คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ออกระเบียบรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ปี 2565-2573 รวมปริมาณรับซื้อ 5,203 เมกะวัตต์ จากก๊าซชีวภาพ 335 เมกะวัตต์ ,ลม 1,500 เมกะวัตต์ ,แสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับแบตเตอรี่ 1,000 เมกะวัตต์ และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน 2,368 เมกะวัตต์ เตรียมเปิดรับซื้อจริงช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2565 ระบุจะรวบรวมเป็นไฟฟ้าสีเขียวเพื่อขายให้กับโรงงานที่ต้องการพร้อมออกใบรับรองให้ ในราคาพรีเมียม และนำกำไรที่ได้คืนเป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชน

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ได้ออกระเบียบรับซื้อไฟฟ้าพลังงานสีเขียวอย่างเป็นทางการ คือ“ระเบียบการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565” ซึ่งกำหนดปริมาณรับซื้อไฟฟ้ารวม 5,203 เมกะวัตต์

โดยแบ่งเป็น ดังนี้ 1. ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) เปิดรับซื้อรวม 335 เมกะวัตต์ ทั้งนี้จะเริ่มเฉลี่ยการรับซื้อไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2569-2571 จำนวนปีละ 75 เมกะวัตต์, ปี 2572 จำนวน 70 เมกะวัตต์ และปี 2573 จำนวน 40 เมกะวัตต์

2.พลังงานลม เปิดรับซื้อไฟฟ้ารวม 1,500 เมกะวัตต์ โดยจะเปิดรับตั้งแต่ปี 2568-2573 จำนวนปีละ 250 เมกะวัตต์ 3.พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System: BESS) เปิดรับซื้อรวม 1,000 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นการรับซื้อระหว่างปี 2567-2570 จำนวนปีละ 100 เมกะวัตต์ และปี 2571-2573 จำนวนปีละ 200 เมกะวัตต์

และ 4.พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน รับซื้อไฟฟ้ารวม 2,368 เมกะวัตต์  โดยแบ่งการรับซื้อไฟฟ้าดังนี้ ปี 2567 รับซื้อ 190 เมกะวัตต์ , ปี 2568 รับซื้อ 290 เมกะวัตต์, ปี 2569 รับซื้อ 258 เมกะวัตต์, ปี 2570  รับซื้อ 440 เมกะวัตต์, ปี 2571 รับซื้อ 490 เมกะวัตต์, ปี 2572 รับซื้อ 310 เมกะวัตต์, ปี 2573 รับซื้อ 390 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ตาม กกพ.จะเปิดให้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้าได้ในเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2565 ประกาศผลผู้ผ่านการคัดเลือกในเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2566 และกำหนดให้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) ระหว่างปี 2567-2573 โดย กกพ.จะออกประกาศข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ซึ่งจะมีเงื่อนเวลาที่ชัดเจนต่อไป

ทั้งนี้การเปิดรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวทั้งหมด จะเปิดรับซื้อในคราวเดียว โดยผู้สนใจเสนอขายไฟฟ้าเข้าระบบในครั้งนี้จะต้องระบุให้ชัดเจนว่าจะเลือกผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงใดและต้องการจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปีใด ตามปริมาณรับซื้อไฟฟ้าที่ กกพ.ประกาศไว้ดังกล่าว

นายคมกฤช กล่าวว่า การเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนดังกล่าว จะรับซื้อในรูปแบบ การให้เงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง( FiT) ซึ่งเป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2565 และสอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2565-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1)

