บทความในสัปดาห์นี้ขอหยิบเอา 9 พันธุ์ไม้มาแนะนำให้รู้จักกัน ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ที่ต้องบอกว่า ปลูกได้ง่ายๆ เพียงใช้ต้นกล้า และยังให้ประโยชน์ต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ลำต้น ใบ และดอก สามารถปลูกภายในบ้านได้เพื่อให้ร่มเงา เป็นพันธุ์ไม้ที่ได้รับความนิยม หาซื้อต้นกล้าได้ง่าย และที่สำคัญตอนนี้ทาง ศูนย์เพาะชำกล้าไม้กรุงเทพฯ ส่วนผลิตกล้าไม้ สำนักส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้ มีแจกต้นกล้าฟรีด้วย ไปดูหน้าตา และทำความรู้จักพันธุ์ไม้ทั้งหมดกันได้เลย
1. พะยูง
พะยูง เป็นต้นไม้เนื้อแข็งที่เนื้อไม้มีลวดลายสวยงามชนิดหนึ่ง จัดเป็นไม้เศรษฐกิจที่มีราคาสูงอย่างหนึ่งและมีความเชื่อว่าเป็นไม้มงคล มีชื่อพื้นเมืองอื่น ๆ อีกคือ ขะยุง, พยุง, แดงจีน และประดู่เสน พะยูงเป็นไม้ต้น ผลัดใบ สูง 15–25 เมตร เปลือกสีเทาเรียบ ใบเป็นช่อแบบขนนกปลายใบเดี่ยว เรียงสลับ ใบย่อยเรียงสลับจำนวน 7–9 ใบ ขนาดกว้าง 3–4 เซนติเมตร ยาว 4–7 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ผิวใบด้านบนสีเขียวเข้ม ท้องใบสีจาง ดอก ขนาดเล็กสีขาว กลิ่นหอมอ่อน ออกรวมกันเป็นช่อตามง่ามใบ และตามปลายกิ่ง ผล เป็นฝักรูปขอบขนานแบน พะยูงเป็นพันธุ์ไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลจังหวัดหนองบัวลำภู ต้นไม้ชนิดนี้เป็นต้นไม้ชนิดที่มีไม้เนื้อแข็งมีราคา พบในกัมพูชา, ลาว, ไทย และเวียดนาม ใน ค.ศ. 2022 มีการเลื่อนสถานะไปเป็นเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ โดยมีสาเหตุจากการลักลอบตัดไม้และนำเข้าหรือส่งออกอย่างผิดกฎหมาย นักอนุรักษ์คาดการณ์ว่าต้นไม้ชนิดนี้จะสูญพันธุ์ภายใน 10 ปี
2. พะยอม
พะยอม เป็นไม้ยืนต้นประเภทพืชใบเลี้ยงคู่ชนิดหนึ่งที่อยู่ในวงศ์ Dipterocarpaceae พบได้ใน กัมพูชา, อินเดีย, ลาว, มาเลเซีย, พม่า, ไทย และเวียดนาม มีลักษณะใบที่เรียงสลับกัน ดอกมีสีขาว กลิ่นหอม นิยมนำเนื้อไม้ไปใช้ในการก่อสร้าง ลักษณะคล้ายกับต้นตะเคียน พะยอมมีชื่อพื้นเมืองอื่น ๆ อีก คือ กะยอม (เชียงใหม่) ชะยอม (ลาว) กะยอม (อีสาน) ขะยอมดง พะยอมดง (ภาคเหนือ) แคน (ร้อยเอ็ด) เชียง เชี่ยว (กะเหรี่ยง – เชียงใหม่) พะยอม (ภาคกลาง) พะยอมทอง (สุราษฎร์ธานี, ปราจีนบุรี) ยางหยวก (น่าน) พะยอมเป็นไม้ต้นสูง 15–30 เมตร เปลือกสีเทาเข้มแตกเป็นร่อง ใบเดี่ยวออกสลับ รูปขอบขนานกว้าง 3.5–6.5 เซนติเมตร ยาว 8–15 เซนติเมตร ปลายมนหรือเป็นติ่งสั้น ๆ โคนมน ขอบเป็นคลื่นผิวเกลี้ยงเป็นมัน ดอกสีขาว กลิ่นหอมจัด ออกเป็นช่อใหญ่ตามกิ่งและปลายกิ่ง กลีบเลี้ยง 5 กลีบ โคนเชื่อมติดกัน กลีบดอก 5 กลีบ เรียงเวียนกันแบบกังหันเมื่อบานเส้นผ่าศูนย์กลาง 1–2 เซนติเมตร เกสรตัวผู้ 15 อัน ผลรูปรีกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงเจริญไปเป็นปลีกยาว 3 ปีกสั้น 2 ปีกคล้ายผลยาง
