เกษตรฯ ลุยต่อแผนปฏิบัติการรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับใหม่ 2566-2570 เตรียมประกาศใช้ปลายปีนี้ ยก5 แนวทางพัฒนาสร้างสมรรถนะ ภูมิคุ้มกันให้ภาคการเกษตรไทย

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ว่า จากการที่ยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตร พ.ศ. 2560 – 2565 ได้สิ้นสุดลง ประกอบกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น

เกษตร เคาะแผนรับมือโลกร้อนฉบับใหม่ ประกาศใช้ปลายปีนี้

เกษตร เคาะแผนรับมือโลกร้อนฉบับใหม่ ประกาศใช้ปลายปีนี้

กระทรวงเกษตรฯ ตระหนักถึงความสำคัญ จึงมอบหมายให้ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตร โดยมีนายพีรพันธ์ คอทอง รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการฯ ฉบับใหม่ขึ้น

 สศก. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน ได้ยกร่างแผนปฏิบัติการด้านการเกษตรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2566 – 2570ขึ้น โดยการสนับสนุนของโครงการ Support Programme on Scaling up Climate Ambition on Land Use and Agriculture through NDCs and NAPs ซึ่งแผนปฏิบัติการฯ มีวิสัยทัศน์ “ภาคเกษตรไทยมีสมรรถนะและภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บนพื้นฐานของสารสนเทศและสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย” 

ประกอบด้วยประเด็นการพัฒนา 5 แนวทาง ได้แก่ แนวทางที่ 1 ยกระดับขีดความสามารถในการปรับตัวของเกษตรกรและภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตรแนวทางที่ 2 มีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตรเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว

แนวทางที่ 3พัฒนาฐานข้อมูล องค์ความรู้ และสนับสนุนการสร้างความตระหนักรู้ถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความสำคัญในการปรับตัวและการมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแนวทางที่ 4 พัฒนาศักยภาพกำลังคนในภาคเกษตรและส่งเสริมความร่วมมือของภาคีเครือข่ายเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในทุกภาคส่วนและทุกระดับ และแนวทางที่5 ผลักดันและขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นางสาวกาญจนา ขวัญเมือง รองเลขาธิการสศก.  กล่าวว่า  5 แนวทางการพัฒนา ได้กำหนดกิจกรรมให้ครอบคลุม  เช่น แนวทางที่ 1 ยกระดับการปรับตัวด้วยเกษตรเท่าทันภูมิอากาศ เช่น การปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง การทำประกันภัยผลผลิต การทำเกษตรผสมผสาน เพิ่มการยอมรับและปรับใช้เทคโนโลยีตลอดห่วงโซ่อุปทานของสินค้าเกษตร เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน ความเพียงพอและการเข้าถึงแหล่งน้ำ และระบบนิเวศ

แนวทางที่ 2 สนับสนุนการผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและคาร์บอนต่ำที่สอดคล้องกับNDCและLong-term Strategies (LTS)สนับสนุนด้านการตลาดสินค้าเกษตรคาร์บอนต่ำ แนวทางที่ 3 พัฒนาระบบการบริหารจัดการทรัพยากรและความเสี่ยงให้มีประสิทธิภาพเพิ่มองค์ความรู้และงานวิจัย พัฒนาฐานข้อมูลและถ่ายทอดองค์ความรู้

แนวทางที่ 4 สร้างความตระหนักรู้ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เสริมสร้างสมรรถนะของบุคลากรที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ การUpskillและReskillเกษตรกรให้มีความรู้และได้ทดลองฝึกปฏิบัติจริงเกี่ยวกับวิธีการปรับตัวที่เหมาะสม รวมทั้งพัฒนาและจัดหานักวิจัยรุ่นใหม่ 

และแนวทางที่ 5 ยกระดับการบูรณาการกับหน่วยงานทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เช่น พัฒนาหลักสูตรด้านClimate Changeที่ทันสมัยมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อ และการสนับสนุนทางด้านการเงิน ส่งเสริมและสนับสนุนการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในภาคเกษตร ส่งเสริมให้หน่วยงานระดับกรมในกระทรวงเกษตรฯ จัดทำแผนรองรับClimate changeของตนเอง ตลอดจนปรับปรุงและพัฒนากฎระเบียบ กฎหมาย แรงจูงใจ และสิ่งแวดล้อม เพื่อปรับพฤติกรรม เช่น จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ในระดับภูมิภาค หรือ จังหวัด ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร การนำมาตรการทางเศรษฐศาสตร์และการเงินมาใช้เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านการปรับตัวและลดการปล่อยGHGในภาคเกษตร เป็นต้น

