ด้วยความต้องการพลังงานสีเขียวที่เพิ่มมากขึ้น อาคารประวัติศาสตร์หลายแห่งทั่วทั้งยุโรปจึงได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์โดยใช้เทคนิคที่สร้างสรรค์และสร้างสรรค์ หนึ่งในนั้นคือ “พิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์ บิลบาโอ” พิพิธภัณฑ์งานศิลปะสมัยใหม่และร่วมสมัยในประเทศสเปน
พิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์ บิลบาโอ เพิ่งติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ 300 แผงบนหลังคา ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการที่จะทำให้พิพิธภัณฑ์มุ่งสู่เป้า “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” (Carbon neutrality) ภายในปี 2030 โดยการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ขนาด 80 กิโลวัตต์ จะให้แสงสว่างในห้องจัดแสดงนิทรรศการ สามารถช่วยลดการใช้ไฟฟ้าของพิพิธภัณฑ์ได้ประมาณ 5%
สัญลักษณ์แห่งการเปลี่ยนแปลง
ด้วยตัวอาคารพิพิธภัณฑ์เป็นอาคารสไตล์โมเดิร์นนิสต์ที่ไม่เหมือนใคร ออกแบบโดย แฟรงก์ เกห์รี สถาปนิกชื่อดังแห่งยุค ทำให้เกิดความท้าทายในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เข้ากับหลังคาโดยที่ยังคงเอกลักษณ์ของอาคารเอาไว้
ดังนั้นเพื่อรักษาความสมบูรณ์ทางสถาปัตยกรรมของโครงสร้างอาคารอันโดดเด่นจนกลายเป็นสัญลักษณ์ของเมืองเอาไว้ จึงต้องเลือกสีและออกแบบแผงอย่างระมัดระวังให้สอดรับกับอาคาร ตลอดจนใช้เทคนิคและนวัตกรรมต่าง ๆ เข้าช่วย
เอกลักษณ์งานออกแบบของเกห์รี คือ รูปทรงเป็นคลื่นและมักใช้ผนังโลหะสีเงิน จึงจำเป็นต้องมีการออกแบบรูปแบบการติดตั้งให้สอดคล้องกับรูปแบบอาคาร นอกจากนี้จะต้องได้รับการอนุมัติจากสถาปนิก แฟรงก์ เกห์รี และสภาเมืองบิลบาโอ
ท้ายที่สุดแล้วโมเดลการออกแบบที่ได้รับคัดเลือกและอนุมัติจากเกห์รี มาจากบริษัท FuturaSun ของอิตาลี เนื่องจากมีสีสันและรูปแบบที่สอดคล้องกับสถาปัตยกรรม ส่วน Iberdrola บริษัท ระบบสาธารณูปโภคพลังงานไฟฟ้า เป็นผู้อยู่ทำการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ โดยแยกติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ไว้บนหลังคา 2 แผ่นที่ใหญ่ที่สุดของอาคาร ในตำแหน่งที่มองไม่เห็นจากถนน
“การรักษาเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมของอาคารเป็นความท้าทายที่สำคัญในการดำเนินโครงการนี้ และทุกรายละเอียด ตั้งแต่การออกแบบให้สอดคล้องคุณลักษณะอื่น ๆ เช่น ช่องรับแสงบนหลังคา ไปจนถึงการติดตั้ง” พิพิธภัณฑ์กล่าวในข่าวเผยแพร่
ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2024 ไฟฟ้าที่จ่ายให้กับพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ จะมาจากแหล่งที่ยั่งยืน 100% ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของพิพิธภัณฑ์ได้มากกว่า 1 ใน 3 พิพิธภัณฑ์ได้ลดการใช้ก๊าซลง 35% และลดการใช้ไฟฟ้าลง 6% ตั้งแต่ปี 2022 ที่เริ่มใช้พารามิเตอร์การควบคุมอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ที่ปรับให้เข้ากับสภาพกลางแจ้งมากขึ้น
นอกจากนี้ พิพิธภัณฑ์กำลังทดลองใช้เทคโนโลยีและวิธีการต่าง ๆ ที่ช่วยลดการใช้พลังงานและวัตถุดิบ พัฒนาโครงการรีไซเคิล และส่งเสริมกิจกรรมที่ช่วยสร้างความตระหนักรู้ในหมู่ผู้มาเยือนและชุมชนอีกด้วย
แผงโซลาร์เซลล์ติดกับอาคารเก่า
อาคารประวัติศาสตร์ในยุโรปหลายแห่งมีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ไว้ทั้งบนหลังคาและบริเวณโดยรอบอาคาร อย่างเช่น ที่ชิปเพนแฮม ฮอลล์ อาคารเก่าแก่ตั้งปี 1690 ในอังกฤษ ได้มีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ 32 แผงห่างจากอาคารประมาณ 25 เมตร โดยแผงโซลาร์เซลล์เชื่อมต่อกับตัวอาคารด้วยสายเคเบิลใต้ดินและซ่อนไว้ด้วยรั้วไม้ที่แทรกอยู่ในหมู่ไม้ประดับในสวน