3. ยางนา
ยางนา เป็นไม้ยืนต้นเขตร้อน อาจมีความสูงถึง 40 เมตร ผลของมันต้องใช้แมลงผสมเกสร และออกผลระหว่างเดือนมีนาคมถึงเมษายน เมล็ดของมันกระจายไปตามลม เติบโตในขอบเขตระหว่างเบงกอลตะวันตกและบังกลาเทศผ่านพม่า ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม และในมาเลเซียตะวันตกกับฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ยังเป็นพืชพื้นเมืองของศรีลังกาและหมู่เกาะอันดามันด้วย มีชื่อพื้นเมืองอื่นๆ อีก คือ กาตีล (เขมร ปราจีนบุรี) ขะยาง (ชาวบน นครราชสีมา) จ้อง (กะเหรี่ยง) จะเตียล (เขมร) ชันนา (ชุมพร) ทองหลัก (ละว้า) ยาง (กลาง, ตะวันออกเฉียงเหนือ) ยางกุง (เลย) ยางขาว (กลาง, ลำปาง) ยางควาย (หนองคาย) ยางตัง (ชุมพร, ใต้) ยางเนิน (จันทบุรี) ยางแม่น้ำ (กลาง) ยางหยวก (กลาง, หนองคาย) ราลอย (ส่วย สุรินทร์) และ ลอยด์ (โซ่ นครพนม)
นอกจากนี้ ยางนายังเป็นพันธุ์ไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคล ประจำจังหวัดอุบลราชธานี ต้นยางนาขึ้นเป็นหมู่ในป่าดิบและตามที่ราบชุ่มชื้นใกล้แม่น้ำลำธารทั่วไป ที่สูงจากระดับน้ำทะเล 200 – 600 เมตร ออกดอกเดือนมีนาคม – พฤษภาคม เป็นผล เมษายน – มิถุนายน ขยายพันธุ์โดยเมล็ด ยางนาเป็นไม้หวงห้าม นิยมนำมาใช้ในการก่อสร้าง ไม้แปรรูปใช้ทำฝาบ้านเรือน ไม้อัด เครื่องเรือน เรือขุดและเรือขนาดย่อม คนอีสานใช้น้ำมันจากต้นยางทำขี้กะบอง (ขี้ใต้จุดไฟ) น้ำมันผสมกับชันใช้ทาไม้ เครื่องจักรสาน ยาเรือ
4. มะฮอกกานี
มะฮอกกานีที่พบในประเทศไทย มี 2 สปีชีส์ คือ มะฮอกกานีใบใหญ่ และมะฮอกกานีใบเล็ก แต่ส่วนมากเป็นมะฮอกกานีใบใหญ่ ต้น สูง 30-40 เมตร ลำต้นมีเส้นผ่านศูนย์กลางกว่า 3-4 เมตร ในสภาวะที่เหมาะสม สูงได้ถึง 60 เมตร และมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 9 เมตร ต้องการแสง สามารถอยู่ในที่ได้รับแสงบางเวลาได้เช่นกัน เช่น ในป่า
การขยายพันธุ์ เป็นพืชที่มีสองเพศในต้นเดียว ต้นตรง ทรงกระบอก มีรากพูพอนที่โคน เปลือกไม้ขรุขระ และหลุดล่อนเป็นชิ้นเล็ก มะฮอกกานีมีอายุได้มากกว่า 200 ปี เป็นที่อยู่ของสัตว์และแมลง มีโพรงเป็นที่อยู่อาศัยของนกเช่น นกทูแคน และนกมาคอว์ การออกดอกแต่ละมีมีเรณูและหวานสำหรับผีเสื้อ ผีเสื้อกลางคืน ผึ้ง นกมาคอว์และนกแก้ว กินผลแก่ได้หลายเดือนในฤดูฝน สัตว์ฟันแทะที่อาศัยอยู่ตามพื้นหลายชนิดรวมถึงปาคาสและคูเทียกินเมล็ดที่ตกบนพื้นในปลายฤดูแล้ง แมลงนักล่ามีหลายชนิด ผีเสื้อกลางคืน Steniscadia poliophaea มีวงจรชีวิตอยู่กับมะฮอกกานี การเจริญที่รวดเร็วแต่มีอายุขัยยาวนานทำให้ไม้เลื้อยมาอาศัยที่ให้ดอกและผลเป็นอาหารของให้สัตว์และแมลงต่างๆ
