โครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อน เป็นโครงการของกระทรวงมหาดไทย โดยได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดดำเนินการประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งขับเคลื่อนโครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อน ตามแนวทางและแผนปฏิบัติการที่กำหนด โดยให้มีการจัดทำแผนการดำเนินงานในพื้นที่ และประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ความเข้าใจ สร้างความตระหนักและความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนในการคัดแยกขยะเศษอาหารหรือขยะเปียกในครัวเรือน เพื่อช่วยลดขยะที่ต้นทาง ลดภาระทางงบประมาณของท้องถิ่นในการจัดการขยะ และยังช่วยแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก พร้อมทั้งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามแผนปฏิบัติการเพื่อเตรียมรับการทวนสอบจากผู้ประเมินภายนอก (Validation and verification Body :VVB) ในขั้นตอนการรับรองคาร์บอนเครดิต

ทั้งนี้ โครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นโครงการที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตามโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกและสามารถนำมารับรองคาร์บอนเครดิตได้ โดยมีระยะเวลาการรับรองคาร์บอนเครดิตตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 – 30 มิถุนายน 2569

โดยการคัดแยกขยะเปียกสามารถช่วยลดโลกร้อนได้ และยังแปลงให้กายเป็นคาร์บอนเครดิต ราคาตันละ 260 บาท เป็นทุนกลับคืนสู่หมู่บ้านและชุมชน มีธนาคารกสิกรไทยเป็นผู้ซื้อ ซึ่งขณะนี้โครงการถังขยะเปียกลดโรคร้อน มีการเริ่มทำที่ 4 จังหวัดต้นแบบ ได้แก่ ลำพูน เลย สมุทรสงคราม และอำนาจเจริญ และจะมีการขยายโครงการอื่นๆ ไปอีกราวๆ 22 จังหวัด ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปลี่ยนขยะเปียกให้กลายเป็นคาร์บอนเครดิตได้ในระดับ 2 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซค์ ซึ่งโครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากทางภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้ามาช่วยรับรองระเบียบวิธีการวิจัย ในการบริหารจัดการ และส่งต่อให้ทาง องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) คิดเป็นค่าคาร์บอนเครดิตออกมา

ประโยชน์ของถังขยะเปียก ลดโลกร้อน

  1. การจัดการขยะเศษอาหารลดปริมาณขยะต้นทางและทำให้เกิดสุขอนามัยที่ดี
  2. ลดการปนเปื้อนของขยะเปียกกับเศษวัสดุและของเหลือใช้อื่นๆ ทำให้สะอาดและสะดวกต่อการคัดแยก ไปจนถึงลดปริมาณขยะในชุมชน
  3. เพิ่มรายได้จากการแยกขยะที่ไม่ปนเปื้อนออกไปขายที่ธนาคารขยะ
  4. ลดภาระทางงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการเก็บขนและบริหารจัดการขยะ ทำให้สามารถนำงบประมาณที่เหลือไปใช้ในด้านอื่นๆ ที่มีความจำเป็นมากกว่า
  5. ได้สารบำรุงดินหรือปุ๋ยหมักไว้ใช้ในครัวเรือน ช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน ทำให้มีพืชผักที่ปลอดภัยไว้รับประทานในครัวเรือน ลดรายจ่ายหรือสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง
  6. ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) สู่ชั้นบรรยากาศจากการจัดการขยะต้นทางจนลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกในการจัดการปลายทางที่หลุมฝังกลบและ
  7. มีรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจกลับคืนสู่ท้องถิ่น

วิธีทำถังขยะเปียก ลดโลกร้อน

สำหรับวิธีทำถังขยะเปียก ลดโลกร้อนนั้น ก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไรมาก เทคนิคอยู่ที่การดัดแปลงถังขยะแบบเดิม แล้วนำไปฝังดิน

