บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 4/2565 โดยมีกำไรจากการดำเนินงาน (Core Profit) เท่ากับ 3,593 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 865 ล้านบาท หรือ 32% จากไตรมาส 4/2564 โดยสาเหตุหลักมาจากการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโครงการโรงไฟฟ้า GSRC หน่วยที่ 3 และ 4 รวมกำลังการผลิตไฟฟ้า 1,325 เมกะวัตต์ ที่เปิดดำเนินการในเดือนมีนาคม และตุลาคม 2565 ส่งผลให้หน่วยผลิตไฟฟ้าทั้ง 4 หน่วยได้เปิดดำเนินการครบตามกำหนดเป็นที่เรียบร้อย และยังรับรู้ส่วนแบ่งกำไร Core Profit จาก INTUCH จำนวน 1,085 ล้านบาท ในไตรมาส 4/2565 นอกจากนี้ ในเดือนธันวาคม 2565 GULF ได้มีการจำหน่ายหุ้น 50.01% ใน BKR2 Holding ซึ่งเป็นบริษัทที่ถือหุ้นในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม BKR2 ที่ประเทศเยอรมนี ให้แก่ Keppel Group ส่งผลให้มีกำไรจากการขาย จำนวน 381 ล้านบาท โดยกำไรสุทธิ (Net Profit) ในไตรมาส 4/2565 เท่ากับ 5,406 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 78% จาก 3,043 ล้านบาทในไตรมาส 4/2564​ ​ในปี 2565 GULF มีรายได้รวม (Total Revenue) เท่ากับ 101,397 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 92% จาก 52,870 ล้านบาทในปี 2564 และมี Core Profit เท่ากับ 12,098 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37% จาก 8,812 ล้านบาทในปีก่อน

โดยปัจจัยหลักมาจากการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโครงการโรงไฟฟ้า GSRC หน่วยที่ 3 และ 4 (รวม 1,325 เมกะวัตต์) ที่เปิดดำเนินการในเดือนมีนาคม และตุลาคม 2565 และโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ DIPWP ที่ประเทศโอมาน ที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้น 155 เมกะวัตต์ รวมเป็น 195 เมกะวัตต์ อีกทั้งยังรับรู้ผลการดำเนินงานของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในทะเล BKR2 ที่ประเทศเยอรมนี ที่เพิ่มขึ้นจากราคาขายไฟฟ้าเฉลี่ยที่สูงขึ้นจาก 184 ยูโร/เมกะวัตต์ชั่วโมง เป็น 352 ยูโร/เมกะวัตต์ชั่วโมงในไตรมาส 3/2565 และจากความเร็วลมเฉลี่ยที่ดีขึ้นจาก 8.5 เมตร/วินาทีในปี 2564 เป็น 9.1 เมตร/วินาทีในปี 2565 นอกจากนี้ ในปี 2565 GULF ยังรับรู้ส่วนแบ่งกำไร Core Profit จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม 3 โครงการ ภายใต้กลุ่ม Gulf Gunkul Corporation ที่เข้าลงทุนในเดือนกรกฎาคม 2565 จำนวน 324 ล้านบาท รวมถึงรับรู้ส่วนแบ่งกำไร Core Profit จาก INTUCH และกำไรจากการซื้อ THCOM รวมทั้งสิ้น 4,656 ล้านบาท

ในส่วนของอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) ในปีนี้ เท่ากับ 20.6% ลดลงจาก 27.6% ในปี 2564 โดยปัจจัยหลักมาจากต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จาก 266.02 บาท/ล้านบีทียู ในปี 2564 เป็น 494.78 บาท/ล้านบีทียู ในปี 2565 หรือเพิ่มขึ้น 86% ในขณะที่ค่า Ft เฉลี่ยเพิ่มขึ้นเพียง 0.5518 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง จาก -0.1532 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมงในปี 2564 เป็นเฉลี่ยที่ 0.3986 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมงในปี 2565 อย่างไรก็ดี เนื่องจาก GULF มีสัดส่วนการขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถึง 86% ซึ่งต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติจะถูกส่งผ่าน (pass through) ในรูปของรายได้ค่าไฟฟ้าไปยัง กฟผ. ในขณะที่มีสัดส่วนการขายไฟฟ้าให้ลูกค้าอุตสาหกรรมเพียงแค่ 14% จึงได้รับผลกระทบอย่างจำกัดจากราคาค่าก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้น

