โครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อน เป็นโครงการของกระทรวงมหาดไทย โดยได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดดำเนินการประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งขับเคลื่อนโครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อน ตามแนวทางและแผนปฏิบัติการที่กำหนด โดยให้มีการจัดทำแผนการดำเนินงานในพื้นที่ และประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ความเข้าใจ สร้างความตระหนักและความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนในการคัดแยกขยะเศษอาหารหรือขยะเปียกในครัวเรือน เพื่อช่วยลดขยะที่ต้นทาง ลดภาระทางงบประมาณของท้องถิ่นในการจัดการขยะ และยังช่วยแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก พร้อมทั้งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามแผนปฏิบัติการเพื่อเตรียมรับการทวนสอบจากผู้ประเมินภายนอก (Validation and verification Body :VVB) ในขั้นตอนการรับรองคาร์บอนเครดิต
ทั้งนี้ โครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นโครงการที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตามโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกและสามารถนำมารับรองคาร์บอนเครดิตได้ โดยมีระยะเวลาการรับรองคาร์บอนเครดิตตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 – 30 มิถุนายน 2569
โดยการคัดแยกขยะเปียกสามารถช่วยลดโลกร้อนได้ และยังแปลงให้กายเป็นคาร์บอนเครดิต ราคาตันละ 260 บาท เป็นทุนกลับคืนสู่หมู่บ้านและชุมชน มีธนาคารกสิกรไทยเป็นผู้ซื้อ ซึ่งขณะนี้โครงการถังขยะเปียกลดโรคร้อน มีการเริ่มทำที่ 4 จังหวัดต้นแบบ ได้แก่ ลำพูน เลย สมุทรสงคราม และอำนาจเจริญ และจะมีการขยายโครงการอื่นๆ ไปอีกราวๆ 22 จังหวัด ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปลี่ยนขยะเปียกให้กลายเป็นคาร์บอนเครดิตได้ในระดับ 2 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซค์ ซึ่งโครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากทางภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้ามาช่วยรับรองระเบียบวิธีการวิจัย ในการบริหารจัดการ และส่งต่อให้ทาง องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) คิดเป็นค่าคาร์บอนเครดิตออกมา
ประโยชน์ของถังขยะเปียก ลดโลกร้อน
- การจัดการขยะเศษอาหารลดปริมาณขยะต้นทางและทำให้เกิดสุขอนามัยที่ดี
- ลดการปนเปื้อนของขยะเปียกกับเศษวัสดุและของเหลือใช้อื่นๆ ทำให้สะอาดและสะดวกต่อการคัดแยก ไปจนถึงลดปริมาณขยะในชุมชน
- เพิ่มรายได้จากการแยกขยะที่ไม่ปนเปื้อนออกไปขายที่ธนาคารขยะ
- ลดภาระทางงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการเก็บขนและบริหารจัดการขยะ ทำให้สามารถนำงบประมาณที่เหลือไปใช้ในด้านอื่นๆ ที่มีความจำเป็นมากกว่า
- ได้สารบำรุงดินหรือปุ๋ยหมักไว้ใช้ในครัวเรือน ช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน ทำให้มีพืชผักที่ปลอดภัยไว้รับประทานในครัวเรือน ลดรายจ่ายหรือสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง
- ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) สู่ชั้นบรรยากาศจากการจัดการขยะต้นทางจนลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกในการจัดการปลายทางที่หลุมฝังกลบและ
- มีรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจกลับคืนสู่ท้องถิ่น
วิธีทำถังขยะเปียก ลดโลกร้อน
สำหรับวิธีทำถังขยะเปียก ลดโลกร้อนนั้น ก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไรมาก เทคนิคอยู่ที่การดัดแปลงถังขยะแบบเดิม แล้วนำไปฝังดิน
- เตรียมถังที่เหลือใช้ที่มีฝาปิด จากนั้นให้ทำการตัดก้นถังออกไป
- นำถังขยะไปฝังดินที่มีความลึกประมาณ 2 ใน 3 ของถัง โดยให้ก้นถังอยู่เหนือจากก้นหลุมประมาณ 30 เซนติเมตร
- นำเศษอาหารเทใส่ถังแล้วปิดฝา
- เมื่อนำเศษอาหารใส่ลงไป ควรจะกวดเศษอาหารทุกครั้งเพื่อเพิ่มอากาศภายในถัง
- เมื่อปริมาณเศษอาหารเต็มถัง ให้ดึงถังออก แล้วนำดินมากลบหลุมให้เรียบร้อย
- ดึงถังออกแล้วย้ายไปฝังยังจุดอื่นๆ แล้วทำแบบเดียวกันต่อไป
กรณีที่มีกลิ่นเหม็น อาจจะใช้น้ำหมัก EM เติมเข้าไปเพื่อลดกลิ่น และช่วยเรื่องของการย่อยสลายได้ และเมื่อใส่ขยะแล้วอย่าลืมปิดฝาให้เรียบร้อยเพื่อป้องกันกลิ่มเหม็น และสัตว์มาคุ้ยเขี่ยเศษอาหารภายในถัง
ขยะที่นำมาใช้ประโยชน์ได้มีอะไรบ้าง
- ปลา เนื้อสัตว์ต่างๆ
- กระดูก เปลือก และกระดองของสัตว์
- ผัก ผลไม้ เมล็ดผลไม้
- เศษอาหารสด เศษเปลือกไข่
- กากกาแฟ
- มูลสัตว์
และขยะที่ไม่ควรนำมาแปรรูปมีดังนี้
- กิ่งไม้ และใบไม้
- กระดาษ
- เศษผ้าต่างๆ
- โลหะ
- พลาสติก
- เศษกระจก
- น้ำมัน
- ยาฆ่าเชื้อ
- สารฟอกขาว
- ผักที่มีความแข็ง เช่น แกนข้าวโพด เป็นต้น
ขอบคุณภาพประกอบ : เทศบาลตำบลปากน้ำหลังสวน / เทศบาลตำบลทรายมูล