นอกจากนี้ กกพ. จะรวบรวมปริมาณไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรอบนี้ ที่เปิดรับซื้ออยู่ 5,203 เมกะวัตต์ มาจัดทำเป็นไฟฟ้าสีเขียว สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อไปเป็นส่วนประกอบยืนยันการผลิตสินค้าที่มาจากพลังงานสะอาด สำหรับการจำหน่ายสินค้าไปต่างประเทศที่มีกฎบังคับให้กระบวนการผลิตสินค้าต้องมีส่วนของพลังงานสะอาด เป็นต้น โดย กกพ. จะออกใบรับรองการใช้ไฟฟ้าพลังงานสีเขียวให้ด้วย  แต่ราคาจำหน่ายไฟฟ้าจะเป็นราคาพรีเมียม ซึ่งสูงกว่าราคาไฟฟ้าทั่วไปเล็กน้อย โดยกำไรที่ได้จากการขายไฟฟ้าดังกล่าวจะนำมาเป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนทั่วไป

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) รายงานว่า สำหรับสัญญาการรับซื้อไฟฟ้าแบบ  FiT จะแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่  1. สัญญาที่ไม่บังคับปริมาณซื้อขายไฟฟ้า ( Non-Firm) สำหรับกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย), พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) หรือผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ที่ปริมาณไฟฟ้าเสนอขายไม่เกิน 90 เมกะวัตต์ 

โดย มติ กพช. เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2565 กำหนดอัตรารับซื้อ FiT พลังงานหมุนเวียน สำหรับปี 2565-2573 ได้แก่ 1.) ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) อัตรา 2.0724 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 20 ปี  2.)พลังงานลม อัตรา 3.1014 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 25 ปี 3.) พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Farm) แบบติดตั้งบนพื้นดิน 2.1679 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 25 ปี  

และ 2. กลุ่มพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน จะรับซื้อจากผู้ผลิตไฟฟ้า SPP ในรูปแบบสัญญา Partial-Firm (แบ่งตามช่วงเวลาและปริมาณขายไฟฟ้า) ที่ปริมาณไฟฟ้าเสนอขายมากกว่า 10 เมกะวัตต์ แต่ไม่เกิน 90 เมกะวัตต์ อัตรา 2.8331 บาทต่อหน่วย ระยะเวลาสัญญา 25 ปี

สำหรับโครงการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา (อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอนาทวี ) ให้ได้รับอัตรา FiT Premium 0.5 บาทต่อหน่วย ตลอดอายุโครงการ

ส่วนสัญญา Partial-Firm คือ สัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่กำหนดรูปแบบการผลิตและรับซื้อไฟฟ้า ดังนี้ 1.ช่วงเวลา 9.00-16.00 น. ผลิตไฟฟ้าส่งจ่ายเข้าระบบและการไฟฟ้ารับซื้อในปริมาณ 100% ของปริมาณไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า  2.ช่วงเวลา 18.01-06.00 น. มีความพร้อมส่งจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปริมาณพลังงานเท่ากับ 60% ของปริมาณไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า เป็นเวลา 2 ชั่วโมง โดยที่การไฟฟ้ารับซื้อทั้งหมดและสามารถสั่งจ่ายกำลังไฟฟ้าสูงสุดได้ไม่เกิน 60% ของปริมาณไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และ 3. ช่วงเวลา 06.01-09.00 น. และ 16.01-18.00 น. ผลิตไฟฟ้าสั่งจ่ายเข้าระบบและการไฟฟ้ารับซื้อในปริมาณไม่เกิน 100% ของปริมาณไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า

Source : Energy News Center

กกพ.ส่งสัญญาณ​เตรียมพิจารณาปรับขึ้นค่าไฟฟ้าส่วนของเอฟทีงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.65 โดยการแบกภาระหนี้ค่าไฟฟ้าของ กฟผ.แทนประชาชนอาจจะสูงเกิน 1 แสนล้านบาทและจะมีปัญหาการขาดสภาพคล่องเพิ่มขึ้น หากรัฐบาลยังสั่งให้มีการตรึงค่าเอฟที แนะให้ช่วยกันประหยัด​การใช้​ไฟฟ้า​

