บ้านปู เน็กซ์ สนับสนุน “บียอนด์ กรีน” ผู้นำธุรกิจรถไฟฟ้าเอนกประสงค์ครบวงจรในภูมิภาคเอเชีย และ “มหาวิทยาลัยขอนแก่น” ลงนามบันทึกความร่วมมือใน “โครงการผลิตและประยุกต์ใช้แบตเตอรี่ชนิดลิเธียมไอออนและโซเดียมไอออนสำหรับรถกอล์ฟไฟฟ้า” เดินหน้านำแบตฯ ลิเธียมไอออนไปใช้กับรถกอล์ฟไฟฟ้าของบียอนด์ กรีน ประมาณ 2,000 ชุดต่อปี และสนับสนุนการพัฒนาแบตฯ โซเดียมไอออนจากแร่เกลือหินในภาคอีสานของไทย ตั้งเป้าขยายแบตเตอรี่ไทยไปสู่ตลาดโลก

วันที่ 16 ก.พ. 2566 “บียอนด์ กรีน” ซึ่งเป็นเครือข่ายของ “บ้านปู เน็กซ์” ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOA) กับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการพัฒนา “โครงการผลิตและประยุกต์ใช้แบตเตอรี่ชนิดลิเธียมไอออนและโซเดียมไอออนสำหรับรถกอล์ฟไฟฟ้า” เพื่อช่วยผลักดันการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมถึงรองรับความต้องการใช้แบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง และยังช่วยต่อยอดให้ธุรกิจแบตเตอรี่ของบ้านปู เน็กซ์ มีโซลูชันที่หลากหลายครบวงจรไว้บริการกลุ่มลูกค้าเพิ่มขึ้นด้วย

สำหรับ บียอนด์ กรีน เป็นผู้ให้บริการรถไฟฟ้าเอนกประสงค์ครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ปัจจุบันมีรถกอล์ฟไฟฟ้าในตลาดประมาณ 20,000 คัน ซึ่งเป็นของบียอนด์ กรีน 5,000 คัน โดยในแต่ละปีบริษัทจะมีความต้องการใช้แบตเตอรี่สูงถึง 2,000 ชุด จึงมองหาพาร์ทเนอร์ที่เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ เพื่อนำไปใช้กับรถกอล์ฟไฟฟ้าของบริษัท

ขณะที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีโรงงานแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่ที่สามารถผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคุณภาพสูง ปลอดภัย และได้รับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) รวมถึงเมื่อเร็ว ๆ นี้ยังได้คิดค้นและพัฒนาแบตเตอรี่โซเดียมไอออนจากแร่เกลือหินที่อยู่ในพื้นที่ภาคอีสานได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในอาเซียน

ทั้งนี้จากศักยภาพและโอกาสในการใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตในประเทศดังกล่าว จึงทำให้เกิดความร่วมมือในครั้งนี้ โดยมุ่งเน้น 2 เรื่อง คือ 1. นำแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคุณภาพสูง แบรนด์ kkUVolts ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ไปทดลองใช้กับรถกอล์ฟไฟฟ้าของบียอนด์ กรีน ในประเทศไทย จำนวน 2,000 ชุด  2. สนับสนุนการพัฒนาแบตเตอรี่โซเดียมไอออน พร้อมศึกษาความเป็นไปได้ในการนำไปใช้กับรถกอล์ฟไฟฟ้าในเครือข่ายธุรกิจของบียอนด์ กรีน ในอนาคต

สำหรบบ้านปู เน็กซ์ ผู้ให้บริการโซลูชันพลังงานสะอาดชั้นนำในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้มีส่วนร่วมผลักดันความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อเป็นการต่อยอดธุรกิจและทำให้ บ้านปู เน็กซ์ มีพันธมิตรที่เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ในประเทศไทย ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้ นับเป็นความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของตลาดแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยและเอเชียแปซิฟิก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของทีมนักวิจัยไทยที่สามารถพัฒนานวัตกรรมแบตเตอรี่พลังงานยุคใหม่ที่มีคุณภาพระดับสากล ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และผลักดันประเทศไทยสู่ศูนย์กลางการผลิตแบตเตอรี่จากพลังงานทางเลือกของโลกในอนาคต ขณะเดียวกันยังช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ซึ่งในอนาคต บียอนด์ กรีน จะเดินหน้าขยายความร่วมมือนำแบตเตอรี่ทั้ง 2 ชนิดไปใช้กับรถกอล์ฟไฟฟ้าในเครือข่ายธุรกิจ รวมถึงต่อยอดไปใช้กับรถไฟฟ้าเอนกประสงค์อื่น ๆ อีกด้วย

ด้านบริษัทวิจัย Meticulous Research ของสหรัฐฯ คาดการณ์ว่าตลาดแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะมีอัตราการเติบโต อยู่ที่ 23.3% ในช่วงปี 2565-2572

Source : Energy News Center

กลุ่มบ้านปู อัด 1.65 หมื่นล้าน กางแผน 3 ปี ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลุยพัฒนาพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเป็น 1,100 เมกะวัตต์ พร้อมธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานอีก 500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568

นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทได้กำหนดกลยุทธ์ Greener & Smarter เพิ่มเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบนิเวศด้านพลังงานของบ้านปู (Banpu Ecosystem) ให้ครบวงจรยิ่งขึ้น และสอดรับเทรนด์โลกที่ตั้งเป้าลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) สุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2603

โดยในปี 2568 กลุ่มบ้านปูได้ตั้งเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกสำหรับธุรกิจเหมืองลง 7% จากการดำเนินงานในสภาวะปกติ และในธุรกิจไฟฟ้าที่ครอบคลุมไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงทั่วไปและจากพลังงานทดแทนลง 20% จากการดำเนินงานในสภาวะปกติ ผ่านการดำเนินงานที่มีเป้าหมายเพิ่มกำไรในธุรกิจพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีพลังงานของกลุ่มบ้านปูไม่ต่ำกว่า 50% ใน 10 ประเทศ

สำหรับการดำเนินงานในปีนี้บริษัทได้จัดสรรงบลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีพลังงานไว้ราว 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.65 หมื่นล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ)  แบ่งเป็นการลงทุนการเพิ่มสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับลูกค้าอีก 500 เมกะวัตต์ รวม 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 1.32 หมื่นล้านบาท  และลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3,300 ล้านบาท

ทั้งนี้ การดำเนินงานดังกล่าว จะลงทุนผ่านบริษัท บ้านปู เน็กซ์ จํากัด เป็นหลัก ในการขยายโรงไฟฟ้าพลังงานลมและแสงอาทิตย์ครอบคลุมทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเทศยุทธศาสตร์สำคัญ อาทิ เวียดนาม ญี่ปุ่น จีน อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย

ขณะเดียวกันก็จะขยายการลงทุนไปสู่ตลาดใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพการเติบโตสูง ที่มีเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนขึ้นไปอีกราว 1,100 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 จากปัจจุบันมีอยู่ที่ราว 836 เมกะวัตต์ และขยายฐานลูกค้าผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ครบวงจรทุกรูปแบบทั้งในประเทศและต่างประเทศอีกราว 500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 จากปัจจุบันมีอยู่ราว 37 เมกะวัตต์ เพื่อสนับสนุนให้ลูกค้าภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมทั่วประเทศไทยสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่โลกได้ และดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนไปพร้อมกัน

"บ้านปู" ทุ่ม 1.6 หมื่นล้าน ลุยพลังงานสะอาด ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ขณะที่การลงทุนในกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน จะเป็นการเร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่พอร์ตพลังงานที่สะอาดขึ้นและเทคโนโลยีพลังงานที่สอดคล้องกับเทรนด์พลังงานในอนาคตได้รวดเร็วและยั่งยืนมากยิ่งขึ้นในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครอบคลุมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โซลูชั่นด้านพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาและทุ่นลอยน้ำ ระบบกักเก็บพลังงาน ระบบจัดการพลังงาน ยานยนต์ไฟฟ้า โครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะและการซื้อขายไฟฟ้า

นายชนิต สุวรรณพรินทร์ ผู้อํานวยการอาวุโส-บริหารการตลาด และการขาย บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จํากัด  กล่าวว่า บ้านปู เน็กซ์ ซึ่งเป็นบริษัทหลักของบ้านปูในการพัฒนาธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานสะอาดด้วยหลัก “3D” ได้แก่ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลบริหารจัดการระบบพลังงาน (Digitization) การกระจายตัวของแหล่งผลิตและจำหน่ายพลังงาน (Decentralization) และการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonization) เพื่อขยายพอร์ตเทคโนโลยีพลังงานสะอาดครบวงจรในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครอบคลุมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โซลูชั่นด้านพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาและระบบทุนลอยน้ำ ระบบกักเก็บพลังงาน ระบบจัดการพลังงาน ยานยนต์ไฟฟ้าโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะและการซื้อขายไฟฟ้า

ทั้งนี้ บ้านปู เน็กซ์ตั้งเป้าหมายการเติบโตทางธุรกิจภายในปี 2568 จะขยายฐานลูกค้าผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ครบวงจรทุกรูปแบบทั้งในประเทศและต่างประเทศอีกราว 500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 จากปัจจุบันมีอยู่ราว 37 เมกะวัตต์ เพื่อสนับสนุนให้ลูกค้าภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมทั่วประเทศไทยสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่โลกได้ และดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนไปพร้อมกัน

อีกทั้ง เพิ่มกำลังการผลิตจากระบบกักเก็บพลังงาน 3.0 กิกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปี เพิ่มยานยนต์ไฟฟ้ากว่า 5,500 คัน รองรับการให้บริการผู้โดยสาร 430,000 คนต่อวัน เพิ่มสถานีอัดประจุไฟฟ้า 2,000 จุด เพิ่มปริมาณการจำหน่ายเรือท่องเที่ยวไฟฟ้า 100 ลำ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะและการบริหารจัดการพลังงาน30 โครงการ และปริมาณการซื้อขายไฟฟ้า 1,000 กิกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปี ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวเชื่อว่าจะช่วยให้กลุ่มบ้านปูสามารถบรรลุเป้าหมายในการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะสั้นได้

Source : ฐานเศรษฐกิจ