โครงการปันแสง ณ หมู่บ้านดงดิบ หรือ “โคกอีโด่ย” ตำบลห้วยยาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี กับงานวิจัยสุดล้ำทางด้านพลังงานและการเกษตรมารวมกันอย่างลงตัว มีจุดเริ่มต้นจากพระผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่เสียดายแดด กำลังเป็นจุดเช็คอินในยุคก้าวสู่พลังงานสะอาด
แม้อยู่ไกลความเจริญ ระยะทางจาก กทม.กว่า 800 กิโลเมตร ใครได้มาสัมผัสเยี่ยมชมโคกอีโด่ย นอกจากได้เห็นท้องถิ่นธรรมชาติที่แวดล้อมด้วยดงดิบ เนินสูงและโคกที่แห้งแล้ง แต่วิถีชีวิตของผู้คนโคกอีโด่ยในสภาวะกดดันจากค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น แต่ชาวบ้านกลับอยู่ได้สบายๆ แบบพอเพียง นั่นเพราะพลังงานไฟฟ้าที่ใช้หมู่บ้านสามารถพึ่งพาพลังงานแสงอาทิตย์ในโครงการปันแสง โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และภาคีเครือข่าย
พลังงานแสงอาทิตย์ ถูกแปรรูปเก็บสะสมด้วยแผงโซลาร์เซลล์กลายเป็นไฟฟ้าแจกจ่ายใช้ส่องสว่างไปทั่วพื้นที่อย่างเหลือเฟือจนมีเก็บสำรองไว้ใช้ในยามฟ้าปิด ไร้แสงอาทิตย์สาดส่อง
ความเป็นมาของโครงการดังกล่าว มาจากจุดเริ่มโดยพระผู้นำการเปลี่ยนแปลง พระปัญญาวชิรโมลี นพพร เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม ตำบลห้วยยาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี “แม้เราจะอยู่ในพื้นที่ห่างไกลความเจริญแต่เราไม่ได้อยู่ไกลจากแสงแดดมากกว่าคนอื่นเลย แสงแดดนั้นให้ความเท่าเทียมแก่เราทุกคนเท่ากันหมด”
Solar Monk จุดติด แนวคิด “เสียดายแดด”
พระปัญญาวชิรโมลี (Solar Monk) ผู้จุดประกายนำแสงแดดมาเป็นพลังงานทดแทน ด้วยนวัตกรรมการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ โดยความคิดเปลี่ยนนี้มาจาก “ความเสียดายแดด” และขยับไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ในด้านอื่นๆ ให้ดีขึ้น กระทั่งคนท้องถิ่นบ้านนอกอยู่ห่างไกลเขตเมืองมีความมั่นคงด้านพลังงานสามารถพึ่งพาตนเองได้
แนวคิดเสียดายแดดของพระคุณท่าน ทำให้วัดป่าศรีแสงธรรม มีไฟฟ้าเหลือใช้ แล้วลากโยงส่งต่อให้ชุมชนได้เข้าถึงแสงสว่างยามค่ำคืนจากพลังงานทดแทน จนเปลี่ยนบ้านโคกอีโด่ยกลายเป็น “โคกอีโด่ยวัลเลย์” ณ วันนี้ ที่ชวนทุกคนเข้ามาเช็คอิน
พระปัญญาวชิรโมลี เล่าว่า ในช่วงแรกโซลาร์เซลล์ถูกนำมาใช้ผลิตไฟฟ้าสำหรับใช้ภายในโรงเรียนศรีแสงธรรม หรือโรงเรียนพลังงานแสงอาทิตย์ เพราะโรงเรียนแห่งนี้ขับเคลื่อนการพัฒนาทั้งในโรงเรียนและชุมชนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ แล้วต่อยอดเป็นสิ่งประดิษฐ์ใช้ในด้านการเกษตร เช่น เครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ รถเข็นนอนนาพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงพัฒนาเป็นอาชีพรับติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในนาม “ช่างขอข้าว” เพื่อนำรายได้กลับมาใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียน
โรงเรียนศรีแสงธรรม เป็นต้นแบบจาก “ทฤษฎี” สู่ “การปฏิบัติ” ว่าด้วยการขับเคลื่อนเทคโนโลยี 4.0 โดยก่อตั้งเมื่อปี 2553 เป็นอีกโรงเรียนหนึ่งที่อยู่ชายขอบ ห่างไกลจากความเจริญ เปิดสอนทั้ง ม.ต้น-ปลาย ให้กับนักเรียนขาดแคลนโอกาส มาเรียน“ฟรี” ไม่มีค่าใช้จ่าย ขอเพียงให้ตั้งใจมุ่งมั่นเท่านั้น
พระนักพัฒนาแสงอาทิตย์ บอกว่า โจทย์การตั้งโรงเรียนมาจาก “ความขาดแคลนโอกาส”ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของคนทั้งประเทศ จึงเป็นแรงขับเคลื่อนความมุ่งมั่นในการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อทำให้ผู้คนมีชีวิตที่สะดวกสบายมากขึ้นและตั้งอยู่บนหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งจะเป็นคำตอบของการสร้างความมั่นคงและยั่งยืนต่อตัวเองและโลกอย่างแท้จริง แล้วเด็กขาดแคลนโอกาสของบ้านดงดิบได้เรียนหนังสือฟรี
