หลังจากที่มีการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า EV ไปแล้ว ล่าสุดก็มีการสนับสนุนรถ HEV รถยนต์ไฮบริด Hybrid electric vehicle (HEV) รถยนต์ที่ใช้ขุมพลัง 2 ระบบ คือเครื่องยนต์สันดาปภายในที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ทำงานประสานกับมอเตอร์ไฟฟ้าจ่ายไฟโดยแบตเตอรี่ เพื่อขับเคลื่อนรถยนต์ ซึ่งเป็นยกระดับให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ยุคใหม่อย่างสมบูรณ์แบบ โดยจะมีการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์ HEV ตั้งแต่ปี 2571 – 2575
สำหรับรายละเอียดที่เผยแพร่ไว้ในเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ก็มีรายละเอียดดังนี้
มาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ HEV จะปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตให้อยู่ในระดับคงที่ในช่วง ปี 2571 – 2575 จากเดิมอัตราภาษีจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 ทุก 2 ปี โดยกำหนดให้บริษัทผลิตรถยนต์ HEV ที่ประสงค์จะรับสิทธิ ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข 4 ด้านก่อนการรับสิทธิ ดังนี้
(1) ต้องมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ไม่เกิน 120 g/km
– การปล่อย CO2 ไม่เกิน 100 g/km อัตราภาษีสรรพสามิตร้อยละ 6
– การปล่อย CO2 101 – 120 g/km อัตราภาษีสรรพสามิตร้อยละ 9
(2) ต้องมีการลงทุนจริงเพิ่มเติม โดยบริษัทผู้ผลิตรถยนต์และ/หรือบริษัทในเครือในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2567 – 2570 ไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท
(3) ต้องมีการใช้ชิ้นส่วนสำคัญที่ผลิตหรือประกอบในประเทศ โดยรถยนต์ HEV รุ่นที่ขอรับสิทธิ ต้องใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตในประเทศตั้งแต่ปี 2569 และต้องใช้ชิ้นส่วนสำคัญอื่นๆ ตั้งแต่ปี 2571 เป็นต้นไป โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ชิ้นส่วนสำคัญที่มีมูลค่าสูง 3 ชิ้น ได้แก่ Traction Motor, Reduction Gear, Inverter และชิ้นส่วนสำคัญที่มีมูลค่าปานกลาง 8 ชิ้น ได้แก่ BMS, DCU, คอมเพรสเซอร์ระบบปรับอากาศสำหรับ BEV, Electrical Circuit Breaker, DC/DC Converter, High Voltage Harness, Battery Cooling System, Regenerative Braking System โดยจะขึ้นกับมูลค่าการลงทุน
(3.1) กรณีลงทุนเพิ่มเติมตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป สามารถเลือกได้ว่า จะใช้ชิ้นส่วนสำคัญ 3 ชิ้นในกลุ่มที่มีมูลค่าสูง หรือเลือก 2 ชิ้นในกลุ่มมูลค่าสูง และอีก 2 ชิ้นในกลุ่มมูลค่าปานกลาง หรือหากเลือก 1 ชิ้นในกลุ่มที่มีมูลค่าสูง จะต้องเลือก 4 ชิ้นในกลุ่มมูลค่าปานกลาง
(3.2) กรณีลงทุนเพิ่มเติม 3,000 ล้านบาทขึ้นไป แต่ไม่ถึง 5,000 ล้านบาท จะต้องใช้ชิ้นส่วนสำคัญที่มีมูลค่าสูงทั้ง 3 ชิ้นเท่านั้น
(4) ต้องมีการติดตั้งระบบความปลอดภัยอัจฉริยะ (Advanced Driver Assistance System: ADAS) ในรถยนต์ HEV รุ่นที่ขอรับสิทธิ อย่างน้อย 4 จาก 6 ระบบ ดังนี้ ระบบเบรกฉุกเฉินขั้นสูง (AEB) ระบบเตือนการชนด้านหน้าของรถ (FCW) ระบบการดูแลภายในช่องจราจร (LKAS) ระบบเตือนการออกหรือเปลี่ยน ช่องจราจร (LDW) ระบบการตรวจจับจุดบอด (BSD) และระบบการควบคุมความเร็วของยานยนต์ (ACC)
หรือสรุปแบบสั้นๆ ได้ประมาณนี้ครับ
- ผู้ผลิตจะต้องลงทุนจริง ไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท ระหว่างปี 2567-2570
- ต้องมีการใช้แบตเตอรี่ระดับแพ็ค (Pack) ในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 เป็นต้นไป
- ต้องมีการใช้ชิ้นส่วนสำคัญจากภายในประเทศ ตั้งแต่ 1 มกราคม 2571 เป็นต้นไป
- ต้องติดตั้งระบบความปลอดภัย (Advanced Driver – Assistance System: ADAS) อย่างน้อย 4 ระบบ
ซึ่งมาตรการทั้งหมดนี้จะมีการนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป หากไม่มีอะไรติดขัด และผ่านการพิจารณาออกมาตรการนี้ เราคงจะได้เห็นรถ HEV มีราคาที่ถูกลงกว่าเดิม และแน่นอนว่า น่าจะมีผู้ใช้รถน้ำมันอีกมากมาย ที่ยังไม่อยากเปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้า 100% เพราะอาจจะไม่สะดวกในการเดินทางระยะไกล และสถานีชาร์จยังไม่มากเพียงพอ ก็จะหันมาใช้รถ HEV กันแทน ซึ่งตอบโจทย์การใช้รถในปัจจุบันนี้ได้ดีและสะดวกมากที่สุด
ขอบคุณข้อมูลจาก BOI