นายณรงค์ไชย ปัญญไพโรจน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ลงนาม บันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction  Program : T-VER) กับ ดร.พฤกษ์ อักกะรังสี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ คุณอานนท์ ฤทธิ์ธาร ผู้อำนวยการสายงานปฏิบัติการ ผู้แทนจากบริษัท ซีพีพี จำกัด

สำหรับการลงนามความร่วมมือดังกล่าว เป็นการต่อยอดจากการพัฒนาก๊าซไบโอมีเทนอัดจากน้ำเสียและของเสียโรงงานอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของบริษัท ซีพีพี โดยการกักเก็บก๊าซมีเทนจากการบำบัดน้ำเสียแบบไร้อากาศ มาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนก๊าซ NGV ในสถานีบริการ NGV ในพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบันได้ต่อยอดความร่วมมือเพื่อขอการรับรองคาร์บอนเครดิตในโครงการ T-VER ทั้งนี้เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาโครงการด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำของประเทศอย่างแข็งแรงและยั่งยืนตลอดไป

Source : Energy News Center

กลุ่มบ้านปู อัด 1.65 หมื่นล้าน กางแผน 3 ปี ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลุยพัฒนาพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเป็น 1,100 เมกะวัตต์ พร้อมธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานอีก 500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568

นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทได้กำหนดกลยุทธ์ Greener & Smarter เพิ่มเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบนิเวศด้านพลังงานของบ้านปู (Banpu Ecosystem) ให้ครบวงจรยิ่งขึ้น และสอดรับเทรนด์โลกที่ตั้งเป้าลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) สุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2603

โดยในปี 2568 กลุ่มบ้านปูได้ตั้งเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกสำหรับธุรกิจเหมืองลง 7% จากการดำเนินงานในสภาวะปกติ และในธุรกิจไฟฟ้าที่ครอบคลุมไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงทั่วไปและจากพลังงานทดแทนลง 20% จากการดำเนินงานในสภาวะปกติ ผ่านการดำเนินงานที่มีเป้าหมายเพิ่มกำไรในธุรกิจพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีพลังงานของกลุ่มบ้านปูไม่ต่ำกว่า 50% ใน 10 ประเทศ

สำหรับการดำเนินงานในปีนี้บริษัทได้จัดสรรงบลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีพลังงานไว้ราว 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.65 หมื่นล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ)  แบ่งเป็นการลงทุนการเพิ่มสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับลูกค้าอีก 500 เมกะวัตต์ รวม 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 1.32 หมื่นล้านบาท  และลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3,300 ล้านบาท

ทั้งนี้ การดำเนินงานดังกล่าว จะลงทุนผ่านบริษัท บ้านปู เน็กซ์ จํากัด เป็นหลัก ในการขยายโรงไฟฟ้าพลังงานลมและแสงอาทิตย์ครอบคลุมทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเทศยุทธศาสตร์สำคัญ อาทิ เวียดนาม ญี่ปุ่น จีน อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย

ขณะเดียวกันก็จะขยายการลงทุนไปสู่ตลาดใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพการเติบโตสูง ที่มีเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนขึ้นไปอีกราว 1,100 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 จากปัจจุบันมีอยู่ที่ราว 836 เมกะวัตต์ และขยายฐานลูกค้าผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ครบวงจรทุกรูปแบบทั้งในประเทศและต่างประเทศอีกราว 500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 จากปัจจุบันมีอยู่ราว 37 เมกะวัตต์ เพื่อสนับสนุนให้ลูกค้าภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมทั่วประเทศไทยสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่โลกได้ และดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนไปพร้อมกัน

"บ้านปู" ทุ่ม 1.6 หมื่นล้าน ลุยพลังงานสะอาด ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ขณะที่การลงทุนในกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน จะเป็นการเร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่พอร์ตพลังงานที่สะอาดขึ้นและเทคโนโลยีพลังงานที่สอดคล้องกับเทรนด์พลังงานในอนาคตได้รวดเร็วและยั่งยืนมากยิ่งขึ้นในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครอบคลุมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โซลูชั่นด้านพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาและทุ่นลอยน้ำ ระบบกักเก็บพลังงาน ระบบจัดการพลังงาน ยานยนต์ไฟฟ้า โครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะและการซื้อขายไฟฟ้า

