นักวิทย์ฯ คิดค้น CorPack นวัตกรรมเปลี่ยนคลื่นเป็นไฟฟ้า คาดว่าสามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึง 29,500 TWh/ปี หรือเทียบเท่ากับปริมาณการใช้ไฟฟ้าของชาวยุโรปทั้งปี
“ลอย…อยากเอาเธอนั้นไปลอยทะเล”
เธอในที่นี้หมายถึง ‘ทุ่น’ ซึ่งล่าสุดเกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ เพียงแค่นำทุ่นไปลอยกลางมหาสมุทร ก็สามารถแปลงพลังงานคลื่นเป็นไฟฟ้าได้แล้ว และสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 29,500 TWh ต่อปี หรือเทียบเท่ากับปริมาณการใช้ไฟฟ้าของชาวยุโรปทั้งปี
รู้ไหมว่า มหาสมุทรนั้นครอบคลุมพื้นผิวของโลกประมาณ 71% และด้วยเหตุผลนานับประการ ทำให้สายน้ำเหล่านี้เป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่ยัง ‘ไม่ถูกใช้สอย’ มากที่สุดในโลก หรือพูดแบบกระชับ ๆ ก็คือ มนุษย์ค้นพบวิธีใช้ประโยชน์จากคลื่นแล้ว (นอกจากเอาไว้แชร์เวลาเหงา) นวัตกรรมนี้เรียกว่า “Corpack”
Credit CorPower Ocean
ทำไมพลังงานคลื่นจึงสำคัญ ?
ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change หรือ IPCC เคยประมาณการว่าพลังงานคลื่นสามารถผลิตไฟฟ้าได้มากถึง 29,500 TWh ต่อปี หรือเทียบเท่ากับปริมาณการใช้ไฟฟ้าของชาวยุโรปทั้งปี

แต่ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าแค่ลำพังคลื่นอย่างเดียวจะได้ไฟฟ้ามายังไง จำกันได้ใช้ไหมว่าแรงดึงดูดระหว่างโลกกับดวงจันทร์ทำให้เกิดปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลง หรือที่เด็กวิทย์ฯ รู้จักกันในชื่อ “tidal force” ความถี่ของน้ำขึ้นน้ำลงจึง (น่าจะ) จ่ายไฟฟ้าได้อย่างสม่ำเสมอ
ทุ่นรูปหัวใจ เปลี่ยนคลื่นเป็นไฟฟ้า
นี่จึงเป็นที่มาของนวัตกรรม CorPack อุปกรณ์ชิ้นนี้ถูกบรรยายว่ามีรูปร่างคล้ายกับหัวใจมนุษย์ ถูกออกแบบโดย ดร.สติก ลุนด์บัค ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจ และเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทพลังงานคลื่น CorPower Ocean ขึ้นในปี 2009
Credit CorPower Ocean
หลักการทำงานของมันคือ เมื่อทุ่นถูกดึงลงและดันขึ้นซ้ำ ๆ ตามจังหวะคลื่น พลังงานจากการเคลื่อนที่นี้จะถูกเปลี่ยนเป็นการหมุนของแกนกลไกภายใน พลังงานการหมุนจะถูกส่งไปยังเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (generator) เครื่องกำเนิดไฟฟ้าจะแปลงพลังงานกลให้เป็นพลังงานไฟฟ้า พร้อมนำไปใช้งาน
ใช้งานจริงเวิร์กไหม ?
ปัจจุบัน เครื่อง CorPack ถูกนำไปติดตั้งใช้งานจริงแล้วในหลายประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา โปรตุเกส นอร์เวย์ สกอตแลนด์ ฯลฯ

อย่างไรก็ดี บริษัท CorPower Ocean สรุปความท้าทายมีให้ 2 ข้อด้วยกัน อย่างแรกคือ ความทนทานต่อความรุนแรงคลื่นในมหาสมุทร และการผลิตพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (ความสม่ำเสมอ) หากแก้ 2 จุดนี้ได้เมื่อไหร่ เชื่อว่าเทคโนโลยีจะกว้างขวางออกไปยิ่งกว่านี้
และเมื่อนั้นเอง ‘คลื่น’ ซึ่งเป็นลูกนอกสายตา ไม่เหมือนลูกรักอย่างพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ฯลฯ อาจทะยานขึ้นเป็นแหล่งพลังงานใหม่ให้กับมนุษย์ในลำดับต่อไป และเมื่อนั้นมหาสมุทรคงครื้นเครงไม่น้อยเลยทีเดียว
ที่มา: Euro News
Source : Spring News