โลกจะเลิกพึ่งถ่านกินได้จริงหรือ? เมื่อความต้องการถ่านหินยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเอเชีย แม้สหรัฐและยุโรปมีแนวโน้มใช้ลดลงแล้วก็ตาม
โลกจะควบคุมการใช้ถ่านหินได้ในเร็วๆ นี้หรือไม่ เมื่อการส่งออกถ่านหินของสหรัฐเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่สกปรกที่สุดในโลก สวนทางการบริโภคภายในสหรัฐที่กำลังลดลง
ข้อมูลจากโกลบอลเอ็นเนอร์จีมอนิเตอร์ (จีอีเอ็ม) เผยเมื่อวันที่ 6 ก.พ. ว่า กำลังการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินของโลกแตะระดับสูงเป็นประวัติการณ์เกือบ 2,175 กิกะวัตต์ในปี 2024
ด้านองค์การพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) คาดว่า ความต้องการถ่านหินของโลกอาจทำลายสถิติใหม่ในปี 2024 ทะลุ 8.77 พันล้านตัน และจะยังคงมีระดับใกล้เคียงกันจนถึงปี 2027
โดโรธี เมอี ผู้จัดการโครงการ Global Coal Mine Tracker ของจีอีเอ็ม เผยว่า การหลีกเลี่ยงใช้ถ่านหินทั่วโลกยังคงเป็นเรื่องที่ท้าทาย ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในเอเชีย แม้ยุโรปและสหรัฐบริโภคถ่านหินลดลงแล้วก็ตาม
เอเชียยังต้องพึ่งถ่านหินสูง
จีนนำเข้าถ่านหินเพิ่มขึ้น 14.4% สู่ระดับ 542.7 ล้านตัน สูงเป็นประวัติการณ์ในปี 2024 ขณะที่ในปีก่อนหน้านำเข้า 474.42 ล้านตัน และจีนยังเป็นประเทศที่บริโภคถ่านหินมากที่สุดในโลก โดยคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 56% ของความต้องการถ่านหินทั้งหมดในปี 2023
ด้านเมอีเผยว่า กลยุทธ์สำรองถ่านหินที่สูงเป็นประวัติการณ์ของจีนมีจุดมุ่งหมายเพื่อเตรียมพร้อมรับการขาดแคลนพลังงานจากสภาพอากาศที่รุนแรง เช่น ภัยแล้งที่จะกระทบการผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำ และยังมีอุปสรรคในด้านความยากลำบากของการส่งพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมข้ามเมือง ถ่านหินจึงเป็นกระดูกสันหลังพลังงานที่สำคัญในจีน
ขณะที่อินเดีย มีความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นในช่วงสภาพอากาศร้อนจัด และแหล่งพลังงานสะอาดยังพัฒนาไม่เร็วพอที่จะตอบสนองความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นของประเทศ
บริษัทที่ปรึกษา Crisil เผยว่าความต้องการพลังงานในอินเดียเพื่อการผลิตเหล็กมีแนวโน้มเติบโต 8-9% ในปี 2025 แซงหน้าเขตเศรษฐกิจอื่นๆ เนื่องจากการก่อสร้างที่ใช้เหล็กกล้าเข้มข้นในภาคโครงสร้างพื้นฐานและที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น
นอกจากประเทศจีนและอินเดีย ยังมีประเทศอื่นที่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่เพิ่มขึ้น เช่น บังกลาเทศ อินโดนีเซีย และเวียดนาม
ซึ่งจีอีเอ็มคาดว่า เวียดนามอาจแซงหน้าไต้หวันเป็นผู้นำเข้าถ่านหินรายใหญ่สุดอันดับที่ 5 ของโลก หลังจากเวียดนามนำเข้าถ่านหินในปี 2024 สูงเป็นประวัติการณ์ในรอบมากกว่าทศวรรษ
