ส.อ.ท. ชี้ (ร่าง) AEDP 2024 ขาดความโปร่งใส ทำลายศักยภาพประเทศ ตัดระบบรายได้ของเกษตรกรมากกว่า 1.2 ล้านครัวเรือนย้ำ E20 ต้องเป็นน้ำมันพื้นฐานแทน E10 แนะบูรณาการข้ามกระทรวง เพื่อประโยชน์ ต่อประชาชนส่วนใหญ่ และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างแท้จริง
นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จุดยืน ส.อ.ท. ต่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมเอทานอล ตาม (ร่าง) AEDP 2024 โดยแก๊สโซฮอล์ E20 ต้องเป็นน้ำมันพื้นฐาน แทน E10 ย้ำนโยบายที่ดีต้องสนับสนุนจุดแข็งของประเทศ บูรณาการข้ามกระทรวง เพื่อประโยชน์ ต่อประชาชนส่วนใหญ่ และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างแท้จริง
นายอิศเรศ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2567 ส.อ.ท. ซึ่งเป็นผู้แทนของภาคเอกชน ร่วมกับภาคเกษตรกร และภาคเอกชนต่างๆ เข้าร่วมงานรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านพลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือก พ.ศ.2567-2580 (AEDP 2024) ณ โรงแรมปริ้นซพาเลซ กรุงเทพมหานคร เพื่อร่วมแสดงความเห็นในประเด็นเชื้อเพลิงชีวภาพที่มีแนวทางในการปรับลดจากแก๊สโซฮอล์ E20 ลงเหลือ E10 และให้เป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐาน
ซึ่งความเห็น ส.อ.ท. ต่อ (ร่าง) AEDP 2024 นั้น ยอมรับว่า กระบวนการจัดทำยังขาดความโปร่งใส จัดทำแบบเร่งรัด ไม่เป็นไปตามเสียงส่วนใหญ่ ขาดการมีส่วนร่วมจากภาคเกษตรกร ภาคการค้า ทำลายศักยภาพของประเทศ ปิดเส้นทางการแข่งขัน ตัดระบบรายได้ของเกษตรกรมากกว่า 1.2 ล้านครัวเรือน เพิ่มโอกาสให้ต่างชาติกดราคาสินค้าเกษตร ทำลายโอกาสในการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ลดความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมเอทานอล
ทั้งนี้ ขัดแย้งยุทธศาสตร์ และแผนพัฒนาของประเทศ จากการบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ปี ค.ศ. 2050 และ Net Zero ปี ค.ศ.2065 และการพัฒนาเศรษฐกิจโมเดล BCG ควรวาง Roadmap การพัฒนาอุตสาหกรรมเอทานอล ระยะสั้น กลาง ยาว เพื่อปรับไปสู่การเปลี่ยนผ่านพลังงานเป็นอุตสาหกรรมเอทานอลมูลค่าสูง ได้ตามระยะเวลาที่สมเหตุสมผล
อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท. จึงเสนอ 3 หลัก คือ 1.สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ส่งเสริมอุตสาหกรรมการเกษตรที่เป็นจุดแข็งของประเทศ พัฒนาประสิทธิภาพการเกษตรต้นน้ำ ลดต้นทุนการผลิต ลดการพึ่งพาสินค้า และพลังงานฟอสซิลจากต่างประเทศ
2. ส่งเสริมการพัฒนาของอุตสาหกรรมเอทานอลด้วยเศรษฐกิจโมเดล BCG โดยส่งเสริมแก๊สโซฮอล์ E20 สร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรม เปิดเสรีเอทานอลบริสุทธิ์เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน พัฒนาสู่อุตสาหกรรมเคมีชีวภาพด้วยเศรษฐกิจโมเดล BCG และ ESG สนับสนุนการบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero
3. ลดการปลดปล่อยคาร์บอนในปัจจุบันด้วยแก๊สโซฮอล์ E20 พัฒนาเทคโนโลยี และเชื้อเพลิงใหม่ลดการปลดปล่อยคาร์บอนมากขึ้น และส่งเสริมตลาดสินค้าและพลังงานสะอาดด้วย Carbon tax