นายชนิต สุวรรณพรินทร์ ผู้อํานวยการอาวุโส-บริหารการตลาด และการขาย บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จํากัด  กล่าวว่า บ้านปู เน็กซ์ ซึ่งเป็นบริษัทหลักของบ้านปูในการพัฒนาธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานสะอาดด้วยหลัก “3D” ได้แก่ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลบริหารจัดการระบบพลังงาน (Digitization) การกระจายตัวของแหล่งผลิตและจำหน่ายพลังงาน (Decentralization) และการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonization) เพื่อขยายพอร์ตเทคโนโลยีพลังงานสะอาดครบวงจรในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครอบคลุมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โซลูชั่นด้านพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาและระบบทุนลอยน้ำ ระบบกักเก็บพลังงาน ระบบจัดการพลังงาน ยานยนต์ไฟฟ้าโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะและการซื้อขายไฟฟ้า

ทั้งนี้ บ้านปู เน็กซ์ตั้งเป้าหมายการเติบโตทางธุรกิจภายในปี 2568 จะขยายฐานลูกค้าผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ครบวงจรทุกรูปแบบทั้งในประเทศและต่างประเทศอีกราว 500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 จากปัจจุบันมีอยู่ราว 37 เมกะวัตต์ เพื่อสนับสนุนให้ลูกค้าภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมทั่วประเทศไทยสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่โลกได้ และดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนไปพร้อมกัน

อีกทั้ง เพิ่มกำลังการผลิตจากระบบกักเก็บพลังงาน 3.0 กิกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปี เพิ่มยานยนต์ไฟฟ้ากว่า 5,500 คัน รองรับการให้บริการผู้โดยสาร 430,000 คนต่อวัน เพิ่มสถานีอัดประจุไฟฟ้า 2,000 จุด เพิ่มปริมาณการจำหน่ายเรือท่องเที่ยวไฟฟ้า 100 ลำ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะและการบริหารจัดการพลังงาน30 โครงการ และปริมาณการซื้อขายไฟฟ้า 1,000 กิกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปี ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวเชื่อว่าจะช่วยให้กลุ่มบ้านปูสามารถบรรลุเป้าหมายในการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะสั้นได้

Source : ฐานเศรษฐกิจ

TCMA สนับสนุน กนอ ใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก มอก. 2594 ช่วยลดก๊าซเรือนกระจก ลดโลกร้อน สอดคล้องเจตนารมณ์พัฒนานิคมอุตสาหกรรม Smart Park มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน พร้อมดึงดูดนักลงทุนอุตสาหกรรม New S-Curve

นายชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) กล่าวว่า จากการขับเคลื่อน ‘MISSION 2023’ ร่วมกับ 25 พันธมิตร โดยตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 1,000,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ในปี พ.ศ. 2566 ด้วยการนำปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกเข้าสู่การใช้งานในประเทศทั้งหมดแทนปูนซีเมนต์ชนิดเดิมโดยเร็วที่สุด

การขับเคลื่อนงานก่อสร้างของนิคมฯ สมาร์ทปาร์ค ใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ช่วยลดก๊าซเรือนกระจก ลดโลกร้อน ก็จะเป็น Smart Infrastructure และเป็นต้นแบบของการพัฒนานิคมฯ ที่เป็นกลางทางคาร์บอน TCMA พร้อมสนับสนุนขยายไปยังทุกนิคมฯ อันเป็นการสนับสนุนให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการพัฒนาอย่างยั่งยืน บนพื้นฐานความสมดุลของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสนองตอบต่อนโยบายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ

นายนรินทร์ กัลยาณมิตร ประธานกรรมการ การนิคมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า การประกาศเจตนารมณ์นิคมอุตสาหกรรม Smart Park มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน เป็นการสนับสนุนเป้าหมายของประเทศไทยที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2593

TCMA จับมือนิคมฯ ขยายสมาร์ทปาร์ค ลดก๊าซเรือนกระจก

กนอ. ยกระดับมาตรฐานการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม Smart Park ในพื้นที่มาบตาพุด เพื่อรองรับกลุ่มอุตสาหกรรม New S-Curve ด้วยการเสริมสร้างความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่ทันสมัย ปลอดภัย ควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบ ภายใต้แนวคิด “นิคมอุตสาหกรรมที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