  1. เตรียมถังที่เหลือใช้ที่มีฝาปิด จากนั้นให้ทำการตัดก้นถังออกไป
  2. นำถังขยะไปฝังดินที่มีความลึกประมาณ 2 ใน 3 ของถัง โดยให้ก้นถังอยู่เหนือจากก้นหลุมประมาณ 30 เซนติเมตร
  3. นำเศษอาหารเทใส่ถังแล้วปิดฝา
  4. เมื่อนำเศษอาหารใส่ลงไป ควรจะกวดเศษอาหารทุกครั้งเพื่อเพิ่มอากาศภายในถัง
  5. เมื่อปริมาณเศษอาหารเต็มถัง ให้ดึงถังออก แล้วนำดินมากลบหลุมให้เรียบร้อย
  6. ดึงถังออกแล้วย้ายไปฝังยังจุดอื่นๆ แล้วทำแบบเดียวกันต่อไป

กรณีที่มีกลิ่นเหม็น อาจจะใช้น้ำหมัก EM เติมเข้าไปเพื่อลดกลิ่น และช่วยเรื่องของการย่อยสลายได้ และเมื่อใส่ขยะแล้วอย่าลืมปิดฝาให้เรียบร้อยเพื่อป้องกันกลิ่มเหม็น และสัตว์มาคุ้ยเขี่ยเศษอาหารภายในถัง

ภาพจาก : องค์การบริหารส่วนตำบลคลองยาง

ขยะที่นำมาใช้ประโยชน์ได้มีอะไรบ้าง

  • ปลา เนื้อสัตว์ต่างๆ
  • กระดูก เปลือก และกระดองของสัตว์
  • ผัก ผลไม้ เมล็ดผลไม้
  • เศษอาหารสด เศษเปลือกไข่
  • กากกาแฟ
  • มูลสัตว์

และขยะที่ไม่ควรนำมาแปรรูปมีดังนี้

  • กิ่งไม้ และใบไม้
  • กระดาษ
  • เศษผ้าต่างๆ
  • โลหะ
  • พลาสติก
  • เศษกระจก
  • น้ำมัน
  • ยาฆ่าเชื้อ
  • สารฟอกขาว
  • ผักที่มีความแข็ง เช่น แกนข้าวโพด เป็นต้น

ขอบคุณภาพประกอบ : เทศบาลตำบลปากน้ำหลังสวน / เทศบาลตำบลทรายมูล

คาร์บอนเครดิตคืออะไร เป็นคำถามที่เราได้ยินกันบ่อยมากในช่วงนี้ รวมถึงข่าวสารต่างๆ ที่มีการพูดถึงคาร์บอนเครดิตกันอย่างต่อเนื่อง วันนี้ทางคณะทำงานด้านพลังงานหอการค้าไทย จะพาทุกคนมารู้จักกับคาร์บอนเครดิตกันแบบง่ายๆ ผ่านบทความนี้กัน

เรามาทราบถึงที่มาที่ไปของคาร์บอนเครดิตกันก่อน เรื่องก็เริ่มจากโลกนี้มีการเปลี่ยนแผนของสภาพอากาศและภัยธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งผู้นำประเทศต่างๆ รวมถึงสหประชาชาติ จึงได้มีการร่วมประชุมกัน ออกนโนยบายด้านสิ่งแวดล้อม และร่างสัญญาระหว่างกัน เพื่อสร้างความร่วมมือในแก้ไขปัญหาของสภาพอากาศ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องภาวะโลกร้อน และสภาวะเรือนกระจก ซึ่งก็ได้มีการประกาศใช้ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change) ขึ้นมา หรือจะเรียกแบบง่ายๆ ว่า อนุสัญญา UNFCCC ก็ได้ โดยอนุสัญญานี้มีผลบังคับใช้ไปเมื่อปี พ.ศ. 2537

สำหรับในประเทศไทยนั้นได้มีการเข้าร่วมให้สัตยาบันในพิธีสารเกียวโต เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2545 โดยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่ไม่ถูกบังคับให้มีการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกแต่ว่าสามารถร่วมดำเนินโครงการได้ โดยทางรัฐบาลได้มีการออกประกาศพระราชกฤษฎีกาในปี พ.ศ. 2550 ให้มีการจัดตั้ง “องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)” เรียกโดยย่อว่า “อบก.” มีชื่อภาษาอังกฤษว่า “Thailand Greenhouse Gas Management Organization (Public Organization)” เรียกโดยย่อว่า “TGO” เป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ให้บริการ ดูแล และกำหนดมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการวัด การรายงาน และการทวนสอบ และให้การรับรองปริมาณการปล่อย การลด และการชดเชยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาโครงการและการตลาดซื้อขายปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการรับรอง  เป็นศูนย์กลางข้อมูลที่เกี่ยวกับสถานการณ์ดำเนินงานด้านก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ ตลอดจนให้คำแนะนำแก่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเกี่ยวกับการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้

