กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เริ่มกู้เงินอีกครั้ง ประเดิม 5 พันล้านบาท ตั้งเป้ากู้ครบ 2 หมื่นล้านบาทภายในเดือน เม.ย. 2566 นี้ ระบุแม้กองทุนฯ เริ่มติดลบต่ำกว่าหลักแสนล้าน แต่ยังมีหนี้ต้องชำระผู้ค้ามาตรา 7 อีก 7 หมื่นล้านบาท และใช้เสริมสภาพคล่องชดเชยราคา LPG ต่อไป ชี้ล่าสุดกองทุนฯ ติดลบ 89,800 ล้านบาท แต่ยังมีเงินไหลเข้า 345 ล้านบาทต่อวัน จากการเรียกเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินทุกชนิดตั้งแต่ 0.01-8.58 บาทต่อลิตร และผู้ใช้ดีเซลส่งเข้ากองทุนฯ 4.19 บาทต่อลิตร

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center -ENC) รายงานว่า สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ได้เริ่มกระบวนการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องกองทุนฯ อีกครั้ง โดยเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2566 ที่ผ่านมา กองทุนฯ ได้ทำเรื่องกู้เงินกับสถาบันการเงินไป 5,000 ล้านบาท จากเป้าหมายการกู้เงินในเดือน เม.ย. 2566 ทั้งสิ้น 20,000 ล้านบาท โดยหลังจากนี้จะทยอยกู้เงินจนครบตามเป้าหมายดังกล่าวต่อไป

ทั้งนี้เนื่องจากกองทุนฯ ยังมีสถานะติดลบ จากการนำเงินไปพยุงราคาดีเซลตลอดปี 2565 ที่ผ่านมา แม้ปัจจุบันสถานการณ์กองทุนฯ จะเริ่มดีขึ้นโดยติดลบน้อยกว่า 1 แสนล้านบาท แต่กองทุนฯ ก็ยังต้องชดเชยราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) และนำเงินไปเสริมสภาพคล่องการชำระหนี้ที่ต้องจ่ายผู้ค้ามาตรา 7 รวม 70,000 ล้านบาท (ข้อมูลจนถึง ณ วันที่ 9 เม.ย. 2566  )  

โดยล่าสุดสถานะกองทุนฯ ณ วันที่ 9 เม.ย. 2566 กองทุนฯ ติดลบรวมทั้งสิ้น 89,800 ล้านบาท โดยเป็นการติดลบของบัญชีน้ำมัน 42,921 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 46,879 ล้านบาท แต่เนื่องจากราคาน้ำมันโลกปรับลดต่ำกว่า 100 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่งผลให้กองทุนฯ หันกลับมาเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้ดีเซลกลับคืนกองทุนฯ มาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปัจจุบันกองทุนฯ มีเงินไหลเข้าถึงวันละ 345 ล้านบาท ส่วนเงินไหลออกจากการชดเชยราคา LPG อยู่ที่ 26.36 ล้านบาทต่อวัน

สำหรับภาพรวมการกู้เงินนั้น ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติให้กู้เงินได้ไม่เกิน 1.5 แสนล้านบาท และกู้ภายในวันที่ 5 ต.ค. 2566 นี้เท่านั้น ซึ่งการที่กองทุนฯ จะเริ่มกู้เงินกับสถาบันการเงินได้ จะต้องรอให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) ทยอยบรรจุเป็นกรอบวงเงินหนี้สาธารณะก่อน

ที่ผ่านมา สบน.ได้บรรจุวงเงินหนี้สาธารณะไป 11,000 ล้านบาท แบ่งเป็นรอบแรก 30,000 ล้านบาท ซึ่งกองทุนฯ ได้นำไปชำระหนี้ผู้ค้ามาตรา 7 หมดแล้ว และรอบที่สองอีก 80,000 ล้านบาท ซึ่งวงเงินก้อนนี้กำลังอยู่ระหว่างทยอยกู้กับสถาบันการเงิน ที่ตั้งเป้าหมายจะกู้ 20,000 ล้านบาทในเดือน เม.ย. 2566 ก่อน อย่างไรก็ตามกองทุนฯ ยังเหลือวงเงินอีก 4 หมื่นล้านบาท ก็จะครบ 1.5 แสนล้านบาทตามที่ ครม. ให้กรอบวงเงินไว้ ซึ่ง กองทุนฯ ยังสามารถขอให้ สบน.บรรจุเป็นหนี้สาธารณะได้อีก ก่อนครบกำหนด 5 ต.ค. 2566 นี้

ส่วนการเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้ดีเซลส่งคืนกองทุนฯ นั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2566 คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้มีมติลดเก็บเงินผู้ใช้ดีเซลส่งเข้ากองทุนฯ ลงเหลือ 4.19 บาทต่อลิตร จากเดิมเก็บอยู่ 4.41 บาทต่อลิตร ส่วนผู้ใช้ดีเซลเกรดพรีเมียม ถูกเรียกเก็บ 5.69 บาทต่อลิตร เนื่องจากราคาน้ำมันโลกผันผวน สำหรับกลุ่มเบนซินนั้น กบน.ได้เรียกเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินส่งเข้ากองทุนฯ ดังนี้ น้ำมันเบนซิน เรียกเก็บ 8.58 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 เรียกเก็บ 2 บาทต่อลิตร และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 และ E85 เรียกเก็บ 0.01 บาทต่อลิตร

สำหรับค่าการตลาด  ซึ่งรายงานโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ในวันที่ 11 เม.ย. 2566 พบว่าค่าการตลาดดีเซลอยู่ที่ 1.80 บาทต่อลิตร ส่วนค่าการตลาดกลุ่มเบนซินอยู่ที่ประมาณ 3-4 บาทต่อลิตร โดยเฉลี่ยค่าการตลาดระหว่าง 1-11 เม.ย. 2566 อยู่ที่ 2.20 บาทต่อลิตร โดยยังอยู่ในเกณฑ์ค่าการตลาดปกติ ตามที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 14 ก.พ.2566 ได้มีมติคืนค่าการตลาดผู้ค้าน้ำมันให้กลับมาอยู่อัตราปกติประมาณ 1.80-2 บาทต่อลิตร หลังจากก่อนหน้านี้ได้ขอความร่วมมือให้คงค่าการตลาดไว้ที่ 1.40 บาทต่อลิตร ในช่วงราคาพลังงานแพง

ด้านสถานการณ์ราคาน้ำมันโลก ณ วันที่ 11 เม.ย. 2566 เวลาประมาณ 15.30 น. ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ระดับ 84.99 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.39 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) อยู่ที่ 80.28 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.54 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล  และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) อยู่ที่ 84.67 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.49 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

Source : Energy News Center

สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) บรรจุหนี้สาธารณะให้กองทุนน้ำมันฯ เพิ่ม เริ่มกู้ได้อีก 8 หมื่นล้านบาท คาดจะทยอยกู้เงินในเดือน มี.ค. 2566 นี้ เพื่อเสริมสภาพคล่องกองทุนฯ ที่ปัจจุบันยังคงติดลบ   104,012 ล้านบาท ด้าน คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) มีมติให้คงราคาน้ำมันดีเซลในสัปดาห์แรกของเดือน มี.ค. 2566 ไว้ในกรอบ สาธารณะ 34 บาทต่อลิตรเช่นเดิม เนื่องจากราคาน้ำมันโลกยังผันผวน

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้พิจารณาข้อมูลต่างๆ ในเดือน ก.พ. 2566 แล้วเห็นว่า มีปัจจัยและสิ่งที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้ดำเนินการแล้ว ดังนี้

1. ราคาน้ำมันดีเซล (Gas Oil) ในเดือน ก.พ. 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 107.69 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 8.44 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากเดือน ม.ค. 2566

2. กบน.เห็นชอบลดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 0.50 บาทจำนวน 2 ครั้ง ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 34 บาทต่อลิตร

3. กบน.เห็นชอบเพิ่มค่าการตลาดในกลุ่มน้ำมันดีเซล 0.40 บาทต่อลิตร ทำให้ค่าตลาดกลุ่มน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 1.80 บาทต่อลิตร

สำหรับในเดือน มี.ค. 2566 สถานการณ์ที่มีผลกระทบต่อราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงผันผวนจากปัจจัยสำคัญ อาทิ การเปิดประเทศของจีนส่งผลให้การใช้น้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ความกังวลเกี่ยวกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ อัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น ตลอดจนสถานการณ์การส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงของรัสเซีย ด้วยปัจจัยต่าง ๆ และสิ่งที่ดำเนินการมาแล้ว กบน. จึงเห็นว่าในสัปดาห์แรกของเดือน มี.ค. 2566 นี้ ให้คงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไว้ที่ประมาณ 34 บาทต่อลิตรต่อไป

