กระทรวงพลังงานชี้แนวโน้มราคา LNG ช่วงเดือน​ ก.ย.-ธ.ค.66​ ปรับลดลงส่งผลดีต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า

นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดวิกฤติราคาพลังงาน โดยสาเหตุหลักเกิดจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคา LNG นำเข้ามีราคาสูงและค่อนข้างผันผวน และส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันติดตามและบริหารสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและดำเนินทุกมาตรการที่สามารถทำได้ เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการ

โดยที่ผ่านมาได้ใช้ทั้งมาตรการปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิงจาก LNG เป็นน้ำมันดีเซลในกรณีที่น้ำมันดีเซลมีราคาถูกกว่า การกลับมาเดินเครื่องโรงไฟฟ้าแม่เมาะเป็นการชั่วคราว การเร่งผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย การบริหารจัดการเพื่อนำก๊าซที่ภาคปิโตรเคมีใช้ลดลงเข้าสู่ภาคไฟฟ้าเพิ่มขึ้น การรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนและพลังน้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงการให้ กฟผ. ช่วยรับภาระด้านต้นทุนเชื้อเพลิงแทนประชาชนเป็นการชั่วคราว และการออกมาตรการช่วยเหลือส่วนลดค่า Ft ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือนกลุ่มเปราะบางและกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วย ซึ่งกระทรวงพลังงานยังคงติดตามและทำทุกวิถีทางเพื่อทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าปรับลดลงและบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชนและผู้ประกอบการ

“ส่วนสถานการณ์ต้นทุนเชื้อเพลิงในรอบถัดไป (กันยายน ถึง ธันวาคม) นั้น กระทรวงพลังงานประเมินว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากราคา LNG นำเข้าจากตลาดจรได้อ่อนตัวลง การผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่เพิ่มขึ้น ซึ่งกระทรวงพลังงานได้เสนอข้อคิดเห็นไปยังคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานถึงแนวทางที่อาจพิจารณาในการคำนวณค่า Ft ได้ อาทิ ผลประหยัดที่ได้จากส่วนต่างการประเมินราคาเชื้อเพลิงกับราคาที่เกิดขึ้นจริง ทั้งในรอบการคำนวณค่า Ft ในปัจจุบัน และรอบแรกของปี 2566 รวมถึงการบริหารภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงที่คงค้างอย่างเหมาะสม” นายสมภพ กล่าว

Source : Energy News Center

ปตท. เผยเตรียมนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในปี 2566 เพิ่มเกือบ 100 ลำเรือ กว่า 6 ล้านตัน ป้อนโรงไฟฟ้าเหตุยอดใช้ไฟฟ้าพุ่งจากอากาศร้อนจัด และเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยวฟื้นตัว ระบุ LNG มีราคาถูกแตะ 9 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู  มั่นใจส่งผลดีต่อค่าไฟฟ้าไทย ด้านธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย เตรียมรุกสู่ธุรกิจใหม่ สร้างความมั่นคงพลังงาน สู่เป้าหมาย Net Zero 

นายพงษ์พันธุ์ อมรวิวัฒน์  รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. เปิดเผยว่า ปตท.ประเมินว่าในปี 2566 นี้ อาจมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) เกือบ 100 ลำเรือ หรือประมาณ 6 ล้านตัน จากปัจจุบันที่นำเข้ามาแล้ว 60 ลำเรือ อยู่ที่ 4 ล้านตัน หรือ ลำละ 60,000 ตัน ขณะที่ปี 2565 มีการนำเข้าอยู่ที่ 53 ลำเรือ หรือ ราว 3.3 ล้านตัน โดยการนำเข้า LNG ที่เพิ่มขึ้นในปี 2566 นี้ เกิดจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ปริมาณนักท่องเที่ยว และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจส่งผลให้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น ประกอบกับทิศทางราคา LNG ตลาดจร ( Spot LNG ) ถูกลง คุ้มค่ากว่าการใช้น้ำมันดีเซลผลิตไฟฟ้า

