Highlight & Knowledge

รู้จัก เรือดักเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์ ใช้จริงแล้ว ในแม่น้ำเจ้าพระยา

การจัดการขยะในแม่น้ำของกรุงเทพมหานคร ได้มีการพัฒนาไปอีกขั้นด้วยการนำ เรือดักเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเริ่มกันไปแล้วตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์ 2567 นี้ ซึ่งต้องบอกว่าเป็นเรือดักเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์ 1 ใน 15 ลำ ที่มีการใช้กันอยู่ทั่วโลก ณ ตอนนี้

โดยเรือลำนี้เป็นความร่วมมือกันระหว่างสำนักสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพมหานคร กับ The Ocena Cleanup เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรจากประเทศเนเธอร์แลนด์ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมีการติดตั้งเครื่องอินเตอร์เซพเตอร์ (Interceptor) ในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา ถนนพระราม 3 เขตบางคอแหลม และนำเรือขนถ่ายลำเลียงขยะ ติดตั้งอุปกรณ์ จำนวน 1 ลำ พร้อมเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเก็บขยะ เป็นระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2567 – มกราคม 2568 พร้อมกับรถบรรทุกขนถ่ายลำเลียงขยะ จำนวน 1 คัน และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ในระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – กรกฎาคม 2567 ซึ่งขยะที่จัดเก็บได้จะนำไปศึกษาวิจัยปริมาณขยะพลาสติกในแม่น้ำเจ้าพระยาต่อไป

เรือดักเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์

สำหรับเรือดักเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์ จะมีการติดตั้งเครื่องอินเตอร์เซพเตอร์ (Interceptor) ซึ่งทำหน้าที่ดักเก็บขยะ โดยเครื่องตัวที่ติดตั้งนี้สามารถจัดเก็บขยะในแม่น้ำเจ้าพระยาได้วันละ 50,000 – 100,000 ชิ้น ถ้าคิดเป็นน้ำหนักก็จะอยู่ราวๆ 50 – 100 ตัวเลยทีเดียว ตัวเครื่องสามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง และทำงานได้ในหลากหลายสภาวะอากาศ ซึ่งจะช่วยเรื่องของการประหยัดกำลังคนที่จะต้องมาช่วยกันเก็บขยะ รวมถึงช่วยประหยัดพลังงานได้อีกด้วย

เครื่องอินเตอร์เซพเตอร์ (Interceptor) จะประกอบไปด้วย ทุ่นลอยน้ำที่มีลักษณะเป็นแผง ซึ่งจะเชื่อมโยงเข้ากับโรงเก็บขยะ ลักษณะก็จะคล้ายกับแพที่มีการทอดสมอลอยอยู่ในแม่น้ำนั่นเอง ระบบต่างๆ จะถูกขับเคลื่อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้มาจากโซลาร์เซลล์ และมีระบบการทำงานแบบอัตโมัติตลอด 24 ชั่วโมง โดยการทำงานอัตโนมัตินี้ไม่จำเป็นต้องอาศัยแรงงานคนมาจัดการ

ในปัจจุบันถือว่าเป็นช่วงของการทดสอบ ซึ่งในบ้านเราก็จะอยู่ที่แม่น้ำเจ้าพระยา นอกจากข้อดีต่างๆ แล้ว ก็ยังมีข้อสังเกตอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น ต้นทุนของเครื่องที่ยังมีราคาสูงอยู่ รวมถึงยังไม่สามารถจัดเก็บขยะที่อยู่ใต้น้ำได้ ซึ่งคาดว่าหลังจากมีการทดสอบและศึกษากันในระยะเวลาหนึ่ง ก็จะมีการปรับปรุงพัฒนาเครื่องรุ่นใหม่ๆ ให้มีประสิทธิภาพในการดักเก็บขยะมากขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นการดักเก็บขยะที่มีปริมาณสูงขึ้น ใช้เวลาน้อยลง รวมถึงการดักเก็บขยะได้ในหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นขยะบนผิวน้ำ และขยะที่อยู่ใต้น้ำ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็คงต้องรอให้มีการพัฒนากันก่อน ทั้งนี้ทาง The Ocena Cleanup มีเป้าหมายที่มีการใช้เรือดักเก็บขยะที่ติดตั้งเครื่องอินเตอร์เซพเตอร์ (Interceptor) ในแม่น้ำกว่า 1,000 แม่น้ำทั่วโลก

สำหรับเรือสำหรับจัดการขยะนั้น ก็ไม่ได้มีแบบเดียว มีการพัฒนาออกมาหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็น

