บิ๊กธุรกิจโดดชิงเค้ก “ตลาดโซลาร์” เอกชนแห่ติดหนีค่าไฟแพง ประหยัดสูงสุด 30% พ่วงสิทธิประโยชน์ขายคาร์บอนเครดิตสู้โลกร้อน “กัลฟ์” ผนึกพันธมิตรตั้งบริษัทร่วมทุน SCG-CRC ฝั่ง ปตท. OR-GPSC ไม่น้อยหน้า ด้าน CPF ผนึกกันกุล ติดบนหลังคา 40 โรงงาน เลขาฯ กกพ.ชี้เทรนด์โรงงาน-บ้านติดโซลาร์พร้อมเปิดเงื่่อนไขรับซื้อไฟคืน 0.50 บาท-โซลาร์ประชาชน 2.20 บาทจูงใจหวังลดการนำเข้าก๊าซ LNG ของโรงไฟฟ้า
หลังจากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP 26 ที่จัดขึ้นที่กลาสโกว์ สหราชอาณาจักร สิ้นสุดลง นำมาสู่ข้อผูกพันที่ไทยให้คำมั่นว่าจะมุ่งลดปัญหาสภาพอากาศ เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2050 อุตสาหกรรมในประเทศไทยจึงเห็นว่าจำเป็นจะต้องหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ตามที่ให้สัตยาบันกับประชาคมโลกไว้
ประกอบกับแรงกดดันต่ออุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออกทั้งหลาย ต้องลดการปล่อยคาร์บอนตามข้อเรียกร้องของประเทศผู้นำเข้า และที่สำคัญคือ ปัญหาราคาพลังงานฟอสซิลขณะนี้ปรับสูงขึ้นมากอย่างเห็นได้ชัด ทั้งสองเรื่องนี้เป็นแรงกดดัน ทำให้ตลาดของพลังงานหมุนเวียนเติบโตขยายตัวขึ้นอย่างมาก
และล่าสุดไทยกำลังจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติที่ได้ประชาพิจารณ์ปีก่อนเสร็จสิ้นกำลังจะออกในอีก 1-2 เดือนนี้จะมุ่งไปทางนั้น และแผนพัฒนาพลังงานทดแทน (AEDP) ที่เพิ่งผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อเร็ว ๆ นี้ อนุมัติแผนการผลิตซีโอดีไฟฟ้าโซลาร์เข้าสู่ระบบปี 2567 อีกหลายเมกะวัตต์
ยักษ์ธุรกิจลุยธุรกิจโซลาร์
ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวในวงการพลังงาน โดยผู้ผลิตพลังงานรายใหญ่ของประเทศได้รุกสู่ธุรกิจโซลาร์กันขนานใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ หรือ GULF ร่วมกับบริษัท เอสซีจี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ตั้งบริษัท เอสจี โซลาร์ จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา หรือโซลาร์รูฟท็อป
นอกจากนี้ GULF ยังให้บริษัทในเครือ “กัลฟ์ รีนิวเอเบิล” ร่วมกับ GUNKUL ลงนามความร่วมมือในการจัดทำโครงการพลังงานหมุนเวียนและจัดตั้งบริษัทร่วมทุน และยังได้ร่วมกับ บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น หรือ CRC จัดตั้งบริษัทร่วมทุนชื่อ บริษัท กรีนเจ็น เอ็นเนอร์จี จำกัด ทุนจดทะเบียน 90 ล้านบาท เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อป
