กระทรวงพลังงาน คาดสิ้นปี 2566 มีผลชัดเจนว่าประชาชนจะเลือกน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 หรือ แก๊สโซฮอล์ 95 เป็นน้ำมันพื้นฐานกลุ่มเบนซินของประเทศ จากนั้นมีเวลา 9 เดือนเริ่มดำเนินการลดชนิดน้ำมันที่จำหน่ายในปั๊มลง พร้อมขีดเส้นตายยกเลิกชดเชยราคาแก๊สโซฮอล์และไบโอดีเซลทุกชนิดภายใน 24 ก.ย. 2567 แต่กฎหมายยังเปิดช่องให้เสนอ ครม. ขอขยายเวลาไปได้อีก 2 ปี หากดำเนินการไม่ทัน โดยขึ้นกับรัฐบาลใหม่จะตัดสินใจ ด้านสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ยังคงเดินหน้าเป้าหมายถ่างราคาแก๊สโซฮอล์ E20 ให้ถูกกว่าแก๊สโซฮอล์ 95 ถึง 3 บาทต่อลิตร จากปัจจุบันต่างกันอยู่ 2.31 บาทต่อลิตร หวังประชาชนเลือกใช้ แก๊สโซฮอล์ E20 เป็นหลัก  

กระทรวงพลังงานคาดการณ์ว่าภายในสิ้นปี 2566 นี้ จะมีความชัดเจนเกี่ยวกับแผนปรับลดชนิดน้ำมันที่จำหน่ายในสถานีบริการน้ำมันลง โดยจะเหลือเพียงน้ำมันพื้นฐานสำหรับดีเซลและเบนซินอย่างละ 1 ชนิด ส่วนน้ำมันชนิดอื่นจะเป็นเพียงน้ำมันทางเลือกเท่านั้น ซึ่งแต่ละปั๊มจะต้องมีน้ำมันพื้นฐานดีเซลและเบนซินจำหน่ายตามที่กระทรวงพลังงานกำหนดไว้ ส่วนน้ำมันทางเลือกจะมีจำหน่ายหรือไม่ก็ได้ ซึ่งเป็นไปตามแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง(Oil Plan) ที่กรมธุรกิจพลังงานอยู่ระหว่างการจัดทำข้อมูลในขณะนี้

เบื้องต้นกระทรวงพลังงานกำลังเตรียมจะเปิดรับฟังความเห็นประชาชนต่อแผน Oil Plan ดังกล่าว โดยสาระสำคัญอยู่ที่การพิจารณาเลือกชนิดน้ำมันพื้นฐานของกลุ่มเบนซินไว้เพียงชนิดเดียว ระหว่างแก๊สโซฮอล์ E20 หรือ แก๊สโซฮอล์ 95 ส่วนดีเซลจะไปพิจารณาในด้านการกำหนดสัดส่วนการผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ในน้ำมันดีเซลทุกลิตรแทน

โดยปลายปี 2566 นี้จะมีความชัดเจนว่าจเลือกน้ำมันใดเป็นน้ำมันพื้นฐานของประเทศ และจากนั้นกระทรวงพลังงานมีเวลา 9 เดือน เพื่อดำเนินการลดชนิดน้ำมันที่จำหน่ายในสถานีบริการน้ำมันลง และให้เสร็จก่อนวันที่ 24 ก.ย. 2567 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่กฎหมายกำหนดให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องดำเนินการยกเลิกการอุดหนุนราคาน้ำมันที่มีส่วนผสมจากพืชพลังงาน ทั้งกลุ่มแก๊สโซฮอล์และไบโอดีเซล 

อย่างไรก็ตามขณะนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงกำลังพยายามสร้างส่วนต่างราคาระหว่าง แก๊สโซฮอล์ E20 ให้มีราคาถูกกว่าแก๊สโซฮอล์ 95 ประมาณ 3 บาทต่อลิตร เพื่อผลักดันให้ประชาชนหันไปใช้ แก๊สโซฮอล์ E20ให้มากที่สุด โดย ณ วันที่ 15 มิ.ย. 2566 ราคาแก๊สโซฮอล์ E20 อยู่ที่ 32.94 บาทต่อลิตร ส่วนแก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ 35.25 บาทต่อลิตร ซึ่งราคาต่างกันอยู่ 2.31 บาทต่อลิตร โดยกองทุนน้ำมันฯ ยังสร้างส่วนต่างราคาไปไม่ถึง 3 บาทต่อลิตร เนื่องจากกองทุนน้ำมันฯ ยังประสบปัญหาสภาพคล่องบัญชีกองทุนฯ ติดลบถึง 63,376 ล้านบาท

