ใครที่คิดกำลังจะติดโซล่าร์เซลล์ที่บ้าน แนะนำให้อ่านเนื้อหาในบทความนี้ก่อน อาจจะช่วยให้การตัดสินใจทำได้ง่ายขึ้น คุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ ซึ่งเนื้อหาก็เป็นการนำเสนอจากทางกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ได้รวมเอา 10 คำถามหรือข้อสังสัยต่างๆ เกี่ยวกับการติดโซล่าร์เซลล์ที่บ้านอยู่อาศัยแบบ Solar Rooftop มาไว้เป็นข้อมูล ซึ่งเชื่อว่าตอนนี้หลายคนเจอค่าไฟแพงๆ เข้าไป ก็อาจจะกำลังหาวิธีลดค่าไฟ ซึ่งหนึ่งในวิธีที่คนคิดถึงมากที่สุดนอกจากการประหยัดไฟ การเปลี่ยนเครื่องใช้ไฟฟ้าแล้ว ก็คือ การลงทุนติดตั้งโซล่าร์เซลล์แบบ Solar Rooftop นั่นเอง มาดูกันว่า 10 คำถามนั้นมีอะไรบ้างครับ

1. บ้านของเราเหมาะกับการติดตั้ง Solar Rooftop หรือไม่ ?

  • ถ้าบ้านของเรามีการใช้ไฟช่วงกลางวันค่อนข้างมาก มีคนอยู่บ้านตอนกลางวันตลอด หรือที่บ้านทำเป็น Home Office ร้านค้า หรือร้านกาแฟ แบบนี้จะสามารถใช้ไฟฟ้าจากโซล่าร์เซลล์ได้เต็มที่ การติดตั้งจะได้ความคุ้มค่าที่สูงมาก และคืนทุนได้ไว้
  • ที่บ้านมีการใช้อุปกรณ์ที่ใช้ไฟเยอะๆ เช่น แอร์ ตู้เย็น และตู้แช่ เป็นต้น

คำแนะนำ : ไฟฟ้าจากโซล่าร์เซลล์ที่คุ้มค่าที่สุด จะนิยมติดตั้งเป็นระบบที่ใช้ร่วมกับระบบไฟฟ้าจากการไฟฟ้าได้

2. หลังคาบ้านเราเหมาะกับการติดตั้งหรือไม่ ?

  • บ้านที่จะติดตั้งต้อง ย้ำว่าต้องมีโครงสร้างของหลังคาที่แข็งแรง และสามารถรองรับน้ำหนักของแผงโซล่าร์เซลล์ได้
  • หลังคาบ้านที่ติดตั้งจะต้องไม่มีเงาต้นไม้ใหญ่ หรือมีอาหารและสิ่งปลูกสร้งต่างๆ มาบดบังแสดงแดด

คำแนะนำ : หลังคาบ้านควรมีความลาดเอียงประมาณ 15 องศา และหันไปได้ทางทิศใต้ จะมีความเหมาะสมในการผลิตไฟฟ้าได้ดีที่สุด

3. ติดตั้งขนาดเท่าไร จึงจะเหมาะสม ?

  • ขนาด 3 กิโลวัตต์ เหมาะกับบ้านที่ใช้ แอร์เบอร์ 5 แบบ 1 ดาว 12,000 BTU 2 เครื่อง + ตู้เย็น 12 คิว + หลอดไฟ
  • ติดตั้งขนาด 5 กิโลวัตต์ เหมาะกับบ้านที่ใช้ แอร์เบอร์ 5 แบบ 1 ดาว 12,000 BTU 4 เครื่อง + ตู้เย็น 12 คิว 2 เครื่อง + หลอดไฟ
  • ขนาดที่นิยมติดตั้ง 3, 5, 10 กิโลวัตต์ เลือกได้ตามขนาด/จำนวนอุปกรณ์ที่ใช้

คำแนะนำ : หากเลือกขนาดใหญ่เกินความจำเป็น ต้องลงทุนสูงและคืนทุนช้า

4. พื้นที่หลังคาที่ใช้ติดตั้ง ต้องขนาดใหญ่แค่ไหน ?

  • ขนาด 1 กิโลวัตต์จะใช้พื้นที่ประมาณ 4 – 5 ตารางเมตร ถ้าใช้ขนาดใหญ่กว่านั้นก็คูณจำนวนพื้นที่เพิ่มไป เช่น ขนาด 3 กิโลวัตต์ ก็จะใช้พื้นที่ 1 2 – 15 ตารางเมตร
  • ควรตรวจสอบลักษณะและประเภทของกระเบื้องหลังคา ว่ามีความแข็งแรงเพียงพอหรือไม่

คำแนะนำ : ปกติหลังคาบ้านส่วนใหญ่จะมีพื้นที่เพียงพอต่อการติดตั้งอยู่แล้ว ยกเว้นจะมีการสร้างบ้านที่มีการแบ่งหลังคาออกเป็นหลายส่วนตามรูปแบบบ้าน

5. เงินลงทุนในการติดตั้งระบบ และระยะเวลาคืนทุน?