  1. พัฒนาและส่งเสริมโครงการและตลาดซื้อขายปริมาณก๊าซเรือนกระจก
  2. ดำเนินการเกี่ยวกับการให้คำรับรองโครงการหรือการขึ้นทะเบียนโครงการ
  3. ดำเนินการเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรอง
  4. ดำเนินการเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนผู้ประเมินภายนอกสำหรับโครงการภาคสมัครใจหรือผู้ประเมินภายนอกสำหรับการขอเครื่องหมายรับรอง
  5. เป็นศูนย์กลางข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับสถานการณ์ดำเนินงานด้านก๊าซเรือนกระจก
  6. สนับสนุนการประเมินผลการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกและผลกระทบที่เกิดขึ้น
  7. ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ ตลอดจนให้คำแนะนำแก่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเกี่ยวกับการจัดการก๊าซเรือนกระจก
  8. เผยแพร่และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการจัดการก๊าซเรือนกระจก
  9. ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ทั้งนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้านสิ่งแวดล้อม ส่วนใหญ่นั้นมาจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ หรือก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมักจะมาจากโรงงานอุตสาหกรรมเป็นส่วนมาก รวมถึงการขนส่งต่างๆ ดังนั้นจึงได้มีการคิดกลไกการตลาดขึ้นมา เพื่อผลักดันให้มีการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ให้น้อยลง โดยกลไกการตลาดที่ว่านี้จะเป็นการซื้อขายสิ่งที่เรียกว่า “คาร์บอนเครดิต” นั่นเอง

คาร์บอนเครดิตคืออะไร?

คาร์บอนเครดิตคึอ สิทธิที่เกิดจากการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ หรือก๊าซเรือนกระจก นั่นเอง โดยสิทธิดังกล่าวนี้สามารถวัดปริมาณ และสามารถนำไปซื้อขายในตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้ หากในปีนั้นๆ องค์กรมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อยกว่าเกณฑ์จะถูกตีราคาเป็นเงิน ก่อนจะถูกขายเป็นเครดิตให้กับองค์กรอื่นที่อาจจะไม่สามารถลดก๊าซคาร์บอนได้ตามเกณฑ์ จึงเป็นที่มาของการมีตลาดซื้อขายคาร์บอนนั่นเอง

ถ้าจะอธิบายให้ง่ายกว่าเดิม ก็อาจจะต้องเปรียบเป็นบริษัทหนึ่งที่ทำการผลิตสินค้า หรือทำกิจกรรมใดๆ ก็ตามขึ้น และก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์เกิดขึ้น จึงต้องมีการทำกิจกรรมใดๆ ก็ตามที่ช่วยลดก๊าซคาร์บอนลง เช่น การปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อมุ่งหวังให้ต้นไม้ไปดักจับก๊าซ์คาร์บอนในอากาศนั่นเอง หากปลูกเป็นจำนวนมากก็จะได้คาร์บอนเครดิตกลับมามากเช่นกัน โดยในบ้านเราจะมีการวัดขนาดต้นไม้ ความสูง ความกว้าง แล้วส่งข้อมูลนี้ไปยังองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือ อบก. ซึ่งจะเป็นผู้ที่เข้ามาคำนวณคาร์บอนเครดิตที่ได้จากต้นไม้ที่ทางบริษัทได้ปลูกขึ้นมานั่นเอง

คาร์บอนเครดิตเอาไปทำอะไร?

คาร์บอนเครดิตที่ได้รับมาจากกิจกรรมต่างๆ สามารถนำไปซื้อขายในตลาดคาร์บอนได้ นั่นเป็นเพราะว่า บางบริษัท บางโรงงาน หรือบางองค์กรนั้นต้องการสิทธิในการปล่อยก๊าซในกระบวนการผลิตของต้นเพิ่มขึ้น อาจจะเป็นเพราะต้องการผลิตสินค้าที่มากขึ้นให้ได้ตามความต้องการ หรือไม่ก็เป็นเพราะว่าในกระบวนการผลิตก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนมาก และยังไม่สามารถลดได้ รวมถึงยังไม่สามารถทำกิจกรรมใดๆ เช่น ปลูกต้นไม้ เพื่อให้ได้คาร์บอนเครดิตได้ ก็เลยจำเป็นต้องมาซื้อคาร์บอนเครดิตจากบริษัทหรือองค์กรที่มีเหลืออยู่ ซึ่งเป็นที่มาของการก่อตั้งตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตนั่นเอง