ทั้งนี้หากในอนาคตประชาชนตัดสินใจที่จะเลือกใช้แก๊สโซฮอล์ 95 เป็นน้ำมันพื้นฐานแทน แก๊สโซฮอล์ E20 เมื่อถึงเวลานั้น ทางกองทุนฯ ก็พร้อมจะปรับทิศทางกระชากราคาให้คนส่วนใหญ่หันกลับมาใช้ แก๊สโซฮอล์ 95 ให้มากที่สุดแทน เพื่อให้แผนการปรับลดชนิดน้ำมันที่จำหน่ายในประเทศประสบความสำเร็จ และเป็นไปตามกฎหมายยกเลิกการชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพในที่สุด

อย่างไรก็ตามหากเงื่อนเวลาที่ได้กำหนดไว้ ไม่สามารถยกเลิกการชดเชยราคาแก๊สโซฮอล์และไบโอดีเซลได้ทัน ทางสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(สกนช.) จะต้องทำเรื่องขออนุมัติขยายเวลาออกไปอีก 2 ปี หรือภายใน 24 ก.ย. 2569 ต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พิจารณาอนุมัติต่อไป 

แต่การขออนุมัติขยายเวลาดังกล่าวจะเป็นครั้งสุดท้าย เนื่องจากตามกฎหมายกำหนดให้ยกเลิกการชดเชยราคามาตั้งแต่ 24 ก.ย. 2565 แต่ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 กำหนดให้สามารถขอขยายเวลาได้ 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 2 ปี โดยที่ผ่านมา สกนช. ได้ขอขยายเวลามา 1 ครั้งแล้ว โดย ครม.อนุมัติให้ขยายเวลาการยกเลิกชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพได้ถึงวันที่ 24 ก.ย. 2567 นี้  

ดังนั้นปัจจุบัน สกนช. ยังยืนยันว่า ภายในวันที่ 24 ก.ย. 2567 จะเป็นวันสุดท้ายของการชดเชยราคาแก๊สโซฮอล์และไบโอดีเซล จากนั้นจะต้องยกเลิกการชดเชยราคาทั้งหมด และราคาต้องเป็นไปตามกลไกตลาด ส่วนจะมีการขอต่ออายุไปอีก 2 ปี เพื่อชะลอการยกเลิกชดเชยราคาหรือไม่นั้น ต้องรอรัฐบาลใหม่พิจารณาต่อไป

Source : Energy News Center

4​ พรรคการเมืองเปิดตัวทีมเศรษฐกิจ​ให้เห็นโฉมหน้ากันแล้ว​ทั้ง​ เพื่อไทย​ ก้าวไกล​ รวมไทยสร้างชาติ​ และพลังประชารัฐ​

ถ้าจับประเด็นเฉพาะเรื่องพลังงาน​ มี​ 3​ รายชื่อที่มีประสบการณ์​ในการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน​ ได้แก่​ พรรคเพื่อไทย​ นายแพทย์​พรหมินทร์​ เลิศสุรีย์เดช​ เคยดำรงตำแหน่ง​ ช่วง​ ก.พ.2546-มี.ค.2548​ สมัยรัฐบาลทักษิณ​

คนที่สอง​ พรรคพลังประชารัฐ คือนายสนธิรัตน์​ สนธิจิรวงศ์​ ดำรงตำแหน่ง​ ช่วง​ ​ก.ค​.2562-15 ก.ค. 2563​ สมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์​ และพรรครวมไทยสร้างชาติ​ นายสุพัฒนพงษ์​ พันธ์มี​เชาว์​ ดำรงตำแหน่งช่วง​ ส.ค.2563​ จนถึงวันยุบสภา​ 20​ มี.ค.2566​ และปัจจุบันยังคงรักษาการอยู่

ส่วนทีมเศรษฐกิจ​ของพรรคก้าวไกล​ ได้ผู้ที่มีประสบการณ์​คลุกคลีอยู่ในแวดวงพลังงานโดยเฉพาะเรื่องของไฟฟ้า​ ในบทบาทของนักวิชาการ​ มายาวนาน คือ​ อาจารย์​เดชรัต สุขกำเนิด​

