ปตท. มีมติให้ พีทีที โกลบอล แอลเอ็นจี ลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวระยะยาว 20 ปี อีก 1 ล้านตัน กับบริษัทในกลุ่ม Cheniere Energy สหรัฐอเมริกา ขยายการดำเนินธุรกิจ LNG ของกลุ่ม ปตท.

ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีมติให้บริษัท พีทีที โกลบอล แอลเอ็นจี จำกัด (PTTGL) ลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) กับ บริษัท Corpus Christi Liquefaction LLC (CCL) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของ Cheniere Energy บริษัทพลังงานจากสหรัฐอเมริกา ในปริมาณ 1 ล้านตันต่อปี เป็นระยะเวลา 20 ปี เริ่มต้นส่งมอบในปี 2569 เป็นต้นไป

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การลงนามในสัญญาครั้งนี้สะท้อนถึงทิศทางของยุทธศาสตร์และการเปลี่ยนผ่านธุรกิจไปสู่พลังงานสะอาดและธุรกิจใหม่ๆ ตามวิสัยทัศน์ของ ปตท. “Powering life with Future Energy and Beyond” ซึ่งก๊าซธรรมชาติเป็นพลังงานสำคัญ ที่สนับสนุนทั้งความมั่นคงด้านพลังงานและความยั่งยืนในอนาคต โดย ปตท. มีพัฒนาการที่รุดหน้าในธุรกิจ LNG ตามเป้าหมายที่จะเป็น LNG Player ในระดับสากล และภายในสิ้นปี 2565 นี้ กลุ่ม ปตท. จะมีสถานีเก็บรักษาและแปรสภาพ LNG 2 แห่ง มีความสามารถจ่ายก๊าซฯ รวม 19 ล้านตันต่อปี ช่วยสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้ในระยะยาวและสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ

การลงนามสัญญาฯ ในครั้งนี้ นับว่าเป็นโอกาสดีในการจัดหา LNG จากแหล่งผลิตที่มีศักยภาพและมีคุณภาพอย่างบริษัท Cheniere Energy ที่เป็นผู้ผลิตและส่งออก LNG ที่สำคัญของสหรัฐอเมริกา ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์พลังงานโลก การผลิตก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยที่มีแนวโน้มลดลง และวิกฤตการณ์ของราคาเชื้อเพลิงที่มีความผันผวนนี้

ด้าน นาย Jack Fusco ประธานและซีอีโอ ของบริษัท Cheniere Energy กล่าวว่า การลงนามสัญญาฯ ครั้งนี้ เป็นการซื้อขาย LNG ระยะยาวของ PTTGL จากบริษัทผู้ผลิตในประเทศสหรัฐอเมริกาโดยตรง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตที่มีความน่าเชื่อถือระดับโลก สัญญาฯ ดังกล่าวสะท้อนถึงความต้องการ LNG ระยะยาว ซึ่งเป็นพลังงานที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในทศวรรษนี้

สำหรับ บริษัท Cheniere Energy เป็นผู้นำด้านการผลิตและการส่งออก LNG สำคัญของสหรัฐอเมริกา และกำลังดำเนินการขยายการผลิตไปสู่อุตสาหกรรมห่วงโซ่อุปทานของ LNG สำนักงานใหญ่ของบริษัทอยู่ในเมืองฮุสตัน เท็กซัส และมีสำนักงานในลอนดอน สิงคโปร์ ปักกิ่ง โตเกียว และวอชิงตัน

Source : มติชนออนไลน์

ปตท.ย้ำ การก้าวสู่ Net Zero เทคโนโลยี-นโยบายภาครัฐสำคัญ เพราะมีค่าใช้จ่ายที่สูง ทำช้าไม่ได้ ทำเร็วก็ไม่ดี องค์กรต้องแข่งขัน ชี้ภายในปี 2030 กลุ่มปตท.ต้องมีรายได้จากธุรกิจใหม่ 30%

นายเทอดเกียรติ พร้อมมูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลยุทธ์องค์กรและความยั่งยืน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานเสวนา “Special Forum Innovation Keeping The World : Rethink Recover นวัตกรรมรักษ์โลก” หัวข้อ “Rethink Recover คิดใหม่เพื่อโลก : Innovation for Zero Carbon” จัดโดย “สปริงนิวส์” และ “เนชั่น กรุ๊ป” ว่า ปตท. เติบโตมาจากอุตสาหกรรมพลังงาน โดยธุรกิจของปตท. ในอดีต เริ่มจากน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ระยะหลังเริ่มมีปิโตรเคมี