นอกจากนี้ กบน.ยังได้พิจารณาปรับลดอัตราจัดเก็บเงินผู้ใช้ดีเซลเข้ากองทุนฯ ลงมาอยู่ที่  3.94 บาทต่อลิตร จากเดิมเก็บอยู่ 4.14 บาทต่อลิตร เนื่องจากราคาน้ำมันโลกปรับสูงขึ้น  ส่วนประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงวันที่ 26 ก.พ. 2566 กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสุทธิติดลบรวม 104,012 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นบัญชีน้ำมัน 57,917 ล้านบาท และบัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 46,095 ล้านบาท โดยกองทุนฯ มีเงินไหลเข้า 9,500 ล้านบาทต่อเดือน จากการเรียกเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันทุกชนิดเข้ากองทุนฯ

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center -ENC) รายงานว่า สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้บรรจุกรอบวงเงินกู้เพิ่มเติมให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงแล้ว และผ่านการอนุมัติเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา โดย สบน.ได้บรรจุเป็นหนี้สาธารณะเพิ่มเติมอีก 80,000 ล้านบาท เพื่อให้กองทุนน้ำมันฯ ไปขอกู้กับสถาบันการเงินได้ 80,000 ล้านบาท สำหรับบริหารสภาพคล่องและดูแลราคาพลังงานให้กับประเทศต่อไป  

เบื้องต้น สกนช. ได้ประกาศเชิญชวนสถาบันการเงินที่สนใจมาปล่อยเงินกู้แล้ว โดยคาดว่าจะเริ่มกระบวนการกู้เงินได้ในเดือน มี.ค.-มิ.ย. 2566 นี้ ซึ่งจะเป็นการทยอยกู้เงินในวงเงินที่แตกต่างกันไปตามความจำเป็นและพิจารณาจากสถานะเงินกองทุนฯ เป็นหลัก

อย่างไรก็ตามหลังจาก ครม. อนุมัติการกู้เงินอีก 8 หมื่นล้านบาท ( จากเดิมอนุมัติไว้ 3 หมื่นล้านบาท)  ส่งผลให้ปัจจุบันมีวงเงินกู้ที่ผ่านการอนุมัติจากครม. แล้ว รวม 1.1 แสนล้านบาท จากกรอบวงเงินกู้ทั้งสิ้น 1.5 แสนล้านบาท ดังนั้นหากวงเงิน 1.1 แสนล้านบาทไม่เพียงพอ ทาง สกนช. จะเสนอ สบน. บรรจุเงินกู้ส่วนที่เหลืออีก 4 หมื่นล้านบาท ภายในเดือน มิ.ย. 2566 ต่อไป  

Source : Energy News Center

คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) กางแผนรับมือหลายแนวทาง กรณีคลังปรับขึ้นภาษีดีเซล หลังหมดมาตรการลดภาษีดีเซล 5 บาทต่อลิตร 20 พ.ย. 2565 ชี้การปรับขึ้นราคาเพียง 1 บาทต่อลิตร ก็กระทบเงินกองทุนฯแน่นอน เหตุเงินกู้ 1 หมื่นล้าน แค่เข้ามาเสริมสภาพคล่องชำระหนี้ ไม่สามารถรองรับภาระที่เพิ่มขึ้นได้มากนัก ประกอบกับสิ้นเดือน พ.ย.นี้ เงินช่วยเหลือ 3,000 ล้านบาทของ ปตท. จะสิ้นสุดลงด้วย ระบุรอผลสรุปมาตรการภาษีดีเซลที่ชัดเจนเร็วๆนี้ก่อนพิจารณามาตรการด้านราคาดีเซลต่อไป  

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(กบน.) ได้หารือเตรียมความพร้อมรองรับกรณีกระทรวงการคลังปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล หลังหมดมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตร ในวันที่ 20 พ.ย. 2565 นี้  โดยก่อนหน้านี้ได้จัดทำแบบจำลองการปรับขึ้นภาษีดีเซลไว้ 3-4 แนวทาง พร้อมการบริหารเงินกองทุนฯ  ทั้งกรณีไม่ปรับขึ้นภาษีดีเซลจนถึงสิ้นปี 2565  รวมถึงกรณีทยอยปรับขึ้น หรือ ขึ้นภาษีทีเดียว 5 บาทต่อลิตร 