นายแพทย์​พรหมินทร์​ เลิศสุรีย์เดช​ พรรคเพื่อ​ไทย​

สำหรับพรรคเพื่อไทย​ ที่เชื่อกันว่าจะได้คะแนนเสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร​เป็นอันดับหนึ่ง​ ในการเลือกตั้งที่จะมาถึงและมีโอกาสสูงว่าจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล​ นั้นชูนโยบายหาเสียงเรื่องพลังงาน​ ว่าจะลดราคาค่าไฟ​ฟ้า ค่าน้ำมัน​ ค่าแก๊ส​ ทันที​ ที่ได้เป็นรัฐบาล​ ถามว่าจะทำได้อย่างไร​ ก็ตอบว่า​ทำได้ทันทีในส่วนของน้ำมันทั้งดีเซลและเบนซิน​ ด้วยการปรับลดภาษีสรรพสามิต​ หรือลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน​ โดยที่กองทุนน้ำมันจะยังคงมีฐานะติดลบอยู่ต่อไปก่อน​ จาก​ ณ​ วันที่​ 19​ มี.ค.2566​ กองทุนมีฐานะติดลบ​ อยู่​ 9.7 หมื่นล้านบาท​

ถ้าย้อนไปดูประวัติศาสตร์​กองทุนน้ำมัน​ นั้นก็เคยติดลบสูงถึง​ 9.2 หมื่นล้านบาท​ ในช่วงที่นายแพทย์​พรหมินทร์​ เป็นรัฐมนตรีพลังงาน​ เพราะมีนโยบายการตรึงราคาทั้งเบนซินและดีเซล​ แต่ก็มาถูกทำลายสถิติโดยสิ้นเชิง​ ในสมัยของนายสุพัฒนพงษ์​ เป็นรัฐมนตรีพลังงาน​ ที่​ตัวเลขติดลบพุ่งสูงถึง​ 1.3​แสนล้านบาท​ จากนโยบายการตรึงราคาดีเซลเอาไว้ยาวนานเช่นเดียวกัน

สำหรับเรื่องของค่าไฟฟ้านั้น​ ในการคำนวณค่าเอฟที​ งวดเดือน​ พ.ค.-ส.ค.​ 2566​ ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน​ หรือ กกพ.​เคาะตัวเลขออกมาแล้วว่า​ ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยจะปรับเพิ่มเล็กน้อยเป็น​ 4.77​ บาทต่อหน่วยจากงวดก่อนหน้า​ ซึ่งอยู่ที่​ 4.72​ บาทต่อหน่วย​

โดยเมื่อรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศตั้งแต่​ ส.ค.2566​ ค่าเอฟที​ สำหรับงวด​ ก.ย.-ธ.ค.2566​ ก็น่าจะปรับลดลงได้​ โดยไม่ต้องออกแรงบริหารจัดการอะไรมาก​ เนื่องจากค่าเชื้อเพลิงที่เป็นต้นทุนหลัก​คือก๊าซธรรมชาติ มีแนวโน้มที่จะลดลง​ เพราะผลิตก๊าซจากอ่าวไทย​ที่มีราคาถูกกว่า​ LNG​ นำเข้าได้เพิ่มมากขึ้น

สนธิรัตน์​ สนธิ​จิรวงศ์​ พรรคพลังประชารัฐ

สำหรับพรรคพลังประชารัฐ​ ก็มีนโยบายการหาเสียงที่จะลดราคาทั้งน้ำมันและไฟฟ้าเช่นเดียวกัน​ ซึ่งก็คงใช้กลไกที่ไม่แตกต่างกันกับพรรคเพื่อไทยมากนัก​

และถ้ายังจำกันได้​ สมัยที่นายสนธิรัตน์​ เป็นรัฐมนตรีพลังงาน​ ก็มีนโยบายให้ ​กกพ.​นำเงินบริหารค่าเอฟที​ มาใช้จนหมดหน้าตัก​ กว่า​ ​2​ หมื่นล้านบาท​ เพื่อช่วยเหลือค่าไฟฟ้าประชาชนลดผลกระทบภาครัวเรือนที่ต้อง​Work​ From​ Home​ ช่วงโควิด-19