5. ตะเคียนทอง
ตะเคียน หรือ ตะเคียนทอง เป็นไม้ยืนต้นในวงศ์ไม้ตะเคียน สามารถพบในประเทศบังกลาเทศ, ประเทศกัมพูชา, ประเทศอินเดีย, ประเทศลาว, ประเทศมาเลเซีย, ประเทศพม่า, ประเทศไทย และประเทศเวียดนาม[1] ตะเคียนเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูง 20-40 เมตร ไม่ผลัดใบ เรือนยอดเป็นพุ่มทึบกลมหรือรูปเจดีย์ต่ำ เปลือกหนาสีน้ำตาลดำ แตกเป็นสะเก็ด กระพี้สีน้ำตาลอ่อน แก่นสีน้ำตาลแดง ใบรูปไข่แกมรูปหอก หรือรูปดาบ กว้าง 3-10 เซนติเมตร ยาว 6-14 เซนติเมตร เนื้อใบค่อนข้องหนา ปลายใบเรียว โคนใบบนป้านและเบี้ยว หลังใบที่ตุ่มเกลี้ยง ๆ อยู่ตามง่ามแขนงใบ เส้นแขนงใบมี 9-13 คู่ ปลายโค้ง แต่ไม่จรดกัน ดอกเล็ก ออกเป็นช่อยาว สีขาว ตามง่ามใบและปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงและกลีบดอกอย่างละ 5 กลีบ โดยเชื่อมติดกัน มีกลิ่นหอม ผล กลม หรือรูปไข่เกลี้ยง ปลายมน เป็นติ่งคล้ายหนามแหลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.6 เซนติเมตร ยาว 1 เซนติเมตร ปีกยาว 1 คู่ รูปใบพาย ตะเคียนมีการกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติทางตอนใต้ และตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเชีย ในแถบประเทศไทย พม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย บังกลาเทศ และอินเดีย พบในป่าดิบชื้น
ไม้ตะเคียน จัดเป็นไม้ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของประเทศ เพราะเนื้อไม้มีความทนทาน ทนปลวกดี เลื่อย ไสกบ ตกแต่งและชักเงาได้ดีมาก นิยมใช้ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือ เฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน เครื่องเรือน หน้าต่าง วงกบประตู ทำพื้นกระดาน ฝ้าหลังคา รั้วไม้ หีบใส่ของ ด้ามเครื่องมือกสิกรรมต่างๆ พานท้ายและรางปืน หรือใช้ทำสะพาน ต่อเรือ ทำเรือมาด เรือขุด เรือแคนู เสาโป๊ะ กระโดงเรือ ทำรถลาก ทำหมอนรองรางรถไฟ ตัวถังรถ กังหันน้ำ เกวียน หูกทอผ้า ทำไม้ฟืน ฯลฯ ไม้ชนิดนี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในงานไม้ได้ทุกอย่างที่ต้องการความแข็งแรงทนทาน เหนียวและเด้ง
6. แดง
