พพ.ออกประกาศเงื่อนไขการอนุญาตระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป)​ที่จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไ​ทย ในพระบรมราชูปถัมภ์​ วสท.033013-2​2 ในเรื่อง rapid shutdown เริ่มมีผลบังคับใช้ 1 ก.ค. 2566 นี้ โดยหากไม่มีการติดตั้ง จะเสนอ กกพ.พิจารณาไม่ออกใบอนุญาตให้กับโครงการ

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าว​พลังงาน (Energy​ News Center-ENC​)​ รายงานว่า นายประเสริฐ​ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์​พลังงาน หรือ พพ. ได้ลงนามในประกาศกรม ลงวันที่ 25 ม.ค.2566 เรื่องเงื่อนไขการอนุญาต​ให้ผลิตพลังงานควบคุมสำหรับระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา ที่จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไ​ทย ในพระบรมราชูปถัมภ์​ วสท.033013-2​2ในเรื่อง rapid shutdown โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่ 1 ก.ค. 2566 นี้

ประเสริฐ​ สินสุขประเสริฐ  อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์​พลังงาน

ซึ่งโครงการใหม่ ที่ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA)​ หรือ EPC ( Engineering Procurement and Construction )​หลัง 1 กค. 66) จะต้องติดตั้งอุปกรณ์ให้ถูกต้องตามมาตรฐาน ซึ่งหากไม่ดำเนินการ ทาง พพ. จะให้ความเห็นไปที่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)​ ให้พิจารณาไม่ออกใบอนุญาต​ให้ เพราะไม่เป็นไปตามมาตรฐาน วสท.

ทั้งนี้การออกประกาศกรมดังกล่าวเนื่องจากปัจจุบันระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยี​วัสดุอุปกรณ์ ทั้งในด้านประสิทธิภาพ​ความปลอดภัย และมีการติดตั้งบนหลังคาอย่างแพร่หลาย ซึ่งการติดตั้ง rapid shutdown​ ให้เป็นไปตามมาตรฐาน วสท.จะช่วยให้นักดับเพลิงสามารถขึ้นไปบนหลังคาเพื่อดับไฟได้โดยที่ไม่ถูกไฟฟ้าดูด กรณีเกิดอัคคีภัย

Source : Energy News Center

สงครามข้ามปีรัสเซีย-ยูเครน ปลุกตลาดโซลาร์รูฟเข้าสู่ยุคหลังคาทำเงินเต็มรูปแบบ อสังหาฯปี’66 แข่งสร้างจุดขาย “แสนสิริ” จุดพลุติดตั้ง 100% “เสนาฯ” ชูไฮไลต์ซื้อบ้านพ่วงสัญญาขายไฟ 10 ปี “เพอร์เฟค-คุณาลัย-เอสซีฯ-ศุภาลัย-แอสเซทไวส์-บริทาเนีย-แลนด์ฯ” ผนึกพันธมิตรผลิตไฟสะอาด เปิดโมเดลศึกษา 25 ปี ประหยัดค่าไฟบวกขายไฟคืนรัฐเฉลี่ย 4.7-7.7 แสน

สงครามข้ามปีระหว่างรัสเซีย-ยูเครน เป็นปัจจัยเร่งให้พลังงานทางเลือกเติบโตตั้งแต่ปี 2565 และเป็นเทรนด์บูมต่อเนื่องในปี 2566 โครงการอสังหาฯได้แข่งกันสร้างจุดขายติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปอย่างคึกคัก โดยเจ้าของที่อยู่อาศัยรับประโยชน์ 2 ต่อจากโซลาร์รูฟ เพราะ 1.เป็นตัวช่วยให้ประหยัดค่าไฟฟ้าในครัวเรือน 2.ถ้าพลังงานไฟฟ้าเหลือสามารถขายคืนเข้าระบบได้อีกด้วย

กราฟฟิกโซลาร์รูฟ

เทคโนโลยีถูกลง+ขายไฟแพงขึ้น

ปัจจุบันการติดตั้งหลังคาทำเงิน (โซลาร์รูฟ) ในหมู่บ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมมีต้นทุนถูกลงเมื่อเทียบกับ 10 ปีก่อน แบ่งการติดตั้ง 3 ระบบ คือ 1.ระบบออนกริด สามารถใช้งานได้ 2 ฝั่ง ใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์และจากการไฟฟ้าโดยตรง 2.ระบบออฟกริด ใช้งานพลังงานแสงอาทิตย์เพียงอย่างเดียว กักเก็บไว้ในแบตเตอรี่ 3.ระบบไฮบริด ใช้งานได้ 3 ทาง ทั้ง 3 ระบบมีต้นทุนค่าติดตั้งอยู่ที่ 169,000 บาท