สุพัฒนพงษ์​ พันธ์​มี​เชาว์​ รวมไทยสร้างชาติ

ในส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติ​ ที่ทีมเศรษฐกิจ​คือ​นายสุพัฒนพงษ์​ ก็คงจะเห็นผลงานการตรึงราคาทั้ง ดีเซล ก๊าซหุงต้ม​ กันแบบหลังแอ่น​ หนี้ท่วมทั้งกองทุนน้ำมัน​ และ กฟผ.​ เพราะเจอจังหวะวิกฤติซ้อนวิกฤติ​ ทั้ง​สงครามรัสเซีย-ยูเครน​ และ​ เศรษฐกิจ​ที่ชะลอตัวจากผลพวงของโควิด-19​

ส่วนภาคไฟฟ้า​ ผลงานที่เด่นชัดคือการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบล็อตใหญ่​ 2​ ล็อต​ ล็อตแรก​ 5,200​เมกะวัตต์​และล็อต​สอง​ อีก​ 3,600 เมกะวัตต์​ นัยว่าเพื่อปรับสัดส่วนเชื้อเพลิงให้ตอบโจทย์เรื่องการลดก๊าซคาร์บอน​ตามเทรนด์โลก​ ท่ามกลางข้อกังขาของ​ พรรคก้าวไกล​ เรื่องสำรองไฟฟ้าล้นระบบ​ ที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น​

และนโยบายที่รัฐบาลชุดปัจจุบันทำไว้คือประเด็นที่พรรคก้าวไทย​ อาสาจะเข้ามาแก้ไขด้วยการปรับโครงสร้างทั้งไฟฟ้าและน้ำมัน​ ป้ายหาเสียงของพรรคก้าวไกล เขียนว่า หยุดเอื้อทุนใหญ่ค่าไฟฟ้าลด​ ​70​ สตางค์​

เดชรัต​ สุข​กำ​เ​นิด​ พรรคก้าวไกล

โดยอาจารย์เดชรัต อภิปรายในเวทีที่จัดโดย​ คปพ.​ ว่า​ นโยบายด้านพลังงานที่พรรคก้าวไกล​จะดำเนินการ เรื่องหลักๆคือ​ค่าไฟฟ้า​ จะมีการเข้าไปปรับสูตรราคาก๊าซ​ ที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า​เพื่อให้ภาคครัวเรือนได้ใช้ก๊าซราคาถูกเหมือน ภาคอุตสาหกรรม

การเข้าไปปรับลดภาระค่าความพร้อมจ่าย​ โดยเจรจากับโรงไฟฟ้าเก่า​ ที่เป็นโรงไฟฟ้าไม่มีประสิทธิภาพและใกล้จะหมดอายุ

ที่น่าสนใจคือการหยุดข้อตกลงสัญญาซื้อขายไฟฟ้​า เพิ่มเติม​ ในโรงใหม่​ เพราะประเทศมีสำรองไฟฟ้าล้นเกิน​ การปรับพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าใหม่​ ไม่ให้สูงเกินกว่าความเป็นจริง รวมทั้ง​ การยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมด​ภายในปี​2578

นอกจากนี้ยังจะส่งเสริมไฟฟ้าจากโซลาร์​เซลล์​ และระบบ​ Net​ Metering เพื่อให้การซื้อขายไฟฟ้าจากโซลาร์​เซลล์ของภาคประชาชนมีความคล่องตัวและเป็นธรรมมากขึ้น​

ได้เห็นทิศทางนโยบายด้านพลังงานจาก​ 4​ พรรคการเมืองกันพอสังเขป​แล้ว​ จากนี้ก็อยู่ที่ว่า​ หลังการเลือกตั้ง​เดือน​ พ.ค.2566​ พรรคไหนจะได้เป็นแกนนำรัฐบาล​ และจะส่งใครมาเป็นรัฐมนตรีพลังงาน​ นโยบายของพรรคนั้นจึงจะมีโอกาสนำไปสู่ภาคปฏิบัติ​ได้

ที่สำคัญคือ อย่าใช้นโยบายที่ท้ายที่สุดประชาชนผู้ใช้พลังงานต้องรับภาระไปมากกว่านี้เลย

