นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายกรุงเทพมหานคร ประจำปี พ.ศ.2566 แสดงความเห็นด้วยกับ ส.ก. พรรคก้าวไกล ที่จะยื่นญัตติต่อที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร ในการผลักดันให้รถเมล์ที่วิ่งในกทม.ต้องเป็นรถไฟฟ้า (EV) โดยระบุว่า อยากสนับสนุนญัตตินี้ เพราะต้องการให้ชาวกรุงเทพฯ ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถเดินทางด้วยรถโดยสารที่มีสภาพดี ปลอดภัย และที่สำคัญเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานของกรุงเทพมหานคร อาจจะยังมีอำนาจหน้าที่ตามข้อบัญญัติ หรือพ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องไม่ครอบคลุม และไม่สามารถดำเนินการได้ในทันที ซึ่งขณะนี้ฝ่ายกฎหมายของสำนักงานเลขานุการสภากทม. อยู่ระหว่างการรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม เพื่อให้คณะกรรมการสามัญประจำสภากรุงเทพมหานครที่เกี่ยวข้อง ได้ศึกษาและหาแนวทางเพื่อพิจารณาปรับปรุงข้อบัญญัติในส่วนอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบของ กทม.ต่อไป

“ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาฝุ่น PM.2.5 เป็นประเด็นสำคัญที่คณะกรรมการวิสามัญพิจารณางบฯ ให้ความสำคัญ และได้ตั้งข้อสังเกตกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกทม.มาโดยตลอด แต่ปัญหาดังกล่าว ลำพังเพียงหน่วยงานของ กทม.อาจไม่สามารถแก้ไขได้ลุล่วง ด้วยอำนาจหน้าที่ของกทม. ในฐานะท้องถิ่นที่มีอยู่อย่างจำกัด จำเป็นต้องบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอีกหลายหน่วยงาน ดังนั้นสภา กทม.จะเร่งทำการศึกษาเกี่ยวกับข้อกฎหมาย เพื่อให้การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของกทม.เกิดผลเป็นรูปธรรม ชัดเจนขึ้น” นายสุทธิชัย กล่าว

โดยก่อนหน้านี้ ส.ก. พรรคก้าวไกล ได้เปิดตัวกฎหมาย “รถเมล์อนาคต” โดยจะผลักดันให้ออกเป็นข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานคร ที่จะกำหนดให้รถเมล์ที่วิ่งในกทม. ต้องเป็นรถไฟฟ้า (EV) ทั้งหมด มีระยะเวลาสำหรับการเปลี่ยนผ่าน 7 ปี เพื่อบรรลุเป้าหมายลดฝุ่นละออง PM2.5 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงจะพัฒนาคุณภาพการให้บริการรถเมล์ ซึ่งเป็นระบบขนส่งมวลชนที่มีผู้ใช้งานหลักล้านคน ซึ่งจะยื่นญัตติด้วยวาจาวันนี้ ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 4) พ.ศ. 2566

Source : RYT9.com

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ศึกษาการวางแนวทางเพื่อสนับสนุนการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และแผนการบริหารจัดการรถยนต์ที่ใช้น้ำมันด้วยพลังงานทดแทน ซึ่งแผนการดำเนินงานของกระทรวงคมนาคม ในส่วนของรถโดยสารสาธารณะ ตั้งเป้าหมายในปี 2565 จะมีรถโดยสารที่ใช้พลังงานไฟฟ้าให้บริการไม่น้อยกว่า 1,000 คัน ทั้งในส่วนขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) รถร่วมบริการเอกชนที่ได้รับใบอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชน

รมว.คมนาคม กล่าวว่า วันที่ 20 ส.ค.นี้ จะเปิดนำร่อง (Kick Off) รถโดยสารไฟฟ้า (EV) หรือรถเมล์ไฟฟ้า สาย 2-38 (สาย 8 เดิม) เส้นทางแฮปปี้แลนด์-ท่าเรือสะพานพุทธ ตามใบอนุญาต เบื้องต้นจำนวนให้บริการ 20 คัน จากทั้งหมด 40 คัน ซึ่งเป็นไปตามแผนการปฏิรูปเส้นทางรถโดยสารประจำทางในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยจะมีเดินรถเมล์ไฟฟ้านำร่อง 150 คัน กระจายในหลายเส้นทาง

ทั้งนี้ ในภาพรวมรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า จะเป็นรถโดยสารของ ขสมก. 3,200 คัน ซึ่งจะใช้เวลาเปลี่ยนผ่านประมาณ 3 ปี นอกจากนี้ จะมีรถร่วมเอกชนประมาณ 4,000 คัน และรถบขส.อีกประมาณ 300 คัน

สำหรับรถเมล์สาย 8 เส้นทางแฮปปี้แลนด์-สะพานพุทธนั้น เนื่องจากผู้ประกอบการเดิมที่เคยมีสัญญาสัมปทานกับ ขสมก. ไม่ผ่านคุณสมบัติตามแผนปฎิรูปเส้นทางเดินรถจำนวน 77 เส้นทางจากกรมการขนส่งทางบก ซึ่งมีการเปิดหาผู้ประกอบการใหม่เข้ามาดำเนินการ ภายใต้เงื่อนไขการจัดหารถเมล์ใหม่ และระบบการให้บริการตามมาตรฐานที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด โดยมีบริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด (TSB) ได้รับใบอนุญาตเดินรถ และมีการเปลี่ยนชื่อจากสาย 8 เป็นสาย 2-38 ตามแผนปฎิรูปเส้นทางรถเมล์

Source : RYT9

“เน็กซ์”เดินกำลังการผลิตเต็มสปีด ก่อนทยอยส่งมอบรถเมล์ไฟฟ้าให้เอกชนผู้รับสัมปทานเดินรถเส้นทางกรุงเทพฯและปริมณฑล นำไปวิ่งบริการประชาชนเป็นรถร่วม ขสมก. แบบไร้มลพิษ

นายคณิสสร์ ศรีวัชรประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEX   เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้เปิดตัวโรงงานผลิตและประกอบยานยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) เชิงพาณิชย์แบบครบวงจรแห่งแรกของคนไทยอย่างเป็นทางการ ภายใต้บริษัท แอ๊บโซลูท แอสเซมบลี จำกัด หรือ AAB อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) ไปแล้วและวางแผนเดินหน้ากำลังในการผลิตสูงสุด 9,000 คันต่อปีนั้น ขณะนี้เน็กซ์ พอทย์ ได้เร่งกำลังการผลิตรถ EV ประเภทขนส่งสาธารณะ เพื่อเตรียมทยอยส่งมอบตามคำสั่งจองของลูกค้า ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่ได้รับสัมปทานเดินรถจากกรมการขนส่งทางบก (ขบ.)ในเส้นทางกรุงเทพฯและปริมณฑลในลักษณะร่วมบริการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)

โดยที่ผ่านมารถบัสอีวีของเน็กซ์ พอยท์ ได้ส่งมอบให้บริษัทที่ได้รับสัมปทานเดินรถเส้นทางกรุงเทพฯและปริมณฑลไปแล้ว 120 คัน ซึ่งนำไปวิ่งให้บริการประชาชนแล้วเป็นรถเมล์ไฟฟ้าสีน้ำเงินที่ไร้มลพิษ และในเดือน ส.ค.นี้จะมีการทยอยส่งมอบรถอย่างต่อเนื่อง โดยเน็กซ์ พอยท์ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากกลุ่มผู้ประกอบการเดินรถซึ่งขณะนี้มีออเดอร์อยู่ประมาณ เกือบ 4,000 คัน ดังนั้นบริษัทจึงได้ทยอยนำชิ้นส่วนเพื่อนำมาขึ้นรูปและประกอบ ก่อนจะทยอยส่งมอบให้ลูกค้าเฉลี่ยเดือนละประมาณ 600 คัน

