จักรี พิศาลพฤกษ์ เจ้าหน้าที่วิจัยอาวุโส บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด (KASIKORN Research Center Company Limited หรือ KResearch) เผยแพร่ข้อมูลวิเคราะห์ เกี่ยวกับ กรณีการขับเคลื่อน ร่าง พ.ร.บ. การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ที่คาดว่าจะประกาศใช้ได้ในช่วงปลายปี 2568 เพื่อให้บังคับใช้กับรถไฟฟ้า BTS และ MRT ในทุกสาย
โดยระบุว่า คาดว่าจะมีผลดี ด้านความยั่งยืน นอกเหนือจากการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน และลดปริมาณ PM2.5 เหมือนครั้งการให้บริการฟรีในช่วงก่อนหน้านี้
ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จะลดการปล่อย CO2 ต่อคน ได้มากกว่าการสนับสนุนการใช้รถยนต์ 3-5 เท่า และมากกว่ารถเมล์ดีเซลประมาณ 2 เท่า ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญในการลดการปล่อย CO2 ของภาคการขนส่งของไทย จากการช่วยลดจำนวน รถยนต์บนถนน และลดการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล
อย่างไรก็ดี นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย อาจต้องมีการดำเนินการด้านอื่นๆ เพื่อผลักดันภาคการขนส่งให้สามารถก้าวสู่ความยั่งยืนได้เพิ่มเติม เช่น เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าที่มาจากพลังงานหมุนเวียน การเพิ่มประสิทธิภาพการเดินรถเพื่อรองรับและกระตุ้นปริมาณคนใช้งาน รวมถึงภาครัฐต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการเดินทางต่อเนื่อง เช่น จุดเชื่อมต่อรถเมล์ไฟฟ้า การเช่าจักรยาน เพื่อทำให้คนไม่ต้องพึ่งรถยนต์ส่วนตัว เป็นต้น

พ.ร.บ. ระบบตั๋วร่วม
คาดการณ์ Timeline การบังคับใช้ พ.ร.บ. การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม
- มกราคม 2568 : สภาผู้แทนราษฎรรับหลักการ ร่างพระราชบัญญัติในวาระแรก
- กลางปี 2568 : ร่างพระราชบัญญัติประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้
- กันยายน 2568 : ประกาศใช้กฎหมายลําดับรอง และเริมนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ทุกสีทุกสาย
ความยั่งยืนการขนส่งระยะยาว
แนวทางการดําเนินการเพื่อสนับสนุนความยั่งยืนการขนส่งระยะยาว
- เพิ่มสัดส่วนไฟฟ้าพลังงานสะอาด
- เพิ่มประสิทธิภาพและจํานวนรอบรถสาธารณะให้ครอบคลุม
- พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน จุดรองรับการเดินทางต่อเนื่อง
ที่มา : Kasikornresearch
Source : กรุงเทพธุรกิจ