Source : Energy News Center

กระทรวงพลังงาน เคาะพลังงานหมุนเวียน 1 หมื่นเมกะวัตต์ บรรจุอยู่ในแผนพลังงานชาติ เน้นส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ถึง 6 พันเมกะวัตต์ ดัน กฟผ.เป็นผู้ลงทุนพลังงานสะอาดในอนาคต เดินหน้าสู่ Net Zero

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากที่ประเทศไทยได้มีเป้าหมายบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ปี ค.ศ. 2065 (Net Zero) จำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคพลังงานเป็นสำคัญ เนื่องจากมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คิดเป็นสัดส่วนกว่า 30 % โดยมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯราว 256 ล้านตันต่อปี

ทั้งนี้องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) คาดการณ์ความต้องการใช้พลังงานของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสำหรับทุกประเภทเชื้อเพลิงทั้งน้ำมัน ก๊าซฯ ถ่านหิน และพลังงานหมุนเวียน(RE) ในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งหากต้องการให้บรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะต้องเน้นการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและเพิ่มสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำให้มากขึ้น

ดันพลังงานสะอาด ผลิตไฟฟ้า 1 หมื่นเมกะวัตต์ เคลื่อนไทย Net Zero

ดังนั้น ปัจจัยขับเคลื่อนให้ประเทศไทยก้าวสู่ความยั่งยืนและเกิดความสมดุลด้านพลังงาน จะต้องการพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานด้านพลังงานให้เพียงพอรองรับความต้องการพลังงานในอนาคต รองรับพลังงานสะอาดที่จะเกิดขึ้น(Green Energy) รวมทั้งการพัฒนาระบบบริหารจัดการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์รูปแบบธุรกิจพลังงานที่เปลี่ยนแปลงไปตามแนวโน้มพลังงานในอนาคต เช่น รถยนต์ไฟฟ้า(EV) และสมาร์ทกริด ( Smart Grid) 

รวมทั้งการพัฒนาหรือนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยสนับสนุน เช่น เทคโนโลยีการดักจับการใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอนของประเทศ (Carbon Capture, Utilization and Storage : CCUS) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญในอนาคต การเตรียมบุคลากรด้านต่าง ๆ ให้มีความรู้และทักษะที่สนับสนุนการดำเนินงานตามแนวโน้มการพัฒนาพลังงานในอนาคต

รวมถึงการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนเป้าหมายและนโยบายของประเทศ ทั้งภาคธุรกิจที่จะเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมพลังงาน ภาควิชาการที่สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมเทคโนโลยีพลังงานในประเทศ และภาคประชาชนที่ให้ความร่วมมือในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน รวมถึงมีส่วนร่วมในโครงการด้านพลังงาน เช่น โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน

ดังนั้น การดำเนินงานของกระทรวงพลังงาน ได้มีจัดทำแผนพลังงาน ภายใต้กรอบความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ได้กำหนดกรอบที่จะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 50% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ ร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน

ภายใต้กรอบแผนพลังงานชาติ จะมีแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือพีดีพี(ปี 2565-2580) เป็นแผนย่อยรวมอยู่ด้วย ซึ่งจะมีการบรรจุเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนราว 10,900 เมกะวัตต์ แยกเป็น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 6,000 เมกะวัตต์ แยกเป็นโซลาร์ฟาร์ม 3,000 เมกะวัตต์ และมีโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) 2,700 เมกะวัตต์ โซลาร์รูฟท็อป 300 เมกะวัตต์ พลังงานลม 1,500 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลและก๊าซชีวภาพ รวม 800 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้าจากขยะ 600 เมกะวัตต์ แยกเป็นจากขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์ และขยะอุตสากรรม 200 เมกะวัตต์

“กฟผ.มีศักยภาพพัฒนาโซลาร์ลอยน้ำได้ถึง 10,000 เมกะวัตต์ใน 20 ปี ตลอดจนพื้นที่เหมืองแม่เมาะใน 20 ปีข้างหน้า หากต้องเลิกใช้โรงไฟฟ้าถ่านหิน จึงมีศักยภาพของพื้นที่ที่จะทำโซลาร์ฟาร์มได้อีก ซึ่งกฟผ.จะกลายเป็นผู้ลงทุนพลังงานสะอาดในอนาคต”

