อุตสาหกรรมผลิตปูนซีเมนต์ถือว่าได้เป็นอีก 1 สาเหตุของภาวะโลกร้อน เพราะมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึง 36.92 เมตริกตันคาร์บอนต่อปี โดยอุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์ทั่วโลกปล่อยก๊าซคาร์บอนอยู่ที่ 8% และเมื่อคนทั้งโลกต่างพากันคิดค้นและหาวิธีลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างต่อเนื่องให้ทำอุตสาหกรรมผลิตปูนซีเมนต์ได้คิดค้น “ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก” ออกมา ซึ่งเป็นนวัตกรรมปูนคาร์บอนต่ำ ที่จะเข้ามาพลิกวงการอุตสาหกรรมการก่อสร้างให้รักษ์โลกมากยิ่งขึ้น
ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก คืออะไร
ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก คือ ปูนซีเมนต์ที่ก่อตัวและแข็งตัวเนื่องจากการทำปฏิกิริยากับน้ำ มีคุณสมบัติตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มอก. 2594 มีวิธีการผลิตเช่นเดียวกับ ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพของปูนซีเมนต์ (Performance Based) และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกมีจุดเด่นหลายอย่างด้วยกัน
- สามารถใช้ทดแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ได้ทันที
- มีผิวคอนกรีตที่เรียบเนียน
- ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
- มีความทนทานต่อการขัดสี และหลุดร่อน
- กำลังอัดสูงสามารถใช้กับงานโครงสร้างต่างๆ ได้
- คอนกรีตทึบแน่น ช่วยให้โครงสร้างมีความแข็งแร็งมากยิ่งขึ้น
และมีคุณสมบัติทางวิศวกรรมที่ได้การรับรองจากหลายมาตรฐาน สนองตอบความต้องการแต่ละประเภทของงานก่อสร้างโครงสร้าง (Performance Based) ได้มากกว่าปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และวงการก่อสร้างในอนาคต นำมาซึ่งประโยชน์ดีในด้านสิ่งแวดล้อมและในด้านของความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ จนสามารถกล่าวได้ว่า ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกเป็นปูนซีเมนต์ที่ตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้อย่างครบถ้วน เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) นำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low CarbonSociety) อีกทั้งเป็นการสนับสนุนการดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ในปี พ.ศ. 2593 และปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี พ.ศ. 2608
โดยปกติปูนแบบเดิมๆ อย่าง ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ มีองค์ประกอบหลักเป็นปูนเม็ดสูงถึง 93% ซึ่งปูนเม็ดได้มาจากการเผาที่อุณหภูมิสูง 1,400 – 2,000 องศา ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกสามารถทดแทนปูนเม็ดด้วยวัสดุอื่น ๆ เช่น ยิปซั่ม เถ้าลอย รวมไปถึงกากจากอุตสาหกรรม เช่น ตะกรันเหล็ก ประมาณ 10% จึงทำให้ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ประมาณ 0.052 ตันคาร์บอนต่อปูน 1 ตัน เมื่อเราพิจารณาตัวเลข 10% เหมือนจะเป็นตัวเลขที่น้อยมาก แต่ถ้าเราลองคำนวณดูว่า ในการก่อสร้างแต่ละครั้งมีการใช้ปูนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอาคาร หรือโครงการขนาดใหญ่ ตัวเลขที่ 10% จึงไม่อาจจะบอกได้ว่าเป็นเพียงตัวเลขที่น้อยได้ แต่กลับช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้เป็นจำนวนมากเช่นกัน โดยในปัจจุบันผู้จำหน่ายได้มีการตั้งราคาของปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์และไฮดรอลิกไว้เท่ากัน เพื่อสนับสนุนให้มีการใช้งานปูนซีเมนต์ไฮโดริกมากขึ้นเพราะจะไม่กระทบต่อต้นทุนค่าก่อสร้าง