  • เงินลงทุนที่ใช้จะอยู่ประมาณ 40,000 – 45,000 บาทต่อ 1 กิโลวัตต์ ระยะเวลาคืนทุนโดยประมาณ 6 ปี
  • ราคาจะมีความแตกต่างกันไปตามอุปกรณ์ และผู้ให้บริการ ควรสอบถามหลายๆ ที่ ก่อนตัดสินใจ
  • อย่าลืมเปรียบเทียบบริการหลังการขายด้วย ซึ่งมีความจำเป็นอย่างมาก เพื่อให้ระบบผลิตไฟได้เต็มประสิทธิภาพ เช่น การตรวจสอบอุปกรณ์ประจำปี การทำความสะอาดแผงโซล่าร์เซลล์ เป็นต้น

คำแนะนำ : การลงทุนติดตั้งระบบที่มีขนาดใหญ่ จะทำให้เงินลงทุนต่อ 1 กิโลวัตถ์ถูกลง

6. ประหยัดไฟได้แค่ไหน ?

  • ขนาด 3 กิโลวัตต์ จะผลิตไฟได้ประมาณวันละ 12 หน่วย (หรือ 360 หน่วยต่อเดือน) หากราคาค่าไฟการไฟฟ้าหน่วยละ 5 บาท จะประหยัดค่าไฟได้ 1,800 บาทต่อเดือน (หรือปีละ 21,600 บาท)
  • คิดระยะเวลาคืนทุน จากการลงทุน ขนาด 3 กิโลวัตต์ ค่าลงทุนประมาณ 120,000 – 135,000 บาท ประหยัดได้ปีละ 21,600 บาท ดังนั้น มีระยะเวลาคืนทุนประมาณ 6 ปี

คำแนะนำ : หากใช้แผงโซล่าร์เซลล์ และอุปกรณ์อื่นๆ ที่มีคุณภาพสูงขึ้น จะผลิตไฟได้เต็มกำลังมากขึ้น ช่วยให้คืนทุนได้ไวมากขึ้น

7. ต้นทุนไฟที่ผลิตจากโซล่าร์เซลล์ คิดยังไง?

  • ระบบขนาด 3 กิโลวัตต์ หากคิดตลอดอายุระบบ Solar Rooftop 15-20 ปี จะผลิตไฟได้ 360 หน่วย/เดือน x 12 เดือน x 15 ปี = 64,800 หน่วย เมื่อคิดค่าลงทุน 120,000 – 135,000 บาท จะมีราคาต้นทุนประมาณ 2 บาทต่อหน่วย

คำแนะนำ : ต้นทุนต่อหน่วยข้างต้น ยังไม่รวมค่าบำรุงรักษารายปี เช่น การล้างแผง การตรวจสอบรายปี อาจทำให้ต้นทุนสูงขึ้นอีกประมาณ 10%

8. อยากติดตั้ง ต้องเริ่มอย่างไรดี ?

  • เลือกผู้ให้บริการติดตั้ง ปัจจุบันมีผู้ให้บริการจำนวนมากราย ทั้งการไฟฟ้า และบริษัทที่ให้บริการติดตั้ง Solar Rooftop
  • การขออนุญาตต่างๆ ส่วนใหญ่ผู้ให้บริการติดตั้งจะเป็นผู้ดำเนินการให้ด้วย
  • ผู้ให้บริการเข้าสำรวจพื้นที่ติดตั้ง ออกแบบ และเข้าดำเนินการติดตั้ง โดยทั่วไปใช้เวลาโดยรวมไม่เกิน 1 เดือน

คำแนะนำ : ควรเลือกผู้ให้บริการที่น่าเชื่อถือ โดยอาจพิจารณาจากประสบการณ์/ผลงานที่ผ่านมา/คุณภาพ การให้บริการ/บริการหลังการขาย/การรับประกันสินค้า

9. อุปกรณ์ที่มีคุณภาพ เราจะพิจารณาจากอะไรได้บ้าง?

  • แผง Solar ตรวจสอบตามมาตรฐานที่ได้รับ มอก. 61215 หรือมาตรฐาน IEC 61215 เป็นอย่างน้อย
  • อุปกรณ์ Inverter สามารถตรวจสอบรายชื่อรุ่นที่การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคให้การรับรองได้ทางเว็บไซต์ของการไฟฟ้า
  • ศึกษาเปรียบเทียบการเลือกใช้อุปกรณ์ของผู้ให้บริการติดตั้งแต่ละรายเพื่อประกอบการพิจารณา

คำแนะนำ : เราสามารถศึกษาข้อกำหนดการติดตั้ง Solar Rooftop และการเชื่อมต่อระบบของแต่ละการไฟฟ้า ได้จากเว็บไซต์ของ กฟน. กฟภ.

