ใครจะไปคิดว่าการมีป่า และการดูแลรักษาป่า จะสามารถสร้างรายได้กว่า 7 ล้านบาทได้ แต่ก็เกิดขึ้นจริงแล้ว ที่ชุมชนบ้านโค้งตาบาง ซึ่งเป็นป่าชุมชนขนาดใหญ่ มีเนื้อที่กว่า 3,276 ไร่ ตามพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ตั้งอยู่ที่ ตำบลท่าไม้รวก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ป่าชุมชนแห่งนี้มีการขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย ด้วยพื้นที่ 1,397 ไร่ เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2558

ที่มาที่ไปของป่าชุมชนบ้านโค้งตาบางนี้ ก็เป็นความร่วมมือระหว่าง คณะกรรมการป่าชุมชนบ้านโค้งตาบาง กรมป่าไม้ และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ร่วมมือกันจัดทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย หรือ T-VER (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) ขึ้น ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากทาง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และบริษัท ราชกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) อีกด้วย ทำให้โครงการนี้สามารถประสบความสำเร็จ

โดยทางคณะกรรมการป่าชุมชนบ้านโค้งตาบาง และสมาชิก ได้ช่วยกับควบคุมดูแลป่าชุมชนแห่งนี้ และยังทำหน้าที่ปกป้องรักษาป่าชุมชน รวมถึงการปลูกป่าฟื้นฟูป่าชุมชนแห่งนี้ ซึ่งถือว่าเป็นโครงการที่ได้รับความร่วมมือจากชุมชนเป็นอย่างดี ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ป่าชุมชนบ้านโค้งตาบาง สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการถูกทำลายของป่า รวมถึงความเสื่อมโทรมที่เกิดขึ้น และยังช่วยเพิ่มการกักเก็บคาร์บอน ซึ่งป่าชุมชนบ้านโค้งตาบาง มีคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรอง มากถึง 5,259 ตัวคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า คิดเป็นมูลค่ากว่า 7 ล้านบาท

ภาพ : สำนักข่าวไทย

ภาพ : สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม

ที่มาที่ไปของตัวเลขรายได้นี้ก็มาจาก ทางกรมป่าไม้ได้มีการจัดแถลงข่าว เปิดตัวการซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตจากป่าชุมชน สู่การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 25 กันยายน ที่ผ่านมา ซึ่งมีภาคเอกชนจำนวน 3 บริษัท ได้ให้ความสนใจแจ้งความประสงค์ในการจองการซื้อขายคาร์บอนเครดิตของป่าชุมชนบ้านโค้งตาบาง ได้แก่ บริษัท ณ.ฤทธิ์ จำกัด บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 7,099,500 บาท ซึ่งรายได้ทั้งหมดนี้จะเข้าบัญชีทรัพย์สินส่วนกลางของป่าชุมชนบ้านโค้งตาบางทั้งหมด

ภาพ : สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ป่าชุมชนบ้านโค้งตาบาง

บ้านโค้งตาบาง เป็นหมู่บ้านที่จัดตั้งขึ้นใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๒ โดยแยกตัวออกมาจาก บ้านไร่หลวง หมู่ที่ 7 ตำบลท่าไม้รวก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรีโดยมี นายฉันท์ อัครสกุลภิญโญ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก จนถึงปัจจุบัน เดิมทีราษฎรที่ชื่อ นายบาง และครอบครัว ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนตรงบริเวณทางโค้ง ถนนสายเขื่อนเพชร – เขาลูกช้าง ซึ่งเป็นถนนสายหลักของหมู่บ้าน จนชาวบ้านเรียกบริเวณนี้ว่า “โค้งตาบาง” และให้เรียกชื่อหมู่บ้านว่า “หมู่บ้านโค้งตาบาง” จนถึงปัจจุบัน

ภาพ : กรมป่าไม้

ชื่อป่าชุมชน : ป่าชุมชนบ้านโค้งตาบาง
ปีที่เริ่มโครงการ : 2558
ที่ตั้ง : ต.ท่าไม้รวก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี
เนื้อที่ : 3276 ไร่ 0 งาน 0 ตารางวา
ประเภทป่า : ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าชะอำและป่าบ้านโรง จ.เพชรบุรี
สถาพทั่วไป : เป็นพื้นที่ราบภูเขา เป็นดินทรายปนลูกรัง การคมนาคมสะดวก บางแห่งเป็นพื้นที่ราบ มีพันธุ์ไม้ขนาดเล็กทั่วๆไป
หมู่บ้าน : โค้งตาบาง (หมู่ 10)

ปีที่ขึ้นทะเบียน : 2558ปีที่สิ้นสุด : 2568
เลขที่หนังสืออนุมัติโครงการ : ทส 1604.43/15364 ลว 17 ตุลาคม 2557

ทำไมป่าชุมชนบ้านโค้งตาบาง ถึงขายคาร์บอนเครดิตได้

  1. การอนุรักษ์ป่า ชมชุนบ้านโค้งตาบาง ได้มีคณะกรรมการ และสมาชิกของป่าชุมชมแห่งนี้ ได้ร่วมมือกันดูแล และอนุรักษ์ผืนป่าชุมชมมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ป่าสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ได้มากขึ้น
  2. การขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย ด้วยพื้นที่ 1,397 ไร่ เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2558
  3. การวัดปริมาณคาร์บอน ชุมชนได้มีการวัดและประเมินปริมาณคาร์บอนที่ป่าชุมชนดูดซับได้อย่างถูกต้องตามมาตรฐานสากล

ประโยชน์ของการขายคาร์บอนเครดิต

  • สร้างรายได้ให้ชุมชน รายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตสามารถนำไปพัฒนาชุมชน สร้างรายได้ให้แก่สมาชิกชุมชน และส่งเสริมการอนุรักษ์ป่าในระยะยาว
  • ส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การขายคาร์บอนเครดิตเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ชุมชนและภาคเอกชนร่วมกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
  • สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้ชุมชน ชุมชนบ้านโค้งตาบางได้รับการยอมรับในระดับประเทศและนานาชาติในฐานะชุมชนที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