แดง เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ สูงได้ถึง 30 เมตร (สูงสุด 37 เมตร) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (Fabaceae) เป็นไม้ที่ชอบขึ้นในป่าเต็งรัง, ป่าเบญจพรรณ และป่าสัก กระจายพันธุ์ในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยขึ้นได้ทั่วทุกภาค ลำต้นค่อนข้างเปล่า ตรง หรือเป็นปุ่มปม เรือนยอดรูปทรงกลม หรือเก้งก้าง ไม่ค่อยแน่นอน สีเขียวอมแดง เปลือกเรียบสีเทาอมแดง ตกสะเก็ดออกเป็นแผ่นกลมบาง ๆ รอบลำต้น เมื่อสับเปลือกทิ้งไว้จะได้ชันสีแดง ยอดอ่อนมีขนสีเหลืองปกคลุม ใบเป็นช่อแบบขนนกสองชั้น แดง เป็นไม้ที่ใช้ประโยชน์ ด้วยการใช้เนื้อไม้ในเชิงอุตสาหกรรมป่าไม้ ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ต่าง ๆ เนื้อไมีสีแดงเรื่อ ๆ หรือสีน้ำตาลอมแดง เสี้ยนเป็นลูกคลื่น หรือมักสน เนื้อละเอียดพอประมาณ มีความแข็งแรง มีความถ่วงจำเพาะประมาณ 1.18 ดอก เปลือกและแก่นใช้บำรุงหัวใจ แก้ไข้ แก้ช้ำใน
7. ประดู่ป่า
ประดู่ป่า เป็นไม้ผลัดใบขนาดใหญ่ชนิดหนึ่งในสกุล Pterocarpus วงศ์ Leguminosae ประดู่ชนิดนี้เป็นพรรณไม้พื้นเมืองในอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือ, พม่า, ลาว และเวียดนาม และเป็นพรรณไม้พื้นบ้านดั้งเดิมของไทย ในไทยพบตามป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรังในทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ (ประดู่บ้านจะพบในป่าเบญจพรรณทางภาคใต้ด้วย) โดยขึ้นในที่สูงจากระดับน้ำทะเล 100-600 เมตร ส่วนในพม่าพบขึ้นอยู่ตามพื้นที่ราบหรือเนินสูงต่ำ และพบขึ้นในที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 750 เมตร
ประดู่มีเนื้อไม้สีแดงอมเหลือง เสี้ยนสนเป็นริ้ว เนื้อละเอียดปานกลาง มีลวดลายสวยงาม ใช้ทำเสา พื้นต่อเรือ เครื่องเรือน เครื่องดนตรี แก่นสีแดงคล้ำใช้ย้อมผ้า และเปลือกให้น้ำฝาดใช้ฟอกหนัง ประดู่เป็นพันธุ์ไม้ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลประจำจังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2537 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นอกจากนี้ยังเป็นต้นไม้และดอกไม้ประจำจังหวัดชลบุรีและจังหวัดระยอง
8. มะค่าโมง
มะค่า เป็นชื่อของไม้เนื้อแข็งยืนต้นที่มีขนาดใหญ่ชนิดหนึ่งที่สามารถปลูกเป็นไม้ทางเศรษฐกิจได้ เป็นต้นไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดสุโขทัย ผลัดใบช่วงสั้น ๆ สูงได้ถึง 30 เมตร แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มกว้าง เปลือกต้นสีเทาอ่อน หรือสีชมพูอมน้ำตาล ผิวต้นขรุขระ กิ่งอ่อนมีขนประปราย ต้นแก่มักมีปุ่มปม
เนื้อไม้มีลวดลายสวยงามสีน้ำตาลอมเหลือง ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว ปลายใบคู่ ออกเรียงสลับ ใบกว้าง 4-5 เซนติเมตร ยาว 5-9 เซนติเมตร ผิวเปลือกเรียบไม่มีหนาม เปลือกแข็งหนาเป็นเนื้อไม้ ปลายเป็นจะงอยสั้น ๆ ฝักแก่สีน้ำตาลเข้มเกือบดำ พอแห้งแตกออกเป็น 2 ซีก มีเมล็ดแข็ง มี 2-4 เมล็ด รูปรี ยาว 2.5-3 ซม. สีดำ ผิวมัน มีเนื้อหุ้มที่โคนเมล็ดสีเหลืองสด หุ้มเป็นรูปถ้วย ยาวประมาณ 1.5 ซม. พบตามป่าดิบแล้ง แนวเชื่อมต่อระหว่างป่าเต็งรังและป่าดิบแล้ง ตามริมลำธารในป่าเบญจพรรณชื้น ออกดอกราวเดือนกุมภา
