ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนกำลังส่งสัญญาณผ่านสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ภัยธรรมชาติ เช่น พายุ น้ำท่วม ไฟป่าใหญ่ ฯลฯ สะท้อนให้เห็นว่าภาวะโลกร้อน ไม่ใช่ปัญหาไกลตัวอีกต่อไป
ทั่วโลกต่างดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่ไม่มีประเทศใดในโลกจะไม่ได้พบเจอ โดยเฉพาะ “ภาคธุรกิจ” ที่ถูกมองว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาภาวะโลกร้อน และเป็นความหวังในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
ขับเคลื่อนความยั่งยืนมาตลอด 77 ปี
“เซ็นทรัล รีเทล” ทำธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่งในไทย เวียดนาม และอิตาลี มุ่งสร้างความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับสังคม และขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนมาตลอด มีธุรกิจหลัก คือ ห้างสรรพสินค้า กลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ต และฮาร์ดไลน์ (Hardline) ซึ่งถ้ามองในการดำเนินการธุรกิจ มีการดำเนินการเรื่องความยั่งยืนมาโดยตลอดแบบที่ไม่รู้ตัว
“ปิยวรรณ ลีละสมภพ” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายการตลาด บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)ให้สัมภาษณ์“กรุงเทพธุรกิจ”ว่าเมื่อก่อนยังไม่มีใครพูดถึงความยั่งยืน แต่ปรัชญาการทำธุรกิจของกลุ่มเซ็นทรัล ได้ทำเรื่องความยั่งยืนมาโดยตลอด
“สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มเซ็นทรัล” พูดว่า ความสำเร็จของเราเติบโตขึ้นจากความตั้งใจแนวแน่ที่จะนำพาประเทศไทยก้าวไปสู่ความทันสมัย เรายึดมั่นพันธสัญญาที่จะมีส่วนร่วมสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศ และช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชาวไทยทุกคน หมายความว่าสมัยนั้นไม่รู้จักคำว่า ยั่งยืน แต่ผู้ก่อตั้งมีวิสัยทัศน์ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหน มีความตั้งใจจะยกระดับความเจริญให้แก่คนในพื้นที่นั้น”
การทำธุรกิจอยู่บนพื้นฐานการคิดเพื่อผู้อื่น การคิดเพื่อสังคม และห้างไปตั้งพื้นที่ไหน พื้นที่นั้นจะมีความเจริญ อย่าง เซ็นทรัลลาดพร้าว เมื่อก่อนพื้นที่ตรงนั้นเป็นเพียงที่นา แต่เมื่อเซ็นทรัลไปตั้งทำให้ผู้คนมีงานทำ ยกระดับความเจริญ คุณภาพชีวิตที่ดีให้คนในพื้นที่นั้น ๆ
ความยั่งยืนผสมผสานอยู่ในการทำธุรกิจ
นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญเรื่องการช่วยเหลือชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร ผู้ประกอบการ SMEs และสร้างความเท่าเทียม ซึ่งแผนกหนึ่งของห้างจะมีการนำสินค้าชุมชนมาจัดจำหน่าย เป็นสินค้าท้องถิ่น งาน คราฟ งานฝีมือมาหลายสิบปี เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ลูกค้าแทนที่จะเป็นห้างที่มีสินค้านำเข้าเพียงอย่างเดียว ฉะนั้น การบริหารธุรกิจแบบยั่งยืน เรามีการนำความยั่งยืนผสมผสานอยู่ในการบริหารธุรกิจ เราสนับสนุนโดยใช้พื้นที่ของห้างสรรพสินค้าในการกระจายสินค้า ช่วยเหลือเกษตรกร ชุมชน SMEs และสร้างความเท่าเทียม
เมื่อ 7-8 ปีที่ผ่านมา เทรนด์ความยั่งยืน การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และการสร้างความเท่าเทียมมีมากขึ้น ได้มีการปรับวิสัยทัศน์ของแบรนด์ ว่าเราจะไปพัฒนาพื้นที่ในทุกธุรกิจที่ไปสร้าง ไม่ว่าจะในไทย เวียดนาม และอิตาลี ฉะนั้น เมื่อสินค้ามาอยู่ที่ร้านเรา ลูกค้าของเราก็มีความสุขและสามารถมีทางเลือกในการซื้อสินค้าที่ผลิตโดยตรงจากเกษตรกร ชุมชนโดยไม่มีพ่อค้าคนกลาง