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมพลังงานถือว่ามีการปลดปล่อยคาร์บอนเยอะที่สุดในสัดส่วนกว่า 60% ของประเทศไทย เมื่อสังคมโลกได้เริ่มบีบคั้นเกี่ยวกับคาร์บอน โดยเฉพาะประเทศทางยุโรป น้ำแข็งกำลังละลายและท่วมบ้าน ภูมิอากาศเปลี่ยนไป แม้แต่กระทั่งประเทศไทย จะเห็นว่าเมื่อช่วงเดือนเม.ย. ช่วงปี 2 ปีที่ผ่านมา อากาศเย็นมาก ถือเป็นโอกาสให้เห็นว่าการปลดปล่อยคาร์บอนมีผลกับสภาพอากาศ ที่เรียกว่าสภาวะเรือนกระจก และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

อย่างไรก็ตาม ปตท. อยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนว่าธุรกิจเดิมที่อยู่กับไฮโดรคาร์บอน มีบริษัทลูกที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อาทิ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ดำเนินธุรกิจด้านพลังงานไฟฟ้า จากโซล่าเซลล์ และพลังงานลม ปรับรูปแบบดำเนินธุรกิจขายน้ำมันผ่านบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ ซึ่งเมื่อจะมุ่งสู่พลังความสะอาดพลังงาน หรือ Go Green คนมาเติมน้ำมันในปั๊มปตท. จะลดลงหรือไม่ นอกจากนี้ เพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจ EV Value Chain ปตท. ได้จัดตั้ง บริษัท อรุณพลัส เพื่อวัตถุประสงค์สนับสนุนทั้งอุตสาหกรรมรถยนต์ที่กำลังจะเปลี่ยนไป โดยการสร้างโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี)

อย่างไรก็ตาม การดำเนินธุรกิจต้องปรับตัว ในการทำธุรกิจกับต่างประเทศประเทศที่เขาให้ความสำคัญโดยเฉพาะทางฝั่งตะวันตกยุโรปหรืออเมริกาไม่ว่าองค์กรเดินเรือหรือการบินระหว่างประเทศคำนึงถึงปัญหาคาร์บอน ปตท.อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้มีคำถามเรื่องเป้าหมายเน็ตซีโร่ หรือแม้แต่การจะกู้เงินเพื่อลงทุนธุรกิจต่าง ๆ ของบริษัทใหญ่ ๆ จะถูกธนาคารถามเรื่องของเป้าหมายคาร์บอน หากไม่คำนึงอาจจะไม่ปล่อยเงินกู้หรือไม่ก็ดอกเบี้ยแพง เป็นต้น

ปตท. จากที่เคยทำน้ำมัน ก๊าซฯ ปิโตรเคมี เมื่อทุกคนให้ความสนใจมุ่งสู่ Go Green ดังนั้น ทุกอย่างต้องสะอาด รวมถึง Go Electric การผลิตไฟฟ้าจากเดิมที่เป็นน้ำมัน จะต้องเปลี่ยนไป ปตท. เป็นองค์กรขนาดใหญ่สำหรับประเทศไทยเกิดขึ้นจากที่ประเทศขาดแคลนน้ำมันปี 2521 ดำเนินธุรกิจรวม 44 ปี สร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ”

ทั้งนี้ ปัจจุบันปตท. ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยม พลังงานไม่ขาดแคลน มีไฟฟ้าใช้ตลอด แม้ราคาจะแพง เพราะนำเข้าน้ำมันกว่า 90% แต่การขาดแคลนไม่เกิดขึ้นเหมือนบางประเทศที่ต้องรอคิว และไม่มีเงินซื้อน้ำมันมาให้ประชาชนในประเทศ ขณะเดียวกัน ด้วยสภาวะแวดล้อมเปลี่ยนไป ปตท. จำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนสู่พลังงานสะอาดด้วย ไม่เช่นนั้นจะโดนบีบลงเรื่อย ๆ และอนาคตสัดส่วนของการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น สถานีบริการน้ำมันของโออาร์จึงเริ่มติดตั้งเครื่องชาร์จไฟฟ้า เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ผู้ใช้งาน

“ปัจจุบันลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการสถานีบริการน้ำมันพีทีที สเตชั่น จำนวน 50% เข้ามาเติมน้ำมัน ส่วนอีก 50% มาใช้บริการด้านอื่น ๆ ซึ่งทางโออาร์มีร้านกาแฟ สะดวกซื้อ ร้านอาหาร บริการต่าง ๆ อีกมากมาย”

นายเทอดเกียรติ กล่าวว่า จากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนปี 2050 และ Net Zero ปี 2065 บนเวที COP26 นั้น การจะทำให้ทั้งประเทศเป็น Net Zero จะต้องใช้เงินค่อนข้างเยอะ ซึ่งต้องคิดดี ๆ ดังนั้น ปตท. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานของรัฐ และบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ ต้องมีความรับผิดชอบจะต้องช่วยประเทศไทยให้ดีขึ้น และบรรลุเป้าหมายที่นายกฯ ประกาศ ซึ่งจะต้องทำเป้าหมายให้สำเร็จก่อนเป้าหมายประเทศให้ได้

อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินธุรกิจให้สำเร็จ สิ่งสำคัญคือ เทคโนโลยี ปตท.มีสถาบันวิจัยที่ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็นสถาบันนวัตกรรม มีทั้งเทคโนโลยีที่ใช้ภายในธุรกิจเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ดีและเหมาะสมที่สุด จะเป็นการประหยัดงบประมาณได้ดี ปตท. อีกทั้งยังมีสถาบันวิทยสิริเมธีถือเป็นสถาบันการศึกษาทั้งชั้นนำตั้งอยู่ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ เป็นสถาบันที่มีผลการวิจัยสำคัญต่อนักศึกษาและอาจารย์ โดยผลการวิจัยหลาย ๆ อย่างได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์มากมาย

“ในอดีตเราเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติ เมื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ปี 2544 ได้พัฒนาและประสบความสำเร็จ มีธุรกิจอยู่ในหลายประเทศทั้งในยุโรป มีออฟฟิศอยู่ในลอนดอน และอเมริกา ทำการค้ากับหลายประเทศในเอเซีย จนต้นปีที่ผ่านมา ได้เปลี่ยนวิสัยทัศน์ใหม่ powering life with future energy and beyond หรือ ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังงานแห่งอนาคต ดังนั้น แผนธุรกิจก็ต้องเปลี่ยนไป”

อย่างไรก็ตาม กำไรจากการดำเนินธุรกิจในอดีตจากน้ำมันและก๊าซฯ แต่ตอนนี้ ปตท.มีบริษัทลูกกว่า 400 บริษัท ทำให้กำไรจากปตท. ดำเนินการเองอยู่ที่ 10-15% และ ปตท.ได้ตั้งกำไรจากธุรกิจใหม่ อาทิ ธุรกิจยา อาหารและสุขภาพ ธุรกิจพลังงานสะอาดต่างๆ เป็นต้น ในปี 2030 ต้องได้กำไรอย่างน้อย 30% ในปี 2030

“การจะก้าวสู่ Net Zero หรือ Go Green หรือความเป็นกลางทางคาร์บอน นโยบายภาครัฐสำคัญ ด้วยเทรนด์ของ Carbon Zero เป็นเรื่องที่ทุกคนสนใจ โดยเฉพาะสังคมระดับสากล ค่าใช้จ่ายที่สูงไม่ใช่ของฟรีทำช้าคงไม่ได้ทำเร็วมากก็อาจจะไม่ดี ทุกคนต้องวิเคราะห์เพราะเป็นต้นทุนของเรา ต้องอย่าลืมว่าการทำธุรกิจสุดท้ายจะต้องแข่งขันได้ หากทำเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้วใส่เงินเข้าไปเยอะในเวลาที่ไม่เหมาะสม จะทำให้บั่นทอนความสามารถในการแข่งขันได้”

Source : กรุงเทพธุรกิจ

ท่ามกลางวิกฤตพลังงานที่ร้อนแรงตลอดช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา รัฐบาลและภาคเอกชนต่างมุ่งวางมาตรการดูแลราคาพลังงานในประเทศ พร้อมเร่งขับเคลื่อนการลงทุนด้วยอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อเสริมศักยภาพการแข่งขันให้ไทยในอนาคต

“นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT อัพเดตถึงแผนธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลัง 2565 ว่ายังคงเดินหน้าตามแผน 5 ปี (ปี 2573)