หลังจากนี้ สศก. จะนำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ภายในปีงบประมาณ 2566 ก่อนเสนอคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ เพื่อรับทราบจากนั้น จะประกาศใช้ภายในปี 2566 

อย่างไรก็ดี แผนปฏิบัติการฯ ฉบับนี้มีความสำคัญต่อการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของภาคเกษตร เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่มีการกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อสนับสนุนเป้าหมายNDCsของประเทศตามที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศเจตนารมณ์ระหว่างการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ว่าประเทศไทยจะยกระดับเป้าหมายNDCsจากเดิม 20-25% เป็น30-40% ในปี ค.ศ. 2030 

Source : กรุงเทพธุรกิจ

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 ที่ผ่านมา มีรายงานพบ “ภัยธรรมชาติ” เกิดขึ้นบนโลกบ่อยขึ้น ซึ่งสาเหตุหลักๆ แน่นอนว่าเป็นผลกระทบที่เชื่อมโยงกับ “ภาวะโลกร้อน” ซึ่งเกิดจากฝีมือมนุษย์

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีรายงานผลกระทบจากภาวะโลกร้อนให้เห็นบ่อยขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น สัตว์ทะเลหลายชนิดตายปริศนา, สัตว์ป่าบางชนิดใกล้สูญพันธุ์เนื่องจากที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติถูกทำลาย, กระแสน้ำกัลฟ์สตรีมอาจล่มสลายหายไป, หิมะขั้วโลกอาจละลายเร็วกว่าที่คิด, สภาพอากาศแปรปรวน ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นผลพวงจาก “ภาวะโลกร้อน” ที่รุนแรงขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนให้มนุษย์รู้ว่า อีกไม่นาน “วันสิ้นโลก” อาจเกิดขึ้นจริงภายในไม่กี่ชั่วอายุคน ?

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” หรือ “Climate Change” คือ การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ และสภาพอากาศในระยะยาว เกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ แต่หลังจากนั้นตั้งแต่ประมาณปี ค.ศ.1800 การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้กลับเกิดบ่อยขึ้นด้วยฝีมือมนุษย์ ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลจำนวนมหาศาล เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ จนเกิดเป็น “ปรากฏการณ์เรือนกระจก” ที่มีลักษณะคล้ายโดมกระจกใสคลุมชั้นบรรยากาศโลกไว้ ความร้อนจากดวงอาทิตย์ระบายออกไม่ได้ ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเรื่อยๆ (ภาวะโลกร้อน) เมื่อโลกร้อนขึ้นอย่างผิดปกติ ก็ส่งผลต่อเนื่องให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เลวลง เกิดภัยแล้ง พายุรุนแรง น้ำท่วมหนัก และจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นในอนาคตอันใกล้

โดยผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่เห็นได้อย่างชัดเจน ได้แก่ การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของสัตว์โลก ความเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์ในมหาสมุทร สภาพอากาศแปรปรวนทั่วโลก จำนวนป่าไม้ที่ลดลง และอื่นๆ อีกมากมาย กรุงเทพธุรกิจขอหยิบยกเอาสัญญาณเตือนภัยจากธรรมชาติบางส่วน ที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 มาสรุปให้ดังนี้

  • ปัญหาสัตว์ป่าเสี่ยงสูญพันธุ์ และสัตว์ตายปริศนา

แม้จะมีสัตว์หลายชนิดทั่วโลกทยอยสูญพันธุ์ไปตามกาลเวลา และสภาพแวดล้อม แต่ปัจจุบันเริ่มพบปรากฏการณ์การสูญพันธุ์แบบผิดปกติเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แม้ว่าจะมีเทคโนโลยีมากมายที่อาจป้องกันการสูญพันธุ์ของพวกมันได้ แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถสู้กับปัญหาสภาพอากาศ และการถูกล่าจากมนุษย์ได้ โดยสัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์ล่าสุด ได้แก่

