News & Update

ศักยภาพโตถึงล้านล้านดอลล์! ‘แบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน’ ธุรกิจดาวรุ่งต่อจาก AI

การก้าวกระโดดของปัญญาประดิษฐ์ (AI) สร้างความตื่นตะลึงทั่วโลก แต่มาพร้อมกับความท้าทายด้านพลังงานที่น่ากังวล การใช้งาน AI อย่างแชตบอต ChatGPT เพียงครั้งเดียวสิ้นเปลืองพลังงานมหาศาลมากกว่า Google ถึง 10 เท่า! ยิ่งไปกว่านั้น แผนการสร้างดาต้าเซนเตอร์ขนาดใหญ่ของ OpenAI ซึ่งแต่ละแห่งกินพลังงานเทียบเท่าทั้งเมือง ยิ่งตอกย้ำความต้องการพลังงานมหาศาลของอุตสาหกรรมนี้ 

ท่ามกลางความท้าทายดังกล่าว โอกาสทางธุรกิจใหม่ได้ผุดขึ้นมา นั่นคือ “ระบบจัดเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่” (Battery Energy Storage SystemBESS) ซึ่งมีศักยภาพในการเติบโตและสร้างมูลค่าสูงถึงล้านล้านดอลลาร์ในอนาคต

อย่างที่ทราบกันว่า โลกกำลังเผชิญวิกฤติโลกร้อนขั้นรุนแรง ดังจะเห็นได้จากข่าวดอกไม้บานในแอนตาร์กติกาหรือแม้แต่มีต้นไม้สีเขียวขึ้นที่ทะเลทรายซาฮารา การหันมาใช้พลังงานสะอาด อาจเป็นทางรอดไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงเกิน 2 องศาเซลเซียสในการเลี่ยงหายนะทางมนุษยชาติ

แต่ปัญหาคือ พลังงานสะอาดอย่างโซลาร์เซลล์และกังหันลมนั้นให้พลังงานไม่สม่ำเสมอ บางวันแดดน้อย บางครั้งก็ไม่มีลม ด้วยเหตุนี้ การมีระบบจัดเก็บพลังงานไฟฟ้าเหล่านี้ด้วยแบตเตอรี่ไว้ จึงเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งคล้ายกับ “พาวเวอร์แบงก์ขนาดยักษ์” เก็บไฟฟ้าส่วนเกินในวันปกติ และจ่ายไฟออกมาในวันที่ไม่มีแดด ไม่มีลม เพื่อให้พลังงานไฟฟ้าที่ได้มีความต่อเนื่องและเพียงพอ

ศักยภาพโตถึงล้านล้านดอลล์! ‘แบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน’ ธุรกิจดาวรุ่งต่อจาก AI– แบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (เครดิต: Shutterstock) –

องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) คาดการณ์ว่า กำลังการผลิตแบตเตอรี่เก็บพลังงานทั่วโลกจะต้องเพิ่มขึ้นจากน้อยกว่า 200 กิกะวัตต์ในปีที่ผ่านมา เป็นมากกว่า 1 เทระวัตต์ภายในสิ้นทศวรรษนี้ และต้องแตะเกือบ 5 เทระวัตต์ภายในปี 2050 หากโลกต้องการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือพูดให้ง่ายคือ หากไม่ต้องการให้มนุษย์เสี่ยงสูญพันธุ์

นั่นหมายความว่า นี่จะเป็นแรงผลักดันความต้องการแบตเตอรี่เก็บพลังงานให้พุ่งทะยานได้ จนเป็นธุรกิจที่น่าจับตาอย่างยิ่ง นอกเหนือจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

Bain ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจชั้นนำของโลกได้คาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดสำหรับระบบเก็บพลังงานระดับใหญ่ด้วยแบตเตอรี่ มีแนวโน้มขยายตัวจากประมาณ 15,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2023 เป็นระหว่าง 200,000-700,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2030 และแตะ 1-3 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2040

