TCP กระตุ้นทุกภาคส่วนเร่ง “ลงมือทำ” ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ รับภาวะโลกเดือด งัด 4 แกนหลักขับเคลื่อนธุรกิจสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ภายในปี พ.ศ.2593 อัดงบความยั่งยืนกว่า 100 ล้านบาทต่อปี ผนึกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของงบการลงทุนธุรกิจ
ปี 2565 กลุ่มธุรกิจ TCP ตั้งงบลงทุนกว่า 12,000 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี (พ.ศ. 2565-2567) โดยมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตในต่างประเทศโดยเฉพาะในจีน ควบคู่กับการทำ Action Plans ลงมือปฏิบัติลดปัญหาสิ่งแวดล้อมตลอดกระบวนการผลิต ซึ่งจะผนึกงบเพื่อดำเนินการด้านความยั่งยืน เข้าเป็นส่วนหนึ่งของงบการลงทุนธุรกิจ ที่แต่ละปีคาดว่าจะใช้กว่า 100 ล้านบาท ในการดำเนินงาน
นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP ได้กล่าวในงาน “TCP SUSTAINABILITY FORUM 2023” ที่ TCP จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เพื่อช่วยขยายองค์ความรู้ สร้างความตระหนักกับประชาชนและทุกภาคส่วน ถึงปัญหาภาวะโลกร้อนว่า ภาวะโลกเดือด (Global Boiling) ปัจจุบันทุกคนสามารถรับรู้ได้จากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น ภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต่อเนื่องทั่วโลก ฉะนั้นทุกคนต้องเร่งลงมือปรับเปลี่ยนทันทีเพื่อรับมือกับสภาวะอากาศแบบสุดขั้ว
สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP
กลุ่ม TCP ดำเนินการปรับเปลี่ยนตัวเองตั้งแต่ต้นนํ้า คือการผลิต ไปสู่ปลายนํ้าคือ สู่มือผู้บริโภค ภายใต้แผนงาน 4 แกนหลัก ได้แก่ Product Excellence นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เป็นเลิศ ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ถ้าผลิตออกมาขายไม่ได้ คือผิดตั้งแต่เริ่มต้น ผลิตภัณฑ์ต้องตอบโจทย์ผู้บริโภค, Circular Economy ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน TCP มีเป้าหมายปรับเปลี่ยนแพ็กเกจจิ้งโปรดักส์ทั้งหมด ให้สามารถรีไซเคิลได้ 100% ภายในปี พ.ศ.2567, Water Sustainability ส่งเสริมการจัดการนํ้าอย่างยั่งยืน TCP วางเป้าหมายสู่นํ้าสุทธิเป็นบวก ภายในปี พ.ศ.2573 และ Low Carbon Economy ตั้งเป้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ.2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ. 2608
ปรับเปลี่ยนสู่พลังงานยั่งยืน
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กลุ่ม TCP ได้ปรับเปลี่ยนสู่การใช้พลังงานยั่งยืน ทำให้สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 4% หรือลดคาร์บอนได้ประมาณ 2,300 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จากปี 2564 โดยในส่วนของการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ได้มีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปที่โรงงานผลิตไปแล้วราว 12 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 23 % ของพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ทั้งหมดของโรงงาน นอกจากนี้ ยังพัฒนาส่วนของโรงงานสู่ Smart Manufacturing พัฒนาระบบการผลิตให้สูญเสียน้อยที่สุด และต้องได้ผลลัพธ์มากขึ้น