1. โลมาวากีตา (Vaquita) สัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กที่สุดในโลก มีขนาดประมาณ 1.2-1.5 เมตร ที่พบได้เฉพาะในอ่าวแคลิฟอร์เนียเท่านั้น จากข้อมูลของ The Guardian ล่าสุดระบุว่า พวกมันเหลืออยู่เพียง 10 ตัวเท่านั้น จากเดิม 567 ตัว ซึ่งคณะกรรมาธิการ ล่าวาฬระหว่างประเทศ หรือ International Whaling Commission (IWC) ออกประกาศแจ้งเตือนการสูญพันธุ์ของ “โลมาวากีตา” ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 70 ปี โดยปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากการทำประมงผิดกฎหมาย

2. ซาวลา หรือ วัวหวูกวาง (Vu Quang ox) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ค้นพบครั้งแรกเมื่อปี 1992 บริเวณพรมแดนระหว่างเวียดนามกับลาว ปัจจุบันแทบไม่มีใครพบเห็นอีกเลย ครั้งสุดท้ายที่มีการถ่ายภาพ “ซาวลา” ได้ก็คือปี 2013 ตามข้อมูลจาก IUCN พวกมันอาจเริ่มลดลงตั้งแต่มีการค้นพบแล้ว และยังมีความเสี่ยงสูญพันธุ์เพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดตัวใกล้เคียงกันในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ยังไม่มีเคยมีซาวลาในสวนสัตว์มาก่อน จึงคาดว่าสัตว์ชนิดนี้ไม่สามารถผสมพันธุ์เทียมเพื่อการอนุรักษ์ได้

3. แรดสุมาตรา หรือ กระซู่ (Sumatran rhino) ในอดีตการพบเจอ “แรดสุมาตรา” ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ เรื่องปกติ แต่จากปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า ส่งผลให้ที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของพวกมันเริ่มหายไป รวมถึงถูกฆ่าเพื่อเอานอไปขาย พวกมันจึงเหลืออยู่ไม่กี่ตัวบนเกาะสุมาตรา และบอร์เนียว โดยในมาเลเซียแรดสุมาตราตัวสุดท้ายตายไปเมื่อปี 2019 ส่วนในไทยมีรายงานพบเจอแรดสุมาตราเมื่อปี 1997 ก่อนที่จะไม่มีใครพบเจอพวกมันอีก

นอกจากนี้ยังมีสัตว์อีกหลายชนิดที่กำลังเสี่ยงต่อการ “สูญพันธุ์” ได้แก่ นกสเตรสแมนน์บริสเติลฟรอนต์(Strassmann Bristlefront), เสือดาวอามูร์ (Amur Leopard), หมาป่าแดง (Canis rufus) และ กอริลลาครอสริเวอร์ (Cross River gorilla) โดยสัตว์หลายชนิดต้องเจอกับปัญหาที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติถูกทำลาย

ไม่ใช่ปัญหาการสูญพันธุ์เท่านั้น แต่ยังมีสัตว์ที่ตายอย่างปริศนาด้วย โดยในช่วงสิ้นเดือนก.ค. ที่ผ่านมา พบว่า “เพนกวินมาเจลลัน” หรือ “Magellanic Penguins” กว่า 2,000 ตัว ถูกซัดมาเกยตื้นตายอยู่บริเวณชายหาดอุรุกวัย ในสภาพซูบผอมผิดปกติ จากการตรวจสอบพบว่าร้อยละ 90 ของเพนกวินเหล่านั้น ไม่มีไขมันสำรองในร่างกาย ไม่มีอาหารเหลืออยู่ในท้อง และยังมีอายุน้อย

ผู้เชี่ยวชาญมองว่าเป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก เพราะพายุไซโคลนที่เกิดขึ้นนอกชายฝั่งอุรุกวัย (คาดว่าพายุรุนแรงขึ้นจากภาวะโลกร้อน) ได้พัดเอาอาหารของพวกมันไปที่อื่น ทำให้อดอาหารจนอ่อนแอลงเรื่อยๆ และไม่ใช่แค่เพนกวินเท่านั้น แต่ในบริเวณนั้นยังมีซากนกทะเล ซากเต่า และซากสิงโตทะเลที่ร่างกายไร้อาหารในท้องรวมอยู่ด้วย

  • พื้นดินร้อนระอุ มหาสมุทรเดือด ไฟป่าลุกลาม น้ำแข็งขั้วโลกละลาย

เมื่อไม่นานมานี้องค์การสหประชาชาติ (UN) ระบุว่าภาวะโลกร้อนสิ้นสุดลงแล้ว และเข้าสู่ “ภาวะโลกเดือด” ซึ่งเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก โดยเดือนก.ค.2023 ที่ผ่านมาถูกบันทึกว่าเป็นเดือนก.ค. ที่ร้อนที่สุดในโลก และอาจร้อนสุดในรอบ 120,000 ปี