นายพงษ์พันธุ์ อมรวิวัฒน์  รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 

โดยล่าสุด ราคา Spot LNG เดือน มิ.ย. 2566 นี้ อยู่ที่ประมาณ 9 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่ผ่านมา บางช่วงราคาสูงสุดอยู่ที่ 80 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู และคาดว่าจนถึงปลายปี 2566 นี้ ราคาอาจจะอยู่ที่ประมาณ 15-20 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู โดยราคาที่ ปตท.ทำสัญญาซื้อขายไปแล้วนั้นจะไม่เกิน 20 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู ทั้งนี้ ราคา LNG ที่ต่ำลงเกิดจากกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) มีการสำรองLNG ไว้ในปริมาณสูงเกินความต้องการของตลาด ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(Ft) ในงวดถัดไปให้ลดลงได้ 

อย่างไรก็ตาม ปตท.จะนำเข้า LNG ในปี 2566 นี้ถึง 100 ลำเรือตามเป้าหมายหรือไม่ ยังต้องติดตามดูว่า ปตท.สผ.จะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซฯในอ่าวไทยให้เป็นไปตามแผนได้หรือไม่ รวมถึงการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจและราคาLNGในอนาคตด้วย ซึ่งการนำเข้า LNG ในแต่ละล็อตจะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ด้วย

สำหรับบทบาทของหน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ปตท. ในการขยายเครือข่ายทางการค้าให้ครอบคลุมทั่วโลกเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างมูลค่าเพิ่มสูงสุด และนำรายได้เข้าประเทศ รวมถึงการสร้างธุรกิจใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์โลกพลังงานที่กำลังจะเปลี่ยนไปในอนาคต ดังนั้นหน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศจึงมีสำนักงานการค้าอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ของทุกภูมิภาคทั่วโลก โดยคาดว่า ปี 2566 นี้ จะมีปริมาณการค้าเพิ่มขึ้น จากปี 2565 ที่มีปริมาณการค้ารวมมากกว่า 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ครอบคลุมมากกว่า 70 ประเทศทั่วโลก และมีการจัดหาพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเหลวจากหลากหลายภูมิภาคทั่วโลก เพื่อรองรับความต้องการพลังงานของประเทศ 

นอกจากนี้ ยังแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ อาทิ การเข้าสู่ตลาด Carbon Credit Trading และการค้าเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) เป็นต้น  ซึ่งจะเป็นหนึ่งในกลไกที่ช่วยขับเคลื่อนกลุ่ม ปตท. และประเทศไทยเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emissions ตามที่กำหนดไว้

นายนพดล ปิ่นสุภา  ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า  กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท. ประกอบด้วย ธุรกิจที่ ปตท. ดำเนินการเอง ได้แก่ ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศและสายงานกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย รวมถึง  ธุรกิจที่ ปตท. ลงทุนผ่านบริษัทในกลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น และธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก ซึ่งมีผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 ปี 2566  คิดเป็น 31% ของกำไรสุทธิของ ปตท. หรือ 8,748 ล้านบาท  ด้วยกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานตามพันธกิจหลัก และก้าวสู่ธุรกิจใหม่ตามวิสัยทัศน์ Powering Life with Future Energy and Beyond พร้อมเติบโตในธุรกิจพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions)

นายนพดล ปิ่นสุภา  ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (บนหน้าจอทางซ้าย) 

โดยในช่วงที่ผ่านมา  สถานการณ์วิกฤตราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นอันเป็นผลจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท. ได้ร่วมลดผลกระทบต่อประชาชน และบริหารจัดการเพื่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ประกอบด้วย การจัดหา LNG แบบตลาดจร (SPOT) ในช่วงเวลาเร่งด่วน จัดหาและสำรองน้ำมันดิบในภาวะการขาดแคลนทั่วโลก  รวมถึงการบริหารต้นทุนพลังงาน ปรับเปลี่ยนการผลิตไฟฟ้าด้วยน้ำมันในช่วงเวลาที่เหมาะสมอีกด้วย 