การดำเนินงานของ ปตท.ในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ คาดว่ายอดขายจะปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 ที่ผ่านมา และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นไปตามทิศทางราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง และมีการเปิดประเทศทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาคึกคักมากขึ้น เบื้องต้นพบว่ายอดการใช้น้ำมันในปัจจุบันเริ่มกลับมาฟื้นตัวใกล้เคียงกับช่วงปี 2562 ที่เป็นสถานการณ์ปกติก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19

ลุยธุรกิจใหม่

ช่วงที่เหลือของปี 2565 กลุ่ม ปตท.ยังเดินหน้าขยายการลงทุนด้านพลังงานตามแผนลงทุน 5 ปี (ปี 2573) หรือพลังงานแห่งอนาคต future energy ไปสู่เป้าหมายสังคมคาร์บอนต่ำด้วยเม็ดเงินลงทุน 14,600 ล้านบาท ด้วยวิสัยทัศน์ “Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต” คือการมุ่งไปสู่ธุรกิจสีเขียว อย่างการลงทุนธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ครบทั้งแวลูเชน ทั้งการผลิตประกอบตัวรถ ผลิตชิ้นส่วนชิปอย่าง smart electronics และ semiconductor

ซึ่งปัจจุบันลงนามกับทางฟ็อกซ์คอนน์ เทคโนโลยี กรุ๊ป (Foxconn Technology Group) เพื่อผลิตและประกอบรถ EV กำลังการผลิต 50,000 คัน ซึ่งจะใช้เวลา 2 ปี จะมีรถออกมาขายตามแผน ภายใต้งบฯลงทุน 1,000 ล้านเหรียญ ล่าสุดจากการหารือชัดเจนว่าจะจัดตั้งโรงงานในประเทศไทย ในนิคมอุตสาหกรรมแถบภาคตะวันออก (EEC) เฟส 2 ในปี 2573 อีก 150,000 คันต่อปี ส่วนลูกค้าที่จะเข้ามาใช้บริการแพลตฟอร์มผลิตรถ EV นั้น เบื้องต้นมีผู้สนใจแล้ว 2-3 ราย

จากนั้นจะต่อยอดขยายการลงทุนไปสู่ชิ้นส่วนต่าง ๆ อย่างชิปเซมิคอนดักเตอร์ที่ปัจจุบันมีปัญหาขาดแคลนอย่างหนัก และการลงทุนด้านแบตเตอรี่ EV มีโอกาสที่จะมองการลงทุนในโรงงานแบตเตอรี่ในต่างประเทศ ล่าสุดได้หารือกับผู้ประกอบการรถบัส เพื่อสนับสนุนให้เปลี่ยนจากเครื่องยนต์สันดาปไปสู่ EV โดย ปตท.จะสนับสนุนเรื่องของแบตเตอรี่ ส่วนสถานีชาร์จปีนี้จะมีครบ 450 แห่งทั่วประเทศ ที่ทาง OR จะเริ่มเก็บค่าบริการชาร์จในเดือน ส.ค.นี้

ขณะเดียวกัน ปตท.ยังมีแผนการลงทุนในพลังงานทดแทนเพื่อผลิตไฟฟ้าเป้าหมาย 12,000 เมกะวัตต์ จากเดิม 400 เมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้ทำได้ 2,000 เมกะวัตต์แล้ว

ลดปล่อยคาร์บอน

“เมื่อถึงเป้าหมายสัดส่วน กำไรสุทธิ 30% ของ ปตท.จะเป็นพลังงานสีเขียว จากปัจจุบันที่มี 10% โดยบริษัทในกลุ่มจะดำเนินงานไปตามส่วนที่ตนถนัด เช่น ธุรกิจโรงกลั่นลงทุนเพิ่มพัฒนาตัวน้ำมันให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่าง EURO 5 ทางด้านธุรกิจปิโตรเคมี การนำเอาพลาสติกมาใช้อีกครั้ง หรือการเป็น Bio พลาสติกโดยใช้วัตถุดิบ (feedstock) จากผลิตภัณฑ์การเกษตร เพื่อให้เกิดการย่อยสลายได้”

เรื่องคาร์บอนต่ำ ปตท.ได้ประกาศแผนที่ทำได้จริงก่อนรัฐบาล หรือให้ได้ก่อนปี 2065 (ปี 2608) โดยนำวิธีการดักจับคาร์บอนที่ไม่เป็นประโยชน์มากักเก็บไว้ในพื้นที่อ่าวไทย ที่เคยสูบก๊าซออกมาแล้ว ซึ่งมีศักยภาพเก็บได้ถึง 40 ล้านตัน/ปี