อย่างไรก็ตาม การที่เรามีฐานผลิตอยู่ในประเทศไทยทำให้ได้เปรียบคู่แข่งในทุกประตู ซึ่งที่ผ่านมาถ้าเป็นรถเชิงพาณิชย์จะมีการนำเข้าจากต่างประเทศทั้งคันและจะต้องเสียภาษีอยู่ระหว่าง 20- 40% ขึ้นอยู่กับประเภทของยานยนต์ ดังนั้นการที่เน็กซ์ พอยท์มีโรงงานตั้งอยู่ในเขตฟรีโซนที่ได้รับการส่งเสริมจาก BOI  จึงมีในส่วนของการใช้ชิ้นส่วนหรือวัตถุดิบภายในประเทศหรือว่าเรียกว่า Local Content มากกว่า 40 % ขึ้นไปทำให้ไม่มีภาษีนำเข้า ขณะเดียวกันการได้รับการส่งเสริมจาก BOI ส่งผลให้สินค้าทุกชิ้นที่ขายออกไปมีกำไร หากเทียบกับคู่ต่อสู้ที่นำรถเข้ามาทั้งคันแล้วเรามองเห็นว่าได้เปรียบกว่าอยู่แล้ว

นายคณิสสร์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้เรายังมีความร่วมมือกับ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ที่เป็นพันธมิตรของเน็กซ์ จึงนำจุดแข็งของทั้งสองบริษัทมาทำงานร่วมกัน โดยจุดแข็งของเน็กซ์ พอยท์ คือมีความชำนาญและมีประสบการณ์ในการทำการตลาดในส่วนของรถเชิงพาณิชย์มาเป็นระยะเวลากว่า 10  ปีขึ้นไป บุคลากรมีความเชี่ยวชาญและมีโครงข่ายในการทำบริการหลังการขายที่มีความชำนาญและสมบูรณ์แบบ ขณะที่ EA ชำนาญในส่วนของการผลิต charger และส่วนของแบตเตอรี่ ซึ่งปัจจุบันทาง EA ได้ติดตั้ง charger ไปแล้วกว่า 600 แห่งทั่วประเทศ ถือว่าเป็นบริษัทที่มีการติดตั้ง charger ที่เยอะที่สุดในประเทศไทย รวมถึงมีบริการหลังการขาย  ทำให้ลูกค้าที่ตัดสินใจซื้อรถจากเน็กซ์ พอยท์ ไม่ต้องกังวลกับบริการหลังการขาย

“ผมพูดได้เต็มปากว่า เน็กซ์ พอยท์ คือ ผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ที่มีการลงทุนอย่างเป็นรูปธรรมรายแรกในประเทศไทย และทำการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเป็นแบรนด์แรกของประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาคงได้ยินกันตลอดว่ามีกลุ่มบริษัทชั้นนำในประเทศไทย พยายามเข้ามามีส่วนร่วมในธุรกิจของยานยนต์ไฟฟ้า แต่เอาเข้าจริงมีการลงทุนอย่างเป็นรูปธรรมแค่ 2 ค่ายหลักๆคือค่าย mercedes-benz และค่าย NEXPOINT ที่มีการลงทุนสายผลิตเพื่อรองรับการผลิตรถไฟฟ้าและมีผลิตภัณฑ์ที่ประกอบภายในประเทศ และส่งมอบรถให้ลูกค้าได้จริง ซึ่งในส่วนของ benz จะโฟกัสรถยนต์ที่นั่งส่วนบุคคล ส่วน NEX จะมุ่งเน้นรถเชิงพาณิชย์เป็นหลัก จึงนับได้ว่าเป็นรายแรกของประเทศไทยที่มีการลงทุนจริงๆ และมีการทยอยส่งมอบสินค้าจริงให้ผู้ประกอบการอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป” ซีอีโอเน็กซ์กล่าว

Source : มติชนออนไลน์