กำไรสุทธิ (Net Profit) ส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ในปี 2565 (รวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน) เท่ากับ 11,418 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการที่ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงจาก 33.59 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2564 เป็น 34.73 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2565 ซึ่งผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าว เป็นเพียงการบันทึกรายการทางบัญชี และไม่มีผลกระทบต่อกระแสเงินสดและผลประกอบการของ GULF แต่อย่างใด

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 GULF มีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Net Interest-Bearing Debt to Equity) อยู่ที่ 1.56 เท่า ลดลงจาก 1.77 เท่า ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 เนื่องจากผลประกอบการที่ดีขึ้นในปีนี้ ซึ่งได้สะท้อนอยู่ในส่วนของผู้ถือหุ้น นอกจากนี้ ในเดือนธันวาคม 2565 GULF ยังได้รับเงินจากการขายเงินลงทุนใน BKR2 Holding จำนวน 305 ล้านยูโร

นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน GULF เปิดเผยว่า สำหรับปี 2566 คาดว่ารายได้รวมจะเติบโตประมาณ 50% จากโครงการที่จะทยอยเปิดดำเนินการในปี 2566 โดยหลักจะมาจากโครงการโรงไฟฟ้า IPP โครงการที่ 2 ภายใต้ IPD ได้แก่ โครงการ GPD หน่วยที่ 1 และ 2 (รวม 1,325 เมกะวัตต์) รวมถึงโครงการโรงไฟฟ้า Jackson Generation ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา (1,200 เมกะวัตต์) โดยหลังจากนี้ GULF จะเน้นลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Greenhouse Gas Emissions) โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนจากปัจจุบัน 9% เป็น 40% ภายใน 10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะมาจากการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าเขื่อน โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในประเทศ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) และการเข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ ยุโรป อเมริกา สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าเขื่อนปากแบง (Pak Beng) และเขื่อนปากลาย (Pak Lay) นั้น คาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. ภายในไตรมาส 1/2566

นางสาวยุพาพิน กล่าวเพิ่มว่า สำหรับธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยที่ร่วมลงทุนกับ Binance นั้น ได้ยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ และนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ กับทาง กลต. เรียบร้อยแล้ว โดยคาดว่าจะได้รับใบอนุญาตภายในไตรมาส 1/2566 และสำหรับธุรกิจศูนย์ข้อมูล (Data Center) ที่ GULF ร่วมลงทุนกับ Singtel และ AIS นั้น คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในกลางปีนี้ และคาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในปี 2568 นอกจากนี้ GULF ยังอยู่ระหว่างการศึกษาธุรกิจ Virtual Banking เพื่อเป็นการต่อยอดธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลด้วย ในเดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา GULF ได้เข้าซื้อหุ้น 41.13% ใน THCOM จาก INTUCH โดยเล็งเห็นโอกาสในการต่อยอดธุรกิจดาวเทียม (Satellite) ไปในธุรกิจ New Space Economy เช่น การนำข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมมาใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ หรือการประเมินปริมาณการกักเก็บคาร์บอนและคาร์บอนเครดิตในพื้นที่ป่าชุมชน รวมถึงดาวเทียมวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit Satellite) เป็นต้น

ทั้งนี้ เมื่อเดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้ทำการปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของ GULF มาอยู่ที่ระดับ “A+” จากระดับ “A” และปรับเพิ่มอันดับเครดิตหุ้นกู้ของ GULF มาอยู่ที่ระดับ “A” จากระดับ “A-“ โดยในไตรมาส 1/2566 GULF มีแผนจะออกหุ้นกู้เพิ่มอีกประมาณ 15,000 – 20,000 ล้านบาท เพื่อชำระคืนเงินกู้เดิมและเพื่อใช้ในการขยายธุรกิจ รวมถึงเป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ

นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัท ได้มีมติเห็นชอบให้นำเสนอต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 เพื่อพิจารณาอนุมัติการจ่ายเงินปันผล สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัท ประจำปี สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ในอัตราหุ้นละ 0.60 บาท หรือคิดเป็นอัตราการจ่ายเงินปันผลต่อกำไรสุทธิ เท่ากับ 151% โดยกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผล (Record Date) ในวันที่ 2 มีนาคม 2566 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 27 เมษายน 2566 ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ จะขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 1 มีนาคม 2566 และกำหนดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ในวันที่ 5 เมษายน 2566