ความสำเร็จของชุมชนบ้านโค้งตาบางในการขายคาร์บอนเครดิต เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนเอง ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีในการนำป่าชุมชนมาใช้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน

มูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน เปืดตัวโครงการตลาดคาร์บอนครัวเรือนภาคสมัครใจ ภายใต้งบประมาณหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , กลุ่มเซ็นทรัล และบริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)  ให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถแลกคะแนน The 1 ของเครือเซ็นทรัล ได้ พร้อมนำร่องจากโครงการบ้านพลังงานเป็นศูนย์ของเสนา ตั้งเป้าหมายไว้ไม่น้อยกว่า 300 ครัวเรือน

วันนี้  14 มิถุนายน 2567 ดร.สุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานกรรมการมูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน แถลงข่าวประชาสัมพันธ์โครงการตลาดคาร์บอนครัวเรือนภาคสมัครใจ ภายใต้งบประมาณหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , กลุ่มเซ็นทรัล และบริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ด้วยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคครัวเรือน เป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการเปิดรับพลังงานสะอาด และการมีส่วนร่วมในโครงการ ตลาดคาร์บอนครัวเรือนภาคสมัครใจ ซึ่งจะนำไปสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อนาคตสะอาดและความยั่งยืนในที่สุด ณ ห้อง Lotus 3-4 Centara Grand & Bangkok Convention Centre at CentralWorld

ศาสตราจารย์ ดร.อาภาณี เหลืองนฤมิตชัย ประธานคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มพลังงาน เคมีและวัสดุชีวภาพ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวว่า ในฐานะหน่วยงานที่ให้ทุนโครงการ วิจัยและพัฒนาตลาดคาร์บอนครัวเรือนภาคสมัครใจ เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดในการสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำภายใต้แผนงานพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการใช้ประโยชน์พลังงานสะอาด พัฒนาระบบเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-GreenEconomy: BCG) ในด้านพลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน วัสดุชีวภาพ และเคมีชีวภาพให้เป็นระบบเศรษฐกิจมูลค่าสูง มีความยั่งยืนและเพิ่มรายได้ของประเทศพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้มีความสามารถในการแข่งขัน และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

พร้อมก้าวสู่อนาคตโดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม และดำเนินการร่วมกับการทำแพลตฟอร์มตลาดคาร์บอนครัวเรือนภาคสมัครใจ โดยสามารถติดตามข้อมูลการผลิตพลังงานจากระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาและปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงสามารถนำก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงได้ไปแลกเปลี่ยนกับสินค้าหรือบริการของภาคธุรกิจที่เข้าร่วม รวมถึงการจัดทำระบบนิเวศของแพลตฟอร์มตลาดคาร์บอนครัวเรือนภาคสมัครใจให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้แพลตฟอร์ม เช่น ภาคครัวเรือนต้องการผลตอบแทนจากการใช้พลังงาน ภาคธุรกิจต้องการปริมาณคาร์บอน เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำในการดำเนินธุรกิจโดยมีอัตราแลกเปลี่ยนที่จูงใจในการทำธุรกรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสร้างคุณค่าสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน

ดร.สุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานกรรมการมูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน กล่าวว่า โครงการ”วิจัยและพัฒนาตลาดคาร์บอนครัวเรือนภาคสมัครใจ เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด ในการสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ “มีปัจจัยที่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินโครงการเนื่องจาก นโยบายด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ซึ่งตอบรับกับความร่วมมือในการลดภาวะโลกร้อนของนานาประเทศ การสนับสนุนตลาดคาร์บอนทั้งในระดับนานาชาติและระดับประเทศ การเติบโตของจำนวนผู้ใช้พลังงานทดแทนและพลังงานสะอาด และปัจจุบันมีการนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้ในภาคธุรกิจ โดยในโครงการจะพัฒนาตลาดคาร์บอนครัวเรือนภาคสมัครใจ ด้วยการจัดทำแพลตฟอร์มในการติดตามการผลิตพลังงานทดแทนและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะมุ่งเน้นครัวเรือนที่ติดตั้ง Solar Cell ก่อน เนื่องจากมีจำนวนผู้ใช้งานมากและมีนโยบายจากภาครัฐที่ชัดเจน ทั้งนี้แพลตฟอร์มที่จะพัฒนาขึ้นจะสามารถแลกเปลี่ยนก๊าซเรือนกระจกที่สามารถลดได้ไปเป็นสินค้าหรือบริการกับภาคธุรกิจที่เข้าร่วม โดยภาคธุรกิจสามารถนำคาร์บอนที่ได้ไปใช้ในการดำเนินธุรกิจด้วยแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน และการดำเนินการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) หรือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero emissions) ซึ่งจะเกิดประโยชน์แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องดังนี้

  1. ภาคครัวเรือน มีช่องทางการสร้างรายได้จากการใช้พลังงานสะอาด หรือสามารถแลกเป็นสินค้าและบริการจากภาคธุรกิจที่เข้าร่วมผ่านแพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้น ทั้งยังสร้างคุณค่าให้กับผู้ใช้พลังงานสะอาดในการเป็นส่วนหนึ่งของการลดภาวะโลกร้อน
  2. ภาคธุรกิจ สามารถดำเนินธุรกิจด้วยแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนในส่วนการใช้พลังงานสะอาด โดยการซื้อคาร์บอนเครดิต หรือแลกเปลี่ยนเป็นสินค้าและบริการให้กับครัวเรือนที่เข้าร่วมผ่านแพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้น ซึ่งจะส่งเสริมภาพลักษณ์ของการดำเนินธุรกิจซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มยอดขาย สร้างการเติบโตของธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในระยะยาว
  3. ประเทศไทย สามารถพัฒนาตลาดคาร์บอนครัวเรือนแบบภาคสมัครใจให้เกิดขึ้นจริงในประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้เป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศประสบความสำเร็จ โดยจะส่งผลให้ทั้งประชาชนและภาคธุรกิจหันมาใช้พลังงานสะอาดรวมถึงการดำเนินการด้านอื่นที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้มากขึ้น และยังสร้างผลประโยชน์ร่วมในหลายด้าน เช่น การบรรเทาผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ, การรักษาความมั่นคงทางพลังงาน, นวัตกรรมเทคโนโลยี การลดต้นทุนทางพลังงาน การจ้างงาน และลดการย้ายถิ่นฐานเข้าเมือง เป็นต้น ส่งผลให้ประเทศไทยเติบโตอย่างก้าวหน้าและยั่งยืนต่อไป