ขณะที่ก่อนหน้านี้ บมจ.ปตท. ซึ่งมีบริษัท GPSC ก็ได้ดำเนินโครงการ The Solar Orchestra ร่วมกับ EXIM Bank และบริษัท นีโอ เอ็นเนอร์จี ให้บริการวางระบบโซลาร์ครบวงจร รวมไปถึงจัดการด้านสินเชื่อให้กับลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรม 100% EECi และ VISTECH ทำสมาร์ทเอ็นเนอร์ยี่ โซลูชั่น ใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เป็นแซนด์บอกซ์ มีเอ็นเนอร์ยี่ แมเนจเมนต์ Peer to Peer เทรดดิ้ง พร้อมที่จะขยายออกไป ตามเป้าหมาย ปตท. NET ZERO Ambition เพื่อลดคาร์บอนให้ได้ 10% ในปี 2025 และเพิ่มเป็น 35% ในปี 2030
นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จากัด (มหาชน) หรือ OR กล่าวว่า มีแผนขยายสู่ธุรกิจด้านพลังงานสะอาดด้วยการมุ่งเน้นพัฒนาในส่วนของโซลาร์รูฟ เพราะจะได้ประโยชน์ 2 เรื่อง คือ ได้พลังงานสะอาด กับการประหยัดต้นทุน โดยปัจจุบันใช้ 2 ลักษณะ คือ ลงทุนในสถานีบริการน้ำมัน หรือคาเฟ่ อเมซอน ในโครงสร้างที่สามารถลงโซลาร์รูฟได้ ผลของการติดตั้งไปแล้วทำให้ประหยัดค่าไฟได้ถึง 20% เมื่อเทียบกับที่ไม่ได้ติดโซลาร์รูฟ
ขณะเดียวกันก็มีการให้บริการรับติดตั้งและเดินระบบโซลาร์รูฟเพื่อให้ธุรกิจพลังงานสะอาดเกิดขึ้นในไทย โดยฐานลูกค้าที่มีก็คือ ดีลเลอร์ตัวแทนจำหน่ายน้ำมัน PTT Station ที่มีอยู่ประมาณ 2,000 ราย และยังมีกลุ่มลูกค้าอีกตลาดหนึ่งคือ ลูกค้าตลาดพาณิชย์ ไม่ว่าจะเป็นโรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม ห้างสรรพสินค้า หรือมหาวิทยาลัย “เราเริ่มเข้าไปให้บริการแล้ว”
หลังคา โรงงาน CPF ได้ถึง 40 MW
ในฝั่งของโรงงานผู้ใช้ไฟฟ้า ดร.สมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL กล่าวว่า บริษัทได้มีโอกาสเข้าร่วมไปติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาโรงงานของเครือเจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ภายใต้โครงการ CPF Solar Rooftop เป็นความร่วมมือในรูปแบบสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่มีมูลค่าโครงการประมาณ 1,400 ล้านบาท
โดย “กันกุล” เป็นผู้ลงทุนและดูแลระบบตลอดอายุสัญญาระยะเวลา 15 ปี มีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ 120,000 แผ่น บนหลังคาของโรงงาน CPF จำนวน 34 แห่ง ขนาดกำลังการผลิต 40 เมกะวัตต์ (MW) สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ได้ถึง 53 ล้านหน่วยต่อปี นับได้ว่าเป็นโครงการ Solar Rooftop ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
