ เป็นโครงการความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่าง บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด ในการใช้พลังงานสะอาดเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์เนสท์เล่ ไอศกรีมที่โรงงานบางชันตลอดปี 2023 เพื่อส่งต่อไอศกรีมที่ดีต่อใจและดีต่อโลกให้กับคนรักไอศกรีมทั่วประเทศ และยังมีส่วนช่วยให้โลกเย็นขึ้นอีกด้วย

ทดลองผลิตไอศกรีม ด้วยพลังงานทดแทน 100% สู่องค์กร Net Zero ภายในปี 2050

นอกจากการใช้พลังงานทดแทนแล้ว กลุ่มธุรกิจเนสท์เล่ ไอศกรีม ยังมีการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อาทิ การเปลี่ยนไปใช้ตู้แช่ไอศกรีมที่ใช้สารทำความเย็นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการใช้รถสามล้อไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายไอศกรีม รวมถึงการเปลี่ยนมาใช้ซองไอศกรีมที่ทำจากกระดาษ 100% ในผลิตภัณฑ์ กลุ่มเอ็กซ์ตรีม นามะ และ เนสท์เล่คิทแคท เป็นต้น พร้อมตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ข้อ 7 ในเรื่องการเข้าถึงพลังงานสะอาดราคาถูก ข้อ 12 ในเรื่องการบริโภคและผลิตอย่างมีความรับผิดชอบ และข้อ 13 ในเรื่องการแก้ปัญหาโลกร้อน

คุณวิคเตอร์ เซียห์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เนสท์เล่ อินโดไชน่า เปิดเผยว่า “เนสท์เล่มีเป้าหมายสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี 2050 ซึ่งหนึ่งในโครงการภายใต้แผนงานด้านความยั่งยืนในประเทศไทยเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายดังกล่าวก็คือ การใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน 100% ในโรงงานผลิตของเนสท์เล่ทุกแห่งภายในปี 2025 ในวันนี้ ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับ กฟผ. ในการใช้พลังงานสะอาด 100% มานำร่องใช้ที่โรงงาน เนสท์เล่ ไอศกรีม อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปีเป็นรายแรกในอุตสาหกรรม FMCG ในประเทศไทย ภายใต้ โครงการ Utility Green Tariff  ในฐานะบริษัทธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในโลก เนสท์เล่ตระหนักดีว่า การผลิตของเรามีส่วนในการส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และวันนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการดำเนินธุรกิจของเนสท์เล่ เพื่อร่วมมือกันพัฒนาประเทศไทยและโลกของเราให้ยั่งยืนและน่าอยู่ยิ่งขึ้น”

nestle-2

ก้าวใหม่ กฟผ. กับการขับเคลื่อนพลังงานทดแทน

นายวฤต รัตนชื่น ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ ในฐานะ  Project Management Office การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ความร่วมมือระหว่างเนสท์เล่ ประเทศไทย กับ กฟผ. ในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในการผลิตของภาคอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งเป็นภาคอุตสาหกรรมหลักที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้บริโภค พร้อมทั้งทดสอบกลไกการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบการจัดหาพลังงานไฟฟ้าสีเขียวแบบเจาะจงแหล่งที่มา (Utility Green Tariff) ในโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน ระยะที่ 2 (ERC Sandbox ระยะที่ 2) เป็นระยะเวลา 1 ปี โดย กฟผ. จะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางการบริหารจัดการไฟฟ้าสีเขียว (Arrangement Unit) ให้บริการการบริหารจัดการกลไกการจับคู่การผลิตไฟฟ้าสีเขียวแบบเจาะจงแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าสีเขียว (Green Energy Portfolio) ตามปริมาณการใช้ไฟฟ้าจริงรายวันของโรงงาน เนสท์เล่ ไอศกรีม