ชูแนวคิดแก้วิกฤตพลังงาน

นายอรรถพลระบุว่า การแก้ไขปัญหาราคาพลังงานที่ผันผวนของประเทศไทย วิธีที่ดีที่สุด คือ การประหยัดพลังงาน เพราะเรื่องใหญ่ของพลังงานมันประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ 1.ความมั่นคงด้านพลังงาน ไทยไม่เคยขาดแคลน 2.ราคาพลังงาน ขึ้นลงตามตลาดโลก 3.สิ่งแวดล้อม ต้องไม่ให้เกิดผลกระทบ ซึ่งทั้งหมดต้องวางแผนให้เกิดสมดุลในทุกด้าน และต้องไม่ให้ถูกกระทบจากกติกากีดกันทางการค้าของโลก

ในส่วนของ ปตท.ได้เข้าช่วยแบ่งเบาภาระต้นทุนพลังงานให้ “กลุ่มเปราะบาง” นับตั้งแต่ต้นปี 2565 จนถึงปัจจุบัน ด้วยการใช้ส่วนลดราคา NGV และ LPG รวมเป็นงบประมาณเกือบ 3,300 ล้านบาท และจะยังยืดอายุมาตรการช่วยเหลือตามนโยบายรัฐต่อไปอีก 3 เดือน เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน

อย่างไรก็ตาม เขาประเมินว่าราคาน้ำมันดิบปี 2566 มีแนวโน้มอ่อนตัวลงต่ำกว่าระดับ 100 เหรียญ/บาร์เรล หลังจากกลุ่มประเทศผู้ผลิตและผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก (โอเปก) เตรียมเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเดือนละ 6 แสนบาร์เรล/วัน ซึ่งถึงสิ้นปี 2565 จึงทำให้มีซัพพลายน้ำมันดิบป้อนเข้าสู่ตลาดอีก 3 ล้านบาร์เรล/วัน ประกอบกับทิศทางเศรษฐกิจโลกไม่ได้เติบโตมากนัก

ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันยังไม่หวือหวา จึงน่าจะส่งผลให้ราคาน้ำมันอ่อนตัวลงได้ แม้ยังมีสงครามรัสเซีย-ยูเครนอยู่ก็ตาม ขณะที่ต้นทุนราคาพลังงานอื่น ๆ เช่น ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ก็คาดว่าจะเริ่มทยอยอ่อนตัวลงตามทิศทางราคาน้ำมัน แต่ในส่วนของ LNG ราคาจะยังปรับขึ้น-ลงตามซีซั่น

ส่วนสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในช่วงที่เหลือของปี 2565 คาดว่าจะมีราคาเฉลี่ย 103-104 เหรียญ/บาร์เรล สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้ต้นทุนราคาขายปลีกพลังงานโดยรวมของไทยทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ก๊าซ NGV และก๊าซ LPG ยังอยู่ในระดับสูง ดังนั้น ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันประหยัดการใช้พลังงาน เพื่อลดต้นทุนการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศในช่วงที่ราคาแพง คือ แนวทางรับมือที่ดีที่สุด

Source : ประชาชาติธุรกิจ

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กลุ่ม ปตท.จะมุ่งไปสู่พลังงานแห่งอนาคต ที่สนับสนุนนโยบายภาครัฐให้บรรลุเป้าหมายสังคมคาร์บอนต่ำ รวมถึงสร้างระบบนิเวศและสังคมที่ดีขึ้น โดยจะเน้นลงทุนพลังงานทดแทน ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ธุรกิจแบตเตอรี่ ซึ่งได้หารือกับผู้ประกอบการรถบัส เพื่อให้เปลี่ยนจากเครื่องยนต์สันดาปไปสู่อีวี โดย ปตท.จะสนับสนุนแบตเตอรี่ให้

“ขณะเดียวกัน ปั๊มชาร์จไฟฟ้ารถยนต์อีวีของบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือโออาร์ จะเริ่มเก็บค่าบริการชาร์จในเดือน ส.ค.นี้ หลังเปิดให้ประชาชนทดลองชาร์จฟรีแล้ว แต่ค่าบริการยังถูกกว่าราคาน้ำมันมาก นอกจากนี้ โออาร์จะขยายปั๊มชาร์จไฟฟ้าให้เพิ่มเป็น 450 แห่งสิ้นปีนี้ จากปัจจุบัน 190 แห่ง ส่วนการเช่ารถอีวีของ ปตท. ภายใต้ EVme ปัจจุบันมี 200 คัน จะเพิ่มอีก 500 คัน ในปีนี้เช่นกัน”