รู้จักกับตลาดคาร์บอนเครดิต

หลังจากที่เรารู้จักกับคาร์บอนเครดิตแล้ว เราก็จะทราบว่ามีการก่อตั้งตลาดคาร์บอนเครดิตเกิดขึ้นด้วย ซึ่งตลาดคาร์บอนเครดิตนี้ก็เป็นเหมือนตัวกลางระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย หรือบุคคลใดๆ ที่มีความต้องการคาร์บอนเครดิตนั่นเอง จุดประสงค์ก็เพื่อเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยายกาศ โดยตลาดคาร์บอนเครดิตในปัจจุบันสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ (Mandatory Carbon Market) และ ตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจ (Voluntary Carbon Market)

  1. ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ (Mandatory Carbon Market) ถูกจัดตั้งขึ้นมาตามกฏหมาย มีกฏหมายและระเบียบต่างๆ ที่กำหนดกฏเกณฑ์ วิธีการ และรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งรัฐบาลจะเป็นคนออกกฏหมาย รวมถึงการควบคุมดูแลทั้หงมด โดยผู้ที่เข้าร่วมนั้นจะต้องมีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ที่มีผลผูกพันตามกฏหมาย หากสามารถปฏิบัติตามได้ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามที่กฏหมายกำหนด ในทางตรงกันข้าม หากไม่สามารถปฏิบัติตามได้ก็จะมีบทลงโทษเช่นกัน โดยตลาดภาคบังคับนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปจนถึงสูง โดยมีการดำเนินโครงการที่ใช้ชื่อว่า Joint Implementation หรือ JI ซึ่งปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงจะเรียกว่า Emission Reduction Units (ERUs) มีค่าเท่ากับ 1 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
  2. ตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจ (Voluntary Carbon Market) ถูกจัดตั้งขึ้นในรูปแบบที่ไม่มีกฏหมายเข้ามาเกี่ยวข้องหรือมีผลบังคับใช้ เป็นเรื่องของความร่วมมือจากผู้ประกอบการต่างๆ ที่สมัครใจเข้ามาร่วมซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งจะมีการตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่นกัน เพียงแต่ว่าจะไม่มีผลตามกฏหมายนั่นเอง โดยองค์กรใดที่มีคาร์บอนเครดิตก็สามารถนำมาขายในตลาดนี้ได้ และองค์กรใดที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินกว่าปริมาณที่กำหนดก็สามารถเข้ามาซื้อคาร์บอนเครดิตนี้ในตลาดได้เช่นกัน โดยมีตัวกลางเข้ามาคำนวณและออกใบรับรองให้ก็คือ องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นองค์กรที่ดูแลกำกับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย

ในประเทศไทยเรามี่โครงการลดก๊าซเรือนกระจกทีมีการขายคาร์บอนเครดิตแล้ว ชื่อว่า ชื่อโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction: T-VER) ที่ อบก.ได้พัฒนาขึ้นตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557 เป้าหมายก็เพื่อสนับสนุนให้ทุกองค์กรมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกแบบสมัครใจ โดยไม่ต้องมีขั้นตอนอะไรซับซ้อน และมีค่าใช้จ่ายที่ไม่สูง