ขณะเดียวกัน มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เกษตรกร ชุมชนในพื้นที่พัฒนาแพคเกจจิ้งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้เชือกกล้วย ทำกระทงใช้ไม้กลัดไม่ใช้แม็กเย็บ ผู้บริโภคได้ผักผลไม้ สินค้าการเกษตรที่ปลอดสารเคมี และมีความร่วมมือกับพันธมิตร อย่าง พนักงานของกลุ่มเซ็นทรัล จะเก็บฝาพลาสติกเพื่อนำไปให้กับทาง YOLO เพื่อพัฒนาเป็นเฟอร์นิเจอร์ เช่น ตู้หนังสือ โต๊ะ เก้าอี้ หรือพื้นที่ของไทวัสดุ จะเปิดให้ชุมชนนำผลิตภัณฑ์มาขาย และเน้นการใช้ถุงกระดาษ ลดการใช้ถุงพลาสติก เป็นต้น
“ เราเป็นปลาใหญ่ แต่เราไม่ได้กินปลาเล็ก เราให้พื้นที่ของเราแก่ปลาเล็ก อย่าง SMEs ชุมชน เกษตรกร ร่วมโตไปกับเรา เนื่องจากในยุคสมัยนี้การโตคนเดียวคงไม่มีอีกแล้ว ต้องเป็นการเติบโตไปด้วยกันทั้งหมด”
Mindset สร้างแรงกระเพื่อมช่วยโลก
“การเป็น Green & Sustainable Retail & Wholesale ขับเคลื่อนผ่านกลยุทธ์ CRC ‘ReNEW’ คือ1. Reduce Greenhouse Gas Emissions การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2. Navigate Environmental Responsibility สร้างทักษะและปลูกฝังความรับผิดชอบด้าน ESG ให้กับพนักงานทุกระดับ 3. Eco-Friendly Materials การส่งเสริมสินค้าและบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ4. Waste Management Solutions การบริหารจัดการขยะมูลฝอย
“ปิยวรรณ” เล่าต่อไปว่าการสร้างแรงกระเพื่อมเรื่องความยั่งยืนในธุรกิจให้ได้มากขึ้น ต้องเริ่มจากเปลี่ยนMindset ในกลุ่มพนักงานก่อน ได้มีการให้ความรู้เกี่ยวกับโลกร้อน การจัดการขยะพลาสติกที่ การดูแลสิ่งแวดล้อม เพราะหากพนักงานเข้าใจเขากล้าพูด กล้าถามลูกค้าว่ารับถุงพลาสติกหรือไม่ และมาตอนนี้ลูกค้าส่วนใหญ่ต่างให้ความสำคัญกับการลดใช้ถุงพลาสติก หลายคนไม่รับถุงพลาสติก
การเข้าร่วมงาน Wonderfruit 2024 ซึ่งเป็นปีที่ 2 เป็นงานที่ขับเคลื่อนการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยภายในงานได้เนรมิตพื้นที่ CRC Sensory Space ซึ่งมีไฮไลท์เป็นผลงานศิลปะที่ทำมาจากวัสดุเหลือใช้ Installation Art ของ TAM:DA Studio รวมถึง มีการเปิดให้สร้างลวดลายสุดพิเศษจากสีธรรมชาติ กรีนบนผ้าฝ้ายให้กลายเป็นผ้าพันคอ หรือ เปิดประสบการณ์ที่จะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายได้รู้สึกผ่อนกันด้วยการวัดคลื่นสมองผ่านเครื่อง EEG พร้อมทั้ง ทําผ้าพันคอสุดคิ้วท์ให้เจ้าตูบหรือเจ้าเหมียว ด้วยการเพ้นทและการปักมือ และลิ้มรสผลไม้สดออร์แกนิค คุณภาพพรีเมี่ยมที่คัดสรรมาจากผู้ประกอบการ SMEs ชุมชน และเกษตรกรโดยตรง โดยภายในงานจะใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ 100%
ทั้งนี้การโฟกัสการทำธุรกิจแบบยั่งยืน เวลาโตต้องโตอย่าง Inclusive growth หรือ การเติบโตอย่างมีส่วนร่วม การเติบโตแบบทั่วถึงเปิดพื้นที่กระจายสินค้าให้แก่ชุมชน เกษตรกร ผู้ประกอบการSMES ควบคู่การพัฒนาพนักงานให้มี Mindset เรื่องความยั่งยืน มีการปรับแพคเกจจิ้ง ปรับการตลาดออนไลน์ ลดการใช้กระดาษ ลดพลาสติก ปรับทุกอณูของการทำธุรกิจโดยทุกแผนกจะต้องคิดว่าจะช่วยปรับ ช่วยโลกได้อย่างไร โดยไม่ได้มองว่าเป็นการลดต้นทุน แต่เป้าหมาย คือ การไม่สร้างขยะ แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และไม่เป็นภาระให้แก่โลก
Source : กรุงเทพธุรกิจ