รศ.วงกต วงศ์อภัย รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพหุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า สถาบันวิจัยพหุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นหน่วยงานที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประเมินภายนอกสำหรับโครงการภาคสมัครใจของประเทศไทย ได้ดำเนินการประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจก ตามมาตรฐานต่างๆ เช่น Thailand Voluntary Emission Reduction Program (T-VER) หรือที่รู้จักในวงกว้างว่า คาร์บอนเครดิต ที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. กำหนด โดยมีขั้นตอนการดำเนินการเบื้องต้น 6 ขั้นตอน คือ

  1. การจัดทำเอกสารโครงการ
  2. การตรวจสอบเอกสาร หรือ Validation
  3. การขึ้นทะเบียนโครงการ Solar ดังกล่าวกับ อบก.
  4. การดำเนินการโครงการพร้อมการตรวจวัดต่างๆ
  5. การจัดทำเอกสารขอทวนสอบผลคาร์บอนเครดิตที่ได้ ก่อนที่จะนำไป
  6. ยื่นขอรับรองคาร์บอนเครดิตจากทาง อบก.ในท้ายที่สุด

ทั้งนี้การตรวจสอบเอกสารและทวนสอบต่างๆถือเป็นความสำคัญและจำเป็นที่ประเทศต้องการ รวมถึงเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศในอนาคต

คุณพิชัย จิราธิวัฒน์   กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า ณ ปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีความต้องการคาร์บอนเครดิตเป็นอย่างมาก และในอนาคตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสูง จากกระแสความตื่นตัวและความมุ่งมั่นทั้งในระดับประเทศและระดับองค์กรที่มีการตั้งเป้าหมายที่จะเป็น Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions และกระแสโลกเรื่อง Climate Change เป็นเรื่องที่สำคัญมากและทุกคนต้องลงมือแก้ปัญหานี้ด้วยกันโดยเฉพาะภาคธุรกิจ เป็นภาคส่วนที่มีศักยภาพในการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่างๆ กลุ่มเซ็นทรัล จึงมีความต้องการที่จะซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชยในการจัดกิจกรรมอีเวนท์ต่างๆ โดยผู้เข้าร่วมโครงการ สามารถนำ Carbon Credit 1 ตันคาร์บอน มาแลกเป็นคะแนน The 1 ได้ 1,600 คะแนน เพื่อนำไปเป็นส่วนลดสินค้าและบริการ รวมถึงรับสิทธิประโยชน์ในกลุ่มเซ็นทรัลทั่วประเทศ และกลุ่มเซ็นทรัลมีความมุ่งหวังให้การเติบโตของธุรกิจจะต้องควบคู่ไปกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน และตระหนักว่าต้องเริ่มตั้งแต่ต้นทางของห่วงโซ่อุปทานตลอดจนถึงปลายทางของการจัดการอย่างถูกหลัก โดยหนึ่งในเป้าหมายคือการปรับเปลี่ยนหันมาใช้พลังงานสะอาดและยั่งยืน เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินธุรกิจ ทั้งยังช่วยลดปัญหามลพิษด้วยพลังงานสะอาด และสอดคล้องกับเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมของโลก  

ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เสนาฯ ถือเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายแรกของไทยที่เริ่มสร้างบ้านพร้อมติดโซลาร์รูฟให้พร้อมใช้งานตั้งแต่ซื้อบ้านทั้งโครงการเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ขณะนั้นมองว่าการใช้พลังงานทดแทนคือเทรนด์ของอนาคต ที่นอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของลูกบ้านแล้ว ยังลดการสร้างคาร์บอนที่เป็นต้นเหตุของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ทั้งนี้สิ่งที่เสนาให้ความสำคัญคือการพัฒนาโครงการและสนับสนุนการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ด้านการใช้พลังงานทดแทนที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของลูกบ้าน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการลดคาร์บอนขององค์กร

โดยเฉพาะการนำแนวคิดบ้านพลังงานเป็นศูนย์ (Zero Energy Housing) ซึ่งสามารถประหยัดการใช้ไฟฟ้าของบ้านได้สูงสุดถึง 38% และการส่งเสริม Decarbonized Lifestyle ให้ลูกบ้านสามารถใช้ชีวิตรักษ์โลกได้ง่ายๆ เพียงอยู่กับเราเท่านั้น ปัจจุบันเสนาติดตั้งโซลาร์รูฟให้กับลูกบ้าน ทั้งบ้านเดี่ยวและทาวน์โฮมแล้วทั้งหมดทุกโครงการรวมกว่า 1,000 หลังสำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ลูกบ้านเสนาที่ติดโซลาร์ สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ได้ โดยปริมาณคาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้นจะสามารถนำไปแลกคะแนนเพื่อใช้เป็นส่วนลดหรือซื้อของต่อไปได้ เช่น ลูกบ้านที่ติดตั้งโซลาร์ 5kw คาร์บอนเครดิตจะถูกคำนวณและสามารถเปลี่ยนเป็นคะแนน The 1 ได้ 600 คะแนนต่อเดือน หรือ 7,200 คะแนนต่อปี โดยในเบื้องต้นตั้งเป้าว่าจะมีลูกบ้านเข้าร่วมโครงการนี้ไม่น้อยกว่า 300 หลังคาเรือน ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณโครงการดีๆ ที่ให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานสะอาด รวมถึงให้โอกาสทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนต่อไป

