สำหรับบทความนี้ทางทีมงานขอพาทุกท่านมารู้จักแผน PDP กันครับ ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ทาง สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 ซึ่งมีการเปิดรับฟังไปแล้วตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน 2567 เวลา 16.00 น. ถึงวันที่ 23 มิถุนายน 2567 เวลา 22.00 น. หลังจากนั้นก็จะมีการรวบรวมความคิดเห็นเพื่อนำไปปรับปรุงแผนต่อไป เมื่อเรียบร้อยแล้วก็จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะอนุพีดีพีต่อ จากนั้นจะเสนอไปยังที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาตามลำดับ คาดว่าจะประกาศใช้แผน PDP 2024 ได้ภายในเดือน ก.ย.นี้
แผน PDP คืออะไร?
แผน PDP คือ แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan : PDP) เป็นแผนแม่บทในการผลิตไฟฟ้าของประเทศว่าด้วยการจัดหาพลังงานไฟฟ้าในระยะยาว 15 – 20 ปี ที่ใช้กำกับทิศทางการพัฒนานโยบายพลังงานของประเทศ แผนฉบับนี้จะเป็นตัวกำหนดว่า ภายใต้การคาดการณ์ปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าในแต่ละปี ประเทศไทยควรจะมีการผลิตและสำรองไฟฟ้าเท่าไหร่ ควรจะต้องสร้างโรงไฟฟ้าหรือแหล่งผลิตไฟฟ้าประเภทใด จำนวนเท่าใด และใครจะเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตบ้าง การกระจายการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการออกแบบนโยบายส่งเสริมการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน
โดยในแผน PDP นี้ส่งผลต่อประชาชนอย่างเราโดยตรงครับ เพราะเป็นตัวกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่ายร่วมกันนั่นเอง ถ้ามีการกำหนดแผนที่มีประสิทธิภาพเราก็จะมีอัตราค่าไฟในระดับที่เหมาะสม หากพิจารณาจากข่าวต่างๆ ที่ผ่านมา จะพบว่าประชาชนมีปัญหาในเรื่องการจ่ายค่าไฟเป็นจำนวนมาก เพราะมีอัตราการเก็บค่าไฟที่ค่อนข้างแพง และแพงมาในช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้ามาในหน้าร้อนที่ผ่านมา มีเสียงบ่นอยู่ตลอด แต่อย่างไรก็ตามเราก็ต้องหาเงินมจ่ายค่าไฟอยู่ดี หลายคนก็หวังว่าแผน PDP 2024 ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้จะช่วยให้ค่าไฟฟ้าถูกลงจากเดิมไม่มากก็น้อย
แผน PDP 2024 จะเป็นอย่างไร?
เมื่อช่วงกลางเดือน มิ.ย. 67 ที่ผ่านมา ก็ได้มีการเปิดแผน PDP 2024 จากกระทรวงพลังงานออกมา โดยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่และระบบกักเก็บพลังงานในช่วงปี 2567-2580 รวม 60,208 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นประเภทโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 34,851 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 6,300 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนหรือนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) 600 เมกะวัตต์ การรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ 3,500 เมกะวัตต์ และอื่นๆ (DR, V2G) 2,000 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลืออีก 12,957 เมกะวัตต์เป็นระบบกักเก็บ ประกอบด้วยพลังน้ำแบบสูบกลับ 2,472 เมกะวัตต์ และระบบกักเก็บพลังงานแบบแบตเตอรี่ 10,485 เมกะวัตต์ โดยแผน PDP2024 จะให้ความสำคัญในประเด็นต่างๆ 3 ด้าน
1. ด้านความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศ (Security) ให้มีความมั่นคงครอบคลุมทั้งระบบผลิตไฟฟ้า
ระบบส่งไฟฟ้า และมีความมั่นคงรายพื้นที่ คำนึงถึงผู้ใช้ไฟฟ้านอกระบบ (Independent Power Supply :IPS) รวมถึง Disruptive Technology ทำให้ระบบผลิตไฟฟ้ามีความยืดหยุ่นเพียงพอต่อการรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) มีการบริหารจัดการการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเพื่อลด CO2 โดยการลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงที่ปล่อย CO2 สูง อย่างเช่น ถ่านหิน ยังคงมีการใช้ก๊าชธรรมชาติแต่ก็จะมีการพิจารณากำหนดในสัดส่วนในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้า และเป็นการใช้ระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่มีอยู่ อย่างเช่น ท่อก๊าช Terminal ที่มีการลงทุนไว้ให้มีความคุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุด โดยในส่วนของเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติก็จะมีการ พิจารณาการผสมกับไฮโดรเจน ซึ่งก็จะสามารถช่วยลดการปล่อย CO2 ได้ และเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด เช่น พลังงานหมุนเวียนร่วมกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น ระบบกักเก็บพลังงานแบบแบตเตอรี่ และสำหรับเกณฑ์ความมั่นคงที่จะใช้ในการจัดทำแผนฉบับนี้ จะใช้เป็นเกณฑ์โอกาสเกิดไฟฟ้าดับ (Loss of Load Expectation : LOLE)
2. ด้านต้นทุนค่าไฟฟ้าอยู่ในระดับที่เหมาะสม (Economy) จะพิจารณาให้อัตราค่าไฟฟ้ามีเสถียรภาพสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ประชาชนไม่แบกรับภาระอย่างไม่เป็นธรรม และไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว มีการบริหารจัดการนำแหล่งพลังงานไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์ (Distributed Energy Resource : DER) มาใช้ประโยชน์ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศ
3. ด้านสิ่งแวดล้อม (Ecology) จะมีการจำกัดปริมาณการปล่อย CO2 ให้สอดคล้องตามเป้าหมายแผนพลังงานชาติ และเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะยาวของประเทศ (LTS) ตามนโยบาย Carbon neutrality และ Net zero emission โดยจะสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและการเพิ่มประสิทธิภาพในระบบไฟฟ้า (Efficiency) ทั้งด้านการผลิตไฟฟ้าและด้านการใช้ไฟฟ้า และจะมีการนำเทคโนโลยีระบบโครงข่ายไฟฟ้าสมาร์ทกริดมาใช้อย่างเต็มที่
ในส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใหม่ในปี 2567-2580 มีจำนวน 34,851 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ 24,412 เมกะวัตต์ พลังลม 5,345 เมกะวัตต์ ชีวมวล 1,046 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพ 936 เมกะวัตต์ แสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ 2,681 เมกะวัตต์ ขยะอุตสาหกรรม 12 เมกะวัตต์ ขยะชุมชน 300 เมกะวัตต์ พลังน้ำขนาดเล็ก 99 เมกะวัตต์ พลังงานความร้อนใต้พิภพ 21 เมกะวัตต์
สำหรับค่าไฟของแผน PDP 2024 เฉลี่ย 3.8704 บาทต่อหน่วย ส่วนแผนเดิมซึ่งอยู่ที่ 3.9479 บาทต่อหน่วย มีส่วนต่างที่ถูกลงอยู่ที่ 0.0775 บาท ก็ถือว่าถูกลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แม้ว่าในแผนใหม่นี้จะมีสัดส่วนไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเป็น 51% แล้วก็ถาม (แผนเดิม 36%)
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการออกมาตรการที่เหมาะสมในการเปิดให้บริษัทเอกชนซื้อขายไฟฟ้าสะอาดหรือพลังงานทดแทนได้โดยตรงจากผู้ผลิตไฟฟ้า (Direct Purchase Power Agreement : Direct PPA) โดยจะมีการหารือร่วมกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และบีโอไอ ให้เรียบร้อยก่อน
ณ ตอนนี้ ทาง สนพ. กฟผ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินปรับร่างแผน PDP ฉบับใหม่ (PDP2024) แล้วเสร็จ อยู่ระหว่างนำเสนอ ปพน. และ รมว.พน. พิจารณา
Source : EPP Thailand