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)​เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานจะมีการประชุมเพื่อพิจารณาค่าไฟฟ้า ในส่วนของค่าไฟฟ้าผันแปรงวดเดือน ก.ย.-พ.ค.65 ในเดือน มิ.ย.นี้ โดยมีการประเมินต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นจากการต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวหรือLNGเพิ่มขึ้นเนื่องจากปริมาณก๊าซจากแหล่งในอ่าวไทยที่ส่งป้อนโรงไฟฟ้านั้นลดลง ซึ่งเมื่อพิจารณาร่วมกับปัจจัยเชื้อเพลิงอื่นๆและอัตราแลกเปลี่ยน ค่าเอฟทีจะต้องปรับขึันอีก 40 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าโดยรวมที่จะจัดเก็บในบิลค่าไฟฟ้างวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.65 จะอยู่ที่ประมาณ 4.40 บาทต่อหน่วย

แนวโน้มค่าเอฟทีที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมีปัจจัยสำคัญมาจากต้นทุนเชื้อเพลิงLNGนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้นและใช้ในสัดส่วนที่มากขึ้น ดังนั้นผู้ใช้ไฟฟ้าจึงควรต้องช่วยกันประหยัดการใช้ไฟฟ้าด้วย

ผู้สื่อข่าว​ศูนย์ข่าว​พลังงาน ​(Energy​ News​Center -ENC​)​ รายงานว่า การจะปรับขึ้นค่าเอฟทีในอัตราเท่าใดนั้นจะขึ้นอยู่กับมติของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กพพ.)​และนโยบายจากกระทรวงพลังงาน โดยหากปรับขึ้นค่าเอฟทีน้อยกว่า 40 สตางค์ต่อหน่วย การแบกภาระค่าเอฟทีของ กฟผ.แทนประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าไว้ก่อนจะทะลุเกิน 1 แสนล้านบาทและทำให้ กฟผ.ประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ กฟผ.ช่วยแบกภาระค่าเอฟทีแทนประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า ในงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.64 เป็นวงเงินประมาณ 3.9 หมื่นล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 6 หมื่นล้านบาทในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 65 และเพิ่มเป็น 8.3 หมื่นล้านบาทในงวดเดือน พ.ค.-ส.ค 65 ซึ่งในงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.65 หาก กกพ.ไม่ปรับขึ้นค่าเอฟทีให้สูงกว่า 40 สตางค์ต่อหน่วย ภาระของ กฟผ. จะเพิ่มเป็นประมาณ 1.09 แสนล้านบาท

โดยการแบกภาระหนี้ค่าเอฟทีที่มากเกินไปทำให้ กฟผ.ประสบปัญหาการขาดสภาพคล่อง และ ปตท.ต้องเข้ามาช่วยขยายเวลาจ่ายหนี้ค่าก๊าซเดือน พ.ค.มูลค่า 1.3 หมื่นล้านบาทให้เป็นระยะเวลา 4 เดือน พร้อมยกเว้นดอกเบี้ยผิดนัดอีก 340 ล้านบาทให้ กฟผ.

Source : Energy News Center

ยักษ์เอกชนแห่ใช้พลังงานทดแทนลดต้นทุนค่าไฟ “ศรีตรัง-CPF-WHA-S&P” เดินหน้าขยายลงทุน “โซลาร์รูฟ” เคแบงก์-SCB อัดแคมเปญดอกเบี้ยหนุนสินเชื่อธุรกิจ-บ้านติดตั้ง “solar roof” ชี้ประหยัดได้กว่า 60% พร้อมเดินหน้าเข้าสู่ net zero

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันภาคเอกชนโรงงานและภาคธุรกิจ ตื่นตัวติดตั้งแผงโซลาร์รูฟบนหลังคาโรงงานมากถึง 1,000 เมกะวัตต์ เนื่องจากคุ้มค่าต่อการลงทุนที่ต้องใช้ไฟตอนกลางวัน ซึ่งโซลาร์รูฟท็อปช่วยประหยัดค่าไฟได้ 3-4 บาทต่อหน่วย ล่าสุดรัฐก็มีนโยบายรับซื้อไฟฟ้าส่วนที่เหลือ หากโรงงานมีขนาดหลังคาใหญ่ก็จะสามารถติดตั้งแผงโซลาร์ได้คุ้มค่าการลงทุนมากขึ้น

