ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการ กลุ่มงานโครงการพิเศษและศูนย์พัฒนาดิจิทัลและนวัตกรรม สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ”ว่า ดีป้า ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมให้เกิดสมาร์ทซิตี้ หรือเมืองอัจฉริยะให้ครอบคลุมทั่วประเทศไทย ซึ่งมีเป้าหมายหลักในการนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างฉลาด เพื่อการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นภายในเมืองที่มีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ เกิดการกระจายความเจริญอย่างเท่าเทียมไปสู่เมืองต่าง ๆ ไม่ให้มากระจุกตัวเพียงแต่กรุงเทพฯ หรือหัวเมืองใหญ่ ซึ่งจะนำพาไปสู่ความเท่าเทียมกันของพลเมืองในการพัฒนาเมืองทั้งด้านโอกาสทางการศึกษา การรักษาพยาบาล และด้านอื่น ๆ ให้เท่าเทียมกับเมืองใหญ่
โดยได้ตั้งเป้าหมายให้เมืองที่มีประชากรมากกว่า 1 หมื่นคน ยกระดับการพัฒนาไปสู่การเป็นสมาร์ทซิตี้ ที่ประชาการมีการใช้ชีวิตที่ดี ทำงานอย่างมีความสุข ซึ่งเมืองที่เข้าข่ายนี้จะมีประมาณ 2.2 พันเมือง อยู่ในระดับเทศบาลตำบลขึ้นไป และเมืองใหม่ที่จะต้องมีประชาชนเข้ามาใช้บริการไม่ต่ำกว่า 1 พันคนต่อวัน เช่น วังจันทน์วัลเลย์ ของ ปตท. บริเวณเหมืองแม่เมาะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และบริเวณโดยรอบ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น
ทั้งนี้ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ตั้งเป้าให้เกิดสมาร์ทซิตี้ให้ได้ 105 เมือง ภายในปี 2570 โดยในปัจจุบันได้มีเมืองที่มียื่นขอส่งเสริมแล้วจำนวน 144 เมือง ซึ่งดีป้าจะเข้าไปบ่มเพาะเพื่อให้มีความพร้องในการพัฒนาไปสู่การเป็นสมาร์ทซิตี้ และมีเมืองที่ผ่านการอนุมัติในการพัฒนาไปสู่สมาร์ทซิตี้แล้ว 36 เมือง ใน 25 จังหวัด ซึ่งแต่ละเมืองจะมีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาในสู่การเป็นสมาร์ทซิตี้ที่แตกต่างกัน ซึ่งสิ่งสำคัญที่จะได้จากการเป็นสมาร์ทซิตี้ ก็คือ การได้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของเมือง ที่ภาครัฐ และเอกชน สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาแก้ไขปัญหาของเมืองได้อย่างตรงจุด เกิดพัฒนาการให้บริการแบบใหม่ หรือเกิดธุรกิจใหม่ ๆ รวมทั้งสตาร์ทอัพได้อีกมากมายในอนาคต โดยสตาร์ทอัพที่สามารถนำโมเดลความสำเร็จจากการทำธุรกิจในไทยในต่อยอดขยายธุรกิจในทุกประเทศอาเซียนได้ เพราะมีสิ่งแวดล้อมการดำเนินชีวิตที่ใกล้เคียงกัน
นอกจากนี้ สมาร์ทซิตี้ ต้องมีการพัฒนาใน 7 ด้าน คือ 1. สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ หรือเป็นเมืองที่มุ่งเน้นปรับปรุงคุณภาพและเพิ่มประสิทธิภาพ ประสิทธิผลการบริหารจัดการ และติดตามเฝ้าระวัง สิ่งแวดล้อม
2. การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ หรือเป็นเมืองที่มุ่งเน้นเพิ่มความสะดวก ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยในการเดินทางและขนส่ง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
3. การดำรงชีวิตอัจฉริยะ เป็นเมืองที่มุ่งเน้นให้บริการที่อำนวยความสะดวกต่อการดำรงชีวิต เช่น การส่งเสริมให้เกิดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการดำรงชีวิตที่เหมาะสม
4. พลเมืองอัจฉริยะ หรือเป็นเมืองที่มุ่งเน้นพัฒนาพลเมืองให้มีความรู้และสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและการดำรงชีวิต
5. พลังงานอัจฉริยะ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของเมือง หรือใช้พลังงานทางเลือกที่เป็นพลังงานสะอาด
6. เศรษฐกิจอัจฉริยะ ความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ ความเชื่อมโยงและความร่วมมือทางธุรกิจ และประยุกต์ใช้นวัตกรรม ในการพัฒนาเพื่อปรับเปลี่ยนธุรกิจ และ7. การบริหารภาครัฐอัจฉริยะพัฒนาระบบบริการเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการภาครัฐสะดวก รวดเร็ว เพิ่มช่องทางการมีส่วนร่วมของประชาชน
“โดยแนวทางทั้ง 7 ด้านนี้ ดีป้า ได้กำหนดให้ทุกเมืองสมาร์ทซิตี้ จะต้องเป็นเมืองอัจฉริยะด้านสิ่งแวดล้อม ส่วนที่เหลืออีก 6 ด้าน แต่ละเมืองจะเลือกพัฒนาให้ตอบโจทย์ของปัญหา และเป้าหมายของแต่ละเมือง และทั้ง 7 ด้านนี้จะช่วยลดการใช้พลังงาน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมลภาวะต่าง ๆ ในทุกกิจกรรมการทำงาน ดังนั้นหากส่งเสริมให้เมืองที่มีประชากรมากกว่า 1 หมื่นคน ที่มีกว่า 2.2 พันเมืองไปสู่การเป็นสมาร์ทซิตี้ได้ ก็จะช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อน และด้านสิ่งแวดล้อมลงได้มาก”
สำหรับ เมืองที่ได้รับการส่งเสริมให้พัฒนาไปสู่การเป็นสมาร์ทซิตี้ จะได้รับสิทธิประโยชน์หลายด้าน เช่น การสนับสนุนงบประมาณการพัฒนาจากภาครัฐ การได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้กับภาคเอกชนที่เข้าไปลงทุนพัฒนาสมาร์ทซิตี้ 8 ปี หากอยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก( อีอีซี) จะได้รับเพิ่มอีก 5 ปี รวมเป็น 13 ปี และด้านอื่น ๆ เช่น การพัฒนาคนให้เข้ามารองรับเทคโนโลยีสมาร์ทซิตี้ เป็นต้น
โดยดีป้า ยังได้ร่วมกับ เอ็น.ซี.ซี. ในการจัดงาน “Thailand Smart City Expo 2023” ระหว่างวันที่ 22-24 พ.ย.นี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ซึ่งได้รับความร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) จัดเวิร์คช้อปเพื่อยกระดับการพัฒนาพิธีมอบรางวัล The Smart City Solution Awards 2023 เพื่อเป็นการส่งเสริมผลงานด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในงานจะเป็นแหล่งรวมองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเป็นแนวทางให้กับภาครัฐองค์กรส่วนปกครองท้องถิ่น หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าใจถึงเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับเมืองของตนเพื่อต่อยอดในการพัฒนาเมืองได้อย่างยั่งยืน
Source : กรุงเทพธุรกิจ