นายประสงค์ อินทรหนองไผ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท. กล่าวว่าปตท. ได้ดำเนินกลยุทธ์การดำเนินงานผ่านความร่วมมือภายในกลุ่ม ปตท. เพื่อคงความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจเดิม (Hydrocarbon based) และเป็นฐานต่อยอดธุรกิจใหม่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง (Advance Materials & Specialty Chemicals) ที่สอดคล้องกับการเติบโตตามกระแสโลก  โดยสามารถเชื่อมโยงและเติมเต็มห่วงโซ่อุปทาน(Value Chain) ธุรกิจใหม่ ของกลุ่ม ปตท. รวมถึงเพิ่มสัดส่วนธุรกิจคาร์บอนต่ำและธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน

นายประสงค์ อินทรหนองไผ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท. 

“ปตท.ตั้งเป้าหมายจะมีสัดส่วน EBITDA จากธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 30%ในปี2573 จากปี 2565 อยู่ที่ 15% โดยปัจจุบันมีการเจรจาความร่วมมือกับพันธมิตรในหลายธุรกิจ เช่น ความมั่นคงของระบบน้ำ ในพื้นที่ภาคตะวันออก ก็ได้ร่วมมือกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ศึกษาว่าจะทำอย่างไรหากเกิดการขาดแคลนน้ำ ทั้งเรื่องการรีไซเคิลน้ำ การผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล รวมถึงการผันน้ำ การลงทุนระบบท่อน้ำ เพราะกลุ่ม ปตท. มีความต้องการใช้น้ำ เป็นสัดส่วน 30% ของอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก”

นอกจากนั้น  ยังมีการนำเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือช่วยเสริมการบริหารจัดการเพื่อช่วยประกอบการตัดสินใจให้แก่ภาครัฐ อาทิ การใช้ระบบดิจิทัลมาวางแผนการผลิตน้ำมันในประเทศ ผ่าน Hydrocarbon Value Chain Collaboration Center  รวมถึงเครื่องมือในการบริหารจัดการทางเลือกในการใช้เชื้อเพลิงของประเทศในภาวะราคาพลังงาน ผันผวน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ปตท.ยังให้ความสำคัญด้านกลยุทธ์เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน รองรับสภาวการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป  สายงานกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท. ได้ผนึกพลังร่วมภายในกลุ่ม  กำหนดแผนธุรกิจใหม่ภายใต้ความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย  การก้าวเข้าสู่ธุรกิจด้านการบริหารจัดการน้ำ (Water Management Business) รวมถึงแผนธุรกิจเพื่อสนับสนุนเป้าหมาย Net Zero Emissions ของกลุ่ม ปตท. อาทิ  เตรียมการเป็นผู้ผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพอย่างยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel – SAF) ผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางการผลิตและใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในเครื่องบิน ผลักดันความร่วมมือเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และการลงทุนในธุรกิจที่มีการปลดปล่อยคาร์บอนต่ำ (Decarbonization) เป็นต้น

Source : Energy News Center

กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ส.อ.ท. เสนอ 6 ข้อให้รัฐหนุนโซลาร์เซลล์ เพื่อช่วยประเทศลดการนำเข้า Spot LNG​ ราคาแพงจนกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า

นายวีระเดช เตชะไพบูลย์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)​ ซึ่งรับผิดชอบด้านพลังงานแสงอาทิตย์ เปิดเผยว่า ทางกลุ่มได้มีการประชุมหารือกันเมื่อเร็วๆนี้ ถึงแนวทางการช่วยภาครัฐลดการนำเข้า Spot LNG ที่มีราคาแพงจนส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าและเป็นภาระต่อประชาชนและภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์​(Co2)​โดยใช้ศักยภาพของโซลาร์เซลล์ ซึ่งมีข้อสรุป 6 ข้อดังนี้
1. ให้มีการรับซื้อไฟฟ้าที่เหลือใช้จากระบบโซลาร์เซลล์ของโรงงานทุกประเภทเข้าระบบจำหน่ายของการไฟฟ้า อย่างถาวรโดยรับซื้อในราคาและระยะเวลาที่เหมาะสม