โดยจะเรียกโครงการนี้ในชื่อสั้นๆว่า T-VER ซึ่งในตอนนี้ในบ้านเราอาจจะมีปริมาณการซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ไม่มากนัก นั่นเป็นเพราะว่าเป็นตลาดภาคสมัครใจนั่นเอง มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 8.5% เท่านั้น ซึ่งราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิตอยู่ระหว่าง 150 – 200 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซค์หรือเทียบเท่า ซึ่งตั้งแต่มีตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตในบ้านเราก็ทำให้มีการสนับสนุนงบประมาณให้กับชุมชนต่างๆ เพื่อปลูกป่ามากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ทาง อบก. และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้มีการร่วมมือกันพัฒนาแพลตฟอร์มการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจในประเทศขึ้น (Thailand Carbon Credit Exchange Platform) มีการนำเทคโนโลยี Blockchain เข้ามาใช้กับการแลกเปลี่ยนซื้อขายถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตของโครงการ T-VER ซึ่งช่วยในเรื่องของความน่าเชื่อถือ และความโปร่งใส สร้างราคาอ้างอิงที่ยุติธรรม สะท้อนต้นทุกที่แท้จริง และมีความสะดวกรวดเร็วนั่นเอง และล่าสุดได้มีการพัฒนาแพลตฟอร์มซื้อขายพลังงานสะอาดและคาร์บอนเครดิตขึ้นมาในชื่อของ FTIX สามารถเข้าชมได้ที่ https://fti-cc.com

หากท่านใดอยากศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับตลาดคาร์บอนเครดิต ก็สามารถเข้าไปได้ที่เว็บไซต์ของ “องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)” เพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับตลาดซื้อขายได้

แหล่งข้อมูลอ้างอิง
อบก. TGO
FTIx แพลตฟอร์มซื้อขายพลังงานสะอาดและคาร์บอนเครดิต
https://www.bangkokbiznews.com/news/915259
รูปประกอบบทวาม : Freepix

ตลาดคาร์บอนเครดิต ส่อแววสดใส สนค. ชี้โตเร็ว คาดมูลค่าตลาดโลกจะสูงถึง 2.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ แต่ความต้องการสูงถึง 3-5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในปี73 ชี้เป็นโอกาสทองเพิ่มมูลค่าภาคเกษตร-ส่งออกที่แปลงเป็นคาร์บอนเครดิตได้ และเพิ่มโอกาสส่งออกสินค้าที่ลดการปล่อยคาร์บอน

เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าจับตามองอย่างมากสำหรับคาร์บอนเครดิต ที่มีภาคธุรกิจ และสายกรีนพูดถึงกันมากในช่วงนี้ และคาดว่าจะเป็นเทรนด์ที่มาแรงอย่างแน่นอนในอนาคตอันใกล้จากนี้ไป โดยล่าสุด นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค.ได้ทำการติดตามตลาด “คาร์บอนเครดิต” ที่มุ่งลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พบว่า ประเทศต่าง ๆ

ทั้งนี้ได้มีการกำหนดกลยุทธ์และมาตรการควบคุมคาร์บอน  เช่น การเก็บภาษีคาร์บอน ไม่ว่าจะเป็นภาษีจากการประกอบกิจการในประเทศ หรือภาษีจากการนำเข้าสินค้าที่กระบวนการผลิตมีการปล่อยคาร์บอนสูง ส่งผลให้เกิดการซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต ผ่านกลไกตลาดคาร์บอน เพื่อให้ธุรกิจที่มีการปล่อยคาร์บอนสูง สามารถซื้อคาร์บอนเครดิต (Carbon Credits) เพื่อชดเชย การปล่อยคาร์บอน (เสมือนผู้ซื้อได้ดำเนินการลดจำนวนคาร์บอน) เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โอกาสทองตลาดคาร์บอนเครดิต มูลค่าพุ่งปรี๊ด ทะลุ 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

โดยจากการสำรวจ พบว่า ในปี2563 ที่ผ่านมาตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจ (Voluntary Carbon Market)  มีมูลค่าสูงถึง 1,980 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าภายในปี 2573 คาดว่ามูลค่าตลาดจะสูงถึง 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐในขณะที่ความต้องการคาร์บอนเครดิตอาจมีมูลค่าสูงถึง30,000-50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งปัจจุบันการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เริ่มเป็นที่นิยมในหลายประเทศ

อย่างไรก็ตามกระทรวงพาณิชย์ มองว่า จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นของตลาดคาร์บอนเครดิต เป็นโอกาสในการเพิ่มมูลค่าให้ธุรกิจภาคเกษตรไทย เนื่องจากการปลูกพันธุ์ไม้ที่สามารถแปลงเป็นคาร์บอนเครดิต 58 สายพันธุ์ ที่นอกจากปลูกเพื่อการค้าแล้ว ยังสามารถเข้าร่วมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VERs2) สาขาเกษตร (สวนผลไม้) ซึ่งเป็นการสร้างรายได้หลายทาง ทั้งการเพิ่มมูลค่าให้กับภาคเกษตร และสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต

โอกาสทองตลาดคาร์บอนเครดิต มูลค่าพุ่งปรี๊ด ทะลุ 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

เครดิตภาพ : Freepik

ไม่เพียงเท่านี้นอกจากนี้ไทยยังจะมีโอกาสในการขยายตลาดส่งออก โดยเฉพาะสินค้าที่มีการปล่อยคาร์บอนต่ำ จะได้เปรียบด้านราคากว่าสินค้าที่มีการปล่อยคาร์บอนสูง เพราะปัจจุบันมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม ถือเป็นกฎระเบียบโลกสมัยใหม่ ที่จะถูกนำมาใช้มากขึ้น คือตัวแปรสำคัญในการแข่งขันทางการค้าเพื่อป้อนสู่ตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ซึ่งไทยต้องบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วนในเชิงรุก เตรียมความพร้อมให้ภาคธุรกิจปรับตัว ขับเคลื่อนนโยบายเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก

นอกจากนี้ไทยต้องขับเคลื่อนBCG โมเดล การสร้าง News S-Curve ทางเศรษฐกิจ รวมถึงการส่งเสริมภาคการเกษตรในการลดก๊าซเรือนกระจก การเร่งประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อดักจับคาร์บอน การใช้ประโยชน์และกักเก็บคาร์บอน (CCUS) ในเชิงพาณิชย์ การปรับปรุงกฎหมายกฎระเบียบ การสร้างมูลค่าเพิ่มของคาร์บอนเครดิตและสิทธิประโยชน์ทางภาษี การพัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิตทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงส่งเสริมองค์ความรู้ในการเข้าร่วม T-VERs ให้แก่ธุรกิจการเกษตรไทย

ซึ่งจากนี้ไปสนค. จะเดินหน้าดำเนินโครงการศึกษาแนวทางการปรับตัวของภาคธุรกิจไทย เพื่อเตรียมพร้อมต่อมาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อม กรณีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยจะมีการศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับแนวทางการปรับตัวของภาคธุรกิจไทย เพื่อเตรียมความพร้อม ต่อมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจในตลาดโลกต่อไป

ทั้งนี้มีการคาดการณ์ความต้องการคาร์บอนเครดิตในไทยในอนาคต ซึ่งประเมินจากข้อมูลปี 2563 กว่า 81 องค์กร มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันเฉลี่ยราว 160 ล้านตัน tCO2e ต่อปี ซึ่งหากหน่วยงานเหล่านั้น ต้องการที่จะเป็นหน่วยงานปลอดคาร์บอน (Carbon Neutral Organization) ความต้องการซื้อคาร์บอนเครดิตชดเชยในปี 2563 – 2573 คาดว่าจะสูงถึงราว 1,600 ล้านตัน tCO2e

Source : Spring News

การทำเกษตรกรรมปลูกข้าวปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ จึงได้มีการทำนารักษ์โลกเป็นการปลูกข้าวแบบใหม่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และยังมีการสนับสนุนให้ทำควบคู่ไปกับการขายคาร์บอนเครดิต เป็นการเพิ่มรายได้อีกทาง ซึ่งเริ่มแล้วที่สุพรรณบุรีเป็นโมเดลนำร่อง

กรมการข้าว ได้ส่งเสริมเกษตรกรทำความเข้าใจและเห็นประโยชน์ของตลาดคาร์บอนเครดิต ซึ่งนอกจากจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อลดภาวะโลกร้อนแล้ว ยังเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรอีกทาง โดยได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี องค์ความรู้ต่างๆ เพื่อเป็นทางเลือกในการประกอบอาชีพสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกร อีกทั้งยังมีการแสดงข้อมูลต่างๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการรณรงค์ลดการปล่อยก๊าซเรือน

