News & Update

พบ ‘สารเคมีตลอดกาล’ ใน ‘หลอดกระดาษ’ อันตรายต่อสุขภาพ ปนเปื้อนในดิน-น้ำ

โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ลงนามยกเลิกการใช้ “หลอดกระดาษ” กลับมาใช้ “หลอดพลาสติก” โดยมีผลบังคับใช้ทันที พร้อมสั่งให้หน่วยงานรัฐบาลกลางเลิกซื้อหลอดกระดาษ กำจัดหลอดกระดาษ และไม่มีการนำหลอดกระดาษมาใช้ภายในหน่วยงานรัฐอีก

ทรัมป์ต่อต้านการใช้หลอดกระดาษมาโดยตลอด เขาให้สัมภาษณ์กับนักข่าวว่า “เรากำลังกลับไปใช้หลอดพลาสติก ผมเคยใช้มันหลายครั้งแล้ว มันไม่ได้เรื่องเลย บางทีก็เปื่อยหรือแตกออก ยิ่งถ้าใช้กับของร้อน ยิ่งใช้ได้แค่ไม่กี่นาที บางทีก็ไม่กี่วินาทีด้วยซ้ำ มันเป็นเรื่องไร้สาระ”

ในช่วงหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีปี 2020 ทรัมป์ได้จำหน่ายหลอดพลาสติกประทับตราทรัมป์ในราคา 15 ดอลลาร์สำหรับแพ็ค 10 ชิ้น เพื่อทดแทนหลอดกระดาษที่เขาเรียกว่าเป็นสัญลักษณ์ของเสรีนิยม ซึ่งแคมเปญดังกล่าวทำรายได้เกือบ 500,000 ดอลลาร์ในช่วงไม่กี่สัปดาห์แรกเท่านั้น

พบ ‘สารเคมีตลอดกาล’ ใน ‘หลอดกระดาษ’ อันตรายต่อสุขภาพ ปนเปื้อนในดิน-น้ำ


หลอดพลาสติกที่ทรัมป์เคยวางจำหน่ายในช่วงเลือกตั้งปี 2020
 

คำสั่งของทรัมป์ในครั้งนี้เป็นการเพิกถอนมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ระบุว่า มลพิษจากพลาสติกว่าเป็นเรื่อง “วิกฤติ” โดยในเดือนพฤศจิกายน 2024 โจ ไบเดน ประธานาธิบดีในขณะนั้นได้ประกาศกลยุทธ์ระดับชาติเพื่อป้องกันมลภาวะจากพลาสติก โดยจะค่อย ๆ เลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวจากบรรจุภัณฑ์อาหาร การดำเนินงาน และกิจกรรมต่าง ๆ ภายในปี 2027 และจากการดำเนินงานของรัฐบาลกลางทั้งหมดภายในปี 2035

หลอดกระดาษถูกยกย่องว่าเป็นทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า แต่ในแง่การใช้งานแล้วก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังไม่ตอบโจทย์จริงตามที่ทรัมป์พูด นอกจากนี้งานวิจัยหลายชิ้นยังระบุว่าหลอดกระดาษยังอาจไม่เป็นมิตรต่อสุขภาพของมนุษย์มากนัก

‘หลอดกระดาษ’ มี ‘สารเคมีตลอดกาล’

นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแอนต์เวิร์ป ในเบลเยียม ตรวจสอบหลอดกระดาษ 39 ยี่ห้อที่ทำจากวัสดุ 5 ชนิด ได้แก่ กระดาษ ไม้ไผ่ แก้ว สเตนเลส และพลาสติก ผลการศึกษาพบ “สารเคมีตลอดกาล” หรือที่เรียกว่า “PFAS” ในหลอดทั้งหมด ยกเว้นหลอดที่ทำจากสเตนเลส สิ่งที่น่าประหลาดใจที่สุดก็คือ PFAS ถูกตรวจพบมากที่สุดในหลอดที่ทำจากวัสดุจากพืช เช่น หลอดกระดาษและหลอดไม้ไผ่

