บี.กริม เพาเวอร์​ เผย​ 9​ บริษัทย่อยและบริษัทร่วมทุน​ ได้รับเลือกเป็นผู้ผลิต-ขายไฟฟ้าจาก “พลังงานหมุนเวียน” ให้รัฐ​ ตามประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบFeed – in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 และประกาศอื่นที่เกี่ยวข้อง​ จำนวน 15 โครงการ​ คิดเป็นกำลังการผลิตรวม 339.3 เมกะวัตต์ โดยมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบปี 2569-2573

โดย 9 บริษัทดังกล่าว แบ่งเป็นบริษัทย่อย 5 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท สมาร์ท คลีน ซิสเท็ม 1 จำกัด (บี.กริม เพาเวอร์ ถือหุ้น 100%) โรงไฟฟ้าพลังงานลม กำลังการผลิต 16 เมกะวัตต์

บริษัท สมาร์ท คลีน ซิสเท็ม 5 จำกัด (บี.กริม เพาเวอร์ ถือหุ้น 100%) โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 20 เมกะวัตต์

บริษัท กรีน เพาเวอร์เจน จำกัด (บี.กริม เพาเวอร์ ถือหุ้น 55%) โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์

บริษัท กรีน เพาเวอร์เจน 88 จำกัด (บี.กริม เพาเวอร์ ถือหุ้น 55%) โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 6.3 เมกะวัตต์ บริษัท กรีน เพาเวอร์เจน 111 จำกัด (บี.กริม เพาเวอร์ ถือหุ้น 55%) โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทร่วมทุนจำนวน 4 บริษัท ซึ่ง บี.กริม เพาเวอร์ ถือหุ้น 40% ของทุนจดทะเบียน และบริษัท เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ จำกัด ถือหุ้น 60% ประกอบด้วย บริษัท ซีแอลพี พาวเวอร์ จำกัด โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 20 เมกะวัตต์ บริษัท ซีเอ็มที เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 20 เมกะวัตต์ บริษัท โวลต์ซิงค์ โซลูชั่น จำกัด โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 108 เมกะวัตต์ และบริษัท พาวเวอร์ ซี.อี. จำกัด โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 129 เมกะวัตต์

ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยว่า การเข้าร่วมโครงการดังกล่าวสอดคล้องกับกลยุทธ์ GreenLeap-Global and Green ของ บี.กริม เพาเวอร์ เพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกพลังงาน และความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป ด้วยการจัดหาพลังงานที่มีเสถียรภาพ สามารถเข้าถึงได้และสร้างความยั่งยืนให้แก่อุตสาหกรรม เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้ผลิตพลังงานชั้นนำระดับโลกและบรรลุเป้าหมายการก้าวสู่องค์กรที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net-Zero Carbon Emissions ได้ภายในปี ค.ศ.2050 (ปี พ.ศ. 2593) ตอบโจทย์วิสัยทัศน์ของ บี.กริม เพาเวอร์ ที่มุ่งสร้างพลังให้กับสังคมโลกด้วยความโอบอ้อมอารี (Empowering the World Compassionately)

ทั้งนี้ บี.กริม เพาเวอร์​ ตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตจาก 3,338 เมกะวัตต์ ณ สิ้นปี 2565 เป็น 4,700 เมกะวัตต์ ในปี 2567 และเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 เมกะวัตต์ ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ในปี 2573 โดยมองหาการยกระดับความร่วมมือทางธุรกิจระดับโลกกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ

ปัจจุบัน บี.กริม เพาเวอร์ มีกำลังการผลิตจากโครงการที่เปิดดำเนินการแล้ว 3,477.8 เมกะวัตต์ กำลังการผลิตที่มีสัญญาแล้วและอยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อเปิดดำเนินการ 577.6 เมกะวัตต์ เมื่อรวมกำลังการผลิต 339.3 เมกะวัตต์ ที่ได้รับคัดเลือกในครั้งนี้ จะทำให้ บี.กริม เพาเวอร์ มีกำลังการผลิตที่ได้รับการยืนยันแล้วและอยู่ระหว่างการพัฒนา รวม 4,394.7 เมกะวัตต์