จากผลการศึกษาของศูนย์วิจัย Krungthai Compass ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2556 ราคาแผงโซลาร์ในไทยลดลง 66% ประกอบกับราคารับซื้อไฟของภาครัฐเพิ่มขึ้นเป็น 2.2 บาท/หน่วย จากเดิม 1.68 บาท/หน่วย ทำให้ระยะเวลาคืนทุนโซลาร์รูฟท็อปเร็วขึ้นจาก 17-30.3 ปีในปี 2556 ร่นเหลือ 6.1-13.9 ปีในปี 2564 แนวโน้มอาจเหลือเพียง 5.3-12 ปีภายในเวลาไม่กี่ปีจากนี้ เนื่องจากราคาแผงโซลาร์มีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่อง

ขณะที่ “LWS-ลุมพินีวิสดอม” สำรวจพบว่า ปัจจุบันราคาแพ็กเกจติดตั้งโซลาร์รูฟต่ำสุดตั้งแต่ 1.6 Kw (กิโลวัตต์) ไปจนถึง 10 Kw มีต้นทุนติดตั้งเฉลี่ย 89,000-99,000 บาท/1.6 Kw (กิโลวัตต์) อายุการใช้งานเฉลี่ย 15-25 ปี คืนทุนใน 5 ปี ประหยัดค่าไฟฟ้า 1,500 บาท/เดือน

กรณีติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป 1.6 Kw สามารถผลิตไฟฟ้าสำหรับใช้งานอุปกรณ์พื้นฐานในบ้าน เช่น หลอดไฟ 10 หลอด ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ และทีวีอย่างละ 1 เครื่อง ใช้พื้นที่ติดตั้ง 8-11 ตารางเมตร เหมาะกับบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์
กรณีติดตั้ง 3.2 Kw คืนทุน 5 ปี ประหยัดค่าไฟฟ้าได้ 945,295 บาทภายใน 25 ปี เฉลี่ยประหยัดค่าไฟฟ้าปีละ 37,811.8 บาท หรือ 3,150.98 บาท/เดือน จึงเป็นระบบที่ช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้ในระยะยาว

แสนสิริจุดพลุติดตั้ง 100%

นายอุทัย อุทัยแสงสุข ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จํากัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แผนพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยในปี 2566 แสนสิริเดินหน้าติดตั้ง solar roof ในบ้านเดี่ยวทุกหลัง ทุกโครงการใหม่ ในทุกระดับราคา 100% รวมทั้งสิ้น 1,825 หลัง

แบ่งเซ็กเมนต์ ดังนี้ บ้านเดี่ยวราคาต่ำกว่า 8 ล้านบาทภายใต้แบรนด์สราญสิริ อณาสิริ คณาสิริ จะติดตั้งโซลาร์รูฟขนาด 1.38 Kwp (กิโลวัตต์สูงสุด) จำนวน 1,300 หลัง, บ้านเดี่ยวราคา 8 ล้านบาทขึ้นไปภายใต้แบรนด์เศรษฐสิริ บุราสิริ เดมี่ บูก้าน นาราสิริ ฯลฯ จะติดตั้งขนาด 1.84 Kwp จำนวน 525 หลัง

เป้าหมาย 3 ปี (2565-2567) มีการติดตั้งรวม 12,000 หลัง ประเมินอายุการใช้งานแผงโซลาร์รูฟ 25 ปี/หลัง ช่วยลูกบ้านประหยัดค่าไฟฟ้ารวมกันได้มากถึง 1,600 ล้านบาท ช่วยลดก๊าซคาร์บอน 8,000 ตันเทียบเท่าปลูกต้นไม้ 535,000 ต้น หรือปลูกป่า 2,673 ไร่

ล้ำหน้า “กระเบื้องลอนโซลาร์”

ทั้งนี้ แสนสิริตั้งเป้าติดตั้งโซลาร์รูฟเพื่อผลิตไฟฟ้าป้อนพื้นที่ส่วนกลางทุกโครงการใหม่ในปีนี้ ทั้งบ้านและคอนโดฯ รวม 46 โครงการ หลังนำร่องไฟส่องสว่างในสวนแล้ว 34 โครงการช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา มีผลทำให้พื้นที่ส่วนกลางทั้งปั๊มน้ำ, สระว่ายน้ำ, สำนักงานนิติบุคคล, ระบบแอร์ในคลับเฮาส์, เครื่องระบายอากาศในห้องน้ำ ประหยัดค่าไฟได้ปีละ 1-1.7 แสนบาท/โครงการ

ล่าสุด แสนสิริร่วมมือกับบริษัท ไอออน เอนเนอร์ยี่ จำกัด (ION Energy) นำนวัตกรรมใหม่ 2-in-1 solar roof tile กระเบื้องลอนโซลาร์ ตั้งเป้าติดตั้งในคลับเฮาส์โครงการลักเซอรี่แบรนด์ “บ้านแสนสิริ บางนา” ในปี 2567 และร่วมกับพันธมิตรด้านพลังงาน ทำ R&D พัฒนาแบตเตอรี่เก็บไฟจากพลังงานสะอาดในบ้านภายในปี 2573 ในราคาที่เข้าถึงได้ จากปัจจุบันที่แบตเตอรี่ยังมีราคาสูงมาก