ส่วนการผลิตถ่านหินของอินโดนีเซียพุ่งสูงทำลายสถิติ 831 ล้านตันเมื่อปีก่อน ขณะที่แอมเบอร์เอ็นเนอร์จี รายงานว่าสัดส่วนการใช้ถ่านหินผลิตพลังงานไฟฟ้าของฟิลิปปินส์แซงหน้าจีนในปี 2023 ทำให้ฟิลิปปินส์กลายเป็นประเทศที่พึ่งพาถ่านหินมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เอียน โรเปอร์ นักยุทธศาสตร์ด้านสินค้าโภคภัณฑ์ จากแอสทริส แอดไวเซอรี เจแปน เคเค บอกว่า ความต้องการถ่านหินในเอเชียที่เพิ่มขึ้นยังเป็นผลมาจากราคาก๊าซที่พุ่งสูงขึ้นเนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ผู้นำเข้าถ่านหินรายใหญ่ปรับลดแผนสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานก๊าซ
เอไอหนุนการใช้ถ่านหิน
ไออีเอคาดการณ์ว่า การบริโภคไฟฟ้าทั่วโลกอาจพุ่งสูงขึ้นในปี 2025
ด้านร็อบ ธัมเมล ผู้จัดการพอร์ตการลงทุนระดับอาวุโสของทอทัดซ์แคปิตอล กล่าวว่า โลกต้องการพลังงานมากขึ้น และต้องการแหล่งจ่ายพลังงานที่มีประสิทธิภาพ คุ้มทุน และเชื่อถือได้ อย่างเช่น ถ่านหิน
ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ก็ทำให้ความต้องการพลังงานของโลกเพิ่มขึ้น ซึ่งความต้องการพลังงานที่ขับเคลื่อนมาจากศูนย์ข้อมูลหรือดาต้าเซนเตอร์ทั่วโลก จะทำให้ความต้องการถ่านหินเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
รายงานของมูดีส์เรตติง เผยว่า ภายในปี 2023 ความต้องการพลังงานของดาต้าเซนเตอร์อาจเกินกว่า 35 กิกะวัตต์ มากกว่าความต้องพลังงานในปี 2022 ที่ระดับ 17 กิกะวัตต์ 5 เท่า
เปลี่ยนผ่านพลังงานช่วยได้?
เนื่องจากความต้องการพลังงานไฟฟ้าของโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้สังเกตการณ์อุตสาหกรรมอื่นๆ เริ่มเห็นด้วยกับคาดการณ์ของไออีเอที่มองว่าความต้องการถ่านหินจะยังคงอยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์
อีริก นัททอลล์ ผู้จัดการพอร์ตการลงทุนระดับอาวุโสของไนน์พอยต์พาร์ตเนอร์ บอกว่า จะไม่มีการเปลี่ยนผ่านพลังงานเมื่อความต้องการน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินยังคงเพิ่มสูงทำลายสถิติ
อย่างไรก็ตาม โรเปอร์มองว่า จากการที่ประเทศต่างๆ ให้คำมั่นสัญญาเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานหมุนเวียน และการเพิ่มขึ้นของอุปทานก๊าซแอลเอ็นจีทั่วโลก บ่งชี้ว่าอาจทำให้การนำเข้าถ่านหินในตลาดนำเข้าถ่านหินบางแห่งลดลงอย่างต่อเนื่อง และโรเปอร์ยังได้ย้ำถึงการบริโภคถ่านหินในยุโรปและเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือที่ลดลงในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา
ด้านเดฟ โจนส์ นักวิเคราะห์พลังงานไฟฟ้าจากแอมเบอร์เอ็นเนอร์จี สถาบันวิจัยด้านพลังงาน มองว่า การที่หลายประเทศให้คำมั่นว่าจะเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็น 3 เท่าภายในปี 2030 อาจทำให้การใช้ถ่านหินลดลงในช่วงสิบปีต่อจากนี้
อ้างอิง: CNBC
Source : กรุงเทพธุรกิจ