ทั้งนี้ ตามข้อเสนอ ส.อ.ท. จะช่วยสร้างรายได้แก่ เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย และมันสำปะหลังกว่า 170,000 ล้านบาทต่อปี กระจายรายได้สู่เกษตรกร 1.2 ล้านครัวเรือน สร้างอำนาจต่อรอง สินค้าเกษตร เป็น Hub ของมันสำปะหลังจากประเทศเพื่อนบ้าน ป้องกันการกดราคามันเส้นจากประเทศจีน พัฒนาประสิทธิภาพการเกษตรต้นน้ำ ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต (Yield) ต่อไร่ ใช้เทคโนโลยีในการเพาะปลูก เก็บเกี่ยว บริหารจัดการวัตถุดิบ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนเชื้อเพลิงเอทานอล และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องในอนาคต
รวมถึงสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ โดยการใช้แก๊สโซฮอล์ E20 ที่ผลิตเองในประเทศ เป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐาน ช่วยลดการนำเข้าน้ำมันดิบ 10,493 ล้านลิตร/ปี รวมทั้งสร้างรายได้ต่อห่วงโซ่อุตสาหกรรม 56,000 ล้านบาท/ปี (กรมธุรกิจพลังงาน) ส่งเสริมการพัฒนาของอุตสาหกรรมเอทานอลด้วยเศรษฐกิจโมเดล BCG
โดยปัจจุบัน จะต้องสร้างตลาดเชื้อเพลิงไว้รองรับ สร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมเอทานอลด้วยแก๊สโซฮอล์ E20 เพื่อให้อุตสาหกรรมอยู่รอด เติบโต ก่อนเปลี่ยนผ่าน ไปสู่อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงด้วยเศรษฐกิจโมเดล BCG
สำหรับระยะเร่งด่วน โดยเปิดเสรีตลาดเอทานอลบริสุทธิ์ เพื่อให้อุตสาหกรรมเอทานอลเชื้อเพลิง ขยายไปสู่อุตสาหกรรมมูลค่าสูง ที่สามารถทำได้ทันที เช่น อุตสาหกรรมยา และเวชภัณฑ์ สารสกัดสมุนไพร เครื่องสำอาง อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เป็นต้น
ในขณะที่อนาคต สามารถพัฒนาสู่อุตสาหกรรมเคมีชีวภาพใหม่ในระยะ 5 – 7 ปี เร่งพัฒนา และเตรียมความพร้อมทั้งในด้านความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเอทานอล เทคโนโลยีการผลิต มาตรฐานความยั่งยืน ตามแนวทาง ESG
ทั้งนี้ หากไม่สร้างความเข้มแข็ง และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันตามข้อเสนออุตสาหกรรมเอทานอลจะมีโอกาสน้อยมากที่จะไปต่อจนถึงการพัฒนาสู่อุตสาหกรรมเคมีชีวภาพใหม่ได้ ลดการปลดปล่อยมลพิษ และคาร์บอน นำพาประเทศสู่ Carbon Neutrality และ Net Zero
โดยปัจจุบัน แก๊สโซฮอล์ E20 ลดการปลดปล่อย CO2 3.45 ล้านตัน ลดการปลดปล่อยได้มากกว่าการใช้ E10 0.89 ล้านตัน หรือเทียบเท่ากับการดูดซับของป่าโกงกาง 3.13 แสนไร่ต่อปี (ข้อมูล กรมธุรกิจพลังงาน)
โดยส่งเสริมการพัฒนาและการใช้เทคโนโลยี และเชื้อเพลิงสะอาดใหม่ๆ เช่น Hydrogen ประกาศใช้ Carbon Tax ในอัตราที่เหมาะสม สามารถส่งเสริมให้เกิดการพัฒนา และขยายตลาดของอุตสาหกรรมสีเขียว สนับสนุนแนวทาง ESG เช่น เชื้อเพลิงเอทานอล เอทานอลสำหรับอุตสาหกรรมยา และเวชภัณฑ์ สารสกัดสมุนไพร เครื่องสำอาง อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) และไบโอเอทิลีน (Bio Ethylene) เป็นต้น
Source : กรุงเทพธุรกิจ