Source : Energy News Center

ปัจจุบัน ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ ‘ภาวะโลกรวน’ ยังส่งผลกระทบชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศไทย ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนระอุขึ้นทุกปี ภาวะน้ำท่วมรุนแรงที่เกิดขึ้นซ้ำซากดูจะมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นและสภาพอากาศที่แปรปรวนผิดฤดู ทั้งหมดนี้ส่งผลเป็นห่วงโซ่ต่อการดำรงชีวิต การประกอบอาชีพ และคุณภาพชีวิตของผู้คน รวมไปถึงการสร้างผลกระทบโดยตรงต่อปากท้องและความมั่นคงในชีวิต

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เกิดจากการที่ก๊าซเรือนกระจกถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศในปริมาณมากเกินขีดความสามารถที่ธรรมชาติจะดูดซับได้ทั้งหมด สาเหตุหลักเนื่องมาจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในบ้าน โรงงาน และยานพาหนะ ไม่ว่าจะเป็นถ่านหิน น้ำมัน หรือก๊าซธรรมชาติ เมื่อมีการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล เชื้อเพลิงเหล่านี้ก็จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมา

โดยก๊าซที่ถูกปล่อยออกมามากที่สุด คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซเรือนกระจก ดูดซับคลื่นรังสีความร้อนในชั้นบรรยากาศใกล้กับพื้นผิวโลกเอาไว้ เป็นสาเหตุให้โลกของเราร้อนขึ้น และกระตุ้นให้สภาพภูมิอากาศแปรปรวนจากเดิม ไม่เพียงแค่ร้อนผิดปกติ แต่ยังเกิดปรากฏการณ์และภัยพิบัติต่างๆ ในหลายพื้นที่บนโลกที่ผันผวนและรุนแรงมากขึ้นทุกปี

การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง ส่งผลให้ฤดูหนาวในปี 2566 ที่ผ่านมา มีอากาศที่ร้อนและอบอ้าว ทั้ง ๆ ที่เรากำลังอยู่ในฤดูหนาว ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้สรุปแล้วว่า “ปี 2023 เป็นปีที่อุณหภูมิอากาศโลกเฉลี่ยสูงที่สุดตั้งแต่มีการบันทึก” และได้พยากรณ์ต่อไปอีกว่า “อุณภูมิอากาศเฉลี่ยของปี 2024 จะสูงกว่าของปี 2023”

เปิดเมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำ 'สระบุรีแซนด์บ๊อกซ์' แก้ปัญหาโลกเดือด

อย่างไรก็ตาม ในการรับมือกับปัญหาโลกร้อนในปัจจุบัน BBC NEWS ให้ข้อมูลว่า รัฐบาลเกือบ 200 ประเทศได้ลงนามร่วมกันในความตกลงปารีสในปี 2015 โดยให้คำมั่นสัญญาว่าจะพยายามรักษาอุณหภูมิโลกให้สูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว เป้าในการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ หรือที่เรียกว่า เน็ตซีโร่ (net zero) หมายถึง การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้

รวมไปถึงการขจัดมลพิษทางอากาศที่เหลืออยู่จากชั้นบรรยากาศด้วย และควรจะบรรลุให้ได้ภายในปี 2050 ซึ่งประเทศไทยกำลังโอบรับเป้าหมายนี้อยู่ ด้วยโครงการ “สระบุรีแซนด์บ๊อกซ์” เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกในไทย เพื่อตั้งเป้าหมายในการแก้ปัญหาโลกเดือด และปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์

จุดเริ่มต้นของโครงการ “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์”

ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เปิดเผยถึงที่มาของโครงการ “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” ว่า ตามที่ประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ในการยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ด้วยทุกวิถีทาง เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี ค.ศ. 2065

เปิดเมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำ 'สระบุรีแซนด์บ๊อกซ์' แก้ปัญหาโลกเดือด

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ (สอวช.) จึงได้ขับเคลื่อนโดยนำการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) เข้ามาเพื่อสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว โดยได้วางแนวทางข้อริเริ่มในการทำงานเชิงพื้นที่ มุ่งเน้นนวัตกรรม และเชื่อมโยงกลไกระดับนานาชาติ ร่วมกับ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ โดยสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (Thai Cement Manufactures Association: TCMA) สมาคมคอนกรีตแห่งประเทศไทย (Thailand Concrete Association: TCA) ในพื้นที่จังหวัดสระบุรี แหล่งอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ที่ใหญ่ที่สุดในไทย

ซึ่งมีความท้าทายในการเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมหนักและการขับเคลื่อนองคาพยพในรายสาขาต่างๆ (Sector) ภายใต้เป้าหมายเดียวกัน หากสามารถเปลี่ยนให้เป็นเมืองคาร์บอนต่ำได้สำเร็จ จ.สระบุรี จะสามารถเป็นต้นแบบให้กับจังหวัดหรือพื้นที่อื่นๆ ในการแก้ปัญหาได้

ดร. กิติพงศ์ กล่าวต่อไปว่า สระบุรีแซนด์บ๊อกซ์ เป็นส่วนย่อของประเทศไทยในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และเชื่อว่าจังหวัดสระบุรีจะเป็นจังหวัดแรกที่ประสบความสำเร็จ เพราะว่ามีองคาพยพที่พร้อมและสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรม TCMA ที่เข้มแข็ง รวมไปถึงชุมชน เกษตรกรรม และการมีส่วนร่วมในภาคครัวเรือน องคาพยพทั้งหมดนี้ส่งเสริมให้สระบุรีมีการทำงานร่วมกันที่ดี จึงเหมาะสมที่จะเป็นจังหวัดนำร่องในการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม การจะทำให้ไปสู่เป้าหมายการเป็นเมืองคาร์บอนต่ำได้สำเร็จนั้นต้องใช้นวัตกรรมและรูปแบบการทำงานข้ามภาคส่วน ความเข้มแข็งของเจ้าของพื้นที่และผู้นำของแต่ละภาคส่วนที่มีบทบาทแตกต่างกัน รวมทั้งการขอรับการสนับสนุนจากระดับนานาชาติที่มากพอให้เกิดการสร้างความเปลี่ยนแปลง และเพิ่มโอกาสของการได้รับการสนับสนุน จึงเป็นที่มาของการเกิดเป็นโครงการสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ มุ่งเน้นการลดก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่ระดับนโยบายและปฏิบัติ

เปิดเมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำ 'สระบุรีแซนด์บ๊อกซ์' แก้ปัญหาโลกเดือด

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero 2050

ศาณิต เกษสุวรรณ ที่ปรึกษาสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย กล่าวว่า สภาพอากาศในปีที่ผ่านมานั้นถือว่ามีอุณหภูมิสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ ดังนั้นเราต้องเร่งแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน ด้วยการให้ภาคอุตสาหกรรมลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้มากที่สุด และช่วยดึงคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศออกมา เช่น การปลูกป่า เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับโลก นอกจากนี้ ยังได้ให้ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ด้วยการใช้ไฟฟ้าจากโซลาเซลล์ งดการใช้ถ่านหินและหินปูนให้ได้มากที่สุด

ขณะที่ ดร.ชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย กล่าวว่า TCMA ในฐานะสมาคมที่เป็นความร่วมมือของผู้ผลิตปูนซีเมนต์ชั้นนำของประเทศ และเป็นอุตสาหกรรมหลักของจังหวัดสระบุรี จึงเป็นสาขา สำคัญที่จะมีบทบาทต่อการสนับสนุนการดำเนินการของโมเดลสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ แนวทางปฏิบัติที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และดำเนินอุตสาหกรรมด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม

มุ่งสู่เป้าหมายการปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ตาม “แผนที่นำทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และคอนกรีตของไทยมุ่งสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ พ.ศ. 2593” (2050 Net Zero Cement and Concrete Roadmap)

ความร่วมมือระหว่าง สอวช. และ TCMA มีจุดมุ่งหมายในการส่งเสริมสมาชิกของ TCMA ซึ่งเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ของไทยทุกราย เข้ามาร่วมกันดำเนินการ ด้วยการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี และการใช้กลไกการสนับสนุนจากระดับนานาชาติ เชื่อมสร้างการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ให้เกิดการทำงานร่วมกัน

เพื่อพัฒนาระบบนิเวศเมืองของจังหวัดสระบุรี ผ่านการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสีเขียว ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นส่วนสำคัญในการช่วยให้แผนงานลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศประสบความสำเร็จ และสนับสนุนอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero 2050

เปิดเมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำ 'สระบุรีแซนด์บ๊อกซ์' แก้ปัญหาโลกเดือด

การดำเนินงานครอบคลุมด้านหลักๆ ดังนี้

  1. การวิจัยพัฒนาใช้วัสดุทดแทนปูนเม็ดเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิต และการใช้นาโนเทคโนโลยีเพื่อให้ปูนซีเมนต์มีคุณสมบัติดีขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งการพัฒนาความรู้ การปรับเปลี่ยนเครื่องจักร รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนข้อกำหนด มาตรฐานการใช้งานของแต่ละหน่วยงานให้สอดคล้องกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และการส่งเสริมใช้งาน
  2. การพัฒนาผลิตภัณฑ์คอนกรีตที่ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในกระบวนการผลิตและการก่อสร้าง
  3. การพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ช่วยลดระยะเวลา แรงงาน รวมทั้งลด Waste ในการก่อสร้าง
  4. การวิจัยพัฒนาการใช้เชื้อเพลิงชีวมวล (Biomass) และเชื้อเพลิงขยะ (RDF) เพื่อใช้ทดแทนถ่านหิน ซึ่งจะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ประมาณ 9 – 12 ล้านตัน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ /ปี และลดการเกิดฝุ่น PM 2.5 จากการเผาของภาคเกษตร และช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร รวมทั้งทำให้การจัดการขยะของจังหวัดสระบุรีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
  5. การวิจัยและพัฒนา Carbon Capture and Utilization/Storage (CCUS) เป็นโครงการสำคัญที่จะช่วยลด ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เนื่องจากยังมีสัดส่วนของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ยังเหลืออยู่จากกระบวนการต่างๆ ในสัดส่วนที่ค่อยข้างสูง โครงการ CCUS ยังเป็นเรื่องใหม่ของประเทศและเทคโนโลยีด้านนี้ยังมีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการสนับสนุนข้อมูล เทคโนโลยี และเงินทุนทั้งในและต่างประเทศในการศึกษาและวิจัย

ดร. กิติพงศ์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า สระบุรีแซนด์บ๊อกซ์เป็นส่วนย่อของประเทศไทยในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และเชื่อว่าจังหวัดสระบุรีจะเป็นจังหวัดแรกที่ประสบความสำเร็จ เพราะว่ามีองคาพยพที่พร้อมและสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรม TCMA ที่เข้มแข็ง รวมไปถึงชุมชน เกษตรกรรม และการมีส่วนร่วมในภาคครัวเรือน องคาพยพทั้งหมดนี้ส่งเสริมให้สระบุรีมีการทำงานร่วมกันที่ดี จึงเหมาะสมที่จะเป็นจังหวัดนำร่องในการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ในประเทศไทย

เปิดเมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำ 'สระบุรีแซนด์บ๊อกซ์' แก้ปัญหาโลกเดือด

จาก “หญ้าเนเปียร์” สู่พืชพลังงานทดแทนในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

ด้าน เจริญชัย เฉลียวเกรียงไกร ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี กล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านพลังงานสู่ Net Zero 2050 หรือ Energy Transition เป็นหนึ่งในมาตรการหลักของการขับเคลื่อนสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมืองคาร์บอนต่ำ จึงได้มีความร่วมมือดำเนินงานระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้องด้วยการสร้างงานในพื้นที่บนฐานนิเวศการลงทุนพืชพลังงาน โดยส่งเสริมการปลูกหญ้าเนเปียร์เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมที่จะยกระดับสระบุรีสู่การเป็นเมืองคาร์บอนต่ำที่น่าอยู่ (Low Carbon and Livable City)

