ทรู-ดีแทค เปิดแนวทางรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ รอบเสาสัญญาณ ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วไทย เปิด 4 แนวทางรักษาระบบนิเวศรอบพื้นที่เสาสัญญาณสื่อสาร พร้อมชวนผู้มีส่วนได้เสียเข้าร่วมอนุรักษ์ ฟื้นฟูระบบนิเวศ ส่งเสริมการปลูกต้นไม้ ผ่านแอป We Grow
หนึ่งในภารกิจหลักหลังการควบรวม ทรู-ดีแทค คือ การส่งมอบเครือข่ายสัญญาณที่ดียิ่งกว่า ครอบคลุมยิ่งขึ้นทั่วไทย โดยที่ผ่านมา การติดตั้งเสาสัญญาณ นอกเหนือจากจะต้องเป็นไปตามกฎระเบียบที่ กสทช.กำหนดไว้แล้ว ทุกพื้นที่ที่ทรูและดีแทคติดตั้งเสาสัญญาณจะมีการนำปัจจัยเรื่อง ความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ Biodiversity มาใช้ในการวางแผน
โดยทีมปฏิบัติการจะทำการสำรวจสิ่งมีชีวิตนานาพันธุ์ในระบบนิเวศรอบพื้นที่เสาสัญญาณ ควบคู่กับการปลูกต้นไม้เพื่อให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยสมบูรณ์ของสัตว์และพันธุ์พืช เพื่อบรรลุเป้าหมายที่จะไม่ก่อให้เกิดความสูญเสียคุณค่าด้านความหลากหลายทางชีวภาพสุทธิ และไม่ก่อให้เกิดการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้สุทธิ ภายในปี 2573 สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ หรือ SDGs “เป้าหมายที่ 15 ปกป้อง ฟื้นฟู และส่งเสริมการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน”
เปิดแผนรักษาระบบนิเวศรอบพื้นที่เสาสัญญาณ ฉบับ ทรู ดีแทค
1. คัดกรองและคัดเลือกพื้นที่ตั้งเสาสัญญาณ หากพิจารณาว่าพื้นที่โดยรอบที่ตั้งเสาสัญญาณนั้นมีโอกาสที่จะส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ไม่ว่าจะเป็น สัตว์สายพันธุ์เล็ก สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ ความหลากหลายของพันธุ์พืช ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ ก็จะส่งประเมินความเสี่ยงต่อไป
2. ประเมินและจัดลำดับความสำคัญของพื้นที่เสี่ยง โดยนำไปประเมินเชิงลึกผ่านโปรแกรมมาตรฐานระดับโลก คือ Biodiversity and Ecosystem Services Trends and Conditions Assessment Tool (BESTCAT) เพื่อทำการคัดกรองพื้นที่อ่อนไหว ซึ่งมีมาตรกำหนดวัดระดับความรุนแรงของผลกระทบตั้งแต่ต่ำสุดถึงสูงสุดที่ 0 – 100 อาทิ มีชนิดพันธุ์ถูกคุกคามมากน้อยแค่ไหนในพื้นที่รัศมี 10 ตารางกิโลเมตรจากเสาสัญญาณที่ติดตั้ง
3. ดำเนินตามแผนแก้ไข ป้องกัน เพื่อลดผลกระทบ โดยยึดหลักบรรเทาผลกระทบตามลำดับชั้น ตั้งแต่ หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจส่งผลกระทบ ลดผลกระทบที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ฟื้นฟูสภาพพื้นที่ด้วยการปลูกพรรณไม้ท้องถิ่น และชดเชยด้วยการปลูกต้นไม้นอกพื้นที่โครงการ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ทั้งทรูและดีแทคได้ดำเนินการในพื้นที่ที่ใกล้ชิดแหล่งธรรมชาติ คือการจัดทำเสาสัญญาณที่ออกแบบเป็นเสาต้นไม้ เพื่อให้กลมกลืนกับทัศนียภาพ เข้ากับสิ่งแวดล้อมรอบข้างและแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้อยใหญ่
4. สร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนโดยรอบ โดยชักชวนผู้มีส่วนได้เสียเข้าร่วมอนุรักษ์ ฟื้นฟูระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ ส่งเสริมการปลูกต้นไม้ในสังคมยุคดิจิทัลเพื่อสร้างแหล่งที่อยู่อันอุดมสมบูรณ์ให้แก่สิ่งมีชีวิตผ่านแอป We Grow โดยในปี 2564 ได้สร้างพื้นที่สีเขียวได้ถึง 165 ไร่ และคาดว่าจะดูดซับก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ถึง 2,400 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ในปี 2573
จากผลการศึกษาในปี 2564 พบว่ามีพื้นที่เสาสัญญาณที่อาจอยู่ในระดับเสี่ยงด้านความหลากหลายทางชีวภาพ คิดเป็นสัดส่วนที่ 0.38% ซึ่งจะต้องนำไปประเมินเพิ่มเติม พร้อมหารือผู้เชี่ยวชาญเพื่อวางแผนดำเนินการแก้ไข ป้องกัน และลดผลกระทบอย่างเคร่งครัด
Source : กรุงเทพธุรกิจ