10. การขออนุญาตต่างๆ ต้องทำอย่างไรบ้าง?

  • ขอใบอนุญาตเกี่ยวกับการก่อสร้าง หรือดัดแปลงอาคาร กับหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งใช้เวลาดำเนินการ 45 วัน
  • ยื่นแบบติดตั้ง และการขอจดแจ้งยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงานกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.erc.or.th)
  • แจ้ง กฟน. กฟภ. ตรวจสอบระบบ และเชื่อมต่อระบบ

คำแนะนำ : ผู้ให้บริการติดตั้งโซล่าร์เซลล์ บางรายจะมีบริการขออนุญาตให้ฟรี ซึ่งจะทำการติดต่อ ทำเอกสาร ให้เราทั้งหมด ก่อนจะเลือกใช้บริการก็สอบถามผู้ให้บริการก่อนได้เลย

กฟผ. หนุนโครงการ SolarPlus นำนวัตกรรมการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้า Peer-to-Peer Energy Trading Platform เชื่อมการซื้อขายแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าโดยตรงระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคที่ติดตั้ง Solar Rooftop เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยร่วมมือกับพันธมิตร 4 หน่วยงานได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม สมาร์ท โซลูชั่น จำกัด บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด

ดร.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. ได้ร่วมเปิดตัวโครงการ SolarPlus ติดตั้ง Solar Rooftop ให้แก่ประชาชน เพื่อผลิตและขายไฟฟ้าเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้เกิดการใช้พลังงานสะอาด โดย กฟผ. ได้นำแพลตฟอร์ม Peer-to-Peer Energy Trading ที่ กฟผ. พัฒนาขึ้น เพื่อใช้สำหรับเป็นศูนย์กลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าโดยตรงระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคในโครงการนำร่องที่หมู่บ้านศุภาลัย การ์เด้นวิลล์ รังสิต คลอง 2 จ.ปทุมธานี พร้อมตั้งเป้าติดตั้ง 500,000 หลัง ทั่วประเทศภายใน 5 ปี คาดจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ 2.3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ซึ่งโครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง กฟผ. กับอีก 4 หน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม สมาร์ท โซลูชั่น จำกัด บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด โดยมีการร่วมแถลงข่าวเปิดตัวโครงการเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2565 ณ ตึก KLOUD by KBank สยามสแควร์ ซอย 7 กรุงเทพฯ

กฟผ. นอกจากจะดำเนินภารกิจหลักในการผลิตและส่งไฟฟ้าแล้ว ยังได้มุ่งพัฒนา Solutions ใหม่ด้านนวัตกรรมพลังงาน ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าในยุคดิจิทัลควบคู่ไปด้วย โดยได้นำแพลตฟอร์ม Peer-to-Peer Energy Trading ที่พัฒนาขึ้นโดย กฟผ. มาเป็นสื่อกลางซื้อขายแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าโดยตรงระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคที่ติดตั้ง Solar Rooftop ในโครงการ SolarPlus เพื่อใช้ในการบริหารจัดการพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นศูนย์กลางในการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานสีเขียว หวังเป็นต้นแบบของโครงการซื้อขายพลังงานแบบ Peer-to-Peer Energy Trading ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมเดินหน้าการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ของ กฟผ. ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี ค.ศ. 2065 ของประเทศ ตลอดจนเป็นผู้ให้บริการ Solutions ด้านพลังงานแบบครบวงจรในอนาคต

สำหรับแพลตฟอร์ม Peer-to-Peer Energy Trading ของ กฟผ. เป็นแพลตฟอร์มที่ให้บริการ Prosumer หรือผู้ที่สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด นำไฟฟ้าส่วนที่เกินจากความต้องการใช้งาน มาเสนอซื้อ-ขายระหว่างกันได้โดยตรง (Peer-to-Peer) ซึ่งผ่านการทดลองใช้งานจริงในโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน (ERC Sandbox) ระยะที่ 1 ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) แล้ว โดยรองรับการตกลงซื้อขายพลังงานไฟฟ้าในรูปแบบสัญญาทวิภาคี (Bilateral Trading) ระหว่างผู้ผลิตและผู้ซื้อไฟฟ้า ซึ่งผู้ใช้งานสามารถติดตามค่าการผลิตและการใช้พลังงานไฟฟ้าได้แบบเรียลไทม์ผ่านแอปพลิเคชัน รวมทั้งดูประวัติย้อนหลังได้ตลอดเวลา โดย กฟผ. อยู่ระหว่างพัฒนาแพลตฟอร์มให้สามารถใช้งานได้ง่ายและเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น พร้อมเตรียมขยายผลสู่การใช้งานในเชิงพาณิชย์ ตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภคต่อไป