ทั้งนี้ได้ส่งมอบพร้อม “ใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน” (Renewable Energy Certificate: REC) ที่ตรงตามแหล่งผลิตและปริมาณการใช้ไฟฟ้าดังกล่าว เพื่อทดสอบรูปแบบการจัดหาพลังงานไฟฟ้าสีเขียวรูปแบบใหม่ที่จะส่งเสริมและยกระดับภาคพลังงานไฟฟ้าสีเขียวของไทยสู่มาตรฐานสากล โดย กฟผ. พร้อมสนับสนุนภาคธุรกิจในการให้บริการด้านพลังงานไฟฟ้าสีเขียว เพื่อผลักดันสู่การเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานไฟฟ้าสีเขียว และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วยนวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่อไป”

นับเป็นก้าวสำคัญในการร่วมผลักดันให้เกิดการใช้พลังงานทดแทน พร้อมส่งเสริมการสร้างแหล่งผลิตพลังงานสะอาดในประเทศ เพื่อสร้างสรรค์โลกที่น่าอยู่ และส่งต่ออนาคตที่ดีกว่าให้กับคนรุ่นต่อไป

Source : Brand Buffet

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผนึกกำลังบริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด เดินหน้ารุกธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV ) ลุยขายและติดตั้งเครื่องชาร์จ EV  สนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ผุดสถานีชาร์จ EleX by EGAT แห่งใหม่ที่เมืองทองธานีรวม 13 ช่องจอด พร้อมชวนสัมผัสผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัทในกลุ่ม กฟผ. ในงาน Motor Expo 2022 ระหว่างวันที่ 1 – 12 ธ.ค. 2565 นี้

วันที่ 1 ธ.ค. 2565 นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พร้อมด้วยนายพอลล์ กาญจนพาสน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด, นายอธิป ตันติวรวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด และนายเฮซุส ครูซ ซานเชส ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก Wallbox Chargers S.L. ร่วมพิธีเปิดบูธ EGAT Group EV Business Solution และสถานีชาร์จ EleX by EGAT 13 ช่องจอด ที่งานมหกรรมยานยนต์ครั้งที่ 39 (Motor Expo 2022) ณ อาคารชาเลนเจอร์ 3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี

นายบุญญนิตย์ กล่าวว่า การเดินหน้าขับเคลื่อนการลงทุนผลิตภัณฑ์และบริการด้านยานยนต์ไฟฟ้า (EV)ของบริษัทในกลุ่ม กฟผ. มีเป้าหมายสำคัญเพื่อส่งเสริมระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า (EV Ecosystem) และสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศตามนโยบาย 30@30 ทั้งการขยายสถานีชาร์จ EleX by EGAT การพัฒนาแอปพลิเคชัน EleXA และระบบปฏิบัติการบริหารจัดการสถานีชาร์จ (BackEN) รวมถึงการจับมือพันธมิตรชั้นนำทางธุรกิจจากประเทศสเปนนำเข้าเครื่องชาร์จ EVประสิทธิภาพสูงภายใต้แบรนด์ Wallbox ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้คนไทยในการตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้อีวีมากยิ่งขึ้น

โดย กฟผ. ตั้งเป้าขยายสถานีชาร์จ EleX by EGAT และสถานีพันธมิตรในปี 2565 นี้รวมกว่า 100 สถานี ซึ่งครอบคลุมการเดินทางของผู้ใช้ EV ในทุกภูมิภาค นอกจากนี้ กฟผ. ยังร่วมกับผู้ให้บริการรายอื่นเชื่อมโยงข้อมูลตำแหน่งสถานีชาร์จทุกค่ายมาไว้ในแอปพลิเคชัน EleXA เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ EV ในการค้นหาสถานีชาร์จ ตลอดจนขยายการให้บริการระบบปฏิบัติการ BackEN ช่วยบริหารจัดการสถานีชาร์จอย่างครบวงจรแก่ผู้ที่สนใจลงทุนสถานีชาร์จ ส่วนการจำหน่ายเครื่องชาร์จ EV ของ Wallbox กฟผ. ได้มอบหมายให้บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม กฟผ. เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินธุรกิจ เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจ EV ในอนาคต