เป็นหนึ่งในความร่วมมือดำเนินงานระหว่างจังหวัดสระบุรี สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี และ TCMA โดยการสนับสนุนของหน่วยบริหารจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อศึกษาวิจัยการส่งเสริมและยกระดับพื้นที่ชุมชนเป็นพื้นที่ต้นแบบระบบนิเวศพืชพลังงานนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนถ่านหินในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

โดยดำเนินการนำร่องทดลองปลูกหญ้าเนเปียร์ ในพื้นที่ประมาณ 100 ไร่ ในตำบลเขาเกตุ อำเภอทับกวาง จังหวัดสระบุรี และสร้างกลไกการมีส่วนรวมของภาคประชาชนระดับพื้นที่ในรูปแบบวิสาหกิจชุมชนที่คาดหวังการนำพลังงานสะอาดนี้เข้ามาทดแทนพลังงานจากถ่านหินซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักของกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์

สำหรับหญ้าเนเปียร์เมื่อมีอายุเกิน 4-5 เดือน จะเป็นเส้นใยแล้วค่อยทำให้แห้ง ส่งเข้าที่โรงปูน โรงปูนจะรับซื้อตันละ 1,500 บาท กิโลกรัมละ 1.50 บาท เพื่อนำไปเป็นเชื้อเพลิงที่ใช้ทดแทนถ่านหิน แต่การดูแลหญ้าเนเปียร์ยังยากลำบากอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปุ๋ย น้ำ การเก็บเกี่ยว เพราะเกษตรกรมีความสามารถที่จำกัดในการทำให้หญ้าเนเปียร์ย่อยและแห้งได้เอง อาจจะต้องมีการลงทุนโรงอบเพิ่มเติมในอนาคต

เปิดเมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำ 'สระบุรีแซนด์บ๊อกซ์' แก้ปัญหาโลกเดือด

ขณะที่ สมาน แก่นพุทธา สมาชิกสภาเทศบาลเมืองทับกวาง และประธานกรรมการผู้จัดการบริษัท เฟิร์ส์ เอนเนอร์ยี่ครอป จำกัด กล่าวว่า หญ้าเนเปียร์ เป็นพืชพลังงานที่มีอายุยาวนานถึง 7-8 ปี สามารถดูดซึมคาร์บอนได้เร็ว นอกจากนำไปเป็นพืชพลังงานแล้ว หญ้าเนเปียร์ยังสามารถนำไปเป็นอาหารสัตว์ได้ด้วย ทำให้ชาวบ้านมีรายได้หลายทางจากการปลูกหญ้าเนเปียร์ ถือเป็นอีกตัวเลือกให้เกษตรกร นอกจากการทำนาและไร่ข้าวโพด

เปลี่ยนขยะธรรมดาๆ ให้เป็นพลังงาน ด้วย “ตาลเดี่ยวโมเดล”

ดร.เรวดี อนุวัฒนา ผู้เชี่ยวชาญวิจัยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กล่าวถึงโครงการ “ตาลเดี่ยวโมเดล” ซึ่งเป็นโครงการสนับสนุนสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ว่า วว. ร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น องค์การบริการส่วนตำบลตาลเดี่ยว และจังหวัดสระบุรี ในการขับเคลื่อนการพัฒนาความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์มาแก้ไขปัญหาขยะชุมชน เน้นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีการจัดการขยะ 2 แนวทาง คือ การเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน (Waste to Energy) และการเปลี่ยนขยะเพื่อสร้างรายได้ (Waste to Wealth)

โดยการสร้างแรงจูงใจให้กับชุมชนในการจัดการขยะที่ต้นทาง ร่วมกับการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานสะอาดรวมถึงผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม ด้วยการยกระดับขยะที่ดำและสกปรกให้กลายเป็นเกล็ดที่มีคุณภาพสูง และนำไปต่อยอดทำเส้นใยให้มีราคา ทำให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้สู่ชุมชน ลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังลดความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย

“การขับเคลื่อนโครงการดำเนินงานใน 2 มิติ คือ การฝึกอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้และงานวิจัย เพื่อลดปริมาณการเกิดขยะมูลฝอยจากครัวเรือนด้วยหลักการ 3Rs ให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสร้างเครื่องจักรในการคัดแยกขยะระบบกึ่งอัตโนมัติ รองรับการแก้ไขปัญหาทั้งขยะเก่าและขยะใหม่ ประมาณ 20 ตัน/วัน ในการแปรรูปขยะมูลฝอยเป็นพลาสติกรีไซเคิล สารปรับปรุงดิน น้ำหมักชีวภาพ เชื้อเพลิงจากขยะ (Refuse Derived Fuels: RDF) และพลังงานชีวภาพสะอาด ร่วมกับการลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม และการสร้างมูลค่าเพิ่มจากขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เพื่อพัฒนาให้เป็นต้นแบบการจัดการขยะชุมชนด้วยนวัตกรรมอย่างครบวงจร”

เปิดเมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำ 'สระบุรีแซนด์บ๊อกซ์' แก้ปัญหาโลกเดือด

Source : กรุงเทพธุรกิจ

คาร์บอนเครดิตเข้ามามีบทบาทมากขึ้นทั้งการซื้อขายต่างๆ เพื่อนำมาชดเชยคาร์บอนที่ปล่อยไป แต่การทำคาร์บอนเครดิตนั้นยังมีข้อจำกัดในหลายด้าน อย่างงบประมาณในการประเมินที่สูงซึ่งทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงยาก หากการช่วยเหลือจากภาคต่างๆ จะสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น

ฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า  โครงการ BAAC Carbon Credit  เป็นการซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ การครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ และตามมาตรฐานประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) เริ่มจากการขึ้นทะเบียนโครงการ การตรวจนับจำนวนต้นไม้ การตรวจรับรองคาร์บอนเครดิตจากผู้ประเมินภายนอก  การรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิตจาก อบก. เพื่อนำปริมาณการกักเก็บดังกล่าว ตอบโจทย์ความต้องการของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน  และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์  โดยนำร่องโครงการธนาคารต้นไม้บ้านท่าลี่และธนาคารต้นไม้บ้านแดง จังหวัดขอนแก่น 