  • เรือดักจับขยะ: เรือเหล่านี้ใช้ตะแกรงหรือสายพานลำเลียงเพื่อดักจับขยะที่ลอยน้ำ โดยมีผู้พัฒนาคือ The Ocean Cleanup ที่คิดค้นเรือ Interceptor ที่สามารถดักจับขยะพลาสติกในแม่น้ำก่อนไหลลงสู่ทะเล
  • เรือเก็บขยะ: เรือเหล่านี้ใช้ถังเก็บขยะเพื่อเก็บขยะที่ลอยน้ำ มีผู้พัฒนาที่มีชื่อเสียงก็คือ SolarBotanic บริษัทพัฒนาเรือเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์ที่สามารถเก็บขยะจากแม่น้ำและทะเลสาบ
  • เรือดูดขยะ: เรือเหล่านี้ใช้เครื่องดูดฝุ่นเพื่อเก็บขยะจากใต้ผิวน้ำ ก็มีผู้พัฒนาตัวอย่างเช่น WasteShark บริษัทพัฒนาเรือดูดขยะพลังงานแสงอาทิตย์ที่สามารถเก็บขยะจากใต้ผิวน้ำ

การจัดการขยะของกรุงเทพมหานคร

กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม มีหน้าที่ในการรักษาความสะอาด และจัดเก็บขยะ รวมถึงวัชพืชในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีพื้นที่การปฏิบัติงานเริ่มตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงวัดโยธินประดิษฐ์ สุดเขตบางนา โดยมีระยะทางประมาณ 34 กิโลเมตร ต้องทำการจัดเก็บทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำ รวมถึงกลางแม่น้ำเจ้าพระยา โดยวัชพืชและขยะที่จัดเก็บได้นั้น จะนำไปขึ้นที่ท่าเรือ 3 แห่งด้วยกัน ได้แก่ ปากคลองบางกอกน้อย (ใต้สะพานอรุณอัมรินทร์) ใต้สะพานพุทธ(คลองโอ่งอ่าง) และใต้สะพานพระราม 9 (ฝั่งพระนคร) หลังจากนั้น จะมีการนำวัชพืช และขยะไปกำจัดที่สถานีกำจัดมูลฝอยหนองแขม ซึ่งขยะที่สามารถจัดเก็บได้ ส่วนใหญ่เป็นวัชพืชและผักตบชวาที่มีจำนวนมาก จึงทำให้ไม่สามารถจัดเก็บได้หมดอย่างรวดเร็วในระยะเวลาสั้น อีกทั้งกรุงเทพมหานครเป็นจังหวัดสุดท้ายที่มีมูลฝอยและวัชพืชลอยออกสู่อ่าวไทย กำหนดเริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่เวลา 08.30– 16.30 น. เป็นประจำทุกวัน ปริมาณมูลฝอยที่จัดเก็บได้ พบว่ามีปริมาณทั้งหมด 3,146.16 ตัน เฉลี่ยวันละ 8.62 ตัน

ในอนาคตเรือเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์เป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพสูงในการลดมลพิษทางน้ำ เทคโนโลยีนี้กำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่องและคาดว่าจะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการรักษาความสะอาดของแหล่งน้ำทั่วโลกอย่างแน่นอน

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร

การเสวนา “ขนส่งไทยฝ่าวิกฤตน้ำมันแพง รถไฟฟ้าคือทางรอดหรือทางร่วง”

หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, มูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน, สมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย (อาร์อี100), สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ, หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และ…

Solid State Battery (แบตเตอรี่โซลิตสเตท) อนาคตใหม่ของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า

เวลาจะซื้อรถยนต์ไฟฟ้า สิ่งหนึ่งที่ทุกคนให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เลยก็คือ เรื่องของแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นตัวกำหนดสว่ารถยนต์ไฟฟ้าที่เราซื้อจะสามารถวิ่งได้ไกลแค่ไหนต่อการชาร์จ 1 ครั้ง และเวลาชารจ์จะใช้เวลานานแค่ไหนกว่าจะเต็ม ซึ่งแบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบันก็จะเป็นแบตลิเทียมไอออน เป็นส่วนใหญ่…

รู้จักกับ โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด (Hydro-floating Solar Hybrid)

หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบว่า ในประเทศไทยนั้นได้มีการทำโครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด กันมาสักระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งแตกต่างจากโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำปกติ ตรงที่มีการผสมผสานระหว่างการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานน้ำร่วมกันนั่นเอง ในบ้านเราก็มีการทำกันมาตั้งแต่ปี 2654 ในช่วงนั้นก็ถือได้ว่าเป็นโครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก อยู่ที่เขื่อนสิรินธร…