รศ.ดร.วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า วันนี้เป็นจุดเริ่มต้นความร่วมมือกับ TCMA ในการขับเคลื่อนนิคมอุตสาหกรรม Smart Park มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ด้วยการให้งานก่อสร้างนิคมฯ Smart Park ใช้วัสดุก่อสร้างประเภทปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก แทนปูนซีเมนต์ชนิดเดิม

ซึ่งจะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระยะก่อสร้างได้ถึงประมาณ 2,000,000 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ หรือเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ประมาณ 200,000 ต้น

Source : ฐานเศรษฐกิจ

โคเวสโตร เป็นหนึ่งในผู้ผลิตวัสดุโพลิเมอร์และส่วนประกอบทางโพลิเมอร์คุณภาพสูงชั้นนำของโลก ด้วยนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ กระบวนการ และวิธีการที่ช่วยส่งเสริมความยั่งยืนและคุณภาพชีวิตในหลายแง่มุม

โคเวสโตร ให้บริการลูกค้าทั่วโลกในอุตสาหกรรมหลัก เช่น การเดินทางและการขนส่ง อาคารและที่อยู่อาศัย ตลอดจนอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ โพลีเมอร์จากโคเวสโตร ยังใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น กีฬาและสันทนาการเครื่องสำอางและสุขภาพ ตลอดจนในอุตสาหกรรมเคมีด้วย

โคเวสโตร สร้างยอดขายได้ประมาณ 15.9 พันล้านยูโรในปีงบประมาณ 2564 บริษัทมีโรงงานผลิต 50 แห่งทั่วโลกและมีพนักงานประมาณ 17,900 คน รวมถึงประเทศไทย

นายมาร์คุส สไตเลอแมน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารโคเวสโตร กล่าวว่า บริษัท ได้กำหนดวิสัยทัศน์องค์กรเพื่อมุ่งสู่การหมุนเวียนอย่างเต็มรูปแบบ หนึ่งในมาตรการสำคัญตามแนวทางนี้คือความเป็นกลางทางสภาพภูมิอากาศ โดยกลุ่มบริษัท โคเวสโตร ตั้งเป้าหมายการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas หรือ GHG ) ให้เป็นศูนย์ภายในปี 2578

โดยในปี 2573 บริษัทมีเป้าหมายที่จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 60% จากการดำเนินกิจกรรมในส่วนการผลิตของบริษัทเอง (scope 1) และจากแหล่งพลังงานจากภาย นอก (scope 2) หรือลดลงไปที่ 2.2 ล้านเมตริกตันภายในปี 2573 จากฐานปี 2563 ที่มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยูที่ 5.6 ล้านเมตริกตัน

“โคเวสโตร” ทุ่ม 2 หมื่นล้าน  ลดก๊าซเรือนกระจก 60% ปี 73

นอกจากนี้ จะทำการลดการปล่อยปริมาณก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมตลอดกระบวนการผลิต (scope 3) ควบคู่ไปด้วย ซึ่งในปี 2564 ที่ผ่านมาโคเวสโตรได้ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่มาจากการผลิตต่อเมตริกตันลง 54% เมื่อเทียบกับปี 2548 ถือว่าสำเร็จเกินกว่าเป้าหมายความยั่งยืนที่กำหนดไว้สำหรับปี 2568

การบรรลุเป้าหมายการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์นี้ จะมีการทยอยลงทุนในแต่ละปีประมาณ 100 ล้านยูโร ที่คาดว่าจะใช้เงินลงทุนทั้งหมดราว 600 ล้านยูโร หรือประมาณ 21,00 ล้านบาท ภายในปี 2573 ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้ 100 ล้านยูโรต่อปีหรือประมาณ 3,500 ล้านบาทต่อปี

นายมาร์คุส สไตเลอแมน กล่าวอีกว่า ในเศรษฐกิจหมุนเวียนนี้ จะสามารถปกป้องสภาพภูมิอากาศ ธรรมชาติ และทรัพยากร เพื่อบรรลุการเติบโตอย่างยั่งยืนที่เคารพขอบเขตและขีดจำกัดของโลกโคเวสโตรและอุตสาหกรรมเคมีเป็นส่วนหนึ่งของทางแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งความยั่งยืนไม่สามารถทำสำเร็จได้โดยลำพัง ต้องอาศัยความพยายามที่มากขึ้นจากทุกฝ่ายเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย”

