News & Update

นักวิจัยศศินทร์ชี้ เชื้อเพลิงฟอสซิลยังสำคัญ แนะรัฐออกนโยบายคาร์บอนชัดเจน

การขยายตัวทางเศรษฐกิจปัจจุบันไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากไม่มีพลังงานฟอสซิล และจะเป็นเช่นนี้ไปจนกว่าจะมีเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาทดแทน ดังนั้น การ co-exist ระหว่างพลังงานทดแทนและฟอสซิล จะยังเกิดขึ้นต่อไปอีกหลายสิบปีข้างหน้า และรัฐจำเป็นต้องมีนโยบาย carbon ที่เหมาะสม

ภัยพิบัติทางธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นพายุ อุณหภูมิสูงเป็นประวัติการณ์ รวมถึงไฟป่า อากาศแล้งจนไม่สามารถเพาะปลูกได้ ทวีความรุนแรงขึ้นต่อเนื่องช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ทำให้หลายประเทศทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุของ Climate Change รวมถึงการออกนโยบายมุ่งสู่ Net Zero การส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน และการเรียกร้องให้หยุดใช้พลังงานจากฟอสซิล (Fossil) โดยสมบูรณ์

“ณรัล ลีลามานิตย์” ผู้อำนวยการโครงการ Sasin Management Consulting (SMC) สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า พลังงานทดแทนไม่ว่าจะเป็น พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม ในหลายพื้นที่มีต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าที่ต่ำกว่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิล นอกจากนี้รถไฟฟ้าอีวี (EV) ก็มีราคาถูกลง จนหลายรุ่นมีราคาเทียบเท่ากับรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป

การลดลงของต้นทุนในการผลิตพลังงานทดแทน รวมไปการให้ความสำคัญกับรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น นับว่าเป็นสิ่งที่ดีต่อทั้งผู้บริโภค เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จนทำให้หลายคนคาดว่าในอนาคตเราไม่จำเป็นต้องพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิลอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการขยับสถานะทางสังคมของประชากร ในปัจจุบันไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากไม่มีอุตสาหกรรมภาคพลังงานและปิโตรเคมีที่ใช้ fossil-based จนกว่าจะมีเทคโนโลยีที่จะมาทดแทนได้ ดังนั้น การ co-exist ระหว่างพลังงานทดแทนและฟอสซิล จะยังเกิดขึ้นต่อไปอีกหลายสิบปีข้างหน้า และการจะบอกให้หลายประเทศหรือหลายอุตสาหกรรมเลิกใช้พลังงานฟอสซิลโดยสมบูรณ์คงเป็นไปไม่ได้

ณรัล ลีลามานิตย์

“กุญแจสำคัญที่จะช่วยบรรเทาปัญหาภาวะ Climate Change และ Global Warming ในปัจจุบัน เป็นเรื่องของการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Energy Efficiency) ผนวกกับการเพิ่มผลผลิตจากการใช้พลังงาน และหาเทคโนโลยีมาช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมที่ยังจำเป็นต้องใช้พลังงานจากฟอสซิล เช่น Carbon Capture Storage ควบคู่ไปกับการสร้างแรงจูงใจ (Incentive) อย่างไรก็ตาม รัฐจำเป็นจะต้องมีนโยบายสนับสนุนและการบังคับของชัดเจน และนโยบายคาร์บอนที่เหมาะสม”

“ณรัล” ยกตัวอย่างความสำคัญของอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิล ต่อสภาพเศรษฐกิจ สังคม การบริโภค รวมถึงคุณภาพชีวิต มีดังนี้

ภาคการขนส่งขนาดใหญ่

ของใช้รอบตัวในปัจจุบันอย่างน้อยหนึ่งชิ้นถูกขนส่งโดยการขนส่งที่ใช้พลังงานจากน้ำมันดิบ ไม่ว่าจะเป็นทางรถ เรือขนส่ง หรือเครื่องบิน โดยปัจจัยสู่ความสำเร็จของอุตสาหกรรมการขนส่งคือ ต้นทุนการขนส่งต่อระยะทาง ซึ่งพลังงานที่ภาคการขนส่งใช้อยู่ไม่ว่าจะเป็นดีเซล ล้วนเป็นพลังงานและเทคโนโลยีที่มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสิบปีหรือเกือบร้อยปีล้วนมีน้ำมันดิบเป็นตัวตั้งต้น และทำให้ต้นทุนด้านพลังงานของภาคการขนส่งต่อระยะทางมีประสิทธิภาพสูงสุด