ตารางเปรียบเทียบคุณสมบัติระหว่างปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก และ ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์
คอนกรีตสด | ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก | ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ |
การอุ้มน้ำ | เทียบเท่ากัน | เทียบเท่ากัน |
ความต้องการน้ำ | น้อยกว่า | มากกว่า |
การยุบตัวเริ่มต้น | มากกว่า ประมาณร้อยละ 12 – 17 | น้อยกว่า |
การรักษาค่าความสามารถในการยุบตัว | เทียบเท่ากัน | เทียบเท่ากัน |
ระยะเวลาการก่อตัว | ใกล้เคียงกัน | ใกล้เคียงกัน |
การเยิ้มน้ำที่ผิวหน้า | น้อยกว่า | มากกว่า |
คอนกรีตที่แข็งตัวแล้ว | ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก | ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ |
กำลังอัด | เท่ากัน | เท่ากัน |
คาร์บอเนชั่น | ลึกกว่าเล็กน้อย ประมาณ 1 มม. | ตื้นกว่า |
ความต้านทานซัลเฟตและคลอไรด์ | เทียบเท่ากัน | เทียบเท่ากัน |
การหดตัว (แบบห้อง และแบบออโตจีเนียส) | ต่ำกว่า | สูงกว่า |
การทำปฏิกิริยาระหว่างด่างและมวลรวม | เทียบเท่ากัน | เทียบเท่ากัน |
การต้านทานการขัดสีสึกกร่อน | เทียบเท่า หรือสูงกว่าเล็กน้อย | เทียบเท่า หรือต่ำกว่าเล็กน้อย |
โดยข้อมูลจากสมาคมอุตสาหกรรมปูนซิเมนต์ไทย บอกเอาไว้ว่าในประเทศไทยมีการนำปูนซิเมนต์ไฮดรอลิคไปใช้ในหลายสถานที่ไม่ว่าจะเป็น
- ศูนย์ราชการกระทรวงมหาดไทย
- อาคารที่ทำการสภาวิศวกร
- อาคารที่ทำการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฏร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก)
- โครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ – ถนนลำลูกกา)
- โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ระยะที่ 1
- สะพานข้ามคลองดู
- โครงการปรับปรุงคลองยม-น่าน พร้อมอาคารประกอบ
- โครงการแก้มลิงแก่งน้ำด้อม พร้อมอาคารประกอบ (ระยะที่ 1)
- โครงการสถานีสูบน้ำและระบบส่งน้ำลาดวารี
- อาคารปฏิบัติการสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- อาคาร FYI Center
- อาคารสำนักงานนิคมอุตสาหกรรม Smart Park
- โรงพยาบาลสนามแห่งที่ 10 จ.สมุทรสาคร
- อาคารที่พักกรมยุทธโยธาทหารบก
- อาคารที่พักกรมช่างทหารเรือ
- ถนนคอนกรีตเทศบาล 2 อ.บางเลน จ.นครปฐม
- ถนนคอนกรีตเทอดดำริ (อบต.) จ.นครปฐม
- ถนนคอนกรีตบ้านรางปลาหมอ จ.ราชบุรี
- โครงการก่อสร้างระบบส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้ายโครงการเขื่อนทดน้ำผาจุก จ.อุตรดิตถ์
- งานปรับปรุงถนนและระบบระบายน้ำโดยรอบมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- งานพื้นซีเมนต์ขัดมัน กระทรวงกลาโหม สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม
- โครงการพัฒนาพื้นที่ กระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย กรมยุทธบริการทหาร
และทั้งหมดนี้ก็คือ เรื่องราวของปูนซิเมนต์ไฮดรอลิก ซึ่งมีการพัฒนามาเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้กรรมวิธีผลิตที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีคุณสมบัติเทียบได้กับปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ สามารถใช้งานได้ไม่ต่างกัน และเป็นทางเลือกใหม่ที่ยั่งยืนสำหรับอนาคตของงานก่อสร้าง
ภาพประกอบ : สมาคมอุตสาหกรรมปูนซิเมนต์ไทย , Freepik