เมื่อตกผลึกความคิดแจ่มชัดก็มุ่งเดินหน้าตามแนวทาง “ททท” หมายถึง “ทำทันที” ถึงยากลำบากก็ไม่ยอมเสียเวลาเปล่า ถึงไร้คนสนใจ เพราะเป็นเรื่องไม่ปกติมาก่อนที่ “พระ” จะมาสร้าง “โรงเรียน” ทำให้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากนัก เนื่องจากไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้ที่จะสร้างโรงเรียนด้วยแนวคิดนี้
แม้ถูกปฏิเสธจากที่ต่างๆ กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ตอกย้ำว่าทุกอย่างเป็นไปได้ถ้า “ลงมือทำ” เมื่อไม่มีเงินสร้างอาคารเรียน พระและเด็กๆ ก็ตัดสินใจสร้าง “ห้องเรียนบ้านดิน” เพื่อใช้เป็นอาคารเรียน สามารถนั่งเรียนได้ ซึ่งไม่แย่มากนัก แล้วปัญหาใหม่เริ่มเข้ามาท้าทายอีก คือมีที่เรียนแต่กลับไม่มีอุปกรณ์การสอน
“มองออกไปมีแค่ “แดด” เท่านั้น เกิดความ “เสียดายแดด” ว่าควรใช้ให้เป็นประโยชน์ ประกอบกับตอนนั้นมีแผ่นโซล่าร์เซลล์แตกๆ ที่ได้รับบริจาคมา จึงใช้ความรู้ทางช่างที่มีอยู่บ้าง ซ่อมแผ่นโซลาร์เซลล์แตกๆ จนสามารถใช้ได้ และกลายเป็นจุดเริ่มที่สำคัญที่เด็กๆ ได้รู้จัก “ โซล่าร์เซลล์” และต่อยอดเป็นสิ่งประดิษฐ์และโครงงานต่างๆ เพื่อนำมาปรับใช้ในเรื่องทั้งพลังงานในพื้นไฟฟ้าเข้าไม่ถึงและการเกษตร ซึ่งเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวคนยากคนจนมากที่สุด”
ผสานความร่วมมือ กฟผ. ต่อยอดเป็นต้นแบบพลังงานสะอาด
พอเห็นข้อจำกัดของระบบผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ที่ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ทำให้ผลิตไฟฟ้าได้เพียงบางช่วงเวลา ประกอบกับเมื่อมีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในจุดต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น ทำให้พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้มีมากเกินความต้องการ จึงได้ผสานพลังความร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำระบบไมโครกริดและระบบบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าเข้ามาประยุกต์ใช้แก้ปัญหา แล้วกระจายไปสู่พื้นที่นำร่อง 4 แห่งของบ้านดงดิบ ซึ่งประกอบด้วยโรงเรียนศรีแสงธรรม วัดป่าศรีแสงธรรม โรงเรียนบ้านดงดิบ และศูนย์เด็กเล็กบ้านดงดิบ
ระบบบริหารจัดการพลังงานที่ กฟผ. พัฒนาขึ้นยังสามารถควบคุมการเปิด-ปิดระบบปรับอากาศ การปรับอุณหภูมิแบบอัตโนมัติเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาพรวม พบว่าเมื่อติดตั้งเทคโนโลยีจัดการพลังงานแล้วสามารถช่วยลดค่าไฟฟ้าให้กับโรงเรียนศรีแสงธรรมได้มากถึงร้อยละ 40 หรือลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 8 ตันคาร์บอนต่อปีเลยทีเดียว
ด้วยความสำเร็จเล็กๆ ของโครงการพัฒนาที่เริ่มจากตั้งโรงเรียนเพื่อผู้ขาดแคลนโอกาส เพื่อเด็กท้องถิ่นห่างไกลได้รับการศึกษา กระทั่งโรงเรียนศรีแสงธรรมเป็นต้นแบบการพัฒนา เปลี่ยนโคกอีโด่ยแห็งแล้งกลายเป็น“โคกอีโด่ยวัลเลย์” มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ เกิดกิจกรรมปลูกผักสวนครัวใต้แผงโซลาร์เซลล์ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร นี่คงเป็นภาพสะท้อนถึงการก่อรูปความคิดใหม่ แล้วชุมชนยอมรับเป็นไปได้
วิถีชุมชน “บวร”ประสานขยายการพัฒนายั่งยืน
ต้นแบบการพัฒนาอันท้าทายจากโรงเรียนศรีแสงธรรม เริ่มซึมซับเชื่อมประสานเกิดหลักคิดใหม่ในการพัฒนาตามแนวทาง “บวร” คือบ้าน (ชุมชน) วัด โรงเรียน-ราชการ ได้ร่วมกันผนึกตั้งศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีพลังงานและการเกษตรโคกอีโด่ยวัลเล่ย์ เป็นศูนย์เรียนรู้ฝึกอบรม ถ่ายทอดความรู้การเก็บ แก้ปัญหาพลังงานระบบโซลาร์เซลล์
โดยหลักสูตรอบรมนี้เน้นการใช้งานโซลาร์เซลล์เพื่อการเกษตร และพื้นที่ห่างไกลไม่มีไฟฟ้าเข้าถึง อีกทั้งเป็นหลักสูตรสำหรับบ้านพักอาศัย เชื่อมต่อกับไฟของการไฟฟ้า เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายที่นับวันจะสูