Highlight & Knowledge

คาร์บอนเครดิตคืออะไร? ทำไมใครๆ ก็ให้ความสนใจ

คาร์บอนเครดิตคืออะไร เป็นคำถามที่เราได้ยินกันบ่อยมากในช่วงนี้ รวมถึงข่าวสารต่างๆ ที่มีการพูดถึงคาร์บอนเครดิตกันอย่างต่อเนื่อง วันนี้ทางคณะทำงานด้านพลังงานหอการค้าไทย จะพาทุกคนมารู้จักกับคาร์บอนเครดิตกันแบบง่ายๆ ผ่านบทความนี้กัน

เรามาทราบถึงที่มาที่ไปของคาร์บอนเครดิตกันก่อน เรื่องก็เริ่มจากโลกนี้มีการเปลี่ยนแผนของสภาพอากาศและภัยธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งผู้นำประเทศต่างๆ รวมถึงสหประชาชาติ จึงได้มีการร่วมประชุมกัน ออกนโนยบายด้านสิ่งแวดล้อม และร่างสัญญาระหว่างกัน เพื่อสร้างความร่วมมือในแก้ไขปัญหาของสภาพอากาศ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องภาวะโลกร้อน และสภาวะเรือนกระจก ซึ่งก็ได้มีการประกาศใช้ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change) ขึ้นมา หรือจะเรียกแบบง่ายๆ ว่า อนุสัญญา UNFCCC ก็ได้ โดยอนุสัญญานี้มีผลบังคับใช้ไปเมื่อปี พ.ศ. 2537

สำหรับในประเทศไทยนั้นได้มีการเข้าร่วมให้สัตยาบันในพิธีสารเกียวโต เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2545 โดยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่ไม่ถูกบังคับให้มีการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกแต่ว่าสามารถร่วมดำเนินโครงการได้ โดยทางรัฐบาลได้มีการออกประกาศพระราชกฤษฎีกาในปี พ.ศ. 2550 ให้มีการจัดตั้ง “องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)” เรียกโดยย่อว่า “อบก.” มีชื่อภาษาอังกฤษว่า “Thailand Greenhouse Gas Management Organization (Public Organization)” เรียกโดยย่อว่า “TGO” เป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ให้บริการ ดูแล และกำหนดมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการวัด การรายงาน และการทวนสอบ และให้การรับรองปริมาณการปล่อย การลด และการชดเชยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาโครงการและการตลาดซื้อขายปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการรับรอง  เป็นศูนย์กลางข้อมูลที่เกี่ยวกับสถานการณ์ดำเนินงานด้านก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ ตลอดจนให้คำแนะนำแก่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเกี่ยวกับการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้

  1. พัฒนาและส่งเสริมโครงการและตลาดซื้อขายปริมาณก๊าซเรือนกระจก
  2. ดำเนินการเกี่ยวกับการให้คำรับรองโครงการหรือการขึ้นทะเบียนโครงการ
  3. ดำเนินการเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรอง
  4. ดำเนินการเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนผู้ประเมินภายนอกสำหรับโครงการภาคสมัครใจหรือผู้ประเมินภายนอกสำหรับการขอเครื่องหมายรับรอง
  5. เป็นศูนย์กลางข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับสถานการณ์ดำเนินงานด้านก๊าซเรือนกระจก
  6. สนับสนุนการประเมินผลการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกและผลกระทบที่เกิดขึ้น
  7. ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ ตลอดจนให้คำแนะนำแก่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเกี่ยวกับการจัดการก๊าซเรือนกระจก
  8. เผยแพร่และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการจัดการก๊าซเรือนกระจก
  9. ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ทั้งนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้านสิ่งแวดล้อม ส่วนใหญ่นั้นมาจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ หรือก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมักจะมาจากโรงงานอุตสาหกรรมเป็นส่วนมาก รวมถึงการขนส่งต่างๆ ดังนั้นจึงได้มีการคิดกลไกการตลาดขึ้นมา เพื่อผลักดันให้มีการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ให้น้อยลง โดยกลไกการตลาดที่ว่านี้จะเป็นการซื้อขายสิ่งที่เรียกว่า “คาร์บอนเครดิต” นั่นเอง

คาร์บอนเครดิตคืออะไร?

คาร์บอนเครดิตคึอ สิทธิที่เกิดจากการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ หรือก๊าซเรือนกระจก นั่นเอง โดยสิทธิดังกล่าวนี้สามารถวัดปริมาณ และสามารถนำไปซื้อขายในตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้ หากในปีนั้นๆ องค์กรมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อยกว่าเกณฑ์จะถูกตีราคาเป็นเงิน ก่อนจะถูกขายเป็นเครดิตให้กับองค์กรอื่นที่อาจจะไม่สามารถลดก๊าซคาร์บอนได้ตามเกณฑ์ จึงเป็นที่มาของการมีตลาดซื้อขายคาร์บอนนั่นเอง

ถ้าจะอธิบายให้ง่ายกว่าเดิม ก็อาจจะต้องเปรียบเป็นบริษัทหนึ่งที่ทำการผลิตสินค้า หรือทำกิจกรรมใดๆ ก็ตามขึ้น และก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์เกิดขึ้น จึงต้องมีการทำกิจกรรมใดๆ ก็ตามที่ช่วยลดก๊าซคาร์บอนลง เช่น การปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อมุ่งหวังให้ต้นไม้ไปดักจับก๊าซ์คาร์บอนในอากาศนั่นเอง หากปลูกเป็นจำนวนมากก็จะได้คาร์บอนเครดิตกลับมามากเช่นกัน โดยในบ้านเราจะมีการวัดขนาดต้นไม้ ความสูง ความกว้าง แล้วส่งข้อมูลนี้ไปยังองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือ อบก. ซึ่งจะเป็นผู้ที่เข้ามาคำนวณคาร์บอนเครดิตที่ได้จากต้นไม้ที่ทางบริษัทได้ปลูกขึ้นมานั่นเอง

คาร์บอนเครดิตเอาไปทำอะไร?

คาร์บอนเครดิตที่ได้รับมาจากกิจกรรมต่างๆ สามารถนำไปซื้อขายในตลาดคาร์บอนได้ นั่นเป็นเพราะว่า บางบริษัท บางโรงงาน หรือบางองค์กรนั้นต้องการสิทธิในการปล่อยก๊าซในกระบวนการผลิตของต้นเพิ่มขึ้น อาจจะเป็นเพราะต้องการผลิตสินค้าที่มากขึ้นให้ได้ตามความต้องการ หรือไม่ก็เป็นเพราะว่าในกระบวนการผลิตก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนมาก และยังไม่สามารถลดได้ รวมถึงยังไม่สามารถทำกิจกรรมใดๆ เช่น ปลูกต้นไม้ เพื่อให้ได้คาร์บอนเครดิตได้ ก็เลยจำเป็นต้องมาซื้อคาร์บอนเครดิตจากบริษัทหรือองค์กรที่มีเหลืออยู่ ซึ่งเป็นที่มาของการก่อตั้งตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตนั่นเอง

รู้จักกับตลาดคาร์บอนเครดิต

หลังจากที่เรารู้จักกับคาร์บอนเครดิตแล้ว เราก็จะทราบว่ามีการก่อตั้งตลาดคาร์บอนเครดิตเกิดขึ้นด้วย ซึ่งตลาดคาร์บอนเครดิตนี้ก็เป็นเหมือนตัวกลางระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย หรือบุคคลใดๆ ที่มีความต้องการคาร์บอนเครดิตนั่นเอง จุดประสงค์ก็เพื่อเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยายกาศ โดยตลาดคาร์บอนเครดิตในปัจจุบันสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ (Mandatory Carbon Market) และ ตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจ (Voluntary Carbon Market)

  1. ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ (Mandatory Carbon Market) ถูกจัดตั้งขึ้นมาตามกฏหมาย มีกฏหมายและระเบียบต่างๆ ที่กำหนดกฏเกณฑ์ วิธีการ และรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งรัฐบาลจะเป็นคนออกกฏหมาย รวมถึงการควบคุมดูแลทั้หงมด โดยผู้ที่เข้าร่วมนั้นจะต้องมีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ที่มีผลผูกพันตามกฏหมาย หากสามารถปฏิบัติตามได้ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามที่กฏหมายกำหนด ในทางตรงกันข้าม หากไม่สามารถปฏิบัติตามได้ก็จะมีบทลงโทษเช่นกัน โดยตลาดภาคบังคับนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปจนถึงสูง โดยมีการดำเนินโครงการที่ใช้ชื่อว่า Joint Implementation หรือ JI ซึ่งปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงจะเรียกว่า Emission Reduction Units (ERUs) มีค่าเท่ากับ 1 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
  2. ตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจ (Voluntary Carbon Market) ถูกจัดตั้งขึ้นในรูปแบบที่ไม่มีกฏหมายเข้ามาเกี่ยวข้องหรือมีผลบังคับใช้ เป็นเรื่องของความร่วมมือจากผู้ประกอบการต่างๆ ที่สมัครใจเข้ามาร่วมซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งจะมีการตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่นกัน เพียงแต่ว่าจะไม่มีผลตามกฏหมายนั่นเอง โดยองค์กรใดที่มีคาร์บอนเครดิตก็สามารถนำมาขายในตลาดนี้ได้ และองค์กรใดที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินกว่าปริมาณที่กำหนดก็สามารถเข้ามาซื้อคาร์บอนเครดิตนี้ในตลาดได้เช่นกัน โดยมีตัวกลางเข้ามาคำนวณและออกใบรับรองให้ก็คือ องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นองค์กรที่ดูแลกำกับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย

ในประเทศไทยเรามี่โครงการลดก๊าซเรือนกระจกทีมีการขายคาร์บอนเครดิตแล้ว ชื่อว่า ชื่อโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction: T-VER) ที่ อบก.ได้พัฒนาขึ้นตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557 เป้าหมายก็เพื่อสนับสนุนให้ทุกองค์กรมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกแบบสมัครใจ โดยไม่ต้องมีขั้นตอนอะไรซับซ้อน และมีค่าใช้จ่ายที่ไม่สูง

โดยจะเรียกโครงการนี้ในชื่อสั้นๆว่า T-VER ซึ่งในตอนนี้ในบ้านเราอาจจะมีปริมาณการซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ไม่มากนัก นั่นเป็นเพราะว่าเป็นตลาดภาคสมัครใจนั่นเอง มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 8.5% เท่านั้น ซึ่งราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิตอยู่ระหว่าง 150 – 200 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซค์หรือเทียบเท่า ซึ่งตั้งแต่มีตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตในบ้านเราก็ทำให้มีการสนับสนุนงบประมาณให้กับชุมชนต่างๆ เพื่อปลูกป่ามากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ทาง อบก. และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้มีการร่วมมือกันพัฒนาแพลตฟอร์มการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจในประเทศขึ้น (Thailand Carbon Credit Exchange Platform) มีการนำเทคโนโลยี Blockchain เข้ามาใช้กับการแลกเปลี่ยนซื้อขายถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตของโครงการ T-VER ซึ่งช่วยในเรื่องของความน่าเชื่อถือ และความโปร่งใส สร้างราคาอ้างอิงที่ยุติธรรม สะท้อนต้นทุกที่แท้จริง และมีความสะดวกรวดเร็วนั่นเอง และล่าสุดได้มีการพัฒนาแพลตฟอร์มซื้อขายพลังงานสะอาดและคาร์บอนเครดิตขึ้นมาในชื่อของ FTIX สามารถเข้าชมได้ที่ https://fti-cc.com

หากท่านใดอยากศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับตลาดคาร์บอนเครดิต ก็สามารถเข้าไปได้ที่เว็บไซต์ของ “องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)” เพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับตลาดซื้อขายได้

แหล่งข้อมูลอ้างอิง
อบก. TGO
FTIx แพลตฟอร์มซื้อขายพลังงานสะอาดและคาร์บอนเครดิต
https://www.bangkokbiznews.com/news/915259
รูปประกอบบทวาม : Freepix

เนื้อหาน่าสนใจ :  เทคโนโลยี CCS (Carbon Capture and Storage) คืออะไร? ดีต่อเรา ดีต่อโลกอย่างไรบ้าง

การเสวนา “ขนส่งไทยฝ่าวิกฤตน้ำมันแพง รถไฟฟ้าคือทางรอดหรือทางร่วง”

หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, มูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน, สมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย (อาร์อี100), สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ, หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และ…

“Sensor for All” นวัตกรรมจากวิศวฯ จุฬาฯ ตรวจวัดสภาพอากาศ นำร่องสู่การแก้ปัญหาฝุ่นอย่างยั่งยืน

สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในบ้านเราที่มีค่าฝุ่นสูงขึ้นจนติดอันดับโลก ส่งผลกระทบในการดำเนินชีวิตของคนเมืองที่ยากจะหลีกเลี่ยงได้ ที่สำคัญคือส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพร่างกาย การมีเครื่องมือตรวจวัดค่าฝุ่น PM2.5 ซึ่งพัฒนาโดยคนไทยด้วยข้อมูลทางวิชาการที่เชื่อถือได้

ส.อ.ท.เปิดผลสำรวจหนุนไทยสู่เป้า Net Zero ท้าทายรับมือลดฟอสซิลเพิ่มพลังงานสะอาด

กางผลสำรวจบิ๊ก ส.อ.ท. 70.7% หนุนไทยก้าวสู่เป้าหมาย Net Zero ปี ค.ศ. 2065 รับเป็นประเด็นท้าทายการปรับโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน ลดฟอสซิลและการจัดหาพลังงานสะอาดให้เพียงพอต่อความต้องการ โดยภาคพลังงานและขนส่งเป็นภาคสำคัญสุด กังวลมาตรการดังกล่าวดันต้นทุนพุ่ง

Leave a Reply