Source: Energy News Center

บิ๊กธุรกิจโดดชิงเค้ก “ตลาดโซลาร์” เอกชนแห่ติดหนีค่าไฟแพง ประหยัดสูงสุด 30% พ่วงสิทธิประโยชน์ขายคาร์บอนเครดิตสู้โลกร้อน “กัลฟ์” ผนึกพันธมิตรตั้งบริษัทร่วมทุน SCG-CRC ฝั่ง ปตท. OR-GPSC ไม่น้อยหน้า ด้าน CPF ผนึกกันกุล ติดบนหลังคา 40 โรงงาน เลขาฯ กกพ.ชี้เทรนด์โรงงาน-บ้านติดโซลาร์พร้อมเปิดเงื่่อนไขรับซื้อไฟคืน 0.50 บาท-โซลาร์ประชาชน 2.20 บาทจูงใจหวังลดการนำเข้าก๊าซ LNG ของโรงไฟฟ้า

หลังจากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP 26 ที่จัดขึ้นที่กลาสโกว์ สหราชอาณาจักร สิ้นสุดลง นำมาสู่ข้อผูกพันที่ไทยให้คำมั่นว่าจะมุ่งลดปัญหาสภาพอากาศ เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2050 อุตสาหกรรมในประเทศไทยจึงเห็นว่าจำเป็นจะต้องหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ตามที่ให้สัตยาบันกับประชาคมโลกไว้

ประกอบกับแรงกดดันต่ออุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออกทั้งหลาย ต้องลดการปล่อยคาร์บอนตามข้อเรียกร้องของประเทศผู้นำเข้า และที่สำคัญคือ ปัญหาราคาพลังงานฟอสซิลขณะนี้ปรับสูงขึ้นมากอย่างเห็นได้ชัด ทั้งสองเรื่องนี้เป็นแรงกดดัน ทำให้ตลาดของพลังงานหมุนเวียนเติบโตขยายตัวขึ้นอย่างมาก

และล่าสุดไทยกำลังจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติที่ได้ประชาพิจารณ์ปีก่อนเสร็จสิ้นกำลังจะออกในอีก 1-2 เดือนนี้จะมุ่งไปทางนั้น และแผนพัฒนาพลังงานทดแทน (AEDP) ที่เพิ่งผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อเร็ว ๆ นี้ อนุมัติแผนการผลิตซีโอดีไฟฟ้าโซลาร์เข้าสู่ระบบปี 2567 อีกหลายเมกะวัตต์

ยักษ์ธุรกิจลุยธุรกิจโซลาร์

ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวในวงการพลังงาน โดยผู้ผลิตพลังงานรายใหญ่ของประเทศได้รุกสู่ธุรกิจโซลาร์กันขนานใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ หรือ GULF ร่วมกับบริษัท เอสซีจี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ตั้งบริษัท เอสจี โซลาร์ จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา หรือโซลาร์รูฟท็อป

นอกจากนี้ GULF ยังให้บริษัทในเครือ “กัลฟ์ รีนิวเอเบิล” ร่วมกับ GUNKUL ลงนามความร่วมมือในการจัดทำโครงการพลังงานหมุนเวียนและจัดตั้งบริษัทร่วมทุน และยังได้ร่วมกับ บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น หรือ CRC จัดตั้งบริษัทร่วมทุนชื่อ บริษัท กรีนเจ็น เอ็นเนอร์จี จำกัด ทุนจดทะเบียน 90 ล้านบาท เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อป

ขณะที่ก่อนหน้านี้ บมจ.ปตท. ซึ่งมีบริษัท GPSC ก็ได้ดำเนินโครงการ The Solar Orchestra ร่วมกับ EXIM Bank และบริษัท นีโอ เอ็นเนอร์จี ให้บริการวางระบบโซลาร์ครบวงจร รวมไปถึงจัดการด้านสินเชื่อให้กับลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรม 100% EECi และ VISTECH ทำสมาร์ทเอ็นเนอร์ยี่ โซลูชั่น ใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เป็นแซนด์บอกซ์ มีเอ็นเนอร์ยี่ แมเนจเมนต์ Peer to Peer เทรดดิ้ง พร้อมที่จะขยายออกไป ตามเป้าหมาย ปตท. NET ZERO Ambition เพื่อลดคาร์บอนให้ได้ 10% ในปี 2025 และเพิ่มเป็น 35% ในปี 2030

นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จากัด (มหาชน) หรือ OR กล่าวว่า มีแผนขยายสู่ธุรกิจด้านพลังงานสะอาดด้วยการมุ่งเน้นพัฒนาในส่วนของโซลาร์รูฟ เพราะจะได้ประโยชน์ 2 เรื่อง คือ ได้พลังงานสะอาด กับการประหยัดต้นทุน โดยปัจจุบันใช้ 2 ลักษณะ คือ ลงทุนในสถานีบริการน้ำมัน หรือคาเฟ่ อเมซอน ในโครงสร้างที่สามารถลงโซลาร์รูฟได้ ผลของการติดตั้งไปแล้วทำให้ประหยัดค่าไฟได้ถึง 20% เมื่อเทียบกับที่ไม่ได้ติดโซลาร์รูฟ