ขณะที่ อุทยานโบราณคดีปอมเปอีทางตอนใต้ของอิตาลี ได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่มีลวดลายกระเบื้องดินเผา เพื่อให้กลมกลืนไปกับซากปรักหักพังของเมืองโบราณ ตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว อย่างไรก็ตามในบางสถานที่ก็เกิดการโต้แย้งว่าไม่สมควรปรับปรุงอาคารประวัติศาสตร์
แผงโซลาร์เซลล์บริเวณชิปเพนแฮม ฮอลล์
ที่มา: Historic England
มีการเสนอให้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในโบสถ์คิงส์คอลเลจ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งก่อสร้างภายใต้การพิทักษ์ระดับ “เกรด I” สิ่งก่อสร้างที่มีความสำคัญอย่างเด่นชัดทางสถาปัตยกรรมและทางประวัติศาสตร์ แม้การติดตั้งจะได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการผังเมือง แต่ก็ถูกคัดค้านจากองค์การอนุรักษ์แห่งอังกฤษ (Historic England) สุดท้ายแล้วการคัดค้านก็ไม่สำเร็จผล ยังคงดำเนินการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ต่อไป
ปัจจุบันมีแผงโซลาร์เซลล์ 438 แผงอยู่บนหลังคาของโบสถ์คิงส์คอลเลจซึ่งสามารถมองเห็นได้จากถนน และโบสถ์แห่งนี้ถูกยกย่องว่าเป็น “สัญลักษณ์แห่งการเปลี่ยนแปลง” โดยจิลเลียน เท็ตต์ อธิการบดีของคิงส์คอลเลจ กล่าวกับสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า นี่เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่งในช่วง 500 ปีที่ผ่านมาของการปรับปรุงโบสถ์
“เมื่อพระเจ้าเฮนรีที่ 8 ทรงสร้างโบสถ์ทั้งหลัง ไม่มีใครนึกภาพออกว่าจะมีโบสถ์ที่มีหลังคาและเพดานแบบโกธิกที่สวยงามเหนือจินตนาการได้ และนั่นคือสิ่งที่เรากำลังพยายามทำอีกครั้ง” เธอกล่าว
แผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาโบสถ์คิงส์คอลเลจ
สภาเมืองยุโรปผ่อนปรนกฎเกณฑ์ติดแผงโซลาร์เซลล์บนอาคารประวัติศาสตร์
เนื่องจากความต้องการพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นท่ามกลางวิกฤติสภาพอากาศ และต้นทุนการผลิตพลังงานที่สูงขึ้น ทำให้หลายฝ่ายต้องการติดแผงโซลาร์เซลล์ แต่เนื่องด้วยอาคารเกือบหนึ่งในสี่ในสหภาพยุโรปสร้างขึ้นก่อนปี 1945 และส่วนใหญ่ได้รับการคุ้มครอง ทำให้สภาเมืองทั่วทั้งยุโรปเริ่มผ่อนปรนข้อจำกัด ให้อาคารเก่าสามารถติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ได้ โดยยึดเอากรณีของโบสถ์คิงส์คอลเลจเป็นบรรทัดฐาน
เดือนมิถุนายน 2024 เมืองอัมสเตอร์ดัมประกาศว่าจะอนุญาตให้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในอาคารและอนุสรณ์สถานที่ได้รับการคุ้มครองได้ภายในปี 2025 ส่วนรัฐบาลอังกฤษประกาศว่าเจ้าของบ้านและอาคารประวัติศาสตร์ในอังกฤษจะไม่ต้องขออนุญาตติดตั้งเทคโนโลยีประหยัดพลังงาน เช่น แผงโซลาร์เซลล์และปั๊มความร้อนภายใต้มาตรการที่กระทรวงที่อยู่อาศัยกำหนดอีกต่อไป
แม้ว่ามาตรการเหล่านี้อาจทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการอนุรักษ์มรดก แต่บริษัทต่าง ๆ กำลังเร่งออกแบบและผลิตแผงโซลาร์เซลล์ที่สามารถผสมผสานเข้ากับอาคารเก่าได้อย่างลงตัวยิ่งขึ้น หนึ่งในนวัตกรรมดังกล่าวเรียกว่า “ระบบโซลาร์เซลล์ผสานวัสดุอาคาร” หรือ BIPV (Building-integrated photovoltaics)
แผงโซลาร์เซลล์ประเภทนี้สามารถเปลี่ยนรูปลักษณ์ของกระเบื้องหลังคา หินชนวน กระจก และแม้แต่กระจกสี ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและสร้างความยั่งยืนให้แก่อาคารเก่า โดยที่ยังคงความสวยงามเอาไว้ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์
ที่มา: DS New Energy, Euro News, PV Magazine
Source : กรุงเทพธุรกิจ