2. การยกเว้นใบอนุญาต​ รง.4 สำหรับโซลาร์เซลล์​ทุกประเภทและทุกขนาด เช่นเดียวกับไฟฟ้าจากพลังงานลม เพราะเป็นพลังงานสะอาดที่ไม่ได้มีลักษณะเป็นโรงงานอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นควันหรือมลพิษทางอากาศใดๆ

3. แก้ไขข้อกำหนดใน ประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of Practice: CoP) ของ กกพ.ในส่วนที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์​ส่วนรวม เช่น การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชน หรือการกำหนดให้วัดคุณภาพอากาศ ทั้งนี้เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้กับโครงการโซลาร์เซลล์ขนาดเล็กกว่า 5 เมกะวัตต์

4. การขอใบอนุญาต​ต่างๆใช้เวลามากเกินปกติ เช่นที่ กกพ.ใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 เดือนเพราะต้องรอคิวประชุมบอร์ดและรอประธานลงนาม ดังนั้นใบอนุญาต​ต่างๆที่เกี่ยวข้องให้ปรับปรุงเป็น online หรือ digitalization เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายที่จะ de-regulation ที่รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานประกาศไว้

5. สำหรับโรงงานที่มี EIA อยู่แล้วไม่ต้องกำหนดให้ไปแก้ไขปรับปรุง EIA เดิม หากมีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ในโรงงาน เพราะไม่มีผลกระทบต่อ EIA เดิมแต่อย่างใด

6. เปลี่ยนข้อกำหนดกำลังผลิตติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ทุกประเภททั้งที่ติดตั้งอยู่เดิมและติดตั้งใหม่ ให้เป็นไปตามขนาดของ Inverter ตามข้อกำหนดด้านเทคนิคของผู้ผลิต ตามชนิดและรุ่นของ Inverter ที่อยู่ใน Approved list ของการไฟฟ้า จากปัจจุบันที่ยึดตามแผงโซลาร์เซลล์ ทำให้ที่ผ่านมาการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ไม่มีใครสามารถผลิตได้เต็มศักยภาพของกำลังผลิตติดตั้งที่ได้รับอนุมัติ เป็นการเสียโอกาสที่จะได้ใช้ไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำกว่า Spot LNG นำเข้าค่อนข้างมาก

นายวีระเดช กล่าวว่า ข้อเสนอทั้ง 6 ข้อส่วนใหญ่เป็นอำนาจของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ที่สามารถดำเนินการได้ทันที โดยไม่ต้องให้รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานสั่งการ ซึ่งหากเร่งดำเนินการได้เร็วก็จะช่วยประเทศลดการนำเข้า LNG ราคาแพงที่สร้างภาระต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าให้กับครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมได้ ประมาณ 5 บาทต่อหน่วย เมื่อเปรียบเทียบระหว่างต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์และโรงไฟฟ้าที่ใช้ Spot LNG นำเข้าเป็นเชื้อเพลิง

Source : Energy News Center

“วิกฤตพลังงาน” ที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบันได้สร้างความบอบช้ำให้กับทุกประเทศทั่วโลกที่กำลังผชิญกับปัญหาราคาพลังงานพุ่งขึ้นสูงอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยุโรป มีแนวโน้มว่าในช่วงฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง ราคาพลังงานจะปรับพุ่งขึ้นอีกเป็น 2 เท่าของราคาปัจจุบันอย่างแน่นอน

โลจิสติกส์สายเรือผ่านช่องแคบไต้หวันสะเทือนพิษจีน-สหรัฐ “หอการค้าไทยในจีน-นักวิชาการ” เตือนรับมือวิกฤตต้นทุนพลังงานรอบใหม่ ดันต้นทุนขนส่ง-ประกันการเดินทางเรือพุ่ง สินค้ากลุ่มพลังงาน “น้ำมัน-LNG” ราคาขึ้น ด้าน กกพ.รับต้นทุนนำเข้า LNG พุ่ง กระทบค่าเอฟทีงวด 1 ปี’66

นายไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากกรณีที่จีนประกาศขยายระยะเวลาในการซ้อมรบต่อไปอีก 1 เดือน ถึงวันที่ 8 กันยายน 2565 โดยเพิ่ม 2 พื้นที่ทางตอนเหนือของไต้หวัน คือ อ่าวป๋อไฮ่ และทะเลเหนือ คาบเกี่ยวกับเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ขณะที่ไต้หวันก็ประกาศซ้อมรบด้วยเช่นเดียวกัน อาจกลายเป็นประเด็นที่จะส่งผลกระทบต่อระบบโลจิสติกส์ทั้งการขนส่งทางเรือและทางอากาศทั่วโลก

ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

“จากที่ประเมินผลกระทบหลังจบการซ้อมรบในระลอกแรก หลัก ๆ จะกระทบเรื่องโลจิสติกส์ ทั้งทางเรือและทางอากาศ ซึ่งหากสิ้นสุดในวันที่ 7 ผลกระทบก็จะเป็นระยะสั้น แต่เมื่อขยายระยะเวลาไป ยาวนานขึ้นเป็นเดือนก็จะส่งผลกระทบขยายวงมากยิ่งขึ้น จากช่วงที่ผ่านมาที่ได้มีการยกเลิกการขนส่งผู้โดยสารทางด้านเซี่ยเหมินไปแล้ว

ตอนนี้ผลกระทบกับทางภาคธุรกิจ หากการขนย้ายสินค้าต้องอ้อม ไม่สามารถขนส่งผ่านช่องแคบไต้หวันได้ จะใช้เวลาเพิ่มขึ้น 3 วัน ทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์เพิ่มประมาณ 10% โดยเฉพาะในเส้นทางเรือที่จะผ่านไปทางเซี่ยงไฮ้ ไต้หวันเป็นแนวเชื่อมกับกวางตุ้ง และช่องแคบไต้หวันเป็นเส้นทางเดินเรือเส้นทางทั้งอเมริกา ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และตะวันออกกลาง”

โดยสินค้าหลักที่จะกระทบมากที่สุด คือ พลังงาน ทั้งน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) สินค้าที่ต้องใช้เส้นทางเรือ และมีการสต๊อกในปริมาณที่จำกัด ซึ่งหากเปรียบเทียบกันแล้วกลุ่มพลังงานจะกระทบมากกว่าสินค้าเกษตร เพราะหากการส่งสินค้านี้ไม่สามารถผ่านไปได้สต๊อกเก่าหมด อาจทำให้เกิดวิกฤตพลังงานรอบใหม่

อีกด้านหนึ่งคือ ผลกระทบทางอากาศ เครื่องบินต้องเปลี่ยนเส้นทางไปทางตอนเหนือของไต้หวันซึ่งจะใช้ระยะเวลาในการบินเพิ่มขึ้น 20-30 นาที อาจจะสายเรือ หรือสายการบินประกาศเปลี่ยนตารางการเดินเรือ การบินหรือเลื่อนไฟลต์ไปก่อน ซึ่งจะกระทบต่อการส่งสินค้า

“หากเกิดปัญหาด้านโลจิสติกส์รอบนี้ ในส่วนของไทย ซึ่งเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตค่าระวางเรือและการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์มาในปีนี้ ต้องจับตามองการซ้อมรบ ถ้าซ้อม 5-7 วัน ระยะสั้นแต่ถ้านานกว่านั้น 1 เดือน ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาจะยาวนานกว่านั้น เพราะมีปัญหาเรื่องโลจิสติกส์ตามมา ค่าพลังงานตอนนี้ของไทยก็สูง หากต้องปรับราคาขึ้นไปอีกก็จะเป็นต้นทุนในการผลิตสินค้า”

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ขณะนี้การขนส่งผ่านช่องแคบไต้หวันยังสามารถดำเนินการได้ปกติ เพราะจีนได้ยุติการซ้อมรบแล้วทำให้สถานการณ์ยังไม่รุนแรง แต่อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ยังมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ ขนส่งในอนาคตแน่