ขณะเดียวกันก็มีการให้บริการรับติดตั้งและเดินระบบโซลาร์รูฟเพื่อให้ธุรกิจพลังงานสะอาดเกิดขึ้นในไทย โดยฐานลูกค้าที่มีก็คือ ดีลเลอร์ตัวแทนจำหน่ายน้ำมัน PTT Station ที่มีอยู่ประมาณ 2,000 ราย และยังมีกลุ่มลูกค้าอีกตลาดหนึ่งคือ ลูกค้าตลาดพาณิชย์ ไม่ว่าจะเป็นโรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม ห้างสรรพสินค้า หรือมหาวิทยาลัย “เราเริ่มเข้าไปให้บริการแล้ว”

หลังคา โรงงาน CPF ได้ถึง 40 MW

ในฝั่งของโรงงานผู้ใช้ไฟฟ้า ดร.สมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL กล่าวว่า บริษัทได้มีโอกาสเข้าร่วมไปติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาโรงงานของเครือเจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ภายใต้โครงการ CPF Solar Rooftop เป็นความร่วมมือในรูปแบบสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่มีมูลค่าโครงการประมาณ 1,400 ล้านบาท

โดย “กันกุล” เป็นผู้ลงทุนและดูแลระบบตลอดอายุสัญญาระยะเวลา 15 ปี มีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ 120,000 แผ่น บนหลังคาของโรงงาน CPF จำนวน 34 แห่ง ขนาดกำลังการผลิต 40 เมกะวัตต์ (MW) สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ได้ถึง 53 ล้านหน่วยต่อปี นับได้ว่าเป็นโครงการ Solar Rooftop ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

เช่นเดียวกับ นายวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือเบทาโกร บมจ.เบทาโกร กล่าวว่า เบทาโกรได้ลงทุนพัฒนาพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในปริมาณประมาณ 42 MW สามารถผลิตไฟฟ้าได้ในสัดส่วนคิดเป็น 5% ของความต้องการใช้ไฟของบริษัท ซึ่งเป็นไปตามแผนกลยุทธ์การสร้างความยั่งยืน (sustainability)

เอกชนติดโซลาร์ใกล้ 1,000 MW

ด้านนายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า ภาคเอกชนในส่วนของโรงงานและภาคธุรกิจ หรือ IPS เกิดความตื่นตัวมีการติดตั้งแผงโซลาร์รูฟบนหลังโรงงานอย่างมาก จนถึงปัจจุบันมี IPS และโซลาร์ประชาชนรวม 994.87 MW จำนวนราย 7.469 แห่ง ซึ่งคุ้มค่าต่อการลงทุน โดยเฉพาะโรงงานใช้ไฟมากในช่วงกลางวันจะสามารถประหยัดค่าไฟประมาณ 3-4 บาท/หน่วย

“เดิมรัฐบาลยังไม่ได้ซื้อไฟฟ้าส่วนเกินที่ผลิตในช่วงที่โรงงานหยุด แต่จากการที่ราคาก๊าซ LNG ปรับสูงขึ้น ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้า ทาง กกพ.จึงได้ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าคืนจากทั้งผู้ที่มีสัญญาขายไฟ แต่ให้ราคาประมาณ 0.50 บาท/หน่วย หรือต่ำกว่าโซลาร์ประชาชนที่ให้ราคา 2.20 บาท/หน่วย เนื่องจากระบบโซลาร์ของโรงงานส่วนใหญ่ถูกออกแบบมาให้ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตได้จนหมด จะเหลือไฟฟ้าส่วนเกินที่จะขายคืนกลับมาก็มักจะเป็นในช่วงออฟพีก ซึ่งมีความต้องการใช้ไฟฟ้าน้อย เมื่อรัฐรับซื้อมาจึงต้องมีต้นทุนในการบริหารจัดการ” นายคมกฤชกล่าว

ส่วนโครงการโซลาร์ภาคประชาชนที่มีเป้าหมายจะรับซื้อไฟฟ้าคืน 2.20 บาท/หน่วยนั้น ตั้งแต่ปี 2562-2564 มีติดตั้งไปแล้วรวม 1,642 ราย ปริมาณ 9,078.5 kWp ในอนาคต กกพ.มีแผนที่จะพิจารณาเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินมากขึ้น