นอกจากนี้ผู้ว่าการ กฟผ. พร้อมด้วยนายพอลล์ กาญจนพาสน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ได้ร่วมกันเปิดสถานีชาร์จ EleX by EGAT ที่ได้ร่วมกันพัฒนาเพื่อให้บริการผู้ใช้ EV ที่เข้ามาใช้บริการในบริเวณพื้นที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยเปิดให้บริการจำนวน 2 สถานี รวม 13 ช่องจอด ในบริเวณ 2 พื้นที่ ได้แก่ 1) บริเวณอาคารจอดรถในร่ม P1 อาคารชาเลนเจอร์ เป็นสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบชาร์จด้วยความเร็วปกติ AC Normal Charge 9 ช่องจอด 2) บริเวณพื้นที่ลานจอดรถของโรงแรมโนโวเทล เป็นสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบชาร์จเร็ว DC Fast Charge 60 – 125 kW รวม 4 ช่องจอด ซึ่งจะทำให้พื้นที่แห่งนี้กลายเป็นสถานีชาร์จไฟฟ้าสาธารณะที่มีจำนวนหัวชาร์จมากที่สุดในจังหวัดนนทบุรี

นายอธิป ตันติวรวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า Innopower มีเป้าหมายในการสร้างธุรกิจนวัตกรรมพลังงานที่ตอบโจทย์ทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยในส่วนของยานยนต์ไฟฟ้า เราต้องการสร้างประสบการณ์ที่ดีในการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งส่วนของเครื่องชาร์จ EV  และระบบการบริหารจัดการสถานีชาร์จ ปัจจุบันเครื่องชาร์จ EV ไม่เพียงแค่ชาร์จไฟฟ้าให้กับรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น แต่ต้องตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกันของผู้ใช้ EV ด้วย

Wallbox จึงถือเป็นเครื่องชาร์จ EV สุดอัจฉริยะ (Smart EV Charger) มาตรฐานยุโรป ขนาดกะทัดรัด ทันสมัยเหมาะกับการตกแต่งทุกรูปแบบ อีกทั้ง Wallbox ยังถูกออกแบบให้การชาร์จไฟฟ้าแต่ละครั้งเกิดความคุ้มค่าที่สุด เพราะสามารถเลือกชาร์จไฟฟ้าอัตโนมัติในช่วงที่อัตราค่าไฟฟ้าต่ำ รองรับการทำงานร่วมกับพลังงานสะอาดอย่างโซลาร์เซลล์ และเฉลี่ยกำลังไฟขณะชาร์จเพื่อป้องกันการใช้ไฟฟ้ามากเกินไปเมื่อใช้งานพร้อมกันหลายคัน นอกจากนี้การติดตั้ง Wallbox ยังได้รับรองมาตรฐานการติดตั้งอย่างปลอดภัยจาก กฟผ. อีกด้วย อินโนพาวเวอร์พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดัน Ecosystem ของประเทศ และสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้อีวีทุกกลุ่ม เพื่อเดินหน้าประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืนในอนาคต

สำหรับไฮไลท์ผลิตภัณฑ์และบริการด้านอีวีของบริษัทในกลุ่ม กฟผ. ภายในงาน Motor Expo 2022 จะทำให้ผู้ที่สนใจได้สัมผัสประสบการณ์การใช้ EV ในชีวิตประจำวันตั้งแต่ที่พักอาศัย ระหว่างเดินทางในจุดพักและชาร์จรถ ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังสถานที่ปลายทาง เช่น

1.Wallbox รุ่น Pulsar Max เครื่องชาร์จ EV รุ่นใหม่ที่ขนาดเล็กกะทัดรัด แต่ความสามารถใหญ่กว่าตัว เพราะชาร์จไฟฟ้าได้เร็ว รองรับการจ่ายไฟฟ้าได้ตั้งแต่ 7.4 – 22 กิโลวัตต์ (kW) โดดเด่นด้วยนวัตกรรมด้านการบริหารจัดการพลังงานในบ้าน เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายและยกระดับการใช้พลังงานสีเขียวภายในที่อยู่อาศัยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งยังถูกออกแบบให้ทนทานต่อการใช้งานและติดตั้งง่ายขึ้นจึงช่วยลดค่าใช้จ่ายในการติดตั้งลงด้วย