ส่งเสริมปลูกข้าวควบคู่ขายคาร์บอนเครดิตเพิ่มรายได้ สุพรรณบุรีโมเดลนำร่อง

สร้างความรู้ความเข้าใจ เรื่อง คาร์บอนเครดิต

ทางกรมการข้าวได้ทำความเข้าใจกับเกษตรกรและชาวนาเกี่ยวกับ คาร์บอนเครดิต ว่ามีประโยชน์ทั้งการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และที่สำคัญช่วยสร้างรายได้อีกทางให้กับชาวนา โดยได้มีโมเดลนำร่องแล้วที่จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งมีการทำคาร์บอนเครดิตให้ชาวนาในพื้นที่แล้ว ซึ่งทางสถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ ได้เข้ามาถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับคาร์บอนเครดิตให้กับเกษตรกรในพื้นที่อำเภอเดิมบางนางบวช และอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งถือเป็นอำเภอนำร่องที่จะส่งเสริมและสร้างการรับรู้ถึงข้อดีและประโยชน์ที่ชาวนาจะได้รับจากการสร้างคาร์บอนเครดิต นอกจากนี้ยังมีการนำองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้งมาถ่ายทอดให้กับชาวนาด้วย 

ส่งเสริมปลูกข้าวควบคู่ขายคาร์บอนเครดิตเพิ่มรายได้ สุพรรณบุรีโมเดลนำร่อง

สนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อการปลูกข้าวรักษ์โลก

นอกจากจะเผยเพร่ให้ความรู้แล้วยังได้มีการนำเอาเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะเข้ามาใช้ในการปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์ (Laser Land Levelling) ที่จะช่วยให้การจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้งมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยการทำนาแบบเปียกสลับแห้งนั้น จะช่วยลดก๊าซมีเทนในดินช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 

ภายหลังการเก็บเกี่ยวกรมการข้าวยังตั้งเป้าในการรณรงค์ให้ชาวนาลดการเผาตอซังข้าว ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นอีกหนทางหนึ่งในการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสร้างคาร์บอนเครดิตให้ชาวนานำไปสร้างรายได้เสริม

กรมการข้าวยังวางแผนในขั้นต่อไปด้วยการพัฒนาแอปพลิเคชั่น (Appliccation) เพื่อบันทึกข้อมูลการทำนารักษ์โลก ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเกษตรกร ให้สอดรับกับการส่งเสริมให้ชาวนาหันมาสนใจในการขายคาร์บอนเครดิต รวมทั้งเตรียมจัดฝึกอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจถึงเรื่องคาร์บอนเครดิตให้กับศูนย์ข้าวชุมชนและชาวนาอาสาในเขตจังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา

สำหรับเกษตรกรที่สนใจ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมถึงการขายคาร์บอนเครดิตได้ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวและศูนย์วิจัยข้าวทั่วประเทศ, สถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ หรือเว็บไซต์ของ กรมการข้าว

Source : Spring News

‘กรมทะเลชายฝั่ง’ ประชุมเร่งรัดขับเคลื่อนโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต และงานด้านป่าชายเลนทุกมิติให้แก่หน่วยงานในสังกัด

เมื่อวันที่ 2 เมษายน นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (รรท.อทช.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเข้าเป็นรัฐภาคีภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change : UNFCCC) และพิธีสารโตเกียว (Kyoto Protocol : KP) เมื่อปี พ.ศ.2537 และ พ.ศ.2545 ตามลำดับ ซึ่งการเข้าเป็นภาคีความตกลงปารีสเป็นก้าวที่สำคัญยิ่งก้าวหนึ่งของไทย เนื่องจากได้ตระหนักในความรับผิดชอบร่วมกันของทุกคนที่จะรักษาโลกนี้ไว้ให้กับลูกหลาน เจตนารมณ์อันแน่วแน่ของประเทศไทยในการมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และมีความต้านทานต่อสภาพภูมิอากาศ

นายอภิชัยกล่าวว่า ที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP 26) เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำ (World Leaders Summit) ได้กล่าวถ้อยแถลงยืนยันว่าประเทศไทยให้ความสำคัญสูงสุดในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพร้อมที่จะยกระดับการดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ.2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี ค.ศ.2065 รวมถึงการยกระดับ Nationally Determined Contributions : NDCs หรือการมีส่วนร่วมของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจกและการดําเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ประเทศกำหนด จากร้อยละ 20-25 ให้ถึงร้อยละ 40