“ระบบรับซื้อคืน ถ้าจะให้เป็นธรรม เราจะไม่ใช้คำว่า ‘เน็ตวิทเตอริ่ง’ คุณคืนตอนไหน คุณก็ได้ค่าไฟตอนนั้น ถ้าขายคืนออฟพีกก็ได้ในราคาถูก แต่ถ้าคืนในช่วงพีกก็ได้ค่าไฟที่แพง สามารถให้ได้ 2.50-3.00 บาท แต่ติดตรงที่ว่าช่วงเวลานั้นโรงงานเขาไม่มีไฟส่วนเกินมาขาย แต่เขาจะเหลือไฟขายเฉพาะช่วงเวลาออฟพีกที่โรงงานหยุดใช้ไฟ”

ส่วนความกังวลที่ว่า หากมีผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองมากขึ้นจะกระทบต่อรายได้ผู้ผลิตไฟฟ้าหลักนั้น นายคมกฤชเชื่อว่าจะไม่กระทบต่อรายได้ของผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ แต่อนาคตผู้ผลิตไฟฟ้าโดยเฉพาะการไฟฟ้าต้องมองถึงโอกาสปรับมุมมองเกี่ยวกับบทบาทจากการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเพื่อขาย มาเป็นผู้ให้บริการสายส่งมากกว่า

จับตาค่า Ft สิ้นปีพุ่ง 40 สต.

สำหรับแนวโน้มการพิจารณา ค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ในงวดต่อไป คือ งวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 คาดว่าค่า Ft จะเพิ่มขึ้นประมาณ 40 สตางค์/หน่วย ซึ่งเป็นไปตามสมมุติฐานแบบขั้นบันไดที่วางไว้เดิม แต่ก็ต้องพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ อย่างรอบด้านอีกครั้ง

“สถานการณ์ราคาก๊าซตอนที่เราประเมินค่า Ft งวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 2565 ตอนนั้นกำลังอยู่ระหว่างการส่งมอบแหล่งก๊าซเอราวัณในอ่าวไทย ซึ่งยังไม่มีความแน่นอนของปริมาณก๊าซที่จะได้รับ แต่ตอนนี้มันผ่านช่วงเวลาของการส่งมอบแหล่งก๊าซมาแล้ว แม้ว่าการผลิตในแหล่งเอราวัณจะยังลดลงต่ำกว่าเดิม เราก็ต้องนำเข้าก๊าซ LNG เข้ามาเพิ่มในสัดส่วนที่สูงขึ้น ส่งผลทำให้ราคาค่าไฟฟ้าต้องปรับขึ้นตามราคา LNG ในช่วงมกราคม-มีนาคม 2565 ราคา LNG แพงมากอยู่ประมาณ 30-40 เหรียญสหรัฐ/ล้าน BTU โรงไฟฟ้าจึงมีการเปลี่ยนมาใช้น้ำมันแทน LNG แต่พอถึงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนนี้ ราคา LNG ถูกลงมาแล้ว เหลือเพียง 20-23 เหรียญ/ล้าน BTU ก็กลับมาใช้ LNG เป็นเชื้อเพลิงหลักเหมือนเดิม” นายคมกฤชกล่าว

ส.อ.ท.ขอปลดล็อกขายไฟ รง.

นายอาทิตย์ เวชกิจ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานกรรมการ บริษัท นีโอ คลีน เอนเนอร์ยี่ จำกัด ผู้ให้บริการด้านการออกแบบวิศวกรรมไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (EPC) และบริการลงทุนและจำหน่ายไฟฟ้าจากระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (PPA) กล่าวว่า ขณะนี้ตลาดการให้บริการผลิตติดตั้งแผงโซลาร์ครบวงจรได้รับความนิยมมากขึ้น จากกลุ่มลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรม “มีอัตราเติบโตเป็น exponancial แน่นอน”

จากปัจจัยการประเมินแนวโน้มค่าไฟฟ้าภายในประเทศว่า ค่าไฟฟ้าจะทยอยปรับราคาขึ้นจาก 1 บาท ปีที่แล้วจนถึงปี 2566 จะปรับขึ้นไปถึง 5 บาท ดังนั้นการติดตั้งแผงโซลาร์จะสามารถช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าให้กับโรงงานได้ 5-10% โดยเฉลี่ย แต่อาจจะประหยัดได้มากกว่านั้น หากโรงงานที่ติดเป็นโรงงานที่มีการเดินเครื่องผลิต 6-7 วัน/สัปดาห์ ใช้ไฟฟ้าช่วงกลางวันก็จะประหยัดได้สูงสุด 30%

ยกตัวอย่างเช่น โรงงานที่มีการใช้ไฟฟ้า 800,000 บาทต่อเดือน เมื่อติดตั้งแผงโซลาร์ขนาด 1 MW ต้นทุนติดตั้งอยู่ระหว่าง 24-25 ล้านบาท (รวมการออกแบบติดตั้ง-การขออนุญาตแล้ว) จะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้เดือนละ 500,000 บาท แต่ระบบนี้ยังไม่รวมค่าระบบกักเก็บพลังงาน หรือ energy storage ซึ่งปัจจุบันระดับราคาต้นทุนยังสูง คิดเป็นต้นทุนค่าไฟ 6-7 บาท/หน่วย