Source : Energy News Center

บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (GULF) ส่งบริษัทย่อย Gulf Energy USA ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้น กับกลุ่ม J-POWER เพื่อซื้อหุ้นในโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Jackson ขนาดกำลังการผลิต 1,200 เมกะวัตต์ ในสัดส่วน 49% หรือคิดเป็นมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้นจำนวนกว่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 15,000 ล้านบาท) คาดเข้าถือหุ้นอย่างเป็นทางการภายในเดือนธันวาคม 2565

โครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Jackson ตั้งอยู่ในเขตวิลล์ รัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา มีขนาดกำลังการผลิต 1,200 เมกะวัตต์ ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ไปเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2565 เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้กับโครงข่ายระหว่างเพนซิลเวเนีย-นิวเจอร์ซีย์-แมริแลนด์ (Pennsylvania-New Jersey-Maryland Interconnection: PJM) โดย PJM เป็นตลาดซื้อขายไฟฟ้าแบบเสรี (Merchant Market) ที่มีความมั่นคงและมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงที่สุดในประเทศสหรัฐอเมริกา ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 13 รัฐ ได้แก่ เดลาแวร์ อิลลินอยส์ อินดิแอนา เคนทักกี แมริแลนด์ มิชิแกน นิวเจอร์ซีย์ นอร์ทแคโรไลนา โอไฮโอ เพนซิลเวเนีย เทนเนสซี เวอร์จิเนีย เวสต์เวอร์จิเนีย และเขตปกครองพิเศษโคลัมเบีย (District of Columbia) โครงการ Jackson มีสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติจากผู้ให้บริการก๊าซธรรมชาติรายใหญ่และเชื่อมต่อกับท่อก๊าซหลักถึง 3 เส้น ทำให้สามารถจัดหาเชื้อเพลิงให้กับโครงการได้อย่างพอเพียงในระยะยาว

นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน GULF กล่าวว่า “การลงทุนในโครงการ Jackson ถือเป็นจุดเริ่มต้นของ GULF ในการเข้าสู่ตลาดพลังงานของสหรัฐอเมริกา โดยโครงการนี้ถือหุ้นทั้งหมดโดย Jackson Partners ภายใต้กลุ่ม J-POWER ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระรายใหญ่ที่สุดของโลก รวมทั้งเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งของบริษัทมานานกว่า 20 ปี และเป็นผู้ร่วมทุนในโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในกลุ่ม Gulf JP ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้า IPP โรงแรก ๆ ของบริษัท GULF เชื่อมั่นว่าด้วยประสบการณ์ของเราในการพัฒนาโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยมายาวนาน จะสามารถนำเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญมาช่วยกันบริหารจัดการโครงการ Jackson ร่วมกับ J-Power ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ประเทศสหรัฐอเมริกายังมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ GULF จึงเล็งเห็นโอกาสที่จะเข้าไปพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าอื่น ๆ รวมถึงการพิจารณาความเป็นไปได้ในการร่วมลงทุนกับพันธมิตรต่าง ๆ รวมถึง J-Power ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในสหรัฐอเมริกาอีกด้วย”

ทั้งนี้ การลงทุนดังกล่าวยังเป็นไปตามแผนการดำเนินงานของบริษัทที่จะยกระดับความมั่นคงด้านพลังงานด้วยการผลิตไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพ และต้นทุนต่ำในช่วงการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition) ไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เนื่องจากโครงการ Jackson เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม (Combined-Cycle Gas Turbine) ที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัย มีประสิทธิภาพสูงที่สุด และเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำที่สุดในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยโครงการ Jackson ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทำให้บริษัทสามารถรับรู้ผลประกอบการได้ทันที

Source : Energy News Center

GULF ขายหุ้นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในทะเล ประเทศเยอรมนี Borkum Riffgrund 2 ในสัดส่วน 50% ให้แก่ Keppel Group มูลค่าการขาย 305 ล้านยูโร หรือประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท โดย GULF และ Keppel Group พร้อมเดินหน้าเป็นพันธมิตร เสริมความแข็งแกร่งธุรกิจต่อไปในอนาคต

บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (GULF) จำหน่ายหุ้นที่ถืออยู่ใน Borkum Riffgrund 2 Investor Holding GmbH (BKR2 Holding) ให้แก่ Neptune1 Infrastructure Holdings Pte. Ltd. ในสัดส่วน 50.01% ด้วยมูลค่าการขายทั้งสิ้น 305 ล้านยูโร โดย Gulf International Holding Pte. Ltd. (GIH) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ GULF ได้เข้าทำสัญญาผู้ถือหุ้น และสัญญาซื้อขายหุ้น เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ Neptune1 เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง Keppel Infrastructure Trust (KIT) และ Keppel Renewable Investments ซึ่งทั้ง KIT และ Keppel Renewable Investments ถือหุ้นโดย Keppel Corporation Limited (Keppel Corporation) (รวมเรียกว่า Keppel Group)

ปัจจุบัน BKR2 Holding ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 50 ใน Borkum Riffgrund 2 Offshore Wind Farm GmbH & Co. oHG (โครงการ BKR2) ร่วมกับ Ørsted A/S โดยภายหลังจากการจำหน่ายหุ้นดังกล่าว จะส่งผลให้ GIH มีสัดส่วนการถือหุ้นใน BKR2 Holding จาก 100% เป็น 49.99% หรือคิดเป็นสัดส่วน 25% ในโครงการ BKR2 ทั้งนี้ บริษัทฯ จะดำเนินการโอนหุ้นภายหลังการดำเนินการตามเงื่อนไขในสัญญาเสร็จสิ้น ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในไตรมาสที่ 4 ของปี 2565

สำหรับโครงการ BKR2 นั้นเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในทะเล (Offshore Wind Farm) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 464.8 เมกะวัตต์ (ขนาดกำลังการผลิตส่งออก 450.0 เมกะวัตต์) ตั้งอยู่ในทะเลเหนือ (North Sea) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศเยอรมนี ซึ่งโครงการดังกล่าวได้เริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement: PPA) และสัญญาบำรุงรักษา (Operation & Maintenance Agreement: O&M Agreement) กับกลุ่มบริษัท Ørsted เป็นระยะเวลา 20 ปี จากวันที่เปิดดำเนินการ นอกจากนี้ โครงการ BKR2 ยังมีอัตรารับซื้อไฟฟ้าแบบ feed-in tariff (FiT) ที่รับประกันโดยรัฐบาลประเทศเยอรมนี เป็นระยะเวลา 9.5 ปี หลังจากเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ และจะได้รับค่าไฟฟ้าตาม merchant price โดยมีการรับประกันราคาขั้นต่ำ สำหรับปีที่ 9.5 ถึงปีที่ 20 จึงส่งผลให้โครงการดังกล่าวมีเสถียรภาพทางรายได้ในระยะยาว

KIT เป็นกองทรัสต์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ โดยมีมูลค่าการลงทุนในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและบริหารสินทรัพย์ทั้งหมดประมาณ 4.7 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ในขณะที่ Keppel Corporation เป็นหนึ่งในบริษัทข้ามชาติชั้นนำของประเทศสิงคโปร์ ที่มีเครือข่ายการลงทุนมากกว่า 20 ประเทศทั่วโลก กระจายการลงทุนในธุรกิจพลังงาน โทรคมนาคม โครงสร้างพื้นฐาน อสังหาริมทรัพย์ตลอดจนภาคการคมนาคมขนส่ง โดดเด่นเรื่องการทำดาต้าเซ็นเตอร์ การพัฒนาเมืองแบบสมาร์ทซิตี้

นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การขายหุ้นในครั้งนี้ นอกจากจะได้พาร์ทเนอร์ที่แข็งแกร่งอย่าง Keppel Group มาเป็นผู้ถือหุ้นร่วมกันแล้ว ยังเปิดโอกาสให้บริษัทได้ร่วมลงทุนด้วยกัน ในโครงการต่างๆ ที่มุ่งเน้นเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (energy transition) และพลังงานหมุนเวียนในอนาคตอีกด้วย ซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์และทิศทางธุรกิจของบริษัทฯ ที่มุ่งสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

Source : Energy News Center