ด้าน นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการรับมือและแก้ไขการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย พร้อมทั้งตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคท้องถิ่น ชุมชน ในการยกระดับการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ตามเจตนารมณ์ของประชาคมโลกที่ปรากฏในเป้าหมายของความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เร่งขับเคลื่อนการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกสุทธิภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน จำนวนทั้งสิ้น 120 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายในปี ค.ศ.2580 โดยมีมาตรการสำคัญ ได้แก่ การปลูกและฟื้นฟูป่าธรรมชาติ การปลูกป่าเศรษฐกิจ การเพิ่มๆพื้นที่สีเขียว และการป้องกันการบุกรุกป่าและเผาป่า

ปลัด ทส.กล่าวว่า นอกจากนี้ ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดเร่งดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับการลดก๊าซเรือนกระจกตามภารกิจหน้าที่ของหน่วยงาน เห็นได้จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ที่ได้ดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program : T-VER) ตั้งแต่ปี 2557 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เร่งเพิ่มพื้นที่ป่าไม้เพื่อเพิ่มแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศ ซึ่งเป็นกลไกในการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ผลิตและใช้พลังงานหมุนเวียน ภาคอุตสาหกรรมที่มีกิจกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน การจัดการของเสีย ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่มีศักยภาพลดก๊าซเรือนกระจก การจัดการในภาคขนส่ง รวมถึงการปลูกต้นไม้และการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่า ซึ่งเป็นกิจกรรมที่นอกจากจะช่วยกักเก็บก๊าซเรือนกระจกได้แล้วยังสามารถรักษาและสร้างสมดุลของความหลายหลายทางชีวภาพได้อีกด้วย

ขณะที่นายอภิชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์โลกร้อน รวมถึงการดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจก และส่งเสริมการเติบโตที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ผลักดันให้ทุกภาคส่วนร่วมแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งเร่งฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมและส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน เพื่อเป็นแหล่งกักเก็บก๊าซเรือนกระจกของประเทศ โดยได้ดำเนินโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต กำหนดเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน 300,000 ไร่ ภายใน 10 ปี เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2565 เป็นต้นไป และได้ออกระเบียบกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ว่าด้วยการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตที่ได้จากการปลูกและบำรุงป่าชายเลน สำหรับบุคคลภายนอก และสำหรับชุมชน

นายอภิชัยระบุว่า ในการนี้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้มอบหมายให้กองอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “การขับเคลื่อนโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต สำหรับบุคคลภายนอกและสำหรับชุมชน” ขึ้น ระหว่างวันที่ 1-2 เมษายน 2566 โดยมีเจ้าหน้าที่กองอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน พร้อมด้วย ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน ผู้อำนวยการศูนย์บริหาร ผู้อำนวยการศูนย์จัดการทรัพยากรป่าชายเลน ในสังกัดสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1-10 ผู้อำนวยการส่วนฯ ข้าราชการในสังกัดกองอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน และเจ้าหน้าที่จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เข้าร่วมประชุมจำนวน 100 คน ณ ห้องประชุมโรงแรมเบสท์เวสเทิร์น นาดาดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ นอกจากนี้ ตนได้มอบนโยบายการดำเนินงานและติดตามการดำเนินงานด้านป่าชายเลนของหน่วยงานในสังกัดกองอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนและสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1-10

“การประชุมดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1-10 ในการจัดทำโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตสำหรับชุมชน และโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต สำหรับบุคคลภายนอก อีกทั้งซักซ้อมกรอบแนวทางการจัดทำโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต ทั้ง 2 ลักษณะ รวมถึงติดตามภารกิจงานด้านป่าชายเลน สรุปปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติงานและเสนอแนวทางแก้ไข ทั้งนี้ ภายในงานได้มีการบรรยายให้ความรู้จากวิทยากร ในหัวข้อแนวทางการจัดทำโครงการป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตโครงการการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย พร้อมทั้งแบ่งกลุ่มทำกิจกรรมระดมสมองแนวทางการขับเคลื่อนดำเนินโครงการฯ ตลอดจนติดตามผลการปฏิบัติงานและผลการใช้จ่ายเงินงบประมาณ พ.ศ.2566 รวมถึงการรายงานผลการดำเนินงานในรอบ 6 เดือนด้านป่าชายเลนทุกมิติ เพื่อร่วมกำหนดการขับเคลื่อนแผนงานให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนด ต่อไป” นายอภิชัยกล่าว

Source : มติชนออนไลน์