2.เดินทางสะดวก มั่นใจใช้ EV ผ่านสถานีชาร์จ EleX by EGAT และแอปพลิเคชัน EleXA ครอบคลุมถนนสายหลักในทุกภูมิภาคด้วยเครื่องชาร์จแบบเร็ว (DC Fast Charge) สะดวกทุกการเดินทาง รวมถึงบริเวณห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล สนามกอล์ฟ หน่วยงานราชการ

3. เห็นโอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้สนใจลงทุนสถานีชาร์จด้วยระบบ BackEN ที่จะคอยดูแลให้คำปรึกษา ช่วยให้เจ้าของสถานีบริหารจัดการและขยายธุรกิจได้ง่ายมากขึ้น อีกทั้งยังสามารถมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายสถานีชาร์จ EleX by EGAT ได้อีกด้วย

โดยผู้สนใจสามารถเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์และบริการด้านอีวีดังกล่าวได้ที่บูธ H03 อาคารชาเลนเจอร์ 3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 1-12 ธันวาคม 2565 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.innoev.co/ และ Line ID : @innoev.co โทร 06 1415 1052

Source : Energy News Center

มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) ร่วมกับ กฟผ. นำร่องศึกษาการสั่งจ่ายไฟฟ้าจากแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าสู่ระบบไฟฟ้า ทดสอบนวัตกรรมโรงไฟฟ้าเสมือน เสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าในอนาคต เตรียมต่อยอดสู่ภาคประชาชน

วานนี้ (19 ตุลาคม 2565) บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สนับสนุนโครงการทดสอบนวัตกรรมโรงไฟฟ้าเสมือน (Virtual Power Plant หรือ VPP) ภายใต้โครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน (ERC Sandbox) ระยะที่ 2 โดยใช้รถยนต์มิตซูบิชิ เอาท์แลนเดอร์ พีเอชอีวี ในการจ่ายพลังงานไฟฟ้าจากตัวรถกลับสู่โครงข่ายระบบไฟฟ้า (Vehicle-to-Grid หรือ V2G) โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าของไทย ณ สถาบันการศึกษาและฝึกอบรม มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย จ.ปทุมธานี

นางรังสินี ประกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจเกี่ยวเนื่อง กฟผ. กล่าวว่า การนำร่องศึกษาการควบคุมระบบการจ่ายไฟจากแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าเข้าสู่ระบบไฟฟ้า (V2G) และ โรงไฟฟ้าเสมือน (VPP) ภายใต้โครงการ ERC sandbox ระยะที่ 2 เพื่อเป็นระบบสำรองไฟฟ้าช่วยเสริมความมั่นคงไฟฟ้าของประเทศ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด กฟผ. ได้ร่วมกับบริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ศึกษาและทดสอบการจ่ายพลังงานไฟฟ้าย้อนกลับเข้าสู่อาคาร (V2B) ณ สถาบันการศึกษาและฝึกอบรม มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการจัดทำข้อกำหนดและระเบียบปฏิบัติให้สอดรับกับแนวทางการใช้พลังงานรูปแบบใหม่ในอนาคต และเตรียมการขยายผลสู่ภาคประชาชนต่อไป

Source : Energy News Center

บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป กดปุ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์โรงไฟฟ้าพลังน้ำ “น้ำเทิน 1” สปป.ลาว และจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวน 514.30 เมกะวัตต์ สัญญาซื้อขาย 27 ปี พร้อมรับรู้รายได้ทันทีในไตรมาสที่ 3 ของปี 2565

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยว่า “โรงไฟฟ้าพลังน้ำ “น้ำเทิน 1” ซึ่งเอ็กโกถือหุ้น 25% ได้เริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์และจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบให้กับ กฟผ. เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งจะสามารถรับรู้รายได้ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 เป็นต้นไป ในขณะเดียวกัน โรงไฟฟ้าพลังน้ำแห่งนี้จะช่วยลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ คิดเป็น 1.49 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี หรือคิดเป็น 40.34 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ตลอดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 27 ปี”

โรงไฟฟ้าพลังน้ำ “น้ำเทิน 1” ตั้งอยู่บริเวณแม่น้ำกะดิ่ง แขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ (Reservoir) ประกอบด้วยกังหันผลิตไฟฟ้าจำนวน 3 หน่วย มีกำลังผลิตติดตั้งรวม 650 เมกะวัตต์ โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. จำนวน 514.30 เมกะวัตต์ เป็นระยะเวลา 27 ปี และกับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL) จำนวน 130.80 เมกะวัตต์ เป็นระยะเวลา 27 ปี