จากที่ราคา LNG ปรับสูงขึ้นส่งผลต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้า กกพ.จึงประกาศรับซื้อไฟฟ้าคืน โดยโรงงานที่ติดตั้งโซลาร์ต้องการขายไฟส่วนที่เหลือใช้ หรือส่วนที่เก็บไว้ช่วงออฟพีกคืนกลับระบบของ 3 การไฟฟ้า เพียงแต่ระดับราคารับซื้ออาจไม่สูง ซึ่งรัฐต้องบริหารจัดการต่อภาระต้นทุน ขณะที่ภาคประชาชนก็ได้รับการส่งเสริมตาม “โครงการโซลาร์ประชาชน” โดยปี 2562-2564 มีผู้ติดตั้งโซลาร์รูฟรวม 1,290 ราย กำลังการผลิตรวม 7.1 MW

เอกชนแห่ติดโซลาร์รูฟ

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การที่โรงงานเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน เช่น การติดแผงโซลาร์รูฟท็อป เป็นส่วนที่ช่วยลดต้นทุนได้ เพราะตอนนี้ทั้งราคาและคุณภาพของแผงโซลาร์ก็ดีขึ้น ธนาคารหลายแห่งก็ให้สินเชื่อพิเศษสำหรับการลงทุนในส่วนนี้ เชื่อว่าหากภาครัฐมีการสนับสนุนเพิ่มเติมให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงาน green ก็จะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการ

นายภาณุพงศ์ สิรโยภาส ผู้จัดการกลุ่มฝ่ายความยั่งยืนองค์กร บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) และบริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทได้ส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานหมุนเวียน โดยการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาโรงงาน และโรงงานที่มุกดาหารก็ทำโซลาร์โฟลตติ้ง อีกทั้งพยายามใช้พลังงานจากไฟฟ้าชีวมวล (ไบโอแมส) ร่วมคู่ขนาน ทำให้ที่ผ่านมาซื้อไฟจากภายนอกลดลง และมีแผนจะขยายลงทุนการใช้พลังงานหมุนเวียนในโรงงานอื่น ๆ พร้อมกับเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกนำพลังงานสะอาดมาชดเชย ซึ่งหลายบริษัทก็สามารถผลิตไฟฟ้าและขายคืนสู่ระบบได้

CPF-WHA ขยายลงทุนโซลาร์

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานการสำรวจข้อมูลพบว่าภาคธุรกิจตื่นตัวติดตั้งแผงโซลาร์ในหลังคาอย่างมาก เช่น บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) มีนโยบายยกเลิกใช้ถ่านหินในปี 2565 “CPF Coal Free 2022” โดยเสริมโครงการฟาร์มและโรงงานใช้พลังงานหมุนเวียน โดยมีการได้ติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาโรงงานและอาคารสำนักงานไปแล้ว 23 แห่ง โซลาร์ฟาร์ม 4 แห่ง และโซลาร์ลอยน้ำ 2 แห่ง และกำลังจะเดินหน้าโครงการนี้ระยะ 3

คาดว่าจะติดตั้งโซลาร์รูฟ โซลาร์ฟาร์ม และโซลาร์ลอยน้ำอีกไม่น้อยกว่า 60 แห่ง ในปี 2566 จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์รวม 43 เมกะวัตต์ เทียบเท่าการใช้ไฟฟ้า 62 ล้านหน่วยต่อปี