ซึ่งจำนวนคาร์บอนเครดิต 400 ตันคาร์บอน โดย ธ.ก.ส. ซื้อและขายกึ่ง CSR (ความรับผิดชอบทางสังคมเชิงบรรษัท)  ในราคาตันละ 3,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงที่สุดในโลก  โดยคิดเป็นเงินรวม 1,200,000 บาท และเมื่อหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเกษตรกรในชุมชนจะมีรายได้ 842,100 บาท โครงการนี้ช่วยสร้างรายได้กลับคืนผู้ปลูกต้นไม้แล้ว ยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่จะมาดูดซับปริมาณคาร์บอน ช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน และบรรเทาผลกระทบจากปัญหาโลกร้อน และผลักดันให้ประเทศไทย สามารถบรรลุข้อตกลงความเป็นกลางทางคาร์บอนตามเป้าหมายที่วางไว้

ต้นไม้

ทั้งนี้ยังสนับสนุนให้เกษตรกร “ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนอย่างยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้โครงการธนาคารต้นไม้ จนปัจจุบันมีชุมชนธนาคารต้นไม้ 6,814 ชุมชน มีสมาชิก 124,071 คน มีต้นไม้ขึ้นทะเบียนในโครงการกว่า 12.4 ล้านต้น มูลค่าต้นไม้กว่า 43,000 ล้านบาท และการยกระดับไปสู่ชุมชนไม้มีค่า มีการนำต้นไม้ที่ปลูกมาแปลงเป็นสินทรัพย์ เพิ่มมูลค่าให้กับที่ดิน และนำมาใช้เป็นหลักประกันเงินกู้

ในปัจจุบัน ธ.ก.ส. สมาชิกในชุมชนมีรายได้จากผลิตภัณฑ์ที่ได้จากต้นไม้/ป่าไม้ ปีละ 116 ล้านบาท และเพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้กับชุมชนที่ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ธ.ก.ส. จึงได้ร่วมกับชุมชนธนาคารต้นไม้ดำเนินโครงการ BAAC Carbon Credit เพื่อเดินหน้าแนวทางการส่งเสริมการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตในประเทศ ด้านหลักการคิดคำนวณต้นไม้ 1 ต้น สร้างปริมาณคาร์บอนเครดิตได้เฉลี่ย 9.5 กิโลกรัมคาร์บอนต่อปี    

ซึ่งพื้นที่ขนาด 1 ไร่ ปลูกต้นไม้ได้เฉลี่ย 100 ต้น/ไร่ จะได้ปริมาณคาร์บอนเครดิต 950 กิโลกรัมคาร์บอนต่อปี ณ ราคาขายกึ่ง CSR 3,000 บาทต่อตันคาร์บอน บนอัตราคำนวณรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย 70/30) เมื่อหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน อย่าง ค่าขึ้นทะเบียนต้นไม้ในแต่ละต้น การตรวจนับและประเมิน การออกใบรับรอง เป็นต้น คิดเป็น 30% ของมูลค่าการขาย ดังนั้น เกษตรกรจะได้รับผลตอบแทนหลังหักค่าใช้จ่ายที่ 70% ของราคาขาย หรือประมาณ 2,000 บาทต่อไร่ต่อปี 

หรือกรณีปลูกต้นไม้แบบหัวไร่ปลายนา จะสามารถปลูกได้เฉลี่ย 40 ต้น/ไร่ คิดเป็น 380 กิโลกรัมคาร์บอนต่อไร่ต่อปี จะทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการขายหลังหักค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 800 บาทต่อไร่ต่อปี โดยปัจจุบันมีชุมชนที่ได้รับการรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก และได้รับใบประกาศเกียรติคุณ LESS จาก อบก. แล้ว 84 ชุมชน ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่กักเก็บได้กว่า 2.7 ล้านตันคาร์บอน โดย ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนเงินทุนให้กับชุมชนธนาคารต้นไม้ในการกักเก็บคาร์บอนแล้ว จำนวนกว่า 3.8 ล้านบาท

ต้นไม้

และยังขยายผลการสร้างคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ไปยังชุมชนที่เข้าร่วมโครงการธนาคารต้นไม้ โดยสนับสนุนการปลูกป่าเพิ่มในที่ดินของตนเองและชุมชน ปีละประมาณ 108,000 ต้น ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่จะนำมาซื้อ – ขายได้กว่า 510,000 ตันคาร์บอน ภายใน 5 ปี การส่งเสริมกิจกรรมที่ช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม เช่น การเพาะกล้าไม้ เพื่อสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ  

การทำนาเปียกสลับแห้ง เพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทน การลดพื้นที่การเผาตอซังข้าว อ้อย และข้าวโพด เพื่อลด PM 2.5 การเพิ่มพื้นที่ปลูกป่าชายเลน การนำผลิตผลจากต้นไม้มาสร้างมูลค่าเพิ่ม และรายได้ให้กับชุมชนทั้งทางตรง และทางอ้อม อย่าง การนำวัตถุดิบจากไม้มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เฟอร์นิเจอร์ ผลิตน้ำส้มควันไม้ ปลูกสมุนไพร และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ 

 โครงการ BAAC Carbon Credit

สำหรับโครงการ BAAC Carbon Credit เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการทำให้องค์กรและหน่วยงานต่างๆ สามารถบรรลุเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกที่ตั้งไว้ ซึ่งนอกจากหน่วยงานจะได้รับประโยชน์ในด้านธุรกิจ ที่มีความห่วงใยต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการช่วยสนับสนุน และให้กำลังใจชุมชนในการดูแล และปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีพื้นที่สีเขียวที่ได้รับการปกป้องโดยคนในชุมชน สะท้อนถึงความเข้มแข็งในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เป็นประโยชน์ต่อคนทั้งโลกอีกด้วย และสำหรับหน่วยงานที่สนใจในการซื้อขายคาร์บอนเครดิต และต้องการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม สร้างรายได้ และสร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็งให้กับชุมชน และมีส่วนพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนมากขึ้นทั้งปัจจุบัน และอนาคต  

Source : กรุงเทพธุรกิจ

สวัสดีครับที่ผ่านมาเรามักได้ยินเกี่ยวกับโครงการลดก๊าซเรือนกระจกในรูปแบบกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องอาศัยเงินลงทุนจำนวนมากหรือความชำนาญเฉพาะทาง อาทิ การสร้างโรงงานพลังงานหมุนเวียน หรือการนำก๊าซมีเทนมาใช้ประโยชน์

ซึ่งอาจจะยังดูห่างไกลสำหรับคนทั่วไปหรือแม้แต่องค์กรเล็กๆ  แต่ทราบไหมครับว่าเพียงการปลูกต้นไม้บางชนิดอย่างจำปี ปีป ทุเรียน มะขาม สะเดา หรือไผ่ในที่ดินของเราแล้วบำรุงรักษาตามระเบียบวิธีที่กำหนด ก็สามารถนับเป็นโครงการที่ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ พร้อมทั้งสร้างรายได้จากคาร์บอนเครดิตได้ด้วย

โครงการที่มาตอบโจทย์เรื่องนี้ได้พอดี คือโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) ซึ่งเป็นกลไกที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. พัฒนาขึ้นประมาณ 10 ปีมาแล้ว 

โครงการ T-VER แบ่งได้หลายประเภท อาทิ ประเภทการพัฒนาพลังงานทดแทน ประเภทการจัดการในภาคขนส่ง  แต่ในที่นี้ ผมขอยกตัวอย่างประเภทที่บุคคลหรือนิติบุคคลทั่วไปสามารถจัดทำในพื้นที่ของตนเองได้ นั่นคือโครงการประเภทการลด ดูดซับ และการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากภาคป่าไม้และการเกษตร  เน้นการปลูกป่าอย่างยั่งยืน หรือสวนไม้เศรษฐกิจโตเร็ว เพื่อเพิ่มพูนการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่โครงการ  ข้อกำหนดเบื้องต้นสำหรับการทำโครงการ T-VER ภาคป่าไม้ มีดังนี้

มีพื้นที่สำหรับดำเนินโครงการไม่น้อยกว่า 10 ไร่ โดยสามารถรวมหลายๆ พื้นที่เข้าด้วยกัน และจะเป็นพื้นที่โล่งหรือมีต้นไม้อยู่แล้วก็ได้ 

พื้นที่ต้องมีเอกสารแสดงสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินตามกฎหมาย อาทิ โฉนดที่ดิน หนังสือรับรองการทำประโยชน์ หรือ มีเอกสารที่ยืนยันได้ว่าเจ้าของกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่นั้นๆ ยินยอมให้ดำเนินการ อาทิ สัญญาเช่า หนังสืออนุญาตจากหน่วยงานราชการ 

กรณีพื้นที่เดิมมีสภาพเป็นป่า ต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศป่าไม้ดั้งเดิม 

ผู้สนใจสามารถเลือกปลูกไม้ใกล้ตัวตามที่ผมได้ยกตัวอย่างข้างต้น รวมถึงต้นไม้ชนิดอื่นๆ อีกมากมายเกือบ 60 ชนิดตามประกาศของ อบก. ซึ่งแต่ละชนิดก็กำหนดอัตราการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไว้แตกต่างกันไป แล้วยื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER ภาคป่าไม้ต่อ อบก.  สำหรับขั้นตอนนี้ อบก. มีจัดอบรมและให้คำปรึกษาเรื่องการจัดเตรียมข้อเสนอโครงการโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

เมื่อขึ้นทะเบียนสำเร็จและดำเนินการปลูกดูแลต้นไม้ตามจำนวนปีที่กำหนด ก็จะมีการประเมินผลการเติบโตของต้นไม้ตามมาตรวัดต่างๆ  หากผ่านก็จะได้รับการรับรอง “คาร์บอนเครดิต” ซึ่งหมายถึงการรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดหรือกักเก็บได้เมื่อเทียบกับก่อนเริ่มโครงการ โดยโครงการมีระยะเวลาการคิดคาร์บอนเครดิตนานถึง 10 ปี และสามารถต่ออายุโครงการได้อีกครั้งละ 10 ปีแบบไม่จำกัดจำนวนครั้ง

บางท่านอาจสงสัยว่าคาร์บอนเครดิตสามารถเอาไปทำอะไรได้บ้าง  แน่นอนครับนำไปสร้างรายได้ด้วยการแลกเปลี่ยนซื้อขายระหว่างผู้มีบัญชีคาร์บอนเครดิตในตลาดคาร์บอน (Trading) โดย ณ ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีราคาประมาณ 280 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq)  หรือใช้ในการชดเชยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรหรือผลิตภัณฑ์ (Offsetting)  หรือใช้เพิ่มความน่าเชื่อถือในการรายงานความสำเร็จของการลดก๊าซเรือนกระจกในรายงานความยั่งยืนองค์กร (Reporting) เป็นต้น 

จากข้อมูล ณ เดือนมกราคม 2567  มีโครงการ T-VER ภาคป่าไม้ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วทั้งหมด 51 โครงการทั่วประเทศ   มีทั้งที่ดำเนินการโดยวัด ชุมชน เทศบาลตำบล สนามกอล์ฟ และมหาวิทยาลัย  คาดว่าปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่จะกักเก็บได้จากโครงการเหล่านี้คือประมาณ 361,966 tCO2eq ต่อปี

จะเห็นได้ว่ากิจกรรมการลดและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างโครงการ T-VER ภาคป่าไม้นี้เป็นการปลูกต้นไม้เพื่อขายคาร์บอนเครดิตซึ่งเป็นอีกหนทางสร้างรายได้สำหรับผู้ที่มีที่ดินหลายไร่ พร้อมเปิดโอกาสให้ทั้งองค์กรขนาดใหญ่ และบุคคลหรือหน่วยงานทั่วไปในทุกภาคส่วนสามารถร่วมเพิ่มพื้นที่สีเขียวพร้อมทั้งลดก๊าซเรือนกระจก ช่วยผลักดันประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำไปด้วยกันครับ

Source : กรุงเทพธุรกิจ