นายเอกนิติ นิติทัณประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมสรรพสามิตกำลังศึกษาเรื่องการจัดเก็บภาษีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือคาร์บอน แท็กซ์ ในประเทศ โดยไทยหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะต้องจัดเก็บภาษีนี้ เนื่องจากปัจจุบันหลายประเทศในโลกเริ่มจัดเก็บภาษีดังกล่าวแล้ว โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป เป็นประเทศแรกๆในโลกที่จะเริ่มจัดเก็บภาษีคาร์บอน ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2566 โดยประเทศไทยจะเริ่มศึกษาเก็บจากสินค้าที่มีผลต่อการปล่อยคาร์บอนสูง คล้ายคลึงกับยุโรป 5 ชนิด คือ ปูนซีเมนต์ เหล็ก อะลูมิเนียม ปุ๋ยเคมี และการผลิตกระแสไฟฟ้า

“เมื่อหลายประเทศในโลกเริ่มเก็บภาษีตัวนี้ หากสินค้าในประเทศไทยไม่มีการจัดเก็บ เมื่อเราส่งสินค้าไปขายในประเทศที่มีภาษี สินค้าไทยก็ต้องเสียภาษีตัวนี้ด้วย แต่หากเรามีการจัดเก็บภาษีตัวนี้ ก็อาจสามารถเจรจากับประเทศที่เราส่งออกสินค้าเพื่อขอยกเว้นภาษีตัวนี้”

ทั้งนี้ ในปัจจุบันทั่วโลกมีวิธีการเก็บภาษีคาร์บอนอยู่ 2 แนวทางคือ การเก็บภาษีจากตัวสินค้าที่ทำให้เกิดการปล่อยคาร์บอน ถ้าปล่อยคาร์บอนสูงก็เสียภาษีสูง เป็นต้น กับอีกแนวทางหนึ่ง คือการเก็บภาษีบนกระบวนการผลิตของโรงงาน ซึ่งต้องคำนวณการปล่อยคาร์บอนของโรงงานนั้นว่าปล่อยออกมาเท่าไร เพื่อใช้เป็นฐานในการจัดเก็บภาษีตัวนี้ ซึ่งกรมสรรพากรเตรียมจะจัดทำความร่วมมือกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก องค์การมหาชน เพื่อมาช่วยคำนวณการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากกระบวนการผลิต ซึ่งเป็นเรื่องยากและกรมไม่มีความรู้โดยตรง

นายเอกนิติ กล่าวอีกว่า ปัจจัยที่ท้าทายต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ที่จะส่งผลต่อการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพสามิต ได้แก่ 1.การฟื้นตัวจากโควิดท่ามกลางสงครามการค้าและราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น 2. การเปลี่ยนแปลงทางด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของภาคธุรกิจและผู้บริโภค 3.สังคมผู้สูงอายุส่งผลให้ธุรกิจด้านสุขภาพมีการเติบโตมากขึ้น และ 4.ภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลกทำให้ทุกประเทศต้องให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมโดยใช้มาตรการทางภาษีเป็นตัวขับเคลื่อน.

Source: ไทยรัฐออนไลน์

สรรพสามิต ปลื้มยอดจองรถอีวี ในงานมอเตอร์โชว์กว่า 3 พันคัน คาดหลังสงกรานต์ ค่ายรถทั้งจีนและญี่ปุ่นตบเท้าเข้าทำ MOU ร่วมมาตรการส่งเสริมฯอีวี ต่อเนื่อง พร้อมเผย ช่วงต้น พ.ค. นี้ รองนายก ”สุพัฒนพงษ์” ลุยโรดโชว์ญี่ปุ่นคุยทุกค่ายรถ หวังดึงเข้ามาลงทุนผลิตรถอีวีในไทย

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรมสรรพสามิตเริ่มเห็นสัญญาณการหันมาใช้รถอีวีเพิ่มมากขึ้น หลังจากบริษัท เกรทวอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และบริษัทเอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้เข้าร่วมมาตรการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรือ อีวี  

ซึ่งเริ่มจำหน่ายในงานมอเตอร์โชว์ที่จบลงเมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา พบว่า มียอดจองรถอีวีเข้ามากว่า 3,000 คัน คิดเป็น 10% จากยอดจองรถทั้งหมดภายในงาน 30,000 คัน ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีมาก

ขณะที่ค่ายรถน้องใหม่ อย่าง เนต้า ก็มีการทำหนังสือถึงกรมสรรพสามิต โดยระบุอย่างชัดเจนว่าสนใจเข้าร่วมมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในไทย ตั้งแต่ช่วงการจัดงานมอเตอร์โชว์ที่ผ่านมา คาดว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการปรึกษาบริษัทแม่ และจัดทำรายละเอียดแพ็คเกจรถอีวีเพิ่มเติม ซึ่งเชื่อว่าจะเข้ามาทำ MOU ได้ในไม่ช้านี้