รวมไปถึงการสร้างอาคารออฟฟิศใหม่ ด้วยงบราว 740 ล้านบาท ด้วยการออกแบบให้สอดรับกับการทำงานรูปแบบใหม่ กับแนวคิด Open Office พื้นที่ทำงานจึงเปิดโล่ง พร้อมจัดสรรพื้นที่กว่า 30% เป็นพื้นที่ส่วนกลางระหว่างแผนกเพื่อใช้เป็นที่พบปะ แลกเปลี่ยนความคิด รวมทั้งให้ความสำคัญกับการลดใช้พลังงานและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม จนได้รับมาตรฐาน LEED แพลทตินั่ม
ส่วนเรื่องของโลจิสติกส์ จะเริ่มนำรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาใช้ภายในปีหน้า (พ.ศ. 2567) ประมาณ 23% และปี พ.ศ.2573 จะเพิ่มสัดส่วนการใช้เป็น 30%
ขับเคลื่อนแพ็กเกจจิ้งรักษ์โลก
นายสราวุฒิ กล่าวอีกว่า สำหรับการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน จะให้ความสำคัญกับการลดนํ้าหนักของบรรจุภัณฑ์ โดยลดนํ้าหนักกระป๋องอลูมิเนียมลง 10% ฝากระป๋องอะลูมิเนียม 7% ขวดแก้ว 21% ขวดพลาสติก 9% โดยตั้งเป้าพัฒนาแพ็กเกจจิ้งในกลุ่ม ให้สามารถรีไซเคิลได้ 100% ภายในปี พ.ศ.2567 และสนับสนุนการเก็บกลับเข้าสู่ระบบรีไซเคิล
ส่วนของฉลาก หันมาใช้ฉลากพลาสติกชนิดพอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต หรือ PET แทนการใช้ฉลากพลาสติกชนิดโพลีไวนิลคลอไรด์ หรือ PVC ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และมีความปลอดภัยกับผู้บริโภค
รวมถึงการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ ขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดกฎหมาย EPR (Extended Producer Responsibility) ในประเทศไทย ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ผู้ผลิตสร้างความรับผิดชอบไปยังช่วงต่างๆ ของวงจรชีวิตบรรจุภัณฑ์ สามารถช่วยให้ผู้ผลิตได้คำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร ตั้งแต่การเริ่มต้นคิด การออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติก การจัดส่งกระจายสินค้า การรับคืน การเก็บรวบรวม การใช้ซํ้า จนนำมาสู่การนำกลับมาใช้ใหม่
ปัจจุบัน TCP ใช้กระป๋องที่จำหน่ายทั้งหมดในประเทศไทย เป็นกระป๋องที่ผลิตจากรีไซเคิลอะลูมิเนียม มีการนำกระป๋องเข้าสู่การรีไซเคิลได้มากกว่า 63 ล้านใบ หรือราว 803 ตัน และสามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 7,339 ตันคาร์บอนเทียบเท่า ในขณะที่กล่องกระดาษที่ใช้ 99% เป็นกระดาษที่ได้มาตรฐาน FSC
นายสราวุฒิ กล่าวอีกว่า แผนต่อไปของ TCP คือ การตั้งเป้าสู่ 1, Zero Carbon Beverage แม้จะรู้ว่ายาก แต่ TCP ต้องทำ 2. Supply Chain Transparency 3. Water-Stress Mitigation เรื่องนํ้าเป็นเรื่องที่ต้องทำต่อเนื่อง และ 4. Health and Nutrition Focus การสร้างสรรค์โปรดักส์ที่ตอบโจทย์ด้านสุขภาพ และตรงตามความต้องการของผู้บริโภค ก็ยังต้องเดินหน้าต่อเนื่องเช่นกัน
“การทำเรื่องความยั่งยืน ส่วนที่ยากที่สุด คือ สโคป 2 และ 3 เพราะเป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยกับพาร์ทเนอร์และซัพพลายเออร์ ส่วนปัญหาใหญ่ คือเรื่องของเวลา เพราะทุกอย่างต้องทำแข่งกับเวลา ในขณะที่โลกร้อนขึ้นเรื่อย ๆ ตอนนี้เชื่อว่า ทุกคนยินดีที่จะลงมือทำ แต่ภาครัฐควรสนับสนุน เพราะมันมีความยากในทางปฏิบัติหลายอย่าง ที่ต้องปลดล็อกไปเรื่อย ๆ”
Source : ฐานเศรษฐกิจ