ขณะที่ บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) จัดทำโครงการโซลาร์รูฟท็อปขนาด 820 KWp พ่วงระบบกักเก็บพลังงานขนาด 550 KWh เมื่อปี 2564 เพื่อจ่ายไฟให้ระบบสาธารณูปโภคภายในนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) ช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานได้4 ล้านบาทต่อปี และลดการปล่อย CO2 สู่ชั้นบรรยากาศได้ถึง 10,500 ตัน

ทางด้าน บมจ.เอส แอนด์ พี ซินดิเคท ผู้ผลิตเบเกอรี่ S&P ได้ขยายพื้นที่โครงการโซลาร์รูฟโรงงานเบเกอรี่ เฟส 2 เมื่อปี 2564 ส่งผลให้ผลิตไฟฟ้าได้รวม 997.5 กิโลวัตต์ โดยสามารถผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 1.35 ล้านหน่วย ทำให้การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิตเบเกอรี่ของบริษัทมีสัดส่วนถึง 35-40%

SCB-KBANK หนุนปล่อยกู้

นางสาวอรรัตน์ ชุติมิต รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจรายย่อยและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ก่อนหน้านี้ธนาคารได้ร่วมมือกับบริษัท กันกุล โซลาร์ คอมมูนิตี้ จำกัด ทำแคมเปญพิเศษให้ลูกค้าสินเชื่อบ้านที่สนใจติดตั้งโซลาร์รูฟ “ร้อนนี้ ติดโซลาร์หั่นค่าไฟ” โดยลูกค้าที่สนใจติดตั้งโซลาร์รูฟกับกันกุลฯ ตั้งแต่ 1 มี.ค.-30 เม.ย. 2565 รับส่วนลดสูงสุด 59,900 บาท รับประกันการติดตั้ง 2 ปี ทั้งยังเป็นการตอบโจทย์วิถีชีวิตใหม่ที่คนทำงานที่บ้านมากขึ้น รวมถึงผู้บริโภคที่ให้ความใส่ใจกับการใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อลดภาวะโลกร้อน

“เราคาดว่ากลุ่มลูกค้าที่มีค่าใช้จ่ายค่าไฟต่อเดือน 3,000 บาทขึ้นไป จะให้ความสนใจโซลูชั่นนี้ เพราะสามารถช่วยประหยัดค่าไฟได้สูงสุด 60% ต่อเดือน และยังช่วยลูกค้าเพิ่มรายได้อีกทาง โดยกรณีลูกค้ามีไฟฟ้าส่วนที่เหลือใช้สามารถนำมาขายไฟให้แก่ภาครัฐ โดยกันกุลฯจะเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการประสานงานกับภาครัฐให้แก่ลูกค้าที่ใช้บริการดังกล่าวอีกด้วย”

นางชลารัตน์ พินิจเบญจพล รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังเปิดตัวโครงการสินเชื่อ GREEN ZERO ช่วงเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ปัจจุบันมีลูกค้ายื่นขอสินเชื่อบ้าน “Solar Roof” แล้ว 5 ราย วงเงินกู้ประมาณ 31 ล้านบาท ซึ่งธนาคารกำลังเร่งประชาสัมพันธ์และหาพันธมิตรทั้งในส่วนบริษัทอสังหาฯและผู้ประกอบการโซลาร์รูฟ

ขณะเดียวกัน ธนาคารได้ร่วมกับผู้ประกอบการอสังหาฯรายใหญ่ที่ออกแบบโครงการติดตั้งโซลาร์รูฟพร้อมขาย ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในการลดค่าไฟที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิดเมื่อสองปีก่อน จึงมองว่าสินเชื่อบ้านโซลาร์รูฟจะมีแนวโน้มที่ดี สอดคล้องกับที่ทั่วโลกมีการตื่นตัวกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กระแสการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคม (ESG) ในส่วนของประเทศไทย ภาครัฐประกาศ Net Zero ในปี 2065 ซึ่งในส่วนของธนาคารก็ให้ความสำคัญเรื่อง ESG มาอย่างต่อเนื่อง

Source : ประชาชาติธุรกิจ