Source : Energy News Center

บี.กริม เพาเวอร์ ลงนาม MOU บริษัท ผลิต-ไฟฟ้าลาว (มหาชน)ร่วมศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังน้ำ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ ระบบส่ง และการจำหน่ายไฟฟ้าภายในและต่างประเทศ (Domestic and International Energy Trading) เพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานสะอาดในเขตภูมิภาคอาเซียน

ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) กับ ท่านดวงสี พาละยก ผู้อำนวยการ บริษัท ผลิต-ไฟฟ้าลาว (มหาชน) หรือ EDL-Gen ซึ่งเป็นบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (Electricité Du Laos – EDL) เพื่อร่วมศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังน้ำ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ ระบบส่ง และการจำหน่ายไฟฟ้าภายในและต่างประเทศ (Domestic and International Energy Trading) เพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานสะอาดในเขตภูมิภาคอาเซียน

โดย EDL-Gen เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป.ลาว ก่อตั้งในปี 2553 จากการแปรสภาพหน่วยผลิตไฟฟ้าของรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลาวในปี 2560

ปัจจุบัน EDL-Gen มีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวม 1,949 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการแล้ว 27 โครงการ กำลังการผลิตรวม 1,683 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ EDL-Gen เป็นเจ้าของ 100% จำนวน 10 โครงการ และโครงการร่วมภาคเอกชน (IPP) 16 โครงการ ซึ่งไทยถือเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่ซื้อไฟฟ้าจาก EDL-Gen ในสัดส่วนสูงถึง 42% ของปริมาณการผลิตไฟฟ้าติดตั้งทั้งหมด

สำหรับ​แนวทางพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำต่อจากนี้ EDL-Gen มีนโยบายเปิดกว้างให้เอกชนผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (IPP) ร่วมลงทุนพัฒนาโครงการเพื่อดึงเม็ดเงินการลงทุนจากต่างประเทศ โดยตั้งเป้าว่าภายในปี 2572 EDL-Gen จะมีโรงไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 42 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 2,435 เมกะวัตต์

ส่วน บี.กริม เพาเวอร์ ปัจจุบัน มีโครงการที่เปิดดำเนินการแล้วทั้งหมด 56 โครงการ มีเป้าหมายการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 7,200 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 และ 10,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2573 โดยมองเห็นโอกาสในการขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าทั้งในประเทศและต่างประเทศรวมถึงร่วมทุนกับพันธมิตรต่าง ๆ พร้อมก้าวสู่บริษัทผู้ผลิตพลังงานชั้นนำระดับโลก ส่วนเป้าหมายระยะยาวของ บี.กริม เพาเวอร์ ที่สำคัญ คือ เป้าหมายการก้าวสู่องค์กรที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Net-Zero Carbon Emissions ภายในปี พ.ศ. 2593

Source : Energy News Center

บี.กริม เพาเวอร์ เผยผลประกอบการไตรมาส 1/65 รายได้เพิ่ม 41% เดินหน้าบริหารจัดการต้นทุนต่อเนื่องมุ่งเพิ่มสัญญาซื้อขายไฟไม่น้อยกว่า 1,000 เมกะวัตต์ในปีนี้

ดร. ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ปี 2565 มีรายได้รวมเพิ่มขึ้น 41% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจาก 1) ปริมาณไฟฟ้าที่ขายให้ลูกค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นทั้งจากลูกค้ารายเดิมและรายใหม่ 2) ราคาขายไฟฟ้าต่อหน่วยที่เพิ่มขึ้น รวมถึง 3) ปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าที่เติบโตจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในประเทศไทยและ สปป. ลาว ด้านกำไรสุทธิ-ส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 23 ล้านบาท ลดลง 96.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งปัจจัยหลักมาจากผลการดำเนินงานของธุรกิจโรงไฟฟ้าสำหรับภาคอุตสาหกรรม (SPP) ที่ลดลงจากราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน

ในขณะที่การปรับตัวของราคาขายเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่งผลให้มาร์จิ้นจากการขายไฟฟ้าให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมลดลง อย่างไรก็ตาม บี.กริม เพาเวอร์ ได้มีการบริหารจัดการต้นทุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเตรียมการนำเข้า LNG ภายใต้สัญญาระยะยาวตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป และไตรมาส 1 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ลงนามสัญญา Terminal Usage Agreement กับ PTT LNG การควบคุมค่าใช้จ่ายทั้งองค์กร การขยายธุรกิจจำหน่ายไฟฟ้าให้กับลูกค้าอุตสาหกรรม และการเติบโตจากเกือบทุกกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมหลัก โดยประเมินว่าปริมาณการซื้อไฟฟ้าของลูกค้าอุตสาหกรรมจะเติบโตประมาณ 10-15% ในปีนี้ รวมทั้งการปรับปรุงประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต ทั้งการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ทดแทนโครงการเดิม (SPP Replacement) ทั้ง 5 โครงการที่จะเริ่มดำเนินการในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งจะลดอัตราการใช้ก๊าซลงราว 15% การปรับปรุงโรง BPWHA และ ABP4 รวมทั้งการนำเทคโนโลยี Digital Twins ร่วมกับ Siemens มาใช้ในการบำรุงรักษาโรงงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุดอีกด้วย

จากสถานการณ์ราคาเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้นจากเหตุการณ์ข้างต้น คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จึงได้มีการประกาศขึ้นค่าไฟฟ้าตามสูตร (ค่า Ft) 2 ครั้ง เริ่มจาก 16.17 สตางค์ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ในเดือน ม.ค. และ 23.38 สตางค์ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมงในเดือน พ.ค. และคาดว่าจะปรับอีกครั้งในเดือน ก.ย. ด้วยเหตุนี้ประกอบกับการเข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์รวม 88 เมกะวัตต์ ของกลุ่ม reNIKOLA ประเทศมาเลเซีย จะเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2565 จะเป็นปัจจัยสนับสนุนผลการดำเนินงานในช่วงเวลาที่เหลือของปี

ด้านการเตรียมความพร้อมภายใต้สมมติฐานสถานการณ์ต่าง ๆ รวมถึงการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 บี.กริม เพาเวอร์ มีฐานะการเงินแข็งแกร่ง โดยมีเงินสดในมือกว่า 2.6 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีกระแสเงินสดที่มั่นคงจากโครงการโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการแล้ว 53 โครงการ การได้รับการอนุมัติขยายวงเงินหุ้นกู้เป็นไม่เกิน 100,000 ล้านบาท ในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี (พ.ศ. 2565-2569) จากที่ประชุมผู้ถือหุ้นที่ผ่านมา และการสนับสนุนจากหลายสถาบันการเงิน เพื่อเตรียมความพร้อมและความคล่องตัวในการบริหารด้านการเงิน รองรับการเติบโตของธุรกิจ และโอกาสในการลงทุนที่จะเข้ามาในอนาคต

ดร. ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าวว่า ในปีนี้ บริษัทฯ ยังมีการขยายความร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำ เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจ โดยในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกลุ่มทรู ในการร่วมมือพัฒนานวัตกรรมดิจิตัลเพื่อธุรกิจพลังงาน ประกอบด้วย 1) การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิตัลด้านพลังงานอัจฉริยะ 2) การพัฒนาโครงการนวัตกรรม Smart Grid ผ่านเทคโนโลยี 5G 3) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และ 4) การพัฒนาระบบนิเวศเศรษฐกิจใหม่และการส่งเสริมสตาร์ทอัพในประเทศไทย

ส่วนความคืบหน้าของโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างในปีนี้มีอีกหลากหลายโครงการ ประกอบด้วย โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อู่ตะเภา เฟส 1 ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 18 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในจังหวัดระยอง ปัจจุบันมีความคืบหน้าในการก่อสร้าง 65% โดยมีกำหนดการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปลายปี 2565 และโครงการโรงไฟฟ้า BGPAT2 & BGPAT3 ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งแห่งละ 140 เมกะวัตต์ โดยมีกำหนดการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2566

ปัจจุบัน บี.กริม เพาเวอร์ มีโครงการที่เปิดดำเนินการแล้วทั้งหมด 53 โครงการ โดยมีเป้าหมายที่จะมีกำลังการผลิตรวมของโครงการใหม่ ไม่น้อยกว่า 1 กิกะวัตต์ภายในปีนี้ ทั้งจากโครงการที่ก่อสร้างใหม่และการเข้าซื้อกิจการที่ตั้งอยู่ในหลากหลายประเทศ โดยยังคงเป้าหมายการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 7,200 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 และ 10,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2573

Source : Energy News Center