ทั้งนี้ ด้วยเทคโนโลยีแบตเตอรี่ในปัจจุบัน ภาคการขนส่งทางบกมีความเป็นไปได้มากที่สุดที่จะเปลี่ยนไปใช้รถบรรทุกไฟฟ้า แต่ด้วยความจุของแบตเตอรี่น้อย น้ำหนักของแบตเตอรี่ที่มากจุดชาร์จที่ยังไม่เพียงพอ และใช้เวลาในการชาร์จนาน ทำให้การขนส่งระยะทางไกลด้วยรถบรรทุกไฟฟ้ายังไม่ใช่คำตอบที่เหมาะสมในปัจจุบัน และอาจต้องใช้เวลามากกว่า 5-10 ปี ถึงจะมีเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการเดินทางไกลเกินกว่า 600 กิโลเมตรต่อวัน

ในขณะที่การขนส่งทางทะเลผ่านเรือขนส่งขนาดใหญ่ ถึงแม้จะมีเรือต้นแบบอย่าง Yara Birkeland แต่ก็เป็นเพียงการวิ่งขนปุ๋ยระหว่างโรงงานใน Porsgrunn ไปสู่ท่าเรือที่ Brevik ในประเทศนอร์เวย์ และขนตู้คอนเทนเนอร์ได้แค่ 120 ตู้ (TEU) ได้เท่านั้น โดยที่ความเร็วในการเดินเรือคือ 30 Nautical Mile ไม่ใช่การวิ่งข้ามมหาสมุทร ส่วนเครื่องบินก็ยังไม่มีเทคโนโลยีที่จะมาแทนที่การใช้พลังงานจากฟอสซิลได้ในอนาคตอันใกล้ ถึงแม้จะมีนวัตกรรม Sustainable Aviation Fuel (SAF) ออกมาแล้ว แต่ถือเป็นสัดส่วนที่น้อยมากของปริมาณการบริโภคโดยรวมในปัจจุบัน

พลังงานทดแทนที่มาจากลม

หนึ่งในพลังงานทดแทนที่มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่ำที่สุดในปัจจุบัน คือ พลังงานหมุนเวียนที่มาจากลม อย่างไรก็ตาม พลังงานจากลมก็ยังต้องพึ่งพา Fossil Base เป็นหลัก เพราะการสร้าง Wind Turbine ขนาด 5 Megawatt ประกอบไปด้วยเหล็กโดยเฉลี่ย 150 ตันสำหรับการสร้างฐาน เหล็กอีก 250 ตันใน Rotor Hubs และ Nacelles และเหล็กอีก 500 ตันสำหรับเสากังหันลม ซึ่งเหล้กทั้งหมดถูกขนส่งโดยรถบรรทุกหรือเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ที่ใช้พลังงานจากฟอสซิล

โดยตัวเหล็กที่ใช้ในการสร้างก็จำเป็นที่จะต้องผลิตและใช้พลังงานในการผลิตจากฟอสซิล ไม่ว่าจะเป็น Coking Coal ที่ใช้ใน Blasted Furnace และค่าความร้อนสูงที่ใช้ Natural Gas โดยจากการประมาณคร่าวๆ ในปัจจุบัน เหล็ก 1 ตันที่ใช้ในการก่อสร้างกังหัน ใช้พลังงานสูงถึง 35 Gigajoules และยังไม่มีแนวโน้มที่จะใช้พลังงานประเภทอื่นแทนได้

ดังนั้น แม้เราจะสนับสนุนให้เรามีการใช้ Renewable Energy มากขึ้นเท่าไหร่ อุตสาหกรรมนี้ก็ยังไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้หากไม่มีอุตสาหกรรมน้ำมัน ก๊าซ และปิโตรเคมี

อุตสาหกรรมปุ๋ย

ประชากรบนโลกเพิ่มขึ้น 3 เท่าในระยะเวลา 70 ปี จาก 2.5 พันล้านคนในปี 1950 สู่ 8.1 พันล้านคนในปี 2024 ซึ่งการเพิ่มขึ้นของประชากรตามมาด้วยความต้องการการบริโภคอาหารที่มากขึ้น