ภาวะโลกเดือดส่งผลกระทบไปทุกพื้นที่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาหาคลื่นความร้อนที่เป็นอันตรายถึงชีวิต ความถี่การเกิดไฟป่า และพายุที่มากขึ้น ไปจนถึงน้ำในมหาสมุทร

อีกหนึ่งปัญหาที่ตามมาจากภาวะโลกร้อนก็คือ “กระแสน้ำกัลฟ์สตรีม” หรือ “Gulf Stream” หนึ่งในกระแสน้ำหลักของโลกในมหาสมุทรแอตแลนติก อาจล่มสลายภายในปี 2050 หรือ 27 ปีหลังจากนี้ แต่ในกรณีเลวร้ายที่สุด นักวิชาการคาดการณ์ว่าอาจเกิดขึ้นภายในปี 2025 หรือ อีก 3 ปีข้างหน้า โดยจะทำให้เกิดหายนะต่อสภาพอากาศทั่วโลก และอาจทำให้โลกกลับไปสู่ “ยุคน้ำแข็ง

ภาวะโลกร้อนไม่ได้ส่งผลกระทบต่อพื้นดิน และอากาศเท่านั้น แต่ยังทำให้น้ำทะเลเดือดไปด้วย เพราะ “อุณหภูมิน้ำทะเล” ในมหาสมุทรทั่วโลกร้อนขึ้น จากเดิม 21 องศาเซลเซียส เมื่อปี 2016 กลายเป็น 21.1 – 21.2 องศาเซลเซียส ในปัจจุบัน (2023) ถือเป็นอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงสุดที่เคยมีการบันทึกมา

อีกหนึ่งปัญหาที่ร้ายแรงไม่แพ้กันก็คือ “น้ำแข็งขั้วโลกละลาย” มีข้อมูลจาก The Conversation ว่าในช่วง 43 ปีที่ผ่านมา น้ำแข็งบริเวณอาร์กติกมีอุณหภูมิสูงขึ้นเร็วกว่าส่วนอื่นๆ ของโลกกว่า 4 เท่า เฉลี่ยแล้วจะอุ่นขึ้นกว่าปี 1980 ประมาณ 3 องศาเซลเซียส เมื่ออุณหภูมิบริเวณดังกล่าวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้อุณหภูมิน้ำในมหาสมุทรเพิ่มขึ้นตามไปด้วย รวมถึงปัญหาน้ำแข็งละลายที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันตามมา และที่เลวร้ายที่สุดก็คือ น้ำแข็งขั้วโลกอาจจะหายไปตลอดกาล และอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตท้องถิ่น เช่น หมีขั้วโลก หรือ เพนกวิน เป็นต้น

ขณะที่จุดเสี่ยงอีกจุดที่เป็นผลกระทบจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นก็คือ “แผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์” ซึ่งเป็นมวลน้ำแข็งขนาดใหญ่ของซีกโลกเหนือ หากละลายจนหมดจะส่งผลให้น้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้นถึง 7.4 เมตร

นอกจากนี้ยังมี “ไฟป่า” ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็ว ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีไฟป่าเกิดขึ้นทั่วโลกจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเกินพอดีของมนุษย์โดยเฉพาะการ “ตัดไม้ทำลายป่า” ทำให้สภาพอากาศ และระบบนิเวศน์สูญเสียความสมดุล

ในปี 2020 มีเหตุการณ์ไฟป่าเกิดขึ้นในจุดที่ไม่เคยเกิดมาก่อน เช่น ป่าแอมะซอน (Amazon) และ ขั้วโลกเหนือ หรืออาร์กติก (Arctic) ในเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา เกิดไฟป่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 หากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปีก่อน จึงได้รับการบันทึกว่าเป็นปีที่เกิดไฟป่าสูงสุดที่เคยมีมา และเช่นเคย.. คาดว่าเกิดจากปัญหาโลกร้อน

ส่วนพื้นที่ป่าของแคนาดา ก็พบว่าเกิดปัญหาไฟป่า และน้ำท่วมฉับพลันหลังอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างรวดเร็วถึงประมาณ 10-15 องศาเซลเซียส ณ เดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ส่งผลให้อากาศไม่เป็นไปตามฤดูกาล

