สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานจากเมืองโมเทรา ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 2 พ.ย. ว่า นอกเหนือจากประชาบดี ชาวบ้านประมาณ 6,500 ในหมู่บ้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นช่างปั้นหม้อ, ช่างตัดเสื้อ, เกษตรกร และช่างทำรองเท้า อยู่ในชุมชนที่ได้รับการประกาศให้เป็นหมู่บ้านแห่งแรกของอินเดียที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมดตลอดเวลา
อินเดีย ซึ่งเป็นผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อันดับ 3 ของโลก ตั้งเป้าที่จะตอบสนองความต้องการพลังงานครึ่งหนึ่งจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม ภายในปี 2573 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเป้าหมายเดิมที่ 40% และรัฐบาลกล่าวว่า บรรลุผลสำเร็จไปแล้วเมื่อเดือน ธ.ค. 2564
โครงการดังกล่าวในเมืองโมเทรา ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลกลางและเทศบาลเกือบ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 378 ล้านบาท) เกี่ยวข้องกับการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์มากกว่า 1,300 แผ่น บนหลังคาบ้านเรือนและอาคารสำนักงานของรัฐที่เชื่อมต่อกับโรงไฟฟ้า
นอกจากนี้ ทางรัฐจะรับซื้อพลังงานส่วนเกินที่ชาวบ้านผลิตออกมา หากพวกเขาไม่ได้ใช้ความจุทั้งหมดที่จัดสรรให้กับครัวเรือน ซึ่งด้วยเงินจำนวนนี้ นายปราวีน บาย ช่างตัดเสื้อวัย 43 ปี วางแผนที่จะซื้อท่อเชื่อมต่อถังแก๊สและเตาแก๊ส เนื่องจากหลายครัวเรือนในหมู่บ้าน ใช้เตาฟืนในการทำอาหาร ส่งผลให้เกิดควันไฟปริมาณมากออกมา
สำหรับนางรีนา เบ็น แม่บ้านวัย 36 ปี ที่ทำงานเป็นช่างตัดเสื้อแบบพาร์ทไทม์ พลังงานแสงอาทิตย์มีส่วนช่วยในงานของเธออย่างมหาศาล
“เมื่อพวกเราเข้าถึงพลังงานแสงอาทิตย์ ฉันซื้อมอเตอร์ไฟฟ้าราคา 2,000 รูปีอินเดีย (ประมาณ 910 บาท) เพื่อติดเข้ากับจักรเย็บผ้า ทำให้ตอนนี้ฉันสามารถเย็บเสื้อผ้าเพิ่มได้อีก 1 หรือ 2 ตัวทุกวัน” เบ็น กล่าว.
เครดิตภาพ : REUTERS
Source : เดลินิวส์