บ้านเสนา+สัญญาขายไฟ 10 ปี

ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด (มหาชน) กล่าวว่า เสนาฯนับเป็นผู้บุกเบิกการติดตั้งโซลาร์รูฟในโครงการที่อยู่อาศัยตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน มีการติดตั้งทั้งหมด 47 โครงการ แบ่งเป็น คอนโดฯ 22 โครงการ บ้านแนวราบ 25 โครงการ รวมกว่า 700 หลังคาเรือน คิดเป็นการผลิตไฟฟ้า 2,000 กิโลวัตต์

ในปี 2565 บริษัทลงทุนด้านพลังงานมากขึ้นอีก 600 ล้านบาท และเตรียมความพร้อมยื่นขอสิทธิให้กับลูกบ้านผ่านโครงการโซลาร์ภาคประชาชน โฟกัสกลุ่มลูกค้ากำลังซื้อระดับกลาง พนักงานประจำ ที่ซื้อทาวน์เฮาส์ราคาไม่แพง โดยล่าสุดเพิ่งเปิดขายทาวน์เฮาส์แบรนด์เสนาวีว่า ฉลองกรุง-ลาดกระบัง บนเนื้อที่ 15 ไร่เศษ ราคาเริ่มต้น 2.6 ล้านบาท นำเสนอออปชั่นติดตั้งโซลาร์รูฟ เป็นโครงการร่วมทุนกับกลุ่มฮันคิว ฮันชิน ประเทศญี่ปุ่น

รายละเอียด “Sena solar house บ้านพร้อมสัญญาขายไฟ 10 ปี” ผ่านโครงการโซลาร์ภาคประชาชน มีทั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม อาคารพาณิชย์ ราคาเริ่ม 2.5-12 ล้าน แบ่งเป็น ติดตั้งในทาวน์โฮมเริ่มต้น 1.28 กิโลวัตต์, บ้านเดี่ยวเริ่มต้น 2 กิโลวัตต์, อาคารพาณิชย์/ร้านค้าเริ่มต้น 3.5 กิโลวัตต์

25 ปีคำนวณคุ้มค่า 4-7 แสน

ดร.เกษรากล่าวว่า เสนาฯจัดทำโมเดลกรณีศึกษาความคุ้มค่าการติดตั้งโซลาร์รูฟ 3 กิโลวัตต์ ซึ่งเป็นขนาดมาตรฐานการใช้งานทั่วไป แบ่งผู้ใช้ 3 กลุ่ม ดังนี้

1.กลุ่มทำงานที่บ้านหรือ work from home มีอัตราเฉลี่ยใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ 3.5 ชั่วโมง/วัน หรือ 116.5 ชั่วโมง/เดือน อายุการใช้งานแผงโซลาร์ 25 ปี มีสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า 10 ปี คำนวณจากค่าไฟฟ้าปัจจุบันที่ 4.40 บาท/หน่วย คาดการณ์อัตราเพิ่มขึ้นค่าไฟปีละ 2% ประหยัดค่าไฟฟ้าได้ 742,036 บาท ทั้งยังขายไฟฟ้าส่วนที่เหลือเป็นเวลา 10 ปี ที่ราคา 2.20 บาท/หน่วย สร้างผลตอบแทน 30,492 บาท ทำให้ประหยัด และมีรายได้จากการขายไฟฟ้าทั้งสิ้น 772,528 บาท

2.กลุ่มผู้สูงอายุ เด็ก คนทำงานนอกบ้าน เฉลี่ยใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ 2.5 ชั่วโมง/วัน หรือ 97.5 ชั่วโมง/เดือน สามารถประหยัดค่าไฟฟ้า 621,018 บาท ขายไฟฟ้าส่วนที่เหลือเป็นเวลา 10 ปี สร้างผลตอบแทน 45,540 บาท ทำให้เกิดความคุ้มค่าโดยรวมจากการประหยัดและรายได้ขายไฟทั้งสิ้น 666,558 บาท

3.กลุ่มคนทำงานนอกบ้าน เฉลี่ยใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ 1 ชั่วโมง/วัน หรือ 63 ชั่วโมง/เดือน สามารถประหยัดค่าไฟ 401,273 บาท พร้อมทั้งขายไฟฟ้าส่วนที่เหลือเป็นเวลา 10 ปี สร้างผลตอบแทน 72,864 บาท จะทำให้เกิดความคุ้มค่าโดยรวมทั้งสิ้น 474,137 บาท

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” สำรวจการลงทุนติดต้้งโซลาร์รูฟให้เป็นจุดขาย พบว่า บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จํากัด (มหาชน) ติดตั้งโซลาร์รูฟให้กับบ้านรุ่นใหม่ในโครงการเพอร์เฟค มาสเตอร์พีซ 3 โครงการ ขนาด 3.21 Kwp (กิโลวัตต์สูงสุด) ช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าปีแรก 20,700 บาท และเพอร์เฟค เพลส 8 โครงการ ขนาด 1.6 Kwp ช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าปีแรก 10,300 บาท