การที่ภาคการเกษตรสามารถเพิ่มปริมาณอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการของประชากรที่เพิ่มขึ้นได้นั้น ก็มาจากความสามารถในการผลิตปุ๋ยที่เรียกว่า Synthetic Nitrogenous Fertilizers ที่มาจากการใช้ Ammonia (NH3) ผ่านกระบวนการเป็นองค์ประกอบขึ้นโดยการเปลี่ยนก๊าซไนโตรเจนในอากาศมาเป็นแอมโมเนียเหลวได้สำเร็จโดยกระบวนการที่เรียกว่า Haber-bosch Process ที่ใช้วิธีการดึงไนโตรเจนออกมาจากอากาศ และไฮโดรเจนของก๊าซธรรมชาติ ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในเชื้อเพลิงฟอสซิล รวมถึงยังใช้พลังงานความร้อนของแก๊สในการทำกระบวนการ Synthesis ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีเทคโนโลยีทดแทนที่เป็น Carbon Free และเนื่องจากพืชทางการเกษตรคิดเป็น 85% ของแหล่งโปรตีนทางอาหารของประชากรทั้งโลก ดังนั้นหากไม่มีการผลิตปุ๋ย Nitrogen ที่ผ่านกระบวนการดังกล่าว ก็คงไม่สามารถที่จะผลิตอาหารเพียงพอให้ประชากรบนโลกได้

จีนขยายโรงไฟฟ้าถ่านหิน

แม้แต่ประเทศจีนที่ใช้ Renewable Energy เยอะที่สุดในโลก โดยมีการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ถึง 216.9 GW ในปี 2023 เพิ่มขึ้นจากปี 2022 เกินกว่าสองเท่าและมากกว่าการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ของทั้งโลก รวมถึงมีการติดตั้งพลังงานหมุนเวียนที่มาจากลมกว่า 76.0 GW ซึ่งเยอะกว่าทวีปอเมริกาและยุโรปรวมกัน แต่อุปสงค์น้ำมันเบนซินและดีเซลเพิ่มขึ้นกว่า 15% เมื่อเทียบกับปี 2019 ซึ่งเป็นช่วงก่อนโควิด-19

นอกจากนั้น ประเทศจีนในปี 2023 ยังได้ขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งถือว่าเป็นพลังงานที่สกปรกที่สุดในกลุ่มเชื้อเพลิงฟอสซิล เพิ่มขึ้นถึง 70 GW และอีก 47 GW ที่ได้เริ่มผลิตไฟไปแล้ว ซึ่งคิดเป็นถึง 70% ของจำนวนโรงไฟฟ้าจากถ่านหินที่เพิ่มขึ้นของทั้งโลก

แสดงให้เห็นถึงการคงอยู่ร่วมกันของทั้งพลังงานทดแทนและพลังงานฟอสซิลจากประเทศที่เป็นผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ของอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนอันดับหนึ่งของโลกได้เป็นอย่างดี

“ณรัล” กล่าวทิ้งท้ายว่า นอกจาก 3 อุตสาหกรรมข้างต้นยังมีอีกหลายอุตสาหกรรมที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันและส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจ สังคม และการบริโภคที่ยังจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาพลังงานรวมถึงวัตถุดิบจากอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานฟอสซิล

Source : กรุงเทพธุรกิจ

ยางล้อ “Greenergy Tyre” ยอดทะลุเป้า! กยท. สั่งเพิ่มผลิต อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

กยท. เปิดตัวยางล้อ  “Greenergy Tyre”  ประสบผลสำเร็จ ยอดสั่งทะลุ 20,000 เส้น  เตรียมขยายการผลิตเพิ่ม ครอบคลุมการใช้งานรถทุกประเภท…

ไทยก้าวสู่ EV Hub อาเซียน งบลงทุนรวม “2 แสนล้านบาท” ตั้งโรงงานผลิตแบตฯ EV ในไทย

โรงงานผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า กำลังเป็นโจทย์หลักที่ทำให้ไทยกลายเป็น EV Hub ของอาเซียน ล่าสุดมีบริษัทต่างชาติกว่า 10-20 เข้ามาสนใจลงทุนในไทยเป็นจำนวนมาก ชวนมาดูกันว่ามีบริษัทอะไรและแบรนด์ไหนบ้าง ธุรกิจโรงงานผลิตแบตเตอรี่…

มีผลแล้ว! ภาษีสรรพสามิต EV เหลือ 2% MG รับส่วนลดเต็มที่ 2.46 แสนบาท

ส่วนลด EV ขยักที่สองมาแล้ว หลังกฎกระทรวงประกาศให้มีผลบังคับใช้ 8 มิถุนายน 2565 โดยรถที่เข้าโครงการรัฐบาลจะเสีย "ภาษีสรรพสามิต EV"…

Leave a Reply