คณะกรรมการกำกับดูแลเทคโนโลยีระหว่างรัฐ ระบุว่าสารเคมีตลอดกาลถูกนำมาใช้กับหลอดกระดาษ เพื่อให้หลอดทนน้ำได้มากขึ้น เพราะสาร PFAS มีคุณสมบัติในการขับไล่คราบน้ำมัน น้ำ คราบสกปรก และดิน รวมถึงมีความเสถียรทางความร้อนและลดแรงเสียดทาน ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการรักษาหลอดกระดาษให้คงสภาพ

อย่างไรก็ตาม ธิโม กรอฟเฟน นักวิทยาศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยแอนต์เวิร์ปผู้เขียนการศึกษากล่าวว่ายังทราบแน่ชัดว่าสาร PFAS ทั้งหมดที่พบในกระดาษและหลอดไม้ไผ่มาจากกระบวนการผลิตหลอด หรือสารเหล่านี้มีอยู่ในวัตถุดิบมาตั้งแต่แรก เช่น กระบวนการผลิตกระดาษ หรือฝังอยู่ในเนื้อเยื่อจากดินที่ปนเปื้อน

ขณะเดียวกัน การศึกษาวิจัยในปี 2021 ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Chemosphere พบว่าหลอดกระดาษหรือหลอดที่ย่อยสลายได้ส่วนใหญ่ที่ทดสอบมีสาร PFAS ในปริมาณที่ตรวจพบได้ แต่ในขณะที่หลอดพลาสติกกลับไม่มีสาร PFAS ที่สามารถวัดได้

แม้ว่า สาร PFAS ที่พบในหลอดกระดาษอาจจะไม่ได้มีปริมาณมากนัก เมื่อเทียบกับวัสดุอื่น ๆ แต่สารเคมีตลอดกาลสามารถสะสมตัวอยู่ในร่างกายระยะยาวได้ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและรบกวนระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ ทั้งภาวะน้ำหนักแรกเกิดต่ำ คอเลสเตอรอลสูง โรคไทรอยด์ และความเสี่ยงต่อมะเร็งไต มะเร็งตับที่เพิ่มขึ้น แต่นักวิจัยยังไม่รู้ว่าต้องมีปริมาณสารเคมีระดับใด ถึงจะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพได้

กรอฟเฟนกล่าวว่า ผู้บริโภคอาจไม่ต้องกังวลกับการใช้หลอดกระดาษเท่ากับพลาสติกต่าง ๆ “นี่เป็นช่องทางสะสมสารเคมีที่เราหลีกเลี่ยงได้ และหลอดไม่น่าจะเป็นอันตรายมาก แต่เนื่องจากสาร PFAS สามารถสะสมอยู่ในร่างกาย ผู้คนจึงควรลดการสัมผัสสารเหล่านี้ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้” 

‘หลอดกระดาษ’ ดีต่อสิ่งแวดล้อม ?

หลอดกระดาษและไม้ไผ่ได้รับความนิยมมากขึ้นในฐานะทางเลือกที่ดีต่อโลก แต่นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า หลอดกระดาษก็อาจไม่ได้ดีกว่าหลอดพลาสติกมากนัก เพราะตราบใดที่มีสาร PFAS ปะปนอยู่ ก็จะไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกต่อไป 

สาร PFAS มักอยู่ในพลาสติกหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น บรรจุภัณฑ์อาหาร เครื่องสำอาง พรม เฟอร์นิเจอร์ และสิ่งทอ เช่น เสื้อกันฝนหรือชุดออกกำลังกาย โดยมีชื่อเล่นว่า “สารเคมีตลอดกาล” เนื่องจากสลายตัวได้ช้ามาก จะคงอยู่ในอากาศ น้ำ และดินเกือบถาวร อีกทั้งสามารถซึมออกจากหลุมฝังกลบลงในน้ำและดิน และส่งผลเป็นพิษต่อสัตว์ รวมถึงตับเสียหายหรือปัญหาการสืบพันธุ์ 