บริษัท แอสเซทไวส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ASW ได้รับการสนับสนุนสินเชื่อสีเขียว (green loan) จากธนาคารยูโอบี ติดตั้งแผงโซลาร์รูฟ 4 โครงการ มีพื้นที่ติดตั้งรวม 2,711 ตารางเมตร ผลิตไฟฟ้า 511 กิโลวัตต์ อาทิ ติดตั้งในคอนโดฯ เคฟ ทียู (Kave TU) พื้นที่ 864 ตารางเมตร แล้วเสร็จเมื่อเดือนเมษายน 2565 ผลิตไฟฟ้า 178 กิโลวัตต์, คอนโดฯ เคฟ ทาวน์ ชิฟท์ (Kave Town Shift) ติดตั้งแผงพื้นที่ 969 ตารางเมตร แล้วเสร็จเมื่อเดือนมิถุนายน 2565 ผลิตไฟฟ้า 150 กิโลวัตต์

บริษัท บริทาเนีย จำกัด (มหาชน) วางแผน 3 ปี (2565-2567) ลงทุนหมู่บ้านพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์ วิลเลจ โดยเฉพาะบ้านเดี่ยวแบรนด์ “แกรนด์ บริทาเนีย” เน้นติดตั้งโซลาร์รูฟพื้นที่โครงการ 30-50 ไร่ รวม 100-200 หลัง ในทำเลกรุงเทพฯ-ปริมณฑล โดยดีไซน์มีความเหมาะสมติดตั้งโซลาร์รูฟเนื่องจากเป็นบ้านเดี่ยว มีหลังคารูปทรงปั้นหยา สามารถนำแผงโซลาร์เซลหันหน้ารับแสงอาทิตย์ในทิศทางที่เหมาะสมได้อย่างเต็มที่

โดยติดตั้งระบบ on-grid ผลิตไฟฟ้าส่งเข้าสู่บ้านโดยตรง เลือกสลับการใช้ไฟโซลาร์หรือใช้ไฟจากการไฟฟ้าก็ได้ มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 5 Kw รองรับการใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าในช่วงเวลากลางวัน ได้แก่ หลอดไฟ 10 วัตต์ 10 ดวง, ตู้เย็น 10 คิว 1 เครื่อง, ทีวี 50 นิ้ว 3 เครื่อง และเครื่องปรับอากาศ 12,000 บีทียู 4 เครื่อง

บริษัท วิลล่า คุณาลัย จํากัด (มหาชน) ติดตั้งโซลาร์รูฟโครงการคุณาลัย พรีม บางบัวทอง จำนวน 40 หลัง ช่วยลดค่าไฟให้ลูกค้าเฉลี่ย 1,500 บาท/เดือน ตั้งเป้าปี 2564-2566 เดินหน้าติดตั้งเพิ่มไม่ต่ำกว่า 50-60% ของโครงการบ้านทั้งหมด

บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ 4 พันธมิตร ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม สมาร์ท โซลูชั่น จำกัด และบริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด ติดตั้งโซลาร์รูฟนำร่องโครงการ “ศุภาลัย การ์เด้นวิลล์ รังสิต คลอง 2” โดยคัดเลือกลูกค้าจากความสมัครใจและปริมาณการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 4,000 บาท/เดือน ใช้งบฯลงทุนติดตั้งเฉลี่ย 200,000 บาท ตั้งเป้า
ติดตั้งโซลาร์รูฟ 500,000 หลังทั่วประเทศ
ภายใน 5 ปี โดยธนาคารกสิกรไทยสนับสนุนสินเชื่อ 50,000 ล้านบาท คาดว่าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 2.3 ล้านตัน

บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ติดตั้งที่บ้านตัวอย่างโครงการ เวนิว โฟลว์ แจ้งวัฒนะ และมีแผนจะขยายสู่พื้นที่ส่วนกลาง รวมถึงโครงการบ้านเดี่ยวระดับบนในอนาคต ภายใต้โครงการ ERC Sandbox : ENGY Energy is Yours มุ่งบริหารจัดการพลังงานในบ้านแต่ละหลังให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

บริษัท เดอะ แบ็กยาร์ด จำกัด ผู้พัฒนาโครงการบ้านเดี่ยวแบรนด์ “Le Parc Next ทวีวัฒนา” ติดตั้งโซลาร์รูฟขนาด 5 กิโลวัตต์ เป็นบ้านหลังใหญ่ 100 ตารางวาขึ้นไป พร้อมเทคโนโลยีบ้านอัจฉริยะช่วยลดอุณภูมิในบ้าน ประหยัดการใช้พลังงาน

บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ลงนาม MOU ร่วมกับบริษัท ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TSE ติดตั้งบนหลังคาคลับเฮาส์ 5 โครงการ ได้แก่ VIVE เอกมัย-รามอินทรา, NANTAWAN ปิ่นเกล้า-กาญจนา, NANTAWAN พระราม 9 กรุงเทพกรีฑาตัดใหม่, Villaggio รังสิต-คลอง 4 และ MANTANA Bangna Km 15 โดยใช้ 157 แผง ขนาดติดตั้งรวม 74.63 Kwp ประหยัดไฟ 97,019 กิโลวัตต์-ชั่วโมง/ปี คิดเป็นเงิน 436,585 บาท/ปี ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 49.6 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่าปลูกต้นไม้ 6,467 ต้น/ปี