เช่นเดียวกับ นายวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือเบทาโกร บมจ.เบทาโกร กล่าวว่า เบทาโกรได้ลงทุนพัฒนาพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในปริมาณประมาณ 42 MW สามารถผลิตไฟฟ้าได้ในสัดส่วนคิดเป็น 5% ของความต้องการใช้ไฟของบริษัท ซึ่งเป็นไปตามแผนกลยุทธ์การสร้างความยั่งยืน (sustainability)
เอกชนติดโซลาร์ใกล้ 1,000 MW
ด้านนายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า ภาคเอกชนในส่วนของโรงงานและภาคธุรกิจ หรือ IPS เกิดความตื่นตัวมีการติดตั้งแผงโซลาร์รูฟบนหลังโรงงานอย่างมาก จนถึงปัจจุบันมี IPS และโซลาร์ประชาชนรวม 994.87 MW จำนวนราย 7.469 แห่ง ซึ่งคุ้มค่าต่อการลงทุน โดยเฉพาะโรงงานใช้ไฟมากในช่วงกลางวันจะสามารถประหยัดค่าไฟประมาณ 3-4 บาท/หน่วย
“เดิมรัฐบาลยังไม่ได้ซื้อไฟฟ้าส่วนเกินที่ผลิตในช่วงที่โรงงานหยุด แต่จากการที่ราคาก๊าซ LNG ปรับสูงขึ้น ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้า ทาง กกพ.จึงได้ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าคืนจากทั้งผู้ที่มีสัญญาขายไฟ แต่ให้ราคาประมาณ 0.50 บาท/หน่วย หรือต่ำกว่าโซลาร์ประชาชนที่ให้ราคา 2.20 บาท/หน่วย เนื่องจากระบบโซลาร์ของโรงงานส่วนใหญ่ถูกออกแบบมาให้ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตได้จนหมด จะเหลือไฟฟ้าส่วนเกินที่จะขายคืนกลับมาก็มักจะเป็นในช่วงออฟพีก ซึ่งมีความต้องการใช้ไฟฟ้าน้อย เมื่อรัฐรับซื้อมาจึงต้องมีต้นทุนในการบริหารจัดการ” นายคมกฤชกล่าว
ส่วนโครงการโซลาร์ภาคประชาชนที่มีเป้าหมายจะรับซื้อไฟฟ้าคืน 2.20 บาท/หน่วยนั้น ตั้งแต่ปี 2562-2564 มีติดตั้งไปแล้วรวม 1,642 ราย ปริมาณ 9,078.5 kWp ในอนาคต กกพ.มีแผนที่จะพิจารณาเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินมากขึ้น
“ระบบรับซื้อคืน ถ้าจะให้เป็นธรรม เราจะไม่ใช้คำว่า ‘เน็ตวิทเตอริ่ง’ คุณคืนตอนไหน คุณก็ได้ค่าไฟตอนนั้น ถ้าขายคืนออฟพีกก็ได้ในราคาถูก แต่ถ้าคืนในช่วงพีกก็ได้ค่าไฟที่แพง สามารถให้ได้ 2.50-3.00 บาท แต่ติดตรงที่ว่าช่วงเวลานั้นโรงงานเขาไม่มีไฟส่วนเกินมาขาย แต่เขาจะเหลือไฟขายเฉพาะช่วงเวลาออฟพีกที่โรงงานหยุดใช้ไฟ”
ส่วนความกังวลที่ว่า หากมีผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองมากขึ้นจะกระทบต่อรายได้ผู้ผลิตไฟฟ้าหลักนั้น นายคมกฤชเชื่อว่าจะไม่กระทบต่อรายได้ของผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ แต่อนาคตผู้ผลิตไฟฟ้าโดยเฉพาะการไฟฟ้าต้องมองถึงโอกาสปรับมุมมองเกี่ยวกับบทบาทจากการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเพื่อขาย มาเป็นผู้ให้บริการสายส่งมากกว่า
จับตาค่า Ft สิ้นปีพุ่ง 40 สต.