แต่เชื่อมั่นว่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ระบบกักเก็บพลังงาน ESS จะมาแน่นอน ส่งผลให้การติดตั้งโซลาร์จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก 2-3 เท่า

“หาก กกพ.ยอมปลดล็อกการขายไฟเข้าสู่ระบบ เช่นเดียวกับโซลาร์ประชาชน ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เรียกร้องมาตลอด ก็จะช่วยกระตุ้นให้มีการติดตั้งแผงโซลาร์เติบโตมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าก๊าซ LNG มาใช้ผลิตไฟฟ้าลงได้อย่างมาก และในอนาคตประเทศไทยควรวางแผนบริหารจัดการปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ จากปัจจุบันที่ยังไม่มีระบบกักเก็บ ทำให้ไฟที่ผลิตได้จากโซลาร์เหลือทิ้ง 15%” นายอาทิตย์กล่าว

Source : ประชาชาติธุรกิจ

ยักษ์เอกชนแห่ใช้พลังงานทดแทนลดต้นทุนค่าไฟ “ศรีตรัง-CPF-WHA-S&P” เดินหน้าขยายลงทุน “โซลาร์รูฟ” เคแบงก์-SCB อัดแคมเปญดอกเบี้ยหนุนสินเชื่อธุรกิจ-บ้านติดตั้ง “solar roof” ชี้ประหยัดได้กว่า 60% พร้อมเดินหน้าเข้าสู่ net zero

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันภาคเอกชนโรงงานและภาคธุรกิจ ตื่นตัวติดตั้งแผงโซลาร์รูฟบนหลังคาโรงงานมากถึง 1,000 เมกะวัตต์ เนื่องจากคุ้มค่าต่อการลงทุนที่ต้องใช้ไฟตอนกลางวัน ซึ่งโซลาร์รูฟท็อปช่วยประหยัดค่าไฟได้ 3-4 บาทต่อหน่วย ล่าสุดรัฐก็มีนโยบายรับซื้อไฟฟ้าส่วนที่เหลือ หากโรงงานมีขนาดหลังคาใหญ่ก็จะสามารถติดตั้งแผงโซลาร์ได้คุ้มค่าการลงทุนมากขึ้น

จากที่ราคา LNG ปรับสูงขึ้นส่งผลต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้า กกพ.จึงประกาศรับซื้อไฟฟ้าคืน โดยโรงงานที่ติดตั้งโซลาร์ต้องการขายไฟส่วนที่เหลือใช้ หรือส่วนที่เก็บไว้ช่วงออฟพีกคืนกลับระบบของ 3 การไฟฟ้า เพียงแต่ระดับราคารับซื้ออาจไม่สูง ซึ่งรัฐต้องบริหารจัดการต่อภาระต้นทุน ขณะที่ภาคประชาชนก็ได้รับการส่งเสริมตาม “โครงการโซลาร์ประชาชน” โดยปี 2562-2564 มีผู้ติดตั้งโซลาร์รูฟรวม 1,290 ราย กำลังการผลิตรวม 7.1 MW

เอกชนแห่ติดโซลาร์รูฟ

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การที่โรงงานเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน เช่น การติดแผงโซลาร์รูฟท็อป เป็นส่วนที่ช่วยลดต้นทุนได้ เพราะตอนนี้ทั้งราคาและคุณภาพของแผงโซลาร์ก็ดีขึ้น ธนาคารหลายแห่งก็ให้สินเชื่อพิเศษสำหรับการลงทุนในส่วนนี้ เชื่อว่าหากภาครัฐมีการสนับสนุนเพิ่มเติมให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงาน green ก็จะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการ

นายภาณุพงศ์ สิรโยภาส ผู้จัดการกลุ่มฝ่ายความยั่งยืนองค์กร บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) และบริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทได้ส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานหมุนเวียน โดยการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาโรงงาน และโรงงานที่มุกดาหารก็ทำโซลาร์โฟลตติ้ง อีกทั้งพยายามใช้พลังงานจากไฟฟ้าชีวมวล (ไบโอแมส) ร่วมคู่ขนาน ทำให้ที่ผ่านมาซื้อไฟจากภายนอกลดลง และมีแผนจะขยายลงทุนการใช้พลังงานหมุนเวียนในโรงงานอื่น ๆ พร้อมกับเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกนำพลังงานสะอาดมาชดเชย ซึ่งหลายบริษัทก็สามารถผลิตไฟฟ้าและขายคืนสู่ระบบได้