Source : ประชาชาติธุรกิจ

พพ.หนุนกระแสติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปมาแรง ปรับลดกระบวนการให้ความเห็นอนุญาตให้ผลิตไฟฟ้ารวดเร็วยิ่งขึ้นจากเดิมขั้นตอนกว่า 60 วันเหลือไม่เกิน 30 วัน หวังเอื้อให้ประชาชนรับมือค่าไฟแพง

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน เปิด
เผยหลังเป็นประธานการประชุมชี้แจงการปรับปรุงกระบวนการให้ความเห็นการออกแบบใบอนุญาตให้ผลิตพลังงานควบคุม (พค.2) ต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมในรูปแบบออนไซต์และออนไลน์ รวมกว่า 500 ราย ว่า ตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 กำหนดให้ผู้ที่จะผลิตไฟฟ้าขนาดเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 200 kVA ขึ้นไป (ประมาณ 200 กิโลวัตต์) ต้องมีการยื่นคำขอรับใบอนุญาตฯ (พค.1) และแบบตรวจสอบระบบผลิตพลังงานควบคุมต่อ กกพ. และทาง กกพ.นำส่ง พพ.พิจารณาให้ความเห็นอนุญาตให้ผลิตพลังงานควบคุม (พค.2) เพื่อความปลอดภัยของอุปกรณ์ไฟฟ้าที่จะติดตั้ง อย่างไรก็ตาม มีผู้ยื่นคำขอใบอนุญาต พค.2 จำนวนมาก พพ.จึงได้พิจารณาปรับลดขั้นตอนดังกล่าวเพื่อให้ผู้ยื่นคำขอได้มีการผลิตและใช้พลังงานที่เร็วขึ้น

“ที่ผ่านมามีการยื่นคำขอใบอนุญาต พค.2 เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากกว่า 150 รายต่อเดือน โดยกว่า 80% เป็นคำขออนุญาตผลิตไฟฟ้าจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาหรือโซลาร์รูฟท็อป ทำให้กระบวนการพิจารณาให้ความเห็นเดิมไม่สามารถรองรับต่อปริมาณคำขอที่เพิ่มขึ้น พพ.จึงได้มีการปรับลดกระบวนการพิจารณาให้ความเห็นอนุญาต พค.2 ใหม่ด้วยการใช้วิธีรองรับข้อมูลด้วยตนเองโดยวิศวกรที่ต้องขึ้นทะเบียนกับ พพ. (Self Declaration) ซึ่งจากเดิมกระบวนการให้ความเห็นของ พพ. จะใช้เวลาในการตรวจแบบส่งข้อมูลและตรวจแบบด้วยการ live ณ สถานที่ติดตั้ง, ตรวจหน้างานจริง (non-solar) รวมเวลากว่า 60 วัน ให้เหลือไม่เกิน 30 วัน” นายประเสริฐกล่าว

ทั้งนี้ เพื่อให้การขับเคลื่อนการผลิตพลังงานควบคุมเป็นไปอย่างรวดเร็วและถูกต้อง พพ.จึงได้ออกประกาศกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน 2 ฉบับ ได้แก่ ประกาศกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ประกอบการให้ความเห็นการออกใบอนุญาตให้ผลิตพลังงานควบคุมต่อ กกพ. และประกาศกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เรื่อง การรับขึ้นทะเบียนผู้ตรวจสอบระบบผลิตพลังงานควบคุม ซึ่งประกาศทั้ง 2 ฉบับจะช่วยให้เกิดความคล่องตัว และทันต่อสถานการณ์การปรับตัวต่อค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น

Source : MGR Online

บิ๊กธุรกิจโดดชิงเค้ก “ตลาดโซลาร์” เอกชนแห่ติดหนีค่าไฟแพง ประหยัดสูงสุด 30% พ่วงสิทธิประโยชน์ขายคาร์บอนเครดิตสู้โลกร้อน “กัลฟ์” ผนึกพันธมิตรตั้งบริษัทร่วมทุน SCG-CRC ฝั่ง ปตท. OR-GPSC ไม่น้อยหน้า ด้าน CPF ผนึกกันกุล ติดบนหลังคา 40 โรงงาน เลขาฯ กกพ.ชี้เทรนด์โรงงาน-บ้านติดโซลาร์พร้อมเปิดเงื่่อนไขรับซื้อไฟคืน 0.50 บาท-โซลาร์ประชาชน 2.20 บาทจูงใจหวังลดการนำเข้าก๊าซ LNG ของโรงไฟฟ้า

หลังจากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP 26 ที่จัดขึ้นที่กลาสโกว์ สหราชอาณาจักร สิ้นสุดลง นำมาสู่ข้อผูกพันที่ไทยให้คำมั่นว่าจะมุ่งลดปัญหาสภาพอากาศ เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2050 อุตสาหกรรมในประเทศไทยจึงเห็นว่าจำเป็นจะต้องหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ตามที่ให้สัตยาบันกับประชาคมโลกไว้

ประกอบกับแรงกดดันต่ออุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออกทั้งหลาย ต้องลดการปล่อยคาร์บอนตามข้อเรียกร้องของประเทศผู้นำเข้า และที่สำคัญคือ ปัญหาราคาพลังงานฟอสซิลขณะนี้ปรับสูงขึ้นมากอย่างเห็นได้ชัด ทั้งสองเรื่องนี้เป็นแรงกดดัน ทำให้ตลาดของพลังงานหมุนเวียนเติบโตขยายตัวขึ้นอย่างมาก

และล่าสุดไทยกำลังจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติที่ได้ประชาพิจารณ์ปีก่อนเสร็จสิ้นกำลังจะออกในอีก 1-2 เดือนนี้จะมุ่งไปทางนั้น และแผนพัฒนาพลังงานทดแทน (AEDP) ที่เพิ่งผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อเร็ว ๆ นี้ อนุมัติแผนการผลิตซีโอดีไฟฟ้าโซลาร์เข้าสู่ระบบปี 2567 อีกหลายเมกะวัตต์

ยักษ์ธุรกิจลุยธุรกิจโซลาร์

ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวในวงการพลังงาน โดยผู้ผลิตพลังงานรายใหญ่ของประเทศได้รุกสู่ธุรกิจโซลาร์กันขนานใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ หรือ GULF ร่วมกับบริษัท เอสซีจี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ตั้งบริษัท เอสจี โซลาร์ จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา หรือโซลาร์รูฟท็อป

นอกจากนี้ GULF ยังให้บริษัทในเครือ “กัลฟ์ รีนิวเอเบิล” ร่วมกับ GUNKUL ลงนามความร่วมมือในการจัดทำโครงการพลังงานหมุนเวียนและจัดตั้งบริษัทร่วมทุน และยังได้ร่วมกับ บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น หรือ CRC จัดตั้งบริษัทร่วมทุนชื่อ บริษัท กรีนเจ็น เอ็นเนอร์จี จำกัด ทุนจดทะเบียน 90 ล้านบาท เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อป

ขณะที่ก่อนหน้านี้ บมจ.ปตท. ซึ่งมีบริษัท GPSC ก็ได้ดำเนินโครงการ The Solar Orchestra ร่วมกับ EXIM Bank และบริษัท นีโอ เอ็นเนอร์จี ให้บริการวางระบบโซลาร์ครบวงจร รวมไปถึงจัดการด้านสินเชื่อให้กับลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรม 100% EECi และ VISTECH ทำสมาร์ทเอ็นเนอร์ยี่ โซลูชั่น ใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เป็นแซนด์บอกซ์ มีเอ็นเนอร์ยี่ แมเนจเมนต์ Peer to Peer เทรดดิ้ง พร้อมที่จะขยายออกไป ตามเป้าหมาย ปตท. NET ZERO Ambition เพื่อลดคาร์บอนให้ได้ 10% ในปี 2025 และเพิ่มเป็น 35% ในปี 2030

นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จากัด (มหาชน) หรือ OR กล่าวว่า มีแผนขยายสู่ธุรกิจด้านพลังงานสะอาดด้วยการมุ่งเน้นพัฒนาในส่วนของโซลาร์รูฟ เพราะจะได้ประโยชน์ 2 เรื่อง คือ ได้พลังงานสะอาด กับการประหยัดต้นทุน โดยปัจจุบันใช้ 2 ลักษณะ คือ ลงทุนในสถานีบริการน้ำมัน หรือคาเฟ่ อเมซอน ในโครงสร้างที่สามารถลงโซลาร์รูฟได้ ผลของการติดตั้งไปแล้วทำให้ประหยัดค่าไฟได้ถึง 20% เมื่อเทียบกับที่ไม่ได้ติดโซลาร์รูฟ

ขณะเดียวกันก็มีการให้บริการรับติดตั้งและเดินระบบโซลาร์รูฟเพื่อให้ธุรกิจพลังงานสะอาดเกิดขึ้นในไทย โดยฐานลูกค้าที่มีก็คือ ดีลเลอร์ตัวแทนจำหน่ายน้ำมัน PTT Station ที่มีอยู่ประมาณ 2,000 ราย และยังมีกลุ่มลูกค้าอีกตลาดหนึ่งคือ ลูกค้าตลาดพาณิชย์ ไม่ว่าจะเป็นโรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม ห้างสรรพสินค้า หรือมหาวิทยาลัย “เราเริ่มเข้าไปให้บริการแล้ว”

หลังคา โรงงาน CPF ได้ถึง 40 MW

ในฝั่งของโรงงานผู้ใช้ไฟฟ้า ดร.สมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL กล่าวว่า บริษัทได้มีโอกาสเข้าร่วมไปติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาโรงงานของเครือเจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ภายใต้โครงการ CPF Solar Rooftop เป็นความร่วมมือในรูปแบบสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่มีมูลค่าโครงการประมาณ 1,400 ล้านบาท

โดย “กันกุล” เป็นผู้ลงทุนและดูแลระบบตลอดอายุสัญญาระยะเวลา 15 ปี มีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ 120,000 แผ่น บนหลังคาของโรงงาน CPF จำนวน 34 แห่ง ขนาดกำลังการผลิต 40 เมกะวัตต์ (MW) สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ได้ถึง 53 ล้านหน่วยต่อปี นับได้ว่าเป็นโครงการ Solar Rooftop ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

เช่นเดียวกับ นายวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือเบทาโกร บมจ.เบทาโกร กล่าวว่า เบทาโกรได้ลงทุนพัฒนาพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในปริมาณประมาณ 42 MW สามารถผลิตไฟฟ้าได้ในสัดส่วนคิดเป็น 5% ของความต้องการใช้ไฟของบริษัท ซึ่งเป็นไปตามแผนกลยุทธ์การสร้างความยั่งยืน (sustainability)

เอกชนติดโซลาร์ใกล้ 1,000 MW

ด้านนายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า ภาคเอกชนในส่วนของโรงงานและภาคธุรกิจ หรือ IPS เกิดความตื่นตัวมีการติดตั้งแผงโซลาร์รูฟบนหลังโรงงานอย่างมาก จนถึงปัจจุบันมี IPS และโซลาร์ประชาชนรวม 994.87 MW จำนวนราย 7.469 แห่ง ซึ่งคุ้มค่าต่อการลงทุน โดยเฉพาะโรงงานใช้ไฟมากในช่วงกลางวันจะสามารถประหยัดค่าไฟประมาณ 3-4 บาท/หน่วย

“เดิมรัฐบาลยังไม่ได้ซื้อไฟฟ้าส่วนเกินที่ผลิตในช่วงที่โรงงานหยุด แต่จากการที่ราคาก๊าซ LNG ปรับสูงขึ้น ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้า ทาง กกพ.จึงได้ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าคืนจากทั้งผู้ที่มีสัญญาขายไฟ แต่ให้ราคาประมาณ 0.50 บาท/หน่วย หรือต่ำกว่าโซลาร์ประชาชนที่ให้ราคา 2.20 บาท/หน่วย เนื่องจากระบบโซลาร์ของโรงงานส่วนใหญ่ถูกออกแบบมาให้ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตได้จนหมด จะเหลือไฟฟ้าส่วนเกินที่จะขายคืนกลับมาก็มักจะเป็นในช่วงออฟพีก ซึ่งมีความต้องการใช้ไฟฟ้าน้อย เมื่อรัฐรับซื้อมาจึงต้องมีต้นทุนในการบริหารจัดการ” นายคมกฤชกล่าว

ส่วนโครงการโซลาร์ภาคประชาชนที่มีเป้าหมายจะรับซื้อไฟฟ้าคืน 2.20 บาท/หน่วยนั้น ตั้งแต่ปี 2562-2564 มีติดตั้งไปแล้วรวม 1,642 ราย ปริมาณ 9,078.5 kWp ในอนาคต กกพ.มีแผนที่จะพิจารณาเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินมากขึ้น

“ระบบรับซื้อคืน ถ้าจะให้เป็นธรรม เราจะไม่ใช้คำว่า ‘เน็ตวิทเตอริ่ง’ คุณคืนตอนไหน คุณก็ได้ค่าไฟตอนนั้น ถ้าขายคืนออฟพีกก็ได้ในราคาถูก แต่ถ้าคืนในช่วงพีกก็ได้ค่าไฟที่แพง สามารถให้ได้ 2.50-3.00 บาท แต่ติดตรงที่ว่าช่วงเวลานั้นโรงงานเขาไม่มีไฟส่วนเกินมาขาย แต่เขาจะเหลือไฟขายเฉพาะช่วงเวลาออฟพีกที่โรงงานหยุดใช้ไฟ”

ส่วนความกังวลที่ว่า หากมีผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองมากขึ้นจะกระทบต่อรายได้ผู้ผลิตไฟฟ้าหลักนั้น นายคมกฤชเชื่อว่าจะไม่กระทบต่อรายได้ของผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ แต่อนาคตผู้ผลิตไฟฟ้าโดยเฉพาะการไฟฟ้าต้องมองถึงโอกาสปรับมุมมองเกี่ยวกับบทบาทจากการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเพื่อขาย มาเป็นผู้ให้บริการสายส่งมากกว่า

จับตาค่า Ft สิ้นปีพุ่ง 40 สต.