สำหรับแนวโน้มการพิจารณา ค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ในงวดต่อไป คือ งวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 คาดว่าค่า Ft จะเพิ่มขึ้นประมาณ 40 สตางค์/หน่วย ซึ่งเป็นไปตามสมมุติฐานแบบขั้นบันไดที่วางไว้เดิม แต่ก็ต้องพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ อย่างรอบด้านอีกครั้ง
“สถานการณ์ราคาก๊าซตอนที่เราประเมินค่า Ft งวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 2565 ตอนนั้นกำลังอยู่ระหว่างการส่งมอบแหล่งก๊าซเอราวัณในอ่าวไทย ซึ่งยังไม่มีความแน่นอนของปริมาณก๊าซที่จะได้รับ แต่ตอนนี้มันผ่านช่วงเวลาของการส่งมอบแหล่งก๊าซมาแล้ว แม้ว่าการผลิตในแหล่งเอราวัณจะยังลดลงต่ำกว่าเดิม เราก็ต้องนำเข้าก๊าซ LNG เข้ามาเพิ่มในสัดส่วนที่สูงขึ้น ส่งผลทำให้ราคาค่าไฟฟ้าต้องปรับขึ้นตามราคา LNG ในช่วงมกราคม-มีนาคม 2565 ราคา LNG แพงมากอยู่ประมาณ 30-40 เหรียญสหรัฐ/ล้าน BTU โรงไฟฟ้าจึงมีการเปลี่ยนมาใช้น้ำมันแทน LNG แต่พอถึงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนนี้ ราคา LNG ถูกลงมาแล้ว เหลือเพียง 20-23 เหรียญ/ล้าน BTU ก็กลับมาใช้ LNG เป็นเชื้อเพลิงหลักเหมือนเดิม” นายคมกฤชกล่าว
ส.อ.ท.ขอปลดล็อกขายไฟ รง.
นายอาทิตย์ เวชกิจ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานกรรมการ บริษัท นีโอ คลีน เอนเนอร์ยี่ จำกัด ผู้ให้บริการด้านการออกแบบวิศวกรรมไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (EPC) และบริการลงทุนและจำหน่ายไฟฟ้าจากระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (PPA) กล่าวว่า ขณะนี้ตลาดการให้บริการผลิตติดตั้งแผงโซลาร์ครบวงจรได้รับความนิยมมากขึ้น จากกลุ่มลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรม “มีอัตราเติบโตเป็น exponancial แน่นอน”
จากปัจจัยการประเมินแนวโน้มค่าไฟฟ้าภายในประเทศว่า ค่าไฟฟ้าจะทยอยปรับราคาขึ้นจาก 1 บาท ปีที่แล้วจนถึงปี 2566 จะปรับขึ้นไปถึง 5 บาท ดังนั้นการติดตั้งแผงโซลาร์จะสามารถช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าให้กับโรงงานได้ 5-10% โดยเฉลี่ย แต่อาจจะประหยัดได้มากกว่านั้น หากโรงงานที่ติดเป็นโรงงานที่มีการเดินเครื่องผลิต 6-7 วัน/สัปดาห์ ใช้ไฟฟ้าช่วงกลางวันก็จะประหยัดได้สูงสุด 30%
ยกตัวอย่างเช่น โรงงานที่มีการใช้ไฟฟ้า 800,000 บาทต่อเดือน เมื่อติดตั้งแผงโซลาร์ขนาด 1 MW ต้นทุนติดตั้งอยู่ระหว่าง 24-25 ล้านบาท (รวมการออกแบบติดตั้ง-การขออนุญาตแล้ว) จะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้เดือนละ 500,000 บาท แต่ระบบนี้ยังไม่รวมค่าระบบกักเก็บพลังงาน หรือ energy storage ซึ่งปัจจุบันระดับราคาต้นทุนยังสูง คิดเป็นต้นทุนค่าไฟ 6-7 บาท/หน่วย
แต่เชื่อมั่นว่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ระบบกักเก็บพลังงาน ESS จะมาแน่นอน ส่งผลให้การติดตั้งโซลาร์จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก 2-3 เท่า
“หาก กกพ.ยอมปลดล็อกการขายไฟเข้าสู่ระบบ เช่นเดียวกับโซลาร์ประชาชน ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เรียกร้องมาตลอด ก็จะช่วยกระตุ้นให้มีการติดตั้งแผงโซลาร์เติบโตมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าก๊าซ LNG มาใช้ผลิตไฟฟ้าลงได้อย่างมาก และในอนาคตประเทศไทยควรวางแผนบริหารจัดการปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ จากปัจจุบันที่ยังไม่มีระบบกักเก็บ ทำให้ไฟที่ผลิตได้จากโซลาร์เหลือทิ้ง 15%” นายอาทิตย์กล่าว
Source : ประชาชาติธุรกิจ