“จากยอดจองรถอีวีในงานมอเตอร์โชว์ ถือเป็นสัญญาณที่ดี และเชื่อว่าโมเม้นตั้มจะไปเร็ว ซึ่งจากยอดจองในงาน เมื่อมีการจดทะเบียนรถเกิดขึ้น ทางค่ายรถยนต์ก็จะสามารถนำยอดมาเคลมรับเงินอุดหนุนจากสรรพสามิต ตั้งแต่ 70,000-150,000 บาท

ซึ่งใบจดทะเบียนรถจะเป็นหลักฐานสำคัญว่าเกิดการซื้อขายจริง แม้ตัวเลขที่เกิดขึ้นจะเป็นยอดจอง แต่ถือเป็นการนับ 1 เพราะจะมีการซื้อเกิดขึ้นจริง ราคารถอีวีมีการปรับลดจริง มีดีมานด์เกิดขึ้นจริง กรมฯ ยืนยันรัฐบาลมีเงินสนับสนุนตามที่ประกาศไว้อย่างแน่นอน” นายลวรณ กล่าว

ลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต
ลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต 

ทั้งนี้ มาตรการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรือ อีวี  จากรัฐบาลไทย ค่ายรถยนต์ที่เข้าร่วมต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ในปีที่ 3 คืนในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 หรือเท่ากับจำนวนที่นำเข้ามาขายในช่วง 2 ปีแรก ส่วนปีที่ 4 จะต้องผลิตคืนในอัตราส่วน 1 ต่อ 1.5

หากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขจะมีบทลงโทษ ตามเงื่อนไข ในเอ็มโอยู ตามที่ได้มีการเซ็นสัญญาไว้ เช่น เบี้ยปรับเงินเพิ่มจากภาษีอากรขาเข้า และภาษีสรรพสามิต

นายลวรณ กล่าวอีกว่า ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมนี้ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ซึ่งมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เป็นประธาน จะเดินทางไปที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อหารือกับผู้ประกอบการรถยนต์ในญี่ปุ่นทุกค่าย ตามระเบียบของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)

ซึ่งจะผลักดันและสนับสนุนการลงทุนรถอีวีในประเทศไทย ซึ่งยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่ารัฐบาลต้องการขับเคลื่อนนโยบายการใช้รถอีวีอย่างเต็มที่ และอยากให้ทุกค่ายรถอีวีเข้ามาร่วมมาตรการส่งเสริมการใช้รถอีวีในประเทศไทยด้วย โดยแพ็คเกจมาตรการเปิดกว้างให้กับทุกค่ายรถยนต์

ส่วนกรณีการลดอัตราภาษีสรรพสามิตรถอีวี เพื่อสนับสนุนให้รถอีวีมีราคาถูกลง จาก 8% เหลือ 2% ซึ่งยังไม่ได้มีการประกาศลงราชกิจจานุเบกษานั้น นายลวรณ ระบุว่า กรณีดังกล่าวจะไม่มีปัญหา และจะทันในการจำหน่ายรถอีวีล็อตใหม่แน่นอน

หรือหากไม่ทัน ก็สามารถระบุในประกาศให้มีผลย้อนหลังได้ ฉะนั้น ผู้ที่มีความต้องการซื้อรถอีวี ไม่ต้องกังวลในเรื่องภาษีดังกล่าว โดยยืนยันจะได้รับสิทธิส่วนลดภาษีสรรพสามิตอย่างแน่นอน 

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้ค่ายรถยนต์โตโยต้า ได้แสดงความสนใจขอเข้าร่วมมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามาที่กรมสรรพสามิตแล้ว ซึ่งคาดว่าจะมีการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันในช่วงหลังสงกรานต์ หรือ ภายในเมษายนนี้

ซึ่งจะถือเป็นค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นค่ายแรก ที่เข้าร่วมมาตรการ และเชื่อว่าจะยิ่งเป็นตัวเร่งให้ค่ายรถอื่นๆ ทั้งของญี่ปุ่น และยุโรป ตื่นตัวและเข้าร่วมมาตรการตามมาอย่างแน่นอน เพื่อไม่ให้เสียโอกาสทางธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม ได้มีค่ายรถยนต์น้องใหม่จากจีน 3 ค่าย ที่ได้แจ้งความสนใจมาที่กรมสรรพสามิตเพื่อเข้าร่วมมาตรการส่งเสริมใช้อีวีแล้ว ได้แก่ ค่ายเนต้า ค่ายจีลี่ และค่ายฉางอัน ซึ่งขณะนี้กำลังหารือในรายละเอียดร่วมกันอยู่

ขณะที่ค่ายรถญี่ปุ่นอย่างฮอนด้า ก็มีความสนใจ แต่ในกระบวนการผลิต และในรายละเอียดอื่นๆ อาจจะดำเนินการไม่ทัน โดยอาจจะเข้าร่วมแพ็กเกจได้ในปี 2566

Source : ฐานเศรษฐกิจ