ล่าสุดเกิดเหตุการณ์ไฟป่าบนเกาะเมาวี รัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 89 ราย (12 ส.ค.) ถือว่ามากที่สุดในรอบกว่าร้อยปี มีพื้นที่ได้รับความเสียหายประมาณ 5,311 ไร่ หลายฝ่ายคาดว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดไฟป่าในครั้งนี้มาจากพายุเฮอริเคนนอกชายฝั่ง ที่มีลมกระโชกแรง 80 ไมล์ต่อชั่วโมง หนึ่งในผลพวงจาก “ภาวะโลกร้อน

สุดท้ายแล้วผลกระทบที่เชื่อมโยงมาจากภาวะโลกร้อนนั้น ล้วนแต่มีความร้ายแรงกว่าที่คาดคิด และจะยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ที่สำคัญปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เพราะหลายเหตุการณ์เกิดขึ้นเร็วกว่าที่ผู้เชี่ยวชาญเคยคาดการณ์เอาไว้มาก ถ้าหากมนุษย์ยังไม่รีบหันมาใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง “วันสิ้นโลก” อาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

อ้างอิงข้อมูล : The GuardianIUCNThe ConversationUNEuropean Scientist, และ BBC

Source : กรุงเทพธุรกิจ

สำนักข่าวซินหัวรายงานจากกรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ เมื่อวันที่ 11 ก.ย. ว่า ผลการศึกษาจากคณะนักวิจัยของฟินแลนด์ เดนมาร์ก และอเมริกา ซึ่งเผยแพร่ร่วมกัน ผ่านวารสารวิทยาศาสตร์เนเจอร์ ไคลเมต เชนจ์ ( Nature Climate Change ) ระบุว่า การละลายของแผ่นน้ำแข็งในกรีนแลนด์ภายใต้อุณหภูมิปัจจุบัน จะทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 27 เซนติเมตร หรือเกือบหนึ่งไม้บรรทัด

คณะนักวิจัยนำโดย ศ.อาลัน ฮับบาร์ด จากหน่วยวิจัยภูมิศาสตร์กายภาพ มหาวิทยาลัยโอลู ในฟินแลนด์ อธิบายว่า แผ่นน้ำแข็งในกรีนแลนด์เกิดความไม่สมดุล ตามสภาพอากาศของอาร์กติกหรือขั้วโลกเหนือ โดยแผ่นน้ำแข็งอย่างน้อย 59,000 ตารางกิโลเมตรของทั้งหมดจะละลายอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งถือว่ามีขนาดใหญ่กว่าประเทศเดนมาร์ก

คณะนักวิจัยใช้การวัดสภาพอากาศของภูมิภาคอาร์กติก ระหว่างปี 2543-2562 รวมกับข้อมูลจากดาวเทียมและธรณีฟิสิกส์น้ำแข็ง ตรวจสอบความไม่สมดุลของแผ่นน้ำแข็งในกรีนแลนด์ได้อย่างแม่นยำ

“การศึกษานี้เป็นเรื่องใหม่มาก อาศัยการวัดจริงจากกรีนแลนด์ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา รวมกับทฤษฎีวิเคราะห์อันเป็นที่ยอมรับ” ศ.ฮับบาร์ด กล่าว พร้อมทั้งเสริมว่า คณะนักวิจัยสามารถตรวจสอบการมีส่วนเพิ่มระดับน้ำทะเลทั่วโลกของกรีนแลนด์ที่น่าเชื่อถือได้

นอกจากนั้น ผลการศึกษาดังกล่าวยังเปิดเผยด้วยว่า หากทุกปีมีอากาศอุ่นเหมือนปี 2555, 2559 หรือ 2562 ซึ่งเป็นปีที่กรีนแลนด์เผชิญคลื่นอากาศร้อน การละลายของแผ่นน้ำแข็งในกรีนแลนด์จะเพิ่มระดับน้ำทะเลทั่วโลกเกือบ 1 เมตร

“นั่นจะเป็นมหันตภัยใหญ่หลวงสำหรับภูมิภาคชายฝั่งที่ราบลุ่มต่ำกว่าระดับน้ำทะเลทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันภูมิภาคเหล่านั้นจำนวนไม่น้อยเกิดน้ำหลากท่วม จากเฮอริเคนและคลื่นพายุซัดฝั่ง ( storm surge ) บ่อยครั้งแล้ว” ศ.ฮับบาร์ด กล่าวทิ้งท้าย.

Source : เดลินวส์ ออนไลน์