การศึกษาของกรอฟเฟนตรวจพบ “กรดไตรฟลูออโรอะซิติก” สารเคมีตลอดกาลที่ละลายน้ำได้สูงและเป็นอันตรายกับระบบสืบพันธุ์ ในหลอดกระดาษ 5 อันและหลอดไม้ไผ่ 1 อัน แต่กรอฟเฟนก็ยังยืนยันว่าหลอดที่ทำจากพืชยังคงดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าพลาสติก

“ผมยังคาดหวังว่าหลอดพลาสติกจะเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า เพราะแน่นอนว่าพลาสติกจะสลายตัวเป็นไมโครพลาสติกที่สัตว์สามารถบริโภคได้” เขากล่าว

หลอดพลาสติกไม่สามารถรีไซเคิลได้ จึงลงเอยในหลุมฝังกลบ ถูกเผาในเตาเผาขยะ หรือกลายเป็นขยะที่ปนเปื้อนมหาสมุทร แม่น้ำ ทะเลสาบ และลำธาร เนื่องจากพลาสติกไม่ย่อยสลายง่าย จึงสามารถคงอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานถึง 200 ปี อันตรายต่อสัตว์ที่อาศัยอยู่ในทะเล

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รัฐต่าง ๆ รวมถึงแคลิฟอร์เนีย โคโลราโด นิวยอร์ก และโอเรกอน ห้ามใช้หลอดพลาสติกในร้านอาหาร และเครือร้านอาหารอย่างสตาร์บัคส์ก็ได้เลิกใช้หลอดพลาสติก แต่ลูกค้าสามารถขอได้หากยังต้องการ

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม นักวิจัยแนะนำว่าหลอดทางเลือดที่ดีที่สุดคือ “หลอดสเตนเลส” เพราะสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ไม่มีสาร PFAS และรีไซเคิลได้ทั้งหมด แต่หลอดสเตนเลสก็มีราคาแพงเมื่อเทียบกับหลอดอื่น ๆ และร้านค้าไม่ได้แจกฟรี ดังนั้นอีกทางเลือกที่ดีและเป็นไปได้คือ “ไม่ใช้หลอด” ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาทั้งทางเคมีและสิ่งแวดล้อมได้ในคราวเดียวกัน


ที่มา: BBCFood And WineNBC NewsNewsweek
Source : กรุงเทพธุรกิจ

เหมืองทะเลลึก : การแข่งขันแย่งชิงแร่สำคัญในพลังงานสะอาด

เหมืองทะเลลึก หรือ การทำเหมืองเพื่อขุดโลหะและแร่จากพื้นก้นทะเล แม้มีการระบุว่าสามารถช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนแร่ธาตุที่สำคัญทั่วโลกได้ แต่ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง มีแร่ธาตุสำคัญมูลค่าหลายพันล้านตันและหลายพันล้านดอลลาร์ รวมถึง นิกเกิล ทองแดง โคบอลต์…

มองโอกาสตลาด ‘โซลาร์เซลล์ไทย’ ที่อาจมีมูลค่ามากกว่า 6 หมื่นล้าน!

ทั่วโลกกำลังตื่นตัวกับการใช้ พลังงานสะอาด เช่นเดียวกันกับประเทศไทย ที่หลายคนเจอกับ ค่าไฟ แสนแพง ทำให้เริ่มตื่นตัวกับพลังงานจาก แสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์เซลล์ หลายคนคงสงสัยแล้วตลาดโซลาร์เซลล์ของไทยนั้น ใหญ่ ขนาดไหน และมีโอกาสให้สอดแทรกอย่างไรได้บ้าง มองสถานการณ์พลังงานสะอาดโลก สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) มองว่า ปีนี้กำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นราว 1 ใน 3 เนื่องจากความกังวลด้านความมั่นคงทางพลังงาน…