สำหรับแนวโน้มการพิจารณา ค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ในงวดต่อไป คือ งวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 คาดว่าค่า Ft จะเพิ่มขึ้นประมาณ 40 สตางค์/หน่วย ซึ่งเป็นไปตามสมมุติฐานแบบขั้นบันไดที่วางไว้เดิม แต่ก็ต้องพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ อย่างรอบด้านอีกครั้ง

“สถานการณ์ราคาก๊าซตอนที่เราประเมินค่า Ft งวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 2565 ตอนนั้นกำลังอยู่ระหว่างการส่งมอบแหล่งก๊าซเอราวัณในอ่าวไทย ซึ่งยังไม่มีความแน่นอนของปริมาณก๊าซที่จะได้รับ แต่ตอนนี้มันผ่านช่วงเวลาของการส่งมอบแหล่งก๊าซมาแล้ว แม้ว่าการผลิตในแหล่งเอราวัณจะยังลดลงต่ำกว่าเดิม เราก็ต้องนำเข้าก๊าซ LNG เข้ามาเพิ่มในสัดส่วนที่สูงขึ้น ส่งผลทำให้ราคาค่าไฟฟ้าต้องปรับขึ้นตามราคา LNG ในช่วงมกราคม-มีนาคม 2565 ราคา LNG แพงมากอยู่ประมาณ 30-40 เหรียญสหรัฐ/ล้าน BTU โรงไฟฟ้าจึงมีการเปลี่ยนมาใช้น้ำมันแทน LNG แต่พอถึงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนนี้ ราคา LNG ถูกลงมาแล้ว เหลือเพียง 20-23 เหรียญ/ล้าน BTU ก็กลับมาใช้ LNG เป็นเชื้อเพลิงหลักเหมือนเดิม” นายคมกฤชกล่าว

ส.อ.ท.ขอปลดล็อกขายไฟ รง.

นายอาทิตย์ เวชกิจ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานกรรมการ บริษัท นีโอ คลีน เอนเนอร์ยี่ จำกัด ผู้ให้บริการด้านการออกแบบวิศวกรรมไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (EPC) และบริการลงทุนและจำหน่ายไฟฟ้าจากระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (PPA) กล่าวว่า ขณะนี้ตลาดการให้บริการผลิตติดตั้งแผงโซลาร์ครบวงจรได้รับความนิยมมากขึ้น จากกลุ่มลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรม “มีอัตราเติบโตเป็น exponancial แน่นอน”

จากปัจจัยการประเมินแนวโน้มค่าไฟฟ้าภายในประเทศว่า ค่าไฟฟ้าจะทยอยปรับราคาขึ้นจาก 1 บาท ปีที่แล้วจนถึงปี 2566 จะปรับขึ้นไปถึง 5 บาท ดังนั้นการติดตั้งแผงโซลาร์จะสามารถช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าให้กับโรงงานได้ 5-10% โดยเฉลี่ย แต่อาจจะประหยัดได้มากกว่านั้น หากโรงงานที่ติดเป็นโรงงานที่มีการเดินเครื่องผลิต 6-7 วัน/สัปดาห์ ใช้ไฟฟ้าช่วงกลางวันก็จะประหยัดได้สูงสุด 30%

ยกตัวอย่างเช่น โรงงานที่มีการใช้ไฟฟ้า 800,000 บาทต่อเดือน เมื่อติดตั้งแผงโซลาร์ขนาด 1 MW ต้นทุนติดตั้งอยู่ระหว่าง 24-25 ล้านบาท (รวมการออกแบบติดตั้ง-การขออนุญาตแล้ว) จะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้เดือนละ 500,000 บาท แต่ระบบนี้ยังไม่รวมค่าระบบกักเก็บพลังงาน หรือ energy storage ซึ่งปัจจุบันระดับราคาต้นทุนยังสูง คิดเป็นต้นทุนค่าไฟ 6-7 บาท/หน่วย

แต่เชื่อมั่นว่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ระบบกักเก็บพลังงาน ESS จะมาแน่นอน ส่งผลให้การติดตั้งโซลาร์จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก 2-3 เท่า

“หาก กกพ.ยอมปลดล็อกการขายไฟเข้าสู่ระบบ เช่นเดียวกับโซลาร์ประชาชน ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เรียกร้องมาตลอด ก็จะช่วยกระตุ้นให้มีการติดตั้งแผงโซลาร์เติบโตมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าก๊าซ LNG มาใช้ผลิตไฟฟ้าลงได้อย่างมาก และในอนาคตประเทศไทยควรวางแผนบริหารจัดการปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ จากปัจจุบันที่ยังไม่มีระบบกักเก็บ ทำให้ไฟที่ผลิตได้จากโซลาร์เหลือทิ้ง 15%” นายอาทิตย์กล่าว

Source : ประชาชาติธุรกิจ

กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)) มุ่งเน้นการเป็นพันธมิตรที่ลูกค้าไว้วางใจ สร้างตลาดการเงินด้านความยั่งยืนให้เติบโตต่อเนื่องด้วยการเปิดตัวสินเชื่อใหม่ สินเชื่อโซลาร์รูฟท็อป เพื่อผู้ประกอบการ SME ที่ต้องการติดตั้งหลังคาโซลาร์รูฟ พร้อมรุกตลาดลูกค้าบุคคลด้วยสินเชื่อกรุงศรีโฮมฟอร์แคช ที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าได้รับเงินทุนที่เพียงพอเพื่อติดตั้งหลังคาโซลาร์รูฟในที่พักอาศัยได้แล้ววันนี้