ทั้งนี้ ขึ้นกับว่าสถานการณ์จากนี้ คือ นโยบายจากจีนแผ่นดินใหญ่ “One China Policy” จะมีความเข้มข้นแค่ไหน ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ช่วงแรกอาจจะทำให้ต้นทุนการประกันความเสี่ยงในการขนส่งสินค้าทางเรือเพิ่มขึ้น เพราะนโยบายทางด้านทหารเปลี่ยนได้ตลอดเวลา การขนส่งทางเรือใช้เวลาหลายวัน ความเสี่ยงระหว่างการเดินทางสูง โดยเฉพาะ 4 ประเทศหลักที่ใช้เส้นทางนี้คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน

“ปัจจุบันนี้สินค้าที่ขนส่งทางทะเลของโลกปีละ 12,000 ล้านตัน หรือ 25 ล้านตู้คอนเทนเนอร์ต่อปี ซึ่งในจำนวนนี้มีการขนส่งผ่านช่องแคบไต้หวัน 240 ลำต่อวัน มีจำนวนตู้คอนเทนเนอร์ 50% ผ่านเส้นทางช่องแคบนี้ และมูลค่าสินค้าที่ส่วนใหญ่ 80% เป็นสินค้าอุตสาหกรรม น้ำมันและก๊าซ เพราะเชื่อมการค้าระหว่างกันของ 4 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลี เพื่อขนส่งไประหว่างยุโรปและเอเชีย ดังนั้นผลกระทบต่อต้นทุนสินค้ากลุ่มพลังงานมีโอกาสจะเพิ่มขึ้นแน่”

ขณะที่แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีน ในกรณีไต้หวันอาจจะส่งผลต่อราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในตลาดโลก อาจจะปรับตัวสูงขึ้นอีก ซึ่งจะส่งผลต่อการนำเข้า LNG สัญญาจร หรือ LNG Spot ของไทย ที่จะต้องนำเข้ามาใช้ทดแทนก๊าซธรรมชาติจากเมียนมา

เพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าที่จะต้องนำมาคำนวณในสูตรค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) งวด 1 เดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 ซึ่งจะเพิ่มขึ้นจากราคาที่เคยใช้คำนวณในการปรับค่าเอฟทีงวด 4 เดือน ก.ย.-ธ.ค. 2565

ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM หนึ่งใน LNG Shipper ระบุว่า บริษัทมีแผนจะนำเข้า LNG เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการต้นทุนก๊าซธรรมชาติ โดยเฉพาะใช้สำหรับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม (IU) เป็นหลัก ทั้งสำหรับโครงการโรงไฟฟ้า SPP ใหม่เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิม และโรงไฟฟ้า SPP โรงอื่น หลังจากที่บริษัทได้ลงนามสัญญา Terminal Usage Agreement กับ PTT LNG เป็นที่เรียบร้อยแล้วในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา

 ดร.ฮาราลด์ ลิงค์

การเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโครงการโรงไฟฟ้า SPP เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิม ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและประสิทธิภาพสูง การขยายฐานลูกค้าอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง และการควบคุมค่าใช้จ่าย จะเป็นปัจจัยสนับสนุนผลการดำเนินงานในช่วงเวลาที่เหลือของปี และตลอดช่วง 12 เดือนข้างหน้าของบริษัท

“บริษัทยังได้รับประโยชน์จากการปรับขึ้นของค่าไฟฟ้าตามสูตร (ค่า Ft) ทุก ๆ 4 เดือน โดยในเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 กกพ.ได้ประกาศปรับขึ้นอีก 0.6866 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง เป็น 0.9343 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง โดยมีสาเหตุหลักมาจากการปรับเพิ่มของราคาพลังงานโลก”

เช่นเดียวกับแหล่งข่าวจากบริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO Group ระบุว่า การปรับค่าไฟฟ้าเอฟทีไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัท เนื่องจากสัดส่วนการขายไฟฟ้าให้ลูกค้าอุตสาหกรรม (IUs) ซึ่งคิดราคาขายตามเอฟทีของบริษัทนั้นมีสัดส่วนเพียง 2% หรือ 90 MWe เท่านั้น จากกำลังการผลิตรวมของโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่อง 5,656 MWe

Source : ประชาชาติธุรกิจ