เครื่องปรับอากาศถือได้ว่าเป็น เครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟค่อนข้างมากในอันดับต้นๆ ซึ่งหลายท่านก็พยายามหาวิธีการต่างๆ ที่จะทำให้เครื่องปรับอากาศกินไฟให้น้อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการเปิดปิดเป็นเวลา หรือเฉพาะในช่วงที่อากาศร้อน การตั้งอุณหภูมิที่ 25 องศา บางท่านก็ลองวิธีที่มีการแนะนำต่อๆ กันมา ก็คือ ตั้งอุณหภูมิไปที่ 27 องศา แล้วเปิดพัดลมช่วย ซึ่งวิธีการต่างๆ เหล่านี้ก็ถือว่า ช่วยประหยัดไฟได้บ้าง แต่ก็ยังค่อนข้างสูงอยู่ดี ดังนั้นก็เลยมีการคิดค้น เครื่องปรับอากาศรูปแบบใหม่ที่เปลี่ยนไปใช้ไฟฟ้าที่ได้จากโซล่าร์เซลล์ ในชื่อ “แอร์โซล่าเซลล์”

แอร์โซล่าเซลล์คืออะไร?

แอร์โซลาร์เซลล์ คือ เครื่องปรับอากาศที่ผสานเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์เข้ากับระบบทำความเย็น ทำให้สามารถลดการพึ่งพาไฟฟ้าแบบปกติที่ใช้ตามบ้าน หรือสำนักงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยหลักการทำงานคือ แผงโซลาร์เซลล์จะแปลงพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นกระแสไฟฟ้า เพื่อนำมาใช้ในการขับเคลื่อนคอมเพรสเซอร์ของเครื่องปรับอากาศ ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าในรูปแบบเดิมๆ อีกเลย ส่งผลให้เราไม่ต้องจ่ายค่าไฟในส่วนนี้นั่นเอง

แอร์โซลาร์เซลล์ แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบหลักๆ ก็คือ

  1. แอร์โซล่าร์เซลล์แบบ On-Grid เชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้าของบ้าน สามารถจ่ายไฟฟ้าส่วนเกินกลับเข้าสู่ระบบได้
  2. แอร์โซล่าร์เซลล์แบบ Off-Grid ไม่เชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้าของบ้าน ใช้งานได้แม้ในพื้นที่ที่ไม่มีไฟฟ้าเข้าถึง
  3. แอร์โซล่าร์เซลล์แบบที่ใช้ได้ทั้ง 2 ระบบ สามารถใช้ไฟจากระบบโซล่าร์เซลล์ก็ได้ หรือจะใช้ไฟบ้านปกติก็ได้

ข้อดีของแอร์โซล่าเซลล์

  • ประหยัดค่าไฟฟ้า ลดค่าใช้จ่ายในการใช้ไฟฟ้าได้อย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงกลางวันที่มีแสงแดด ซึ่งช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้มากถึง 50-70%
  • เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน เหมาะสำหรับคนที่รักษ์โลกเป็นอย่างมาก
  • พึ่งพาตนเองได้ ไม่ต้องกังวลเรื่องไฟฟ้าดับ หรือค่าไฟฟ้าที่ผันผวน
  • เทคโนโลยีทันสมัย เป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

นอกจากจะมีข้อดีแล้ว แอร์โซล่าร์เซลล์ก็มีข้อสังเกตอยู่หลายๆ อย่างด้วยกัน

ข้อสังเกตของแอร์โซล่าเซลล์

  • ต้นทุนและราคาสูง แอร์โซล่าเซลล์มีราคาค่อนข้างสูง เพราะนอกจากจะมีตัวเครื่องแล้ว ยังต้องมีค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง และซื้ออุปกรณ์อื่นๆ ด้วยไม่ว่าจะเป็น แผงโซล่าเซลล์ , อินเวอร์เตอร์, แบตเตอรี่ และอุปกรณ์ควบคุม
  • ประสิทธิภาพขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ การผลิตไฟฟ้าของแผงโซลาร์เซลล์ขึ้นอยู่กับปริมาณแสงแดดโดยตรง ในวันที่ฝนตกหรือเมฆมาก การผลิตไฟฟ้าจะลดลง และอุณหภูมิที่สูงเกินไปอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพของแผงโซลาร์เซลล์ได้
  • มีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาเพิ่มเติม นอกจากจะต้องทำความสะอาดแอร์เหมือนแอร์ปกติแล้ว แผงโซลาร์เซลล์จำเป็นต้องทำความสะอาดเป็นประจำเพื่อขจัดฝุ่นละอองและสิ่งสกปรกที่เกาะอยู่บนผิวแผง ซึ่งอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้า
  • แบตเตอรี่ราคาสูง สำหรับระบบที่มีแบตเตอรี่อยู่ด้วย ก็จะต้องมีค่าใช้จ่ายส่วนของแบตเตอรี่เพิ่มเติม ซึ่งมีราคาสูง และมีอายุการใช้งานจำกัด
ภาพประกอบ : https://www.chaisinsolarcell.com/

ตัวอย่างอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับติดตั้งแอร์โซล่าร์เซลล์

  • แอร์ Solar Hybrid 1 ชุด
  • แผงโซล่าเซลล์ ขนาด 550w จำนวน 2 แผง
  • เบรกเกอร์ DC BOX 1 ชุด
  • สายไฟ PV 20 เมตร
  • MC-4 Link จำนวน 4 คู่
  • ติดตั้งแบบมาตรฐาน โดยทีมช่างผู้ชำนาญการ

หลักการทำงานของแอร์โซล่าร์เซลล์

แอร์โซลาร์เซลล์ทำงานโดยการเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้าเพื่อนำมาใช้ในการทำความเย็น ซึ่งแตกต่างจากแอร์ทั่วไปที่ใช้ไฟฟ้าจากกระแสไฟฟ้าหลัก โดยหลักการทำงานโดยรวมสามารถสรุปได้ดังนี้

  1. การผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ แผงโซลาร์เซลล์จะทำหน้าที่รับพลังงานจากแสงอาทิตย์และแปลงเป็นกระแสไฟฟ้ากระแสตรง (DC)
  2. การแปลงกระแสไฟฟ้า อินเวอร์เตอร์จะทำหน้าที่แปลงกระแสไฟฟ้ากระแสตรงที่ได้จากแผงโซลาร์เซลล์ให้เป็นกระแสไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) ซึ่งเป็นชนิดที่เครื่องปรับอากาศส่วนใหญ่ใช้
  3. การจ่ายไฟให้เครื่องปรับอากาศ กระแสไฟฟ้ากระแสสลับที่ได้จากอินเวอร์เตอร์จะถูกส่งไปยังเครื่องปรับอากาศเพื่อใช้ในการขับเคลื่อนคอมเพรสเซอร์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการทำความเย็น
  4. กระบวนการทำความเย็น เครื่องปรับอากาศจะทำงานตามหลักการทำความเย็นทั่วไป โดยคอมเพรสเซอร์จะอัดสารทำความเย็นให้มีแรงดันสูง แล้วปล่อยให้ไหลผ่านคอยล์ร้อนเพื่อระบายความร้อนออกสู่ภายนอก จากนั้นสารทำความเย็นจะไหลผ่านคอยล์เย็นเพื่อดูดซับความร้อนภายในห้อง ทำให้อากาศเย็นลง

แอร์โซล่าร์เซลล์ กับแอร์ปกติทั่วไป ต่างกันอย่างไร

การตัดสินใจเลือกใช้แอร์โซลาร์เซลล์หรือแอร์ปกตินั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ รวมถึงงบประมาณ ความต้องการในการใช้พลังงาน และความสำคัญที่ให้กับสิ่งแวดล้อม มาดูตารางเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น

คุณสมบัติแอร์โซลาร์เซลล์แอร์ปกติ
แหล่งพลังงานหลักพลังงานแสงอาทิตย์ไฟฟ้าจากกระแสไฟฟ้าหลัก
ค่าไฟฟ้าประหยัดค่าไฟฟ้าในระยะยาว โดยเฉพาะช่วงกลางวันค่าไฟฟ้าขึ้นอยู่กับการใช้งาน
สิ่งแวดล้อมเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสร้างมลพิษจากการผลิตไฟฟ้า
ต้นทุนและค่าใช้จ่ายสูงกว่าแอร์ปกติ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์และอุปกรณ์อื่นๆต่ำกว่าแอร์โซลาร์เซลล์
การบำรุงรักษาต้องทำความสะอาดแผงโซลาร์เซลล์เป็นประจำบำรุงรักษาตามปกติ
ความเสี่ยงประสิทธิภาพขึ้นอยู่กับสภาพอากาศไม่ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ

ราคาแอร์โซล่าเซลล์

ราคาแอร์โซล่าร์เซลล์ นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ทำให้ราคาแต่ละรุ่นและแต่ละแบรนด์แตกต่างกันออกไป การเลือกซื้อแอร์โซล่าร์เซลล์จึงต้องพิจารณาหลายปัจจัย เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่คุ้มค่ากับการลงทุน สำหรับราคาในปัจจบุัน ก็สามารถเปิดดูได้ตามเว็บไซต์ ซึ่งมีทั้งรูปแบบของการเอาแอร์ปกติ มาจัดชุดกับอุปกรณ์โซล่าร์เซลล์ แล้วขาย รวมถึงแอร์ที่ออกแบบมาตั้งแต่แรกเพื่อใช้กับโซล่าร์เซลล์เลย ในบทความนี้ก็ขอเอาราคาจากเว็บขายของออนไลน์มาให้ดูกันไปเลยครับ

ปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาแอร์โซล่าร์เซลล์

  • ขนาด BTU ขนาดของแอร์จะส่งผลโดยตรงต่อราคา ยิ่ง BTU สูง ราคาจะยิ่งสูงขึ้น
  • แบรนด์: แบรนด์ที่เป็นที่รู้จักจะมีราคาสูงกว่าแบรนด์ทั่วไป
  • คุณภาพวัสดุ: วัสดุที่ใช้ในการผลิต เช่น คอยล์ร้อน คอยล์เย็น และคอมเพรสเซอร์ มีผลต่อประสิทธิภาพและอายุการใช้งานของแอร์ ซึ่งส่งผลต่อราคา
  • จำนวนแผงโซลาร์เซลล์: จำนวนแผงโซลาร์เซลล์ที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าจะส่งผลต่อราคาโดยตรง
  • ขนาดและประสิทธิภาพของแผงโซลาร์เซลล์ แผงโซลาร์เซลล์ที่มีขนาดใหญ่และมีประสิทธิภาพสูงจะมีราคาสูงกว่า
  • อุปกรณ์เสริม อุปกรณ์เสริมต่างๆ เช่น แบตเตอรี่ อินเวอร์เตอร์ และระบบควบคุม จะเพิ่มต้นทุนให้กับระบบ
  • ค่าติดตั้ง ค่าแรงในการติดตั้งระบบ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการเดินสายไฟและติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์

บทสรุป

แม้ว่าแอร์โซลาร์เซลล์จะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการลดค่าไฟฟ้าและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ก็มีข้อจำกัดและข้อควรพิจารณาบางประการที่ผู้สนใจควรศึกษาให้ละเอียดก่อนตัดสินใจติดตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของต้นทุน การบำรุงรักษา และประสิทธิภาพที่ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ซึ่งถ้าจะให้บอกว่าเหมาะกับใคร ก็น่าจะเหมาะกับผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้เครื่องปรับอากาศอยู่ตลอดทั้งวัน ซึ่งอาจจะเป็นที่พักอาศัยในเขตที่มีอากาศร้อน หรือความจำเป็นด้านอื่นๆ ซึ่งก็ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าหากใช้ในระยะยาวครับ

Photo : freepik.com

มูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อพัฒนาโครงการสำหรับครัวเรือนที่ติดตั้ง Solar Cell โดยสามารถนำ Carbon Credit จากการผลิต Solar Cell ที่ได้รับรองมาตรฐาน T-VER มาแลกเป็นคะแนน The 1 ของเครือเซ็นทรัลได้ฟรี โครงการนำร่องคือบ้านพลังงานเป็นศูนย์ของเสนา มีเป้าไม่น้อยกว่า 300 ครัวเรือน หรือคะแนน The 1 มากกว่า 4 ล้านคะแนน

วันที่ 14 มิถุนายน 2567 ดร.สุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานมูลนิธิฯ ระบุว่า โครงการตลาดคาร์บอนครัวเรือนภาคสมัครใจ ที่ได้รับงบจาก บพข. ร่วมกับ ม.เชียงใหม่ เซ็นทรัล และบริษัทเสนา เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และครัวเรือน เป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมประสิทธิภาพพลังงาน ลดก๊าซเรือนกระจก และมีส่วนร่วมในตลาดคาร์บอนครัวเรือน นำไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว อนาคตสะอาด และความยั่งยืน

ติด Solar Cell ที่บ้าน ช่วยลดโลกร้อน-รับคะแนน The 1 ฟรี

ศาสตราจารย์ ดร.อาภาณี เหลืองนฤมิตชัย ประธานคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มพลังงาน เคมีและวัสดุชีวภาพ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวว่า ในฐานะหน่วยงานที่ให้ทุนโครงการ วิจัยและพัฒนาตลาดคาร์บอนครัวเรือนภาคสมัครใจ เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดในการสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำภายใต้แผนงานพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการใช้ประโยชน์พลังงานสะอาด พัฒนาระบบเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-GreenEconomy: BCG) ในด้านพลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน วัสดุชีวภาพ และเคมีชีวภาพให้เป็นระบบเศรษฐกิจมูลค่าสูง มีความยั่งยืนและเพิ่มรายได้ของประเทศพัฒนาเศรษฐกิจไทย มีความสามารถในการแข่งขัน พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน พร้อมสู่อนาคตโดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม และดำเนินการร่วมกับการทำแพลตฟอร์มตลาดคาร์บอนครัวเรือนภาคสมัครใจ

โดยสามารถติดตามข้อมูลการผลิตพลังงานจากระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาและปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงสามารถนำก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงได้แลกเปลี่ยนกับสินค้าหรือบริการของภาคธุรกิจที่เข้าร่วม รวมถึงการจัดทำระบบนิเวศของแพลตฟอร์มตลาดคาร์บอนครัวเรือนภาคสมัครใจให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้แพลตฟอร์ม เช่น ภาคครัวเรือนต้องการผลตอบแทนจากการใช้พลังงาน ภาคธุรกิจต้องการปริมาณคาร์บอน เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ โดยมีอัตราแลกเปลี่ยนที่จูงใจในการทำธุรกรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสร้างคุณค่าสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน

ดร.สุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานกรรมการมูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน กล่าวว่า โครงการวิจัยและพัฒนาตลาดคาร์บอนครัวเรือนภาคสมัครใจ มีปัจจัยที่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินโครงการเนื่องจาก นโยบายด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ซึ่งตอบรับกับความร่วมมือในการลดภาวะโลกร้อนของนานาประเทศ การสนับสนุนตลาดคาร์บอนทั้งในระดับนานาชาติและระดับประเทศ การเติบโตของจำนวนผู้ใช้พลังงานทดแทนและพลังงานสะอาด

ปัจจุบันมีการนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้ในภาคธุรกิจ โดยในโครงการจะพัฒนาตลาดคาร์บอนครัวเรือนภาคสมัครใจ ด้วยการจัดทำแพลตฟอร์มในการติดตามการผลิตพลังงานทดแทนและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะมุ่งเน้นครัวเรือนที่ติดตั้ง Solar Cell ก่อน เนื่องจากมีจำนวนผู้ใช้งานมากและมีนโยบายจากภาครัฐที่ชัดเจน ทั้งนี้แพลตฟอร์มที่จะพัฒนาขึ้นจะสามารถแลกเปลี่ยนก๊าซเรือนกระจกที่สามารถลดได้ไปเป็นสินค้าหรือบริการกับภาคธุรกิจที่เข้าร่วม

ภาคธุรกิจสามารถนำคาร์บอนที่ได้เพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจด้วยแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน และการดำเนินการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) หรือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero emissions) ซึ่งจะเกิดประโยชน์แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องดังนี้

ภาคครัวเรือน มีช่องทางการสร้างรายได้จากการใช้พลังงานสะอาด หรือสามารถแลกเป็นสินค้าและบริการจากภาคธุรกิจที่เข้าร่วมผ่านแพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้น ทั้งยังสร้างคุณค่าให้กับผู้ใช้พลังงานสะอาดในการเป็นส่วนหนึ่งของการลดภาวะโลกร้อน

ภาคธุรกิจ สามารถดำเนินธุรกิจด้วยแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนในส่วนการใช้พลังงานสะอาด โดยการซื้อคาร์บอนเครดิต หรือแลกเปลี่ยนเป็นสินค้าและบริการให้กับครัวเรือนที่เข้าร่วมผ่านแพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้น ซึ่งจะส่งเสริมภาพลักษณ์ของการดำเนินธุรกิจเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มยอดขาย สร้างการเติบโตของธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในระยะยาว

ประเทศไทย สามารถพัฒนาตลาดคาร์บอนครัวเรือนแบบภาคสมัครใจให้เกิดขึ้นจริงในประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้เป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศเป็นไปตามเป้าหมาย โดยจะส่งผลให้ทั้งประชาชนและภาคธุรกิจหันมาใช้พลังงานสะอาดรวมถึงการดำเนินการด้านอื่นที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้มากขึ้น และยังสร้างผลประโยชน์ร่วมในหลายด้าน เช่น การบรรเทาผลกระทบของมลพิษทางอากาศ, การรักษามั่นคงทางพลังงาน, นวัตกรรมเทคโนโลยี การลดต้นทุนทางพลังงาน การจ้างงาน และลดการย้ายถิ่นฐานเข้าเมือง เป็นต้น ส่งผลให้ประเทศไทยเติบโตอย่างก้าวหน้าและยั่งยืนต่อไป

ติด Solar Cell ที่บ้าน ช่วยลดโลกร้อน-รับคะแนน The 1 ฟรี

รศ.วงกต วงศ์อภัย ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพหุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า สถาบันวิจัยพหุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นหน่วยงานที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประเมินภายนอกสำหรับโครงการภาคสมัครใจของประเทศไทย ได้ดำเนินการประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจก ตามมาตรฐานต่าง เช่น Thailand Voluntary Emission Reduction Program (T-VER) หรือที่รู้จักในวงกว้างว่า คาร์บอนเครดิต  ที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. กำหนด โดยมีขั้นตอนการดำเนินการเบื้องต้น 6 ขั้นตอน คือ

  1. การจัดทำเอกสารโครงการ
  2. การตรวจสอบเอกสาร หรือ Validation
  3. การขึ้นทะเบียนโครงการ Solar ดังกล่าวกับ อบก. 
  4. การดำเนินการโครงการพร้อมการตรวจวัดต่างๆ
  5. การจัดทำเอกสารขอทวนสอบผลคาร์บอนเครดิตที่ได้ ก่อนที่จะนำไป
  6. ยื่นขอรับรองคาร์บอนเครดิตจากทาง อบก.

การตรวจสอบเอกสารและทวนสอบต่างๆ ถือเป็นความสำคัญและจำเป็นที่ประเทศต้องการ รวมถึงเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศในอนาคต

คุณพิชัย จิราธิวัฒน์  ตำแหน่ง กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล  กล่าวว่า  ปัจจุบันประเทศไทยต้องการคาร์บอนเครดิตเป็นอย่างมาก ในอนาคตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสูง จากกระแสความตื่นตัวและความมุ่งมั่นทั้งในระดับประเทศและระดับองค์กรที่มีการตั้งเป้าหมายที่จะเป็น Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions  และกระแสโลกเรื่อง Climate Change

ภาคธุรกิจ เป็นภาคส่วนที่มีศักยภาพในการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่างๆ กลุ่มเซ็นทรัล จึงมีความต้องการที่จะซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชยในการจัดกิจกรรมอีเวนท์ต่างๆ โดยผู้เข้าร่วมโครงการ สามารถนำ Carbon Credit 1 ตันคาร์บอน มาแลกเป็นคะแนน The 1 ได้ 1,600 คะแนน เพื่อนำไปเป็นส่วนลดสินค้าและบริการ รวมถึงรับสิทธิประโยชน์ในกลุ่มเซ็นทรัลทั่วประเทศ

กลุ่มเซ็นทรัลมีความมุ่งหวังการเติบโตของธุรกิจจะต้องควบคู่ไปกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน และตระหนักว่าต้องเริ่มตั้งแต่ต้นทางของห่วงโซ่อุปทานตลอดจนถึงปลายทางของการจัดการอย่างถูกหลัก โดยหนึ่งในเป้าหมายคือการปรับเปลี่ยนหันมาใช้พลังงานสะอาดและยั่งยืน เพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินธุรกิจ ทั้งยังช่วยลดปัญหามลพิษด้วยพลังงานสะอาด และสอดคล้องกับเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมของโลก 

ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เสนาฯ ถือเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายแรกของไทยที่เริ่มสร้างบ้านพร้อมติดโซลาร์รูฟให้พร้อมใช้งานตั้งแต่ซื้อบ้านทั้งโครงการเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ขณะนั้นมองว่าการใช้พลังงานทดแทนคือเทรนด์ของอนาคต ที่นอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของลูกบ้านแล้ว ยังลดการสร้างคาร์บอนที่เป็นต้นเหตุของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ทั้งนี้สิ่งที่เสนาให้ความสำคัญคือการพัฒนาโครงการและสนับสนุนการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ด้านการใช้พลังงานทดแทนที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของลูกบ้าน

สอดคล้องกับเป้าหมายการลดคาร์บอนขององค์กร โดยเฉพาะการนำแนวคิดบ้านพลังงานเป็นศูนย์ (Zero Energy Housing) ซึ่งสามารถประหยัดการใช้ไฟฟ้าของบ้านได้สูงสุดถึง 38% และการส่งเสริม Decarbonized Lifestyle ให้ลูกบ้านสามารถใช้ชีวิตรักษ์โลกได้ง่ายๆ เพียงอยู่กับเราเท่านั้น ปัจจุบันเสนาติดตั้งโซลาร์รูฟให้กับลูกบ้าน ทั้งบ้านเดี่ยวและทาวน์โฮมแล้วทั้งหมดทุกโครงการรวมกว่า 1,000 หลัง

สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ลูกบ้านเสนาที่ติดโซลาร์ สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการฯ โดยปริมาณคาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้นจะสามารถนำไปแลกคะแนนเพื่อใช้เป็นส่วนลดหรือซื้อของต่อไปได้ เช่น ลูกบ้านที่ติดตั้งโซลาร์ 5kw คาร์บอนเครดิตจะถูกคำนวณและสามารถเปลี่ยนเป็นคะแนน The 1 ได้ 600 คะแนนต่อเดือน หรือ 7,200 คะแนนต่อปี โดยในเบื้องต้นตั้งเป้าว่าจะมีลูกบ้านเข้าร่วมโครงการนี้ไม่น้อยกว่า 300 หลังคาเรือน ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณโครงการดีๆ ที่ให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานสะอาด รวมถึงให้โอกาสทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนต่อไป