โดยหากมีการปรับขึ้นภาษีดีเซล ไม่ว่าจะกรณีใด ก็จะกระทบเงินกองทุนฯ อย่างแน่นอน เนื่องจากเงินกู้ 10,000 ล้านบาท ที่ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการกู้เงินกับสถาบันการเงิน เป็นเงินสำหรับนำมาเสริมสภาพคล่องในการชำระหนี้ต่างๆ เท่านั้น ไม่ได้เตรียมไว้สำหรับภาระที่เพิ่มขึ้น 

ส่วนกรณีมีกระแสข่าวว่าจะมีการปรับขึ้นภาษีดีเซลแบบขั้นบันได เดือนละ 1 บาทต่อลิตรไปจนครบ 5 บาทต่อลิตรนั้นหากเป็นจริง ทางสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(สกนช.) คงต้องกลับไปจัดทำกรณีตัวอย่างเพื่อเสนอ กบน.พิจารณาหาแนวทางดูแลราคาดีเซลไม่ให้กระทบต่อประชาชนให้ได้มากที่สุด  

ปัจจุบันกองทุนฯชดเชยราคาดีเซลอยู่ 2.15 บาทต่อลิตร หรือ 130 ล้านบาทต่อวัน หากขึ้นภาษี 1 บาทต่อลิตร และกองทุนฯเข้าไปแบกรับภาระแทน ก็จะต้องชดเชยราคาดีเซลเป็น 3.15 บาทต่อลิตร ถือเป็นภาระที่หนักสำหรับกองทุนฯ เช่นกัน เนื่องจากต้องมีภาระการพยุงราคาดีเซลที่เพิ่มขึ้นแล้ว เงินช่วยเหลือจากบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) 3,000 ล้านบาท ก็จะสิ้นสุดในเดือน พ.ย.2565 ด้วย 

อย่างไรก็ตามคงต้องรอความชัดเจนจากกระทรวงการคลัง ที่จะต้องพิจารณาให้รอบคอบทั้งด้านภาระเงินกองทุนฯ ที่ตึงตัว ผลกระทบต่อราคาดีเซลประชาชน รวมถึงราคาน้ำมัน ณ เวลานั้น และภาพรวมทางเศรษฐกิจประเทศด้วย 

ส่วนความคืบหน้าการกู้เงิน 10,000 ล้านบาท จากสถาบันการเงินนั้น คาดว่าจะมีความชัดเจนเร็วๆนี้ ว่าจะเลือกกู้กับสถาบันการเงินใด โดยคาดว่าเงินจะเข้าบัญชีกองทุนฯ ได้ในสัปดาห์หน้า 

สำหรับที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้ลดภาษีสรรพสามิตดีเซลมาแล้ว 4 ครั้ง โดยครั้งแรกลด 3 บาทต่อลิตร เมื่อ 18 ก.พ.-30 พ.ค. 2565 หลังจากนั้นลดภาษี 5 บาทต่อลิตร ต่อเนื่อง 3 ครั้ง ครั้งละ 2 เดือน นับตั้งแต่ 21 พ.ค.- 20 ก.ค.2565, 21 ก.ค.-20 ก.ย. และวันที่ 21 ก.ย.-20 พ.ย. 2565 

ทั้งนี้สถานะกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุด ณ วันที่ 30 ต.ค. 2565 กองทุนฯ ติดลบถึง 129,701 ล้านบาท โดยมาจากบัญชีน้ำมันติดลบ 86,781 ล้านบาท และมาจากบัญชี LPG ติดลบ 42,920 ล้านบาท  

ส่วนสถานการณ์ราคาน้ำมันโลก ณ วันที่ 4 พ.ย. 2565 เวลาประมาณ 15.00 น.  ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ระดับ 91.13 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล  ส่วนน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) อยู่ที่ 90.27 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 2.10 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล  และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) อยู่ที่ 96.67 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 2 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

ส่วนสถานการณ์ค่าการตลาดของผู้ค้าน้ำมัน ณ วันที่  4 พ.ย. 2565 ซึ่งรายงานโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ระบุว่าค่าการตลาดผู้ค้าดีเซลอยู่ที่  1.57 บาทต่อลิตร ส่วนค่าการตลาดกลุ่มเบนซินอยู่ที่ 2-3 บาทต่อลิตร ในขณะที่ค่าการตลาดเฉลี่ยระหว่าง  1-4 พ.ย. 2565 อยู่ที่  2.17 บาทต่อลิตร โดยภาครัฐขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันตรึงค่าการตลาดไว้ไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตร  

Source : Energy News Center