จีน ฮับแห่งแบตเตอรี่

ตามข้อมูลของ BloombergNEF ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ราคาแบตเตอรี่ลิเทียมได้ลดลงกว่า 40% ถือเป็นตัวเร่งให้ภาคอุตสาหกรรมหันมาใช้แบตเตอรี่ลิเทียมในระบบไฟฟ้ามากขึ้น

ไม่เพียงเท่านั้น การที่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าเริ่มชะลอตัวลง ผู้ผลิตแบตเตอรี่จึงหันมาให้ความสำคัญกับระบบเก็บไฟฟ้าด้วยแบตเตอรี่ ซึ่งมีเทคโนโลยีคล้ายกับแบตเตอรี่ในอีวี

สำหรับศูนย์กลางการผลิตแบตเตอรี่ของโลก คือ “จีน” เพราะเป็นที่ตั้งของ 4 ใน 5 ผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่ที่สุดของโลกอย่าง CATL และ BYD

ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี สัดส่วนการผลิตแบตเตอรี่ของจีนที่นำไปใช้เก็บพลังงาน ได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากเกือบศูนย์ในปี 2563 มาสู่ระดับประมาณ 1 ใน 5 ของการผลิตทั้งหมด แซงหน้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างเห็นได้ชัด การเติบโตที่รวดเร็วนี้ได้รับแรงขับเคลื่อนจากนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดของรัฐบาลจีน ซึ่งกำหนดให้โครงการพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมขนาดใหญ่ ต้องติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานควบคู่กันไป

บริษัทแบตเตอรี่ของจีนมีความก้าวหน้าทางนวัตกรรมอย่างมาก ตัวอย่างเช่น CATL เพิ่มการลงทุนในงานวิจัยและพัฒนาขึ้น 8 เท่าตั้งแต่ปี 2018 เป็น 2,500 ล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา

BYD ซึ่งลงทุนอย่างมากในหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ ได้สร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในเมืองเหอเฝย์ของจีน ซึ่งเกือบจะเป็นระบบอัตโนมัติทั้งหมด แต่ในขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมนี้ก็กำลังเผชิญกับปัญหาการผลิตล้นเกิน

ตามข้อมูลของ BloombergNEF ปัจจุบันจีนผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมได้เพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการทั่วโลกทุกประเภท อุตสาหกรรมของจีนได้ประกาศแผนการเพิ่มกำลังการผลิตอีก 5.8 เทระวัตต์ต่อชั่วโมงภายในปี 2025 ซึ่งมากกว่าสองเท่าของกำลังการผลิตทั่วโลกปัจจุบันที่ 2.6 เทระวัตต์ต่อชั่วโมง

ในขณะเดียวกัน การผลิตล้นเกินนี้ก็ได้ทำให้ราคาแบตเตอรี่ลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อบริษัทสตาร์ทอัพด้านแบตเตอรี่ในยุโรปหลายแห่ง โดยเฉพาะ Northvolt ของสวีเดน ซึ่งถูกมองว่าเป็นตัวแทนสำคัญในการแข่งขันกับบริษัทจีน

ปีที่แล้ว Northvolt ขาดทุนเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 285 ล้านดอลลาร์เป็น 1,200 ล้านดอลลาร์ จนคาดว่าจะทำให้เกิดการควบรวมกิจการในอุตสาหกรรมมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับที่โรบิน เจิง (Robin Zeng) ซีอีโอของ CATL เคยคาดการณ์ไว้

แม้จะมีการแข่งขันที่รุนแรงในหมู่ผู้ผลิตแบตเตอรี่และอาจทำให้ผู้เล่นที่อ่อนแอกว่าออกจากอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้อาจเป็นประโยชน์ต่อตลาดโดยรวมในการผลักดันนวัตกรรม ทำให้มีราคาถูกลง และผู้คนเข้าถึงเทคโนโลยีการเก็บพลังงานได้ง่ายขึ้น

แบตเตอรี่โซเดียม-ไอออน เทคโนโลยีใหม่ที่น่าจับตา

ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือด ได้ผลักดันให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ อย่าง “แบตเตอรี่โซเดียม-ไอออน” เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่น่าจับตามอง เพราะไม่ต้องพึ่งพาลิเทียมที่มีราคาแพง แม้จะมีพลังงานน้อยกว่าแบตเตอรี่ชนิดอื่น แต่ก็เหมาะกับอุปกรณ์ที่ต้องการพลังงานคงที่อย่างระบบเก็บพลังงาน

ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิงรายงานว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 นครหนานหนิง เมืองเอกของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ได้เปิดใช้งาน “โรงกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่โซเดียมไอออนฝูหลิน” ซึ่งเป็นโรงกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่โซเดียมไอออนขนาดใหญ่แห่งแรกในประเทศจีน โดยสามารถกักเก็บพลังงานสะอาดเพื่อใช้ภาคครัวเรือน ตอนนี้เริ่มเปิดใช้งานเฟสแรกก่อน

เมื่อโครงการที่นครหนานหนิงนี้สร้างเสร็จสมบูรณ์ จะสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ปีละ 73 ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้า 35,000 คน และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 50,000 ตัน

ในฝั่งสหรัฐ Natron บริษัทสัญชาติอเมริกันที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทน้ำมัน Chevron ได้ประกาศลงทุนมหาศาลกว่า 1,400 ล้านดอลลาร์เพื่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่โซเดียม-ไอออนแห่งใหม่ในรัฐนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2027

ขณะเดียวกัน แลนดอน มอสเบิร์ก (Landon Mossburg) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Peak Energy สตาร์ทอัพด้านโซเดียม-ไอออน ก็ประกาศวิสัยทัศน์ที่จะทำให้บริษัทของเขาเป็น “CATL ของอเมริกา”

ทอม เจนเซน (Tom Jensen) ผู้บริหารสูงสุดของ Freyr Battery บริษัทพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่มองว่า กุญแจสำคัญในการแข่งขันของบริษัทแบตเตอรี่ในตะวันตกคือ การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ล้ำสมัย 

ปัจจุบันมีบริษัทสตาร์ทอัพหลายแห่งกำลังทดลองและพัฒนานวัตกรรมด้านแบตเตอรี่อย่างต่อเนื่อง หนึ่งในนั้นคือ EnerVenue ซึ่งกำลังเดินหน้าผลิต “แบตเตอรี่นิเกิล-ไฮโดรเจน” เพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ โดยได้รับการสนับสนุนจากการระดมทุนกว่า 400 ล้านดอลลาร์ บริษัทมีแผนจะสร้างโรงงานผลิตในรัฐเคนทักกี สหรัฐ เพื่อผลิตแบตเตอรี่ที่มีต้นทุนต่ำและสามารถกักเก็บพลังงานได้ยาวนาน

อ้างอิง: กรุงเทพธุรกิจกรุงเทพธุรกิจ(2)economistthaibiz
Source : กรุงเทพธุรกิจ

AVATR 11 เปิดตัวในไทย ราคาเริ่มต้น 2.099 ล้านบาท สเปควิ่งไกลสุด 680 กม./ชาร์จ

AVATR 11 เปิดตัวในไทยอย่างเป็นทางการ ด้วยราคาเริ่มต้น 2.099 ล้านบาท ดีไซน์ล้ำสมัย เทคโนโลยีแบตเตอรี่ CATL และระบบอัจฉริยะจาก…

นวัตกรรมเปลี่ยนคาร์บอน สู่ผลิตภัณฑ์เพื่อความยั่งยืนลดโลกร้อน

 สิ่งหนึ่งที่มีศักยภาพสูงคือ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ ด้วยการก่อตั้ง Global Impact Coalition (GIC) ซึ่งเป็นบริษัท หรือเวที สำหรับการทำงานร่วมกัน และการทดลองเกี่ยวกับโซลูชันของคาร์บอนต่ำ GIC…

พพ. เตรียมลดขั้นตอนตรวจสอบการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ขนาดไม่เกิน 200 กิโลวัตต์

กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เตรียมเสนอ ครม. ออกกฎหมายลดขั้นตอนการตรวจสอบการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ขนาดไม่เกิน 200 กิโลวัตต์ ระบุผู้ประกอบการขนาดกลางเพียงขออนุญาตจดแจ้งกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)…