สำหรับธุรกิจในปัจจุบัน เช่น โรงกลั่นน้ำมัน จะลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้ได้มาตรฐานยูโร 5 เพื่อยกระดับการลดการปล่อยมลพิษ เพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม ส่วนธุรกิจปิโตรเคมี ต้องยกระดับการใช้วัตถุดิบจากผลิตภัณฑ์การเกษตร เพื่อให้เกิดการย่อยสลายได้ เป็นต้น.

Source : ไทยรัฐ

“ปตท.” เปิดแผน 3P ขอเป็นหนึ่งองค์กรร่วมนำพาประเทศไทยมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero คาดในปีนี้ประกาศเป้า Net Zero ใหม่ ไวกว่าเป้าหมายประเทศ

การก้าวสู่ “Net Zero” ถือเป็นแนวทางหลักที่องค์กรใหญ่ระดับนานาชาติต่างทยอยประกาศเป้าหมาย เพื่อร่วมขับเคลื่อนธุรกิจสีเขียวเพื่อโลกที่ดีกว่าเดิม

เช่นเดียวกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ล่าสุด นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมเวทีเสวนา “ถามมา-ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม” (Better Thailand Open Dialogue) หัวข้อ “สิ่งแวดล้อมยุคใหม่ เติบโตไปพร้อมกับเศรษฐกิจ” ว่า การเดินหน้าในการลดคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อตอบโจทย์ประชากรทั่วโลกนั้น ปตท. ได้มีการจัดตั้ง G-Net (PTT Group Net Zero Task Force) ขึ้นมาตั้งแต่ที่รัฐบาลได้ประกาศนโยบาย

สำหรับเป้าหมายของ ปตท. คือ จะทำให้เร็วกว่าเป้าหมายของประเทศ โดยภายในปีนี้ ปตท. จะประกาศเป้าหมายที่ชัดเจนอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม เพื่อบรรลุเป้าหมายในครั้งนี้ ปตท. จึงได้ใช้กลยุทธ์ “3P” สู่ความสำเร็จ ได้แก่

1. Pursuit of Lower Emissions

สิ่งที่จะทำปีแรก คือ ลดการปลดปล่อยคาร์บอน และสร้างธุรกิจที่ช่วยพาไปสู่เป้าหมายโดยเร็ว โดยในขณะนี้ ปตท. เน้นการใช้พลังงานให้คุ้มค่ามากที่สุด รวมถึงใช้เทคโนโลยีดักจับคาร์บอน (CCS) ที่ปล่อยมาจากหน่วยผลิตกลับมาเก็บไว้ใต้ดิน โดยแหล่งที่ดีที่สุด คือแหล่งก๊าซธรรมชาติและแหล่งน้ำมัน เพื่อไม่ให้ของเสียออกมาทำลายโลก โดยเริ่มดำเนินงานไปแล้วที่แหล่งอาทิตย์ โดยจะเก็บได้ประมาณ 400,000 ตันต่อปี ซึ่งดูแลโดยบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. 

ทั้งนี้ เมื่อมองไปข้างหน้า ศักยภาพของแหล่งต่างๆ ในประเทศไทยสามารถเก็บได้ถึง 40 ล้านตันต่อปี ซึ่งจะเป็นโปรเจกต์ที่ ปตท.สผ. ลงมาทำอย่างจริงจัง ส่วนการนำคาร์บอนที่เก็บไว้มาใช้ประโยชน์ (CCUS) ปตท. ยังมีโปรเจกต์ที่กำลังศึกษาอยู่หลายชิ้น โดยโปรเจกต์เหล่านี้จะช่วยเพิ่มคุณค่าทางเศรษฐกิจและดึงตัวคาร์บอนที่ปล่อยออกมาได้ประมาณ 3 แสนตันต่อปี นอกจากนี้ ยังได้นำพลังงานทดแทน (Renewable Energy) มาใช้ในหน่วยปฏิบัติการของ ปตท. อาทิ การติดตั้งพลังงานโซลาร์ ในสถานที่ตั้งอาคารและหน่วยงานต่างๆ 