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า การจัดทำแผนพลังงานชาติ ขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความเห็นแผนย่อย และหลังจากนั้นจะเปิดรับฟังความเห็นของแผนพลังงานชาติทั้งหมด และจะนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาได้ราวไตรมาสแรกของปี 2566 นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)เห็นชอบต่อไป คาดว่าจะประกาศใช้แผนพลังงานชาติได้ราวไตรมาสที่ 2 ของปี 2566

Source : ฐานเศรษฐกิจ

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และหน่วยงานพันธมิตร ร่วมพิธีลงนามความร่วมมือโครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 พร้อมมอบโล่โครงการที่ปรึกษาพลังงาน และโครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 เพื่อส่งเสริมและผลักดันให้เกิดการลดการใช้ไฟฟ้า อนุรักษ์พลังงาน ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มุ่งสู่พลังงานสะอาด และความเป็นกลางทางคาร์บอน ตามเป้าหมายของประเทศ

ภายในงาน มีกิจกรรมหลากหลาย ได้แก่

การเปิดตัวและติดฉลากชุดนักเรียนเบอร์ 5 อย่างเป็นทางการ เนื่องจากชุดนักเรียนเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณการผลิตและการซื้อจำนวนมากในแต่ละปี ทั้งยังมีการใช้ซ้ำ ซักรีดบ่อย กฟผ. จึงร่วมมือกับสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอพัฒนามาตรฐานชุดนักเรียน เบอร์ 5 โดยมีคุณสมบัติสวมใส่สบาย ยับยาก ลดการรีดผ้า ลดใช้พลังงาน เนื่องจากใช้เทคโนโลยี CoolMode ช่วยลดอุณหภูมิขณะสวมใส่ลง 1-5 องศาเซลเซียส ทำให้ใส่แล้วเย็นสบาย มีความคงทนของเนื้อผ้าและคืนตัวหลังการซัก จึงช่วยประหยัดเวลาในการรีดผ้าตัวละ 2 นาที คิดเป็นการประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้ถึงปีละ 7.75 ล้านหน่วย หรือประมาณปีละ 31 ล้านบาท และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 3,709 ตัน/ปี

การลงนามความร่วมมือโครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ระหว่าง กฟผ. กับบริษัทผู้ประกอบการ โดยได้ประกาศเชิญชวนผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้นำเข้า สมัครเข้าร่วมโครงการฯ พร้อมร่วมกันกำหนดมาตรฐานการทดสอบและเกณฑ์ประสิทธิภาพเบอร์ 5 เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งจะดำเนินการทดสอบเพื่อติดฉลากเบอร์ 5 และเริ่มวางจำหน่ายตั้งแต่เดือนเมษายน 2566 เป็นต้นไป รวม 43 ราย 3 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่

  • เครื่องอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า 2 ประเภท เครื่องอัดประจุไฟฟ้ากระแสสลับ แบบชาร์จปกติ ที่ใช้ ในบ้านประชาชนทั่วไป และเครื่องอัดประจุไฟฟ้ากระแสตรง หรือแบบชาร์จเร็ว ที่มีให้บริการตามสถานีชาร์จ และสถานที่ชุมชนต่าง ๆ
  • แบตเตอรี่จักรยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน สำหรับใช้ในการขับเคลื่อนโมเปดไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ที่ออกแบบให้สามารถถอดออกจากตัวรถได้
  • เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนหลายชุดระบบปรับน้ำยาแปรผัน เป็นเครื่องปรับอากาศที่มี ชุดคอยล์ร้อน 1 ชุด ต่อกับชุดคอยล์เย็นภายในห้องหลายชุด เหมาะสำหรับใช้ในอาคาร และสำนักงานทั่วไป

รวมทั้งการมอบโล่แสดงความขอบคุณ

  • องค์กรที่เข้าร่วมโครงการที่ปรึกษาพลังงาน จำนวน 19 ราย
  • องค์กรที่เข้าร่วมโครงการบ้านเบอร์ 5 และโครงการอาคารเบอร์ 5 จำนวน 5 ราย
  • ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ปี 2563 – 2565 ได้แก่ จักรยานยนต์ไฟฟ้า เครื่องซักผ้าแบบถังนอน และเครื่องฟอกอากาศ รวม 31 ราย

