กยท. เร่งสร้างความเข้าใจ ซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตในสวนยาง ยกระดับอาชีพสวนยางยั่งยืน ควบคู่การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม คาดว่าจะสามารถประเมินคาร์บอนเครดิตครั้งแรกเพื่อเริ่มดำเนินการขายในปี 2569 ตั้งเป้าดึงสวนยาง 20 ล้านไร่ทั่วประเทศเข้าร่วม100 % ภายในปี 2593
นายจิรวิทย์ มีชูภัณฑ์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมและพัฒนาการผลิต เปิดเผยว่าตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ให้ความสำคัญในเรื่องการขับเคลื่อนภารกิจเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ กยท. จึงมุ่งมั่นส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจตามแบบฉบับ BCG Model(Bio-Circular-Green Economy) ที่คำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม
โดยการดำเนินโครงการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตของ กยท.เนื่องจากต้นยางพาราเป็นพืชเกษตรที่มีศักยภาพสูงในการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สามารถนำไปใช้ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ได้
ทั้งนี้เพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นที่ผ่านมา กยท. ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การพัฒนาโครงการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต” กับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก.
เป็นการเปิดโอกาสในการสร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ให้สามารถนำต้นยางพาราที่อยู่ในพื้นที่สวนยางเข้าสู่กระบวนการซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตได้ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
“ที่ผ่านมา กยท. ได้ดำเนินโครงการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตและยื่นขึ้นทะเบียนโครงการนำร่องกับ อบก. มีชาวสวนยางในพื้นที่ จ.จันทบุรี จ.เลย และ จ.สุราษฎร์ธานี เข้าร่วมจำนวน 2,299ราย โดยมีพื้นที่สวนยางที่เข้าร่วมแล้วกว่า 43,481ไร่
โดยคาดว่าการดำเนินโครงการนำร่องในช่วง 7 ปี จะสามารถสะสมปริมาณคาร์บอนเครดิตได้กว่า 1.3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq)คิดเป็นมูลค่ากว่า 390 ล้านบาท และในอนาคต กยท. ตั้งเป้าหมายในการดำเนินโครงการคาร์บอนเครดิตให้ครอบคลุมพื้นที่สวนยาง ทั้ง 20 ล้านไร่ทั่วประเทศภายในปี พ.ศ.2593”
ทั้งนี้ กยท. ได้จัดประชุมสัมมนาสร้างการรับรู้การดำเนินงานด้านคาร์บอนเครดิตของการยางแห่งประเทศไทยเพื่อขับเคลื่อนโครงการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตของ กยท.
รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางเกี่ยวกับนโยบายด้านคาร์บอนเครดิตของ กยท.หลักปฏิบัติในการเข้าร่วมโครงการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต ขั้นตอนและวิธีการในการดำเนินงานด้านคาร์บอนเครดิตของ กยท.สามารถนำไปพัฒนาการทำอาชีพการทำสวนยางพาราและบริหารจัดการพื้นที่สวนยางอย่างมีประสิทธิภาพเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล เกิดความมั่นคงและยั่งยืน
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรมการมอบใบประกาศเกียรติคุณแก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน1,609ราย เพื่อเป็นหลักฐานแสดงว่าเกษตรกรชาวสวนยางได้รับการขึ้นทะเบียนในโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Standard T-VER)และเกษตรกรที่ผ่านเกณฑ์ตามโครงการฯ สามารถสร้างรายได้จากการสะสมปริมาณคาร์บอนเครดิตในสวนยางได้ตั้งแต่ปี 2566 จนถึงปี 2573 ตามระยะเวลาโครงการ 7 ปี เพื่อนำสวนยางเข้าสู่กระบวนการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่ง กยท. คาดว่าจะประเมินคาร์บอนเครดิตครั้งแรกเพื่อเริ่มดำเนินการขายในปี 2569 ต่อไป
Source : กรุงเทพธุรกิจ