Source : ฐานเศรษฐกิจ

นางสาวลี่ เหยียน รองผู้จัดการทั่วไปฝ่ายธุรกิจ PV บริษัท ทงเวย โซลาร์ หรือ TW SOLAR กล่าวว่า “ทงเวย ได้ร่วมกับ บริษัท ซันเดย์ โซลาร์ ซัพพลาย จำกัด ซึ่งเป็นผู้แทนจำหน่ายรายใหญ่เพียงรายเดียวในประเทศไทย จัดงาน SHINE ON BANGKOK เพื่อเปิดตัวกลุ่มผลิตภัณฑ์แผงผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์(โซลาร์เซลล์)ใหม่ TNC-G12/G12R ที่มีประสิทธิภาพของเซลล์แสงอาทิตย์ที่ดีขึ้น และตอบโจทย์ในด้านของการลดต้นทุน

รวมทั้งยังมีการออกแบบที่เหมาะสมสำหรับการติดตั้งแบบกระจายตัว ช่วยทำให้ติดตั้งได้มากขึ้น ลดต้นทุนในส่วนของขั้นตอนการให้บริการจากผู้รับเหมาตั้งแต่การออกแบบและติดตั้งทั้งในกลุ่มเชิงพาณิชย์และภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังเป็นการขานรับกับนโยบายของภาครัฐของไทย ที่สนับสนุนการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในภาคครัวเรือน รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อมและขนาดกลางให้เพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ในปี 2566 ตลาดโซลาร์เซลล์ในประเทศไทยมีมูลค่าสูงขึ้น และคาดว่าภายในปี 2570 จะมีปริมาณการติดตั้งพลังงานทดแทนเพิ่มเป็น 27% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด

สำหรับการจัดจำหน่ายสินค้าทงเวยในตลาดไทย เมื่อปี 2566 ที่ผ่านมาถือว่ามีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก จากการร่วมมือกับ ซันเดย์ โซลาร์ ซัพพลาย ผู้จัดจำหน่ายในประเทศไทย ซึ่งได้ร่วมกันสำรวจความต้องการตลาด อีกทั้งยังเน้นการสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้า ปรับเปลี่ยนแผนการขาย และการบริการให้สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละราย

ทั้งนี้ จากข้อมูลของฝ่ายวิเคราะห์ตลาดของทงเวย พบว่า ในปี 2567 ความต้องการแผงโซลาร์เซลล์ทั่วโลกจะเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยคาดว่าจะเพิ่มสูงถึง 647 กิกะวัตต์ หรือขยายตัว 31.73% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อยู่ในขั้นตอนของการพัฒนานโยบายที่เป็นประโยชน์นั้นจะส่งผลให้ความต้องการของตลาดในภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้น

‘ทงเวย-ฟ็อกซ์ อีเอสเอส’ รุกตลาดไทย รับนโยบายรัฐหนุนติดตั้งโซลาร์ครัวเรือน

ขณะที่ประเทศไทยเองคาดว่า กำลังการติดตั้งสะสมจนถึงปี 2580 จะเพิ่มขึ้นเป็น 8.7 กิ๊กกะวัตต์ จากปี 2565 อยู่ที่ 4.7 กิ๊กกะวัตต์ ซึ่งเป็นการเติบโตมากที่สุดในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ได้แก่ อัตราค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น นโยบายสนับสนุนจากภาครัฐที่เพิ่มขึ้น เช่น การลดภาษี และมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่แข็งแกร่ง เช่น ระยะเวลาคืนทุนสั้นลงจาก 8 ปี เหลือเพียง 5 ปี

จากความต้องการที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นในประเทศไทยดังกล่าว ทงเวยจึงได้เปิดตัวกลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ TNC-G12/G12R นอกจากแนวคิดที่จะต้องการเพิ่มประสิทธิภาพของเซลล์แสงอาทิตย์ ยังคำนึงถึงการลดต้นทุนการขนส่ง และต้นทุน BOS (โครงสร้างต้นทุนของอุปกรณ์ระบบโซลาร์เซลล์) จึงได้นำเสนอในรูปแบบแรงดันไฟฟ้าต่ำ โดยการออกแบบนี้ก็เพื่อเพิ่มความเหมาะสมและคุ้มค่าสำหรับระบบแบบกระจายตัว ช่วยทำให้ติดตั้งได้มากขึ้นลดต้นทุนของ EPC ในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ ทงเวย และ ซันเดย์ โซลาร์ ซัพพลาย ยังได้พันธมิตรสำคัญรายใหญ่ระดับโลก อย่าง Fox ESS (ฟ๊อกซ์ อีเอสเอส) ผู้นำระดับโลกในการพัฒนาอินเวอร์เตอร์ มาร่วมกันผนึกกำลังนำเสนอพลังงานสีเขียวให้กับตลาดประเทศไทยได้อย่างครบวงจรมากยิ่งขึ้น”

ด้าน นายไลเลน หลิว รองประธานและผู้อำนวยการฝ่ายขายทั่วโลก ฟ็อกซ์ อีเอสเอส (FOX ESS) เปิดเผยว่า “การจับมือกับ ทงเวย และ ซันเดย์ โซลาร์ ซัพพลาย ครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของ Fox ESS ที่เข้าสู่ตลาดอุตสาหกรรมพลังงานสีเขียวและพลังงานสะอาดในภาคพื้นเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยประเทศไทยถือว่าเป็นหนึ่งในตลาดสำคัญของอุตสาหกรรมพลังงานสีเขียวที่มีความก้าวหน้าและโดดเด่นในด้านพลังงานสะอาดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พร้อมกันนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความต้องการของตลาดที่มีนัยสำคัญ บริษัทฯจึงอาศัยความได้เปรียบนี้วางแผนการทำงานร่วมกับพันธมิตรต้นน้ำและปลายน้ำ สนับสนุนการเติบโตและการเผยแพร่พลังงานสีเขียวที่ยั่งยืน สู่บ้านเรือนหลายพันหลังในประเทศไทย