ทั้งนี้ กฟผ. ได้ดำเนินงานจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า หรือ DSM ด้วยกลยุทธ์ 3 อ. ได้แก่ อ. ที่ 1 อุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 อ. ที่ 2 อาคารและอุตสาหกรรมประสิทธิภาพพลังงานสูง และ อ. ที่ 3 อุปนิสัยการใช้พลังงานคุ้มค่าและปลอดภัย เพื่อส่งเสริมให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และภาคที่อยู่อาศัย ใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยมาตรการต่าง ๆ ที่เหมาะสมและคุ้มค่า ส่งผลให้ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้เกือบ 35,000 ล้านหน่วย คิดเป็นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ ถึง 16.4 ล้านตัน

Source : RTY9

พพ.หนุนกระแสติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปมาแรง ปรับลดกระบวนการให้ความเห็นอนุญาตให้ผลิตไฟฟ้ารวดเร็วยิ่งขึ้นจากเดิมขั้นตอนกว่า 60 วันเหลือไม่เกิน 30 วัน หวังเอื้อให้ประชาชนรับมือค่าไฟแพง

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน เปิด
เผยหลังเป็นประธานการประชุมชี้แจงการปรับปรุงกระบวนการให้ความเห็นการออกแบบใบอนุญาตให้ผลิตพลังงานควบคุม (พค.2) ต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมในรูปแบบออนไซต์และออนไลน์ รวมกว่า 500 ราย ว่า ตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 กำหนดให้ผู้ที่จะผลิตไฟฟ้าขนาดเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 200 kVA ขึ้นไป (ประมาณ 200 กิโลวัตต์) ต้องมีการยื่นคำขอรับใบอนุญาตฯ (พค.1) และแบบตรวจสอบระบบผลิตพลังงานควบคุมต่อ กกพ. และทาง กกพ.นำส่ง พพ.พิจารณาให้ความเห็นอนุญาตให้ผลิตพลังงานควบคุม (พค.2) เพื่อความปลอดภัยของอุปกรณ์ไฟฟ้าที่จะติดตั้ง อย่างไรก็ตาม มีผู้ยื่นคำขอใบอนุญาต พค.2 จำนวนมาก พพ.จึงได้พิจารณาปรับลดขั้นตอนดังกล่าวเพื่อให้ผู้ยื่นคำขอได้มีการผลิตและใช้พลังงานที่เร็วขึ้น

“ที่ผ่านมามีการยื่นคำขอใบอนุญาต พค.2 เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากกว่า 150 รายต่อเดือน โดยกว่า 80% เป็นคำขออนุญาตผลิตไฟฟ้าจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาหรือโซลาร์รูฟท็อป ทำให้กระบวนการพิจารณาให้ความเห็นเดิมไม่สามารถรองรับต่อปริมาณคำขอที่เพิ่มขึ้น พพ.จึงได้มีการปรับลดกระบวนการพิจารณาให้ความเห็นอนุญาต พค.2 ใหม่ด้วยการใช้วิธีรองรับข้อมูลด้วยตนเองโดยวิศวกรที่ต้องขึ้นทะเบียนกับ พพ. (Self Declaration) ซึ่งจากเดิมกระบวนการให้ความเห็นของ พพ. จะใช้เวลาในการตรวจแบบส่งข้อมูลและตรวจแบบด้วยการ live ณ สถานที่ติดตั้ง, ตรวจหน้างานจริง (non-solar) รวมเวลากว่า 60 วัน ให้เหลือไม่เกิน 30 วัน” นายประเสริฐกล่าว

ทั้งนี้ เพื่อให้การขับเคลื่อนการผลิตพลังงานควบคุมเป็นไปอย่างรวดเร็วและถูกต้อง พพ.จึงได้ออกประกาศกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน 2 ฉบับ ได้แก่ ประกาศกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ประกอบการให้ความเห็นการออกใบอนุญาตให้ผลิตพลังงานควบคุมต่อ กกพ. และประกาศกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เรื่อง การรับขึ้นทะเบียนผู้ตรวจสอบระบบผลิตพลังงานควบคุม ซึ่งประกาศทั้ง 2 ฉบับจะช่วยให้เกิดความคล่องตัว และทันต่อสถานการณ์การปรับตัวต่อค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น

Source : MGR Online