ไม่เพียงเท่านี้ นายอรรถพลยังได้เผยอีกว่า ปตท. ได้เริ่มซื้อขาย คาร์บอนเครดิต โดย ปตท. ทดลองเป็นผู้ซื้อก่อน และซื้อคาร์บอนมาชดเชยเรือที่ต้องเติมน้ำมันในรอบการขนส่ง ดังนั้น ดังนั้น การขนส่งน้ำมันในรอบดังกล่าวจึงถือว่าเป็น Green Shipment 

อีกทั้ง ยังได้ทดลองใช้ไฮโดรเจน เพราะเป็นพลังงานที่ไม่มีมลพิษ หากสำเร็จประเทศไทยจะมีสถานีบริการน้ำมันไฮโดรเจนแห่งแรกเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ ที่พัทยา รวมถึงนำน้ำมันไฮโดรเจนมาผสมในเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซมลพิษได้ดี

2. Portfolio Transformation

สิ่งที่ ปตท. ตั้งมั่นไว้เสมอมา คือ การสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศ  และเมื่อสถานการณ์ของโลกเปลี่ยนแปลงไป ปตท. ก็พร้อมที่จะขยับตัว ปรับพอร์ตธุรกิจ เพื่อลดฟอสซิลลง และจะงดการทำธุรกิจถ่านหินทั้งหมดภายในปี 2565 นี้ และจไม่ขยายโรงกลั่นน้ำมัน แต่จะพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิ การผลิตน้ำมันสู่มาตรฐานยูโร

ส่วนธุรกิจก๊าซธรรมชาติยังถือเป็นเชื้อเพลิงที่ปล่อยมลพิษน้อยที่สุด และเป็นเชื้อเพลิงที่สำคัญในช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานทดแทน โดย ปตท. ตั้งเป้าหมายที่จะลงทุนในพลังงานทดแทนมากขึ้น โดยตั้งในปี 2573 จะมีพลังงานทดแทนเข้ามาในพอร์ตกว่า 12,000 เมกะวัตต์

3. Partnership with Nature and Society

ปตท. ไม่สามารถดำเนินงานให้ประสบความสำเร็จได้ หากขาดความร่วมมือที่ดีจากหลายๆ ภาคส่วน หลายปีที่ผ่านมา ปตท. ได้ปลูกป่า 1 ล้านไร่ ที่สามารถดูดซับคาร์บอนได้ 2.1 ล้านตันต่อปี  และปล่อยออกซิเจนสู่บรรยากาศ 1.7 ล้านตันต่อปี ซึ่งสถิติเหล่านี้ ปตท. ไม่ได้จัดทำขึ้นเอง แต่มหาลัยเกษตรศาสตร์เป็นผู้ยืนยันความสำเร็จดังกล่าว

"อรรถพล" เปิดแผน ปตท. 3P หนุนเป้าหมายไทย Net Zero

นอกจากนี้ มหาลัยเกษตรศาสตร์ยังได้ประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจของป่า 1 ล้านไร่ พบว่ามีมูลค่าอยู่ที่ 280 ล้านบาท ซึ่งประโยชน์ไม่ได้แค่ก่อให้เกิดพื้นที่สีเขียวเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมอาชีพและความเป็นอยู่ของชุมชนโดยรอบอีกด้วย รวมทั้ง ปตท. ยังได้นำองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ จังหวัดระยอง และศูนย์เรียนรู้ป่าในกรุง กรุงเทพฯ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ในการรักษาผืนป่าให้ผู้สนใจได้เรียนรู้ 

“จากความสำเร็จเหล่านั้น แสดงให้เห็นเลยว่าการปลูกป่าช่วยสร้างประโยชน์มากมาย กลุ่ม ปตท. จึงมีแผนจะปลูกป่าเพิ่มอีก 2 ล้านไร่ ซึ่งคาดว่าจะสามารถดูดซับคาร์บอนได้ประมาณ 4 ล้านตันต่อปี” นายอรรถพล กล่าวย้ำ 

ปตท. ถือเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่มีความมุ่งมั่นดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมด้วยดีเสมอมา และด้วยเป้าหมายที่ท้าทายครั้งนี้เอง ยิ่งแสดงให้เห็นความตั้งใจจริงและการเสนอแนวทางที่ชัดเจน ที่จะทำให้พวกสามารถก้าวเดินไปสู่เป้าหมายสังคมคาร์บอนต่ำ ไปจนถึง Net Zero ได้อย่างแน่นอน  

Source : กรุงเทพธุรกิจ