CPF-WHA ขยายลงทุนโซลาร์

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานการสำรวจข้อมูลพบว่าภาคธุรกิจตื่นตัวติดตั้งแผงโซลาร์ในหลังคาอย่างมาก เช่น บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) มีนโยบายยกเลิกใช้ถ่านหินในปี 2565 “CPF Coal Free 2022” โดยเสริมโครงการฟาร์มและโรงงานใช้พลังงานหมุนเวียน โดยมีการได้ติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาโรงงานและอาคารสำนักงานไปแล้ว 23 แห่ง โซลาร์ฟาร์ม 4 แห่ง และโซลาร์ลอยน้ำ 2 แห่ง และกำลังจะเดินหน้าโครงการนี้ระยะ 3

คาดว่าจะติดตั้งโซลาร์รูฟ โซลาร์ฟาร์ม และโซลาร์ลอยน้ำอีกไม่น้อยกว่า 60 แห่ง ในปี 2566 จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์รวม 43 เมกะวัตต์ เทียบเท่าการใช้ไฟฟ้า 62 ล้านหน่วยต่อปี

ขณะที่ บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) จัดทำโครงการโซลาร์รูฟท็อปขนาด 820 KWp พ่วงระบบกักเก็บพลังงานขนาด 550 KWh เมื่อปี 2564 เพื่อจ่ายไฟให้ระบบสาธารณูปโภคภายในนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) ช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานได้4 ล้านบาทต่อปี และลดการปล่อย CO2 สู่ชั้นบรรยากาศได้ถึง 10,500 ตัน

ทางด้าน บมจ.เอส แอนด์ พี ซินดิเคท ผู้ผลิตเบเกอรี่ S&P ได้ขยายพื้นที่โครงการโซลาร์รูฟโรงงานเบเกอรี่ เฟส 2 เมื่อปี 2564 ส่งผลให้ผลิตไฟฟ้าได้รวม 997.5 กิโลวัตต์ โดยสามารถผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 1.35 ล้านหน่วย ทำให้การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิตเบเกอรี่ของบริษัทมีสัดส่วนถึง 35-40%

SCB-KBANK หนุนปล่อยกู้

นางสาวอรรัตน์ ชุติมิต รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจรายย่อยและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ก่อนหน้านี้ธนาคารได้ร่วมมือกับบริษัท กันกุล โซลาร์ คอมมูนิตี้ จำกัด ทำแคมเปญพิเศษให้ลูกค้าสินเชื่อบ้านที่สนใจติดตั้งโซลาร์รูฟ “ร้อนนี้ ติดโซลาร์หั่นค่าไฟ” โดยลูกค้าที่สนใจติดตั้งโซลาร์รูฟกับกันกุลฯ ตั้งแต่ 1 มี.ค.-30 เม.ย. 2565 รับส่วนลดสูงสุด 59,900 บาท รับประกันการติดตั้ง 2 ปี ทั้งยังเป็นการตอบโจทย์วิถีชีวิตใหม่ที่คนทำงานที่บ้านมากขึ้น รวมถึงผู้บริโภคที่ให้ความใส่ใจกับการใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อลดภาวะโลกร้อน

“เราคาดว่ากลุ่มลูกค้าที่มีค่าใช้จ่ายค่าไฟต่อเดือน 3,000 บาทขึ้นไป จะให้ความสนใจโซลูชั่นนี้ เพราะสามารถช่วยประหยัดค่าไฟได้สูงสุด 60% ต่อเดือน และยังช่วยลูกค้าเพิ่มรายได้อีกทาง โดยกรณีลูกค้ามีไฟฟ้าส่วนที่เหลือใช้สามารถนำมาขายไฟให้แก่ภาครัฐ โดยกันกุลฯจะเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการประสานงานกับภาครัฐให้แก่ลูกค้าที่ใช้บริการดังกล่าวอีกด้วย”

นางชลารัตน์ พินิจเบญจพล รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังเปิดตัวโครงการสินเชื่อ GREEN ZERO ช่วงเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ปัจจุบันมีลูกค้ายื่นขอสินเชื่อบ้าน “Solar Roof” แล้ว 5 ราย วงเงินกู้ประมาณ 31 ล้านบาท ซึ่งธนาคารกำลังเร่งประชาสัมพันธ์และหาพันธมิตรทั้งในส่วนบริษัทอสังหาฯและผู้ประกอบการโซลาร์รูฟ

ขณะเดียวกัน ธนาคารได้ร่วมกับผู้ประกอบการอสังหาฯรายใหญ่ที่ออกแบบโครงการติดตั้งโซลาร์รูฟพร้อมขาย ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในการลดค่าไฟที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิดเมื่อสองปีก่อน จึงมองว่าสินเชื่อบ้านโซลาร์รูฟจะมีแนวโน้มที่ดี สอดคล้องกับที่ทั่วโลกมีการตื่นตัวกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กระแสการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคม (ESG) ในส่วนของประเทศไทย ภาครัฐประกาศ Net Zero ในปี 2065 ซึ่งในส่วนของธนาคารก็ให้ความสำคัญเรื่อง ESG มาอย่างต่อเนื่อง

Source : ประชาชาติธุรกิจ