Source : Energy News Center

กฟผ. หนุนโครงการ SolarPlus นำนวัตกรรมการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้า Peer-to-Peer Energy Trading Platform เชื่อมการซื้อขายแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าโดยตรงระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคที่ติดตั้ง Solar Rooftop เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยร่วมมือกับพันธมิตร 4 หน่วยงานได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม สมาร์ท โซลูชั่น จำกัด บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด

ดร.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. ได้ร่วมเปิดตัวโครงการ SolarPlus ติดตั้ง Solar Rooftop ให้แก่ประชาชน เพื่อผลิตและขายไฟฟ้าเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้เกิดการใช้พลังงานสะอาด โดย กฟผ. ได้นำแพลตฟอร์ม Peer-to-Peer Energy Trading ที่ กฟผ. พัฒนาขึ้น เพื่อใช้สำหรับเป็นศูนย์กลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าโดยตรงระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคในโครงการนำร่องที่หมู่บ้านศุภาลัย การ์เด้นวิลล์ รังสิต คลอง 2 จ.ปทุมธานี พร้อมตั้งเป้าติดตั้ง 500,000 หลัง ทั่วประเทศภายใน 5 ปี คาดจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ 2.3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ซึ่งโครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง กฟผ. กับอีก 4 หน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม สมาร์ท โซลูชั่น จำกัด บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด โดยมีการร่วมแถลงข่าวเปิดตัวโครงการเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2565 ณ ตึก KLOUD by KBank สยามสแควร์ ซอย 7 กรุงเทพฯ

กฟผ. นอกจากจะดำเนินภารกิจหลักในการผลิตและส่งไฟฟ้าแล้ว ยังได้มุ่งพัฒนา Solutions ใหม่ด้านนวัตกรรมพลังงาน ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าในยุคดิจิทัลควบคู่ไปด้วย โดยได้นำแพลตฟอร์ม Peer-to-Peer Energy Trading ที่พัฒนาขึ้นโดย กฟผ. มาเป็นสื่อกลางซื้อขายแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าโดยตรงระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคที่ติดตั้ง Solar Rooftop ในโครงการ SolarPlus เพื่อใช้ในการบริหารจัดการพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นศูนย์กลางในการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานสีเขียว หวังเป็นต้นแบบของโครงการซื้อขายพลังงานแบบ Peer-to-Peer Energy Trading ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมเดินหน้าการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ของ กฟผ. ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี ค.ศ. 2065 ของประเทศ ตลอดจนเป็นผู้ให้บริการ Solutions ด้านพลังงานแบบครบวงจรในอนาคต

สำหรับแพลตฟอร์ม Peer-to-Peer Energy Trading ของ กฟผ. เป็นแพลตฟอร์มที่ให้บริการ Prosumer หรือผู้ที่สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด นำไฟฟ้าส่วนที่เกินจากความต้องการใช้งาน มาเสนอซื้อ-ขายระหว่างกันได้โดยตรง (Peer-to-Peer) ซึ่งผ่านการทดลองใช้งานจริงในโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน (ERC Sandbox) ระยะที่ 1 ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) แล้ว โดยรองรับการตกลงซื้อขายพลังงานไฟฟ้าในรูปแบบสัญญาทวิภาคี (Bilateral Trading) ระหว่างผู้ผลิตและผู้ซื้อไฟฟ้า ซึ่งผู้ใช้งานสามารถติดตามค่าการผลิตและการใช้พลังงานไฟฟ้าได้แบบเรียลไทม์ผ่านแอปพลิเคชัน รวมทั้งดูประวัติย้อนหลังได้ตลอดเวลา โดย กฟผ. อยู่ระหว่างพัฒนาแพลตฟอร์มให้สามารถใช้งานได้ง่ายและเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น พร้อมเตรียมขยายผลสู่การใช้งานในเชิงพาณิชย์ ตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภคต่อไป

Source: Energy News Center