9. ชมพูพันธุ์ทิพย์
ชมพูพันธุ์ทิพย์ เป็นพืชในวงศ์แคหางค่าง (Bignoniaceae) มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ตั้งแต่ประเทศเม็กซิโก ไปจนถึงประเทศเวเนซุเอลา และประเทศเอกวาดอร์ เป็นต้นไม้ประจำชาติประเทศเอลซัลวาดอร์ หม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ บริพัตรเป็นผู้นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยเมื่อ ค.ศ. 1957 (พ.ศ. 2500) ชมพูพันธุ์ทิพย์เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ ขนาดกลางถึงใหญ่ เรือนยอดรูปไข่หรือทรงกลม แผ่กว้างเป็นชั้น ๆ เปลือกต้นเรียบสีเทาหรือสีน้ำตาล เมื่ออายุมากเปลือกแตกเป็นร่อง กิ่งเปราะหักง่าย ใบเป็นใบประกอบรูปนิ้วมือ ใบย่อย 5 ใบ ก้านใบรวมยาว 5-30 เซนติเมตร ก้านใบย่อยยาว 0.5-2.5 เซนติเมตร ใบรูปขอบขนานหรือรูปไข่แกมรูปรี กว้าง 3-7 เซนติเมตร ยาว 7.5-16 เซนติเมตร ปลายใบแหลมหรือเรียวแหลม โคนใบมนหรือสอบ ขอบใบเรียบ แผ่นใบหนาสีเขียวเข้ม ดอกมีสีชมพูอ่อน ชมพูสดถึงสีขาว กลางดอกสีเหลือง ออกเป็นช่อแบบช่อกระจุกที่ปลายกิ่ง มีดอกย่อยจำนวนมาก
ชมพูพันธุ์ทิพย์นิยมปลูกเป็นไม้ประดับเนื่องจากมีสีดอกที่สวยงาม ใบต้มแก้เจ็บท้องหรือท้องเสีย หรือตำให้ละเอียดพอกใส่แผล ลำต้นใช้ทำฟืนและเยื่อใช้ทำกระดาษได้ ในประเทศไทยมีปลูกเป็นจำนวนมากที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ในช่วงต้นปีตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมีนาคม ชมพูพันธุ์ทิพย์ที่ปลูกที่นั่นประมาณ 600 ต้นจะบานสะพรั่งเป็นสีชมพูงดงาม และได้มีการจัดเป็นงานเทศกาลท่องเที่ยวประจำทุกปี
ทั้งหมดนี้ก็เป็น 9 พันธุ์ใหม่ ที่ปลูกแล้วนอกจากจะมีประโยชน์มากมาย ให้ร่มเหงาได้แล้ว ยังช่วยลดโรคร้อนได้อีกด้วย ซึ่งใครที่สนใจก็สามารถหาซื้อมาปลูกได้ เป็นต้นไม้ที่มีกล้าไม่จำหน่าย หรือสามารถขอรับต้นกล้าฟรี ได้ที่ ศูนย์เพาะชำกล้าไม้กรุงเทพฯ ส่วนผลิตกล้าไม้ สำนักส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้ ในวันและเวลาราชการ เริ่มวันแรก 20 มิถุนายน 2567 นี้ จนกว่ากล้าไม้จะหมด เตรียมพื้นที่ เตรียมที่ดินให้พร้อมได้เลย ลดโลกร้อนด้วยกัน ซึ่งไม่ได้มีแค่ 9 พันธุ์ไม้ที่แนะนำนี้เท่านั้นยังมีพันธุ์ไม้อื่นๆ ด้วย อาทิเช่น เสลา สะเดา มะขามกระดาน กัลปพฤกษ์ ทองอุไร ทรงบาดาล เหลืองเชียงราย เหลืองปรีดียาธร และ หว้าลูกใหญ่ หลักฐานที่ใช้ในการรับกล้าไม้ฟรี ตามรายละเอียดตามภาพด้านล่างนี้
Source : Wikipedia