ทั้งนี้ การดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว โคเวสโตรทั่วโลก ได้ดำเนินงานใน 3 ส่วนที่เกี่ยวข้องได้แก่ 1.การปรับปรุงกระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานเพื่อให้เกิดการผลิตที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น ที่นำไปสู่การลดปริมาณการปล่อยก๊าซฯ ผ่านการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมตัวเร่งปฏิกิริยา พร้อมกับนำระบบเทคโนโลยีดิจิตัลมาใช้ควบคุมโรงงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมากขึ้น และยังช่วยประมวลและติดตามข้อมูลการปล่อยก๊าซตลอดห่วงโซ่คุณค่าได้อีกด้วย 

2.โรงงานผลิตของโคเวสโตรทั่วโลกจะค่อย ๆ เปลี่ยนไปใช้พลังงานไฟฟ้าทดแทน รวมถึงการใช้พลังงานลมนอกชายฝั่ง เช่น มีการสนับสนุนความร่วมมือ เช่น ผ่านความตกลงการซัพพลายพลังงานกับบริษัทจัดหาพลังงาน Ørsted ซึ่งจะครอบคลุมความต้องการใช้พลังงาน 10 % ของโรงงานของบริษัทในประเทศเยอรมนีตั้งแต่ปี ค.ศ. 2025 เป็นต้นไป มีการนำพลังงานลมบนชายฝั่งมาใช้ เช่น ภายใต้ความตกลงการซื้อพลังงานจาก ENGIE ที่ครอบคลุมความต้องการใช้พลังงาน 45% ของโรงงานโคเวสโตรในเมืองแอนต์เวิร์ป ประเทศเบลเยี่ยม หรือโรงงานโคเวสโตรที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ประมาณ 10% มาจากโซลาร์ ปาร์คของบริษัท Datang Wuzhong New Energy รวมถึงยังมีแผนที่จะทำความตกลงอื่นๆ เพื่อให้บรรลุปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์สุทธิที่เป็นศูนย์

 3.การนำพลังงานสะอาด เช่น ก๊าซชีวภาพ ก๊าซธรรมชาติ ไฮโดรเจน แอมโมเนีย และไฟฟ้าที่ได้จากแหล่งธรรมชาติ ใช้เป็นแหล่งพลังงานทดแทน แหล่งพลังงานจากฟอสซิลสำหรับการผลิตไอน้ำ

นายมาร์คุส สไตเลอแมน กล่าวเสริมอีกว่า นอกจากนี้โคเวสโตร ยังได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ทุกชนิดในรูปแบบที่เป็นกลางทางสภาพภูมิอากาศ ที่มุ่งเน้นเปลี่ยนกระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ทั้งหมด ให้เป็นไปตามหลักการหมุนเวียนในระยะยาว และตั้งใจที่จะสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายสภาพภูมิอากาศของบริษัทและลูกค้าในเวลาเดียวกัน อาทิ การผลิตเมทิลีนไดฟีนิลไดไอโซไซยาเนต หรือ MDI ที่ใช้เป็นวัตถุดิบผลิตโฟมโพลียูรีเทน (PU) ที่มีการใช้เป็นจำนวนมากเป็นฉนวนกันความร้อนที่มีประสิทธิภาพสูงมากสำหรับอาคารและตู้เย็น

ปัจจุบันโคเวสโตรได้เพิ่ม MDI ที่มีความเป็นกลางทางสภาพภูมิอากาศตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำ เข้าสู่สายผลิตภัณฑ์ ซึ่งการใช้ผลิตภัณฑ์ฉนวนกันความร้อน PU จะสามารถช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2  ได้เทียบเท่ากับ 40 ล้านเมตริกตัน

รวมถึงการนำนวัตกรรมใหม่มาผลิตโพลีคาร์บอเนต ที่มีความเป็นกลางทางสภาพภูมิอากาศ แบบแรกของโลก ที่ผลิตโดยใช้วัตถุดิบจากของเสียที่เป็นสมดุลมวลสารชีวภาพและวัสดุเหลือใช้ มาใช้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี เช่น การใช้ตัวชาร์จ EVโพลีคาร์โบเนต ที่มีความเป็นกลางทางสภาพภูมิอากาศ สามารถประหยัดพลังงานเทียบเท่ากับการลดการปล่อยก๊าซ CO2 ได้มากถึง 450 กิโลตันภายในปี 2573 ซึ่งผลิตภัณฑ์ของโคเวสโตรนี้ ได้ถูกส่งไปยังลูกค้าแล้วตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3773 วันที่ 10-13 เมษายน 2565

Source : ฐานเศรษฐกิจ