“Fox ESS เป็นแบรนด์พลังงานสะอาดชั้นนำระดับโลก โดยมีสำนักงานใหญ่ในเมืองเหวินโจว มณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน มีสาขาในกว่าสิบประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และออสเตรเลีย การมีอยู่ทั่วโลกที่กว้างขวางทำให้ Fox ESS สามารถนำเสนอบริการพลังงานสีเขียวที่เป็นภาษาท้องถิ่นและครอบคลุมแก่ผู้ใช้จำนวนมากทั่วโลก ด้วยความทุ่มเทอย่างแน่วแน่และความเชี่ยวชาญที่กว้างขวาง Fox ESS ได้รับการยกย่องและการยอมรับจากทั่วโลก จนสามารถขึ้นมาเป็นหนึ่งในองค์กรระดับยูนิคอร์นในด้านพลังงานใหม่ระดับโลก” นายไลเลน กล่าว

โดยภายในงาน Fox ESS ได้มีการแนะนำผลิตภัณฑ์อินเวอร์เตอร์ Grid-tied PV อินเวอร์เตอร์ไฮบริด แบตเตอรี่สำรองพลังงาน และเครื่องชาร์จ EV ที่ได้รับความนิยมทั่วโลก ผลิตภัณฑ์หลักเหล่านี้ไม่เพียงแต่แสดงให้กลุ่มลูกค้าเข้าใจถึงแนวคิดพลังงานสะอาด แต่ยังชี้ให้เห็นถึงแนวทางพลังงานสีเขียวแบบครบวงจรที่ปลอดภัยเชื่อถือได้ และมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นของตลาดไทย

และอีกหนึ่งในกลุ่มสินค้าที่นำมาบุกตลาดในประเทศไทยคือกลุ่ม “R Series” ที่เป็นผลิตภัณฑ์หลักในกลุ่มของ อินเวอร์เตอร์ Grid-tied PV สำหรับกลุ่ม C & I (Commercial and Industrial) หรือกลุ่มลูกค้าในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม มีขนาด 75-125 kW และมีมาตรฐานการกันน้ำและกันผุ่นระดับ IP66 นอกจากนี้ยังได้ปรับปรุงทางเทคโนโลยีเพื่อใช้ร่วมกันกับผลิตภัณฑ์แผงโซลาร์เซลล์ชนิด n-type ซึ่งมีกระแสไฟฟ้าสูง และผลลัพธ์ที่ได้คือมีประสิทธิภาพสูงถึง 98.6% ถือว่าสูงที่สุดในรุ่นที่มีในตลาด ซึ่งนับว่าเป็นข้อได้เปรียบสำคัญ

Source : กรุงเทพธุรกิจ

กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เสนอ 2 มาตรการต่อรัฐมนตรีพลังงานแล้ว คือ “มาตรการลดภาษีสำหรับผู้ติดตั้งแผงโซลาร์รูฟท็อป” และ “มาตรการลดหย่อนภาษีในส่วนของนิติบุคคลที่มีค่าใช้จ่ายในการซื้ออุปกรณ์ใน 13 รายการ” เพื่อเตรียมยื่น ครม. เห็นชอบเร็วๆนี้ คาดเริ่มใช้จริง ก.ค. 2567 คงเป้าหมายเดิมที่กลุ่มบ้านอยู่อาศัย 9 หมื่นครัวเรือนที่ติดโซลาร์รูฟท็อปไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ วงเงินไม่เกิน 2 แสนบาทต่อราย ได้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี  

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เผยความคืบหน้ามาตรการลดภาษีสำหรับผู้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) ว่า พพ. ได้นำมาตรการดังกล่าวเสนอต่อ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เรียบร้อยแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไขรายละเอียด เพื่อนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็วๆ นี้ โดยคาดว่าจะประกาศใช้ได้จริงประมาณเดือน ก.ค. 2567 นี้ ซึ่งเร็วกว่ากำหนดการเดิมที่คาดว่าจะได้ใช้จริงในเดือน ต.ค.-ธ.ค. 2567

โดย พพ. ยังคงเป้าหมายเดิม คือให้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีกับกลุ่มบ้านอยู่อาศัย 9 หมื่นครัวเรือน ซึ่งเบื้องต้นระยะเวลาของมาตรการดังกล่าวน่าจะกำหนดใช้เพียง 2 ปี คือ ระหว่างปี 2567-2569 ซึ่งจะลดหย่อนภาษีให้ผู้ติดตั้งแผงโซลาร์รูฟท็อป เฉพาะกลุ่มบ้านอยู่อาศัย ที่เน้นการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองภายในบ้าน และมีระบบโซลาร์รูฟท็อปไม่เกิน 10 กิโลวัตต์  วงเงินไม่เกิน 2 แสนบาทต่อราย ซึ่งกระทรวงการคลังจะออกหลักเกณฑ์การลดหย่อนภาษีที่ชัดเจนต่อไป เช่น ให้ 1 คน ต่อ 1 สิทธิ์ สำหรับติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปใน 3 ปี เป็นต้น

อย่างไรก็ตามคาดว่ามาตรการลดภาษีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปนี้ จะช่วยให้เกิดการลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปประมาณ 20,250 ล้านบาท และช่วยลดการใช้ไฟฟ้าได้ 585 ล้านหน่วยต่อปี นอกจากนี้ยังช่วยลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ได้ประมาณ 9,000 ตัน หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,100 ล้านบาท รวมทั้งยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 0.28 ล้านตันต่อปี

นอกจากนี้ พพ. จะนำเสนอ ครม. พิจารณาในคราวเดียวกัน เพื่อขออนุมัติมาตรการลดหย่อนภาษีในส่วนของนิติบุคคลที่มีค่าใช้จ่ายในการซื้ออุปกรณ์ใน 13 รายการดังนี้  ตู้เย็น, เครื่องซักผ้า, เครื่องปรับอากาศ, ตู้เย็นแสดงสินค้า, เครื่องสูบน้ำอัตโนมัติ, เครื่อง VSD, เครื่องอัดอากาศแบบลูกสูบ, ปั๊มความร้อน, เครื่องเชื่อมไฟฟ้า, ฟิล์มติดกระจก, สีทาอาคาร, มอเตอร์ไฟฟ้าเหนี่ยวนำ และกระจก ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ต้องเป็นสินค้าที่ได้มาตรฐานเบอร์ 5 ด้วย

โดยสามารถนำค่าใช้จ่ายของอุปกรณ์ดังกล่าวไปลดหย่อนภาษีได้ แบบทยอยหักต่อเนื่อง 5 ปีภาษี ซึ่งมาตรการนี้จะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าสะสม 5 ปี ได้ 29,020 ล้านหน่วยต่อปี และยังช่วยลดการนำเข้า Spot LNG หรือ ก๊าซธรรมชาติเหลวในราคาตลาดจรได้ 203 ล้าน MMBTU หรือคิดเป็นมูลค่า 105,551 ล้านบาท และลดการสะสมก๊าซเรือนกระจกได้ด้วย

Source : Energy News Center

300 ครัวเรือนบนเกาะหมากน้อย จังหวัดพังงา จะมีไฟฟ้าใช้และจ่ายค่าไฟถูกลงจากโครงการผลิตไฟฟ้าด้วยระบบโซลาร์เซลล์ แบตเตอรี่ และโครงข่ายสายส่งขนาดเล็กภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงพลังงานผ่านกลไกกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน 

เกาะหมากน้อย ขนาดพื้นที่รวม 9,500 ไร่ เป็นเกาะที่อยู่ในเขตจังหวัดพังงาแต่อยู่ไม่ไกลจากท่าเรือแหลมสัก จังหวัดกระบี่ เดินทางด้วยเรือเพียงประมาณ 20 นาที  แต่ชุมชนบนเกาะที่มีอยู่ กว่า 358 ครัวเรือน มีไฟฟ้าใช้กันอยู่ในปัจจุบันเพียง 30 ครัวเรือน อย่างไรก็ตามด้วยการสนับสนุนจากกระทรวงพลังงานผ่านกลไกของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ในปีงบประมาณ 2565และ2566 จะทำให้ชุมชนบนเกาะแห่งนี้ครอบคลุม 300 ครัวเรือน พร้อมด้วย โรงเรียนและ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชน  จะมีไฟฟ้าใช้ตลอด 24 ชั่วโมงและจ่ายค่าไฟฟ้าเฉลี่ยต่อเดือนต่อครัวเรือนถูกลง


ระบบผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เมื่อปี 2546 สำหรับโรงเรียนเกาะหมากน้อย ซึ่งปัจจุบันชำรุดและเลิกใช้งานแล้ว

ระบบผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ ของโรงเรียนเกาะหมากน้อย ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปี 2561 ซึ่งปัจจุบันยังคงใช้งานได้

ในอดีตเมื่อปี 2546 ที่ผ่านมา กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ได้เข้ามาสนับสนุนให้โรงเรียนเกาะหมากน้อย มีไฟฟ้าใช้ด้วยระบบผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์แล้ว แต่ชุดอุปกรณ์ติดตั้งดังกล่าวมีความชำรุดและต้องหยุดใช้งาน จนในปี 2561 กระทรวงพลังงานผ่านกลไกสนับสนุนของกองทุนฯ ได้อนุมัติให้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์  ระบบอินเวอร์เตอร์และแบตเตอรี่ชุดใหม่ ที่ยังมีการใช้งานมาจนถึงปัจจุบัน  และเมื่อปี 2564 ชุมชนเกาะหมากน้อย ก็ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนอีก 21 ล้านบาท สำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าด้วยระบบโซลาร์เซลล์ Solar Floating กำลังผลิตติดตั้ง 200 กิโลวัตต์ พร้อมระบบแบตเตอรี่ลิเทียมขนาดความจุ 300 กิโลวัตต์ชั่วโมง และโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าระยะทาง 2.2 กิโลเมตร ซึ่งช่วยให้ครัวเรือน จำนวน 30 ครัวเรือนมีไฟฟ้าใช้ ตลอด 24 ชั่วโมง ค่าใช้จ่ายไฟฟ้าเฉลี่ย 600-1000 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน จากช่วงก่อนหน้าที่จะมีการติดตั้งโครงการดังกล่าว  ชาวบ้านจะมีไฟฟ้าใช้ เฉพาะช่วง 18.30-22.30 น. ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 800 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน 


ปลัดกระทรวงพลังงานถ่ายรูปร่วมกับตัวแทนชุมชนเกาะหมากน้อยและคณะสื่อมวลชน

โดยเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 นายประเสริฐ  สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน นำคณะซึ่งประกอบด้วย นายเพทาย หมุดธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน  พลังงานจังหวัดพังงา พลังงานจังหวัดกระบี่ และสื่อมวลชนสายพลังงาน เยี่ยมชมโครงการผลิตไฟฟ้าจากระบบโซลาร์เซลล์ของเกาะหมากน้อย ตำบลเกาะปันหยี จังหวัดพังงา ที่ได้รับการสนับสนุนจากงบประมาณของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน  กระทรวงพลังงาน โดยมีนายกองค์การบริหารส่วนตำบล และผู้อำนวยการโรงเรียนเกาะหมากน้อย ให้การต้อนรับ  


ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน ระหว่างเยี่ยมชมโครงการผลิตไฟฟ้าด้วยระบบโซลาร์เซลล์ที่โรงเรียนเกาะหมกน้อย

ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน (ที่สองจากขวา) และ เพทาย หมุดธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน มอบพัดลมไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ให้กับผู้อำนวยการโรงเรียนเกาะหมากน้อย

นายประเสริฐ  กล่าวภายหลังการเยี่ยมชมโครงการว่า ปัจจุบันบนเกาะหมากน้อยมีการผลิตไฟฟ้าจาก 3 แหล่ง คือ 1. ระบบMicro-Grid ผลิตไฟฟ้าด้วยโซลาร์เซลล์ (Solar Floating) ที่สนับสนุนโดย กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ปีงบประมาณ 2564 ซึ่งดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว  2. ระบบโซลาร์โฮม ที่ชุมชนลงทุนติดตั้งเอง และระบบโซลาร์โฮมแบบเติมเงินที่เอกชนลงทุนผ่านกลุ่มบริหารจัดการโดยชุมชนนำร่อง 10 ครัวเรือน 3. ระบบผลิตไฟฟ้าจากเครื่องปั่นไฟฟ้าน้ำมันดีเซลของเอกชน ซึ่งระบบนี้มีเวลาบริการจำกัดเพียง 4 ชั่วโมงต่อวัน ระหว่าง 18.30 – 22.30 น. ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ และไม่ครอบคลุมทุกครัวเรือน อีกทั้งยังไม่ครอบคลุมถึงพื้นที่สาธารณะและถนน ทำให้ไม่มีความปลอดภัยในการดำเนินชีวิตเท่าที่ควร ในขณะที่ยังมีหน่วยงานส่วนราชการบนเกาะที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมงอยู่ด้วย


ระบบMicro-Grid ผลิตไฟฟ้าด้วยโซลาร์เซลล์ (Solar Floating) ที่สนับสนุนโดย กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ปีงบประมาณ 2564.

ดังนั้นกระทรวงพลังงานจึงมีแนวทางที่จะขยายผลด้วยการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์เพื่อทดแทนการใช้เชื้อเพลิงจากน้ำมันเพิ่มเติม ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนบนเกาะหมากน้อย ให้ 300 ครัวเรือนบนเกาะ รวมทั้ง โรงเรียน โรงพยาบาลส่วนตำบล ได้มีไฟฟ้าใช้อย่างทั่วถึง 

โดยในเฟสที่สองได้ดำเนินการของบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเพิ่มเติม ภายใต้งบประมาณปี 2565  เพื่อเพิ่มกำลังผลิตติดตั้งอีก  100 กิโลวัตต์ แบตเตอรี่ลิเทียม ขนาดความจุ 200 กิโลวัตต์ชั่วโมง โครงข่ายสายส่งขนาดเล็ก ระยะทาง 4.2 กิโลเมตร ที่จะจ่ายไฟฟ้าครอบคลุม เพิ่มเป็น 200 ครัวเรือน ปัจจุบันส่วนนี้ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการ  เนื่องจากอยู่ระหว่างการขอขยายเวลาก่อหนี้ผูกพัน 

ส่วนแนวทางการดำเนินการเฟสสาม ได้ของบจากกองทุนฯปี 2566 เพื่อเพิ่มกำลังผลิตอีก 50 กิโลวัตต์  แบตเตอรี่อีก 300 กิโลวัตต์ชั่วโมง  ระบบสายส่งขนาดเล็กระยะทาง 0.8 กิโลเมตร  ครอบคลุม 300 ครัวเรือน โดยอยู่ระหว่างพิจารณาโครงการ

ทั้งนี้การจะให้ทั้ง 358 ครัวเรือนมีไฟฟ้าใช้ทั้งหมดจะต้องดำเนินการรวม 4 เฟส โดยจะติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าให้ได้ขนาดกำลังผลิตรวม 400 กิโลวัตต์  แบตเตอรี่กักเก็บพลังงานขนาดรวม 1,200 กิโลวัตต์ชั่วโมงและสายส่งรวมทั้งสิ้น 9.5 กิโลเมตร 


ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน ระหว่างตรวจความดันที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชน พร้อมรับฟังประเด็นปัญหาความจำเป็นที่โรงพยายาลต้องมีไฟฟ้าใช้ตลอด 24ชั่วโมง รองรับอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ที่สำคัญสำหรับผู้ป่วยบนเกาะ

ในภาพรวมระบบผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์พร้อมแบตเตอรี่และโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าขนาดเล็ก ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน  กระทรวงพลังงาน นั้น ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนบนเกาะหมากน้อยให้ดีขึ้น โดยในส่วนของโรงเรียน ที่จะมีการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับสื่อการเรียนการสอนเพิ่มขึ้น ในขณะที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชน  ก็มีอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ที่ใช้ในการรักษาคนในชุมชนที่ต้องการไฟฟ้าตลอดทั้ง 24 ชั่วโมง  อย่างไรก็ตาม การผลิตไฟฟ้าจากระบบโซลาร์เซลล์นั้นจำเป็นต้องมีการใช้งานและบำรุงรักษาอย่างถูกวิธีเพื่อให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานและมีประสิทธิภาพ จึงมีความสำคัญที่คนในชุมชนจะต้องได้รับการฝึกอบรมด้วยความช่วยเหลือจากพลังงานจังหวัดพังงา ที่จะต้องช่วยเป็นพี่เลี้ยง  ซึ่งผู้นำชุมชนเกาะหมากน้อย สะท้อนความคิดเห็นว่า การผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เชลล์ที่ชุมชนได้รับการช่วยเหลือจากกระทรวงพลังงานในครั้งนี้นั้น ถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับชุมชน ที่จะต้องใช้เวลาในการเรียนรู้และปรับตัว จากที่คุ้นเคยกับระบบเครื่องปั่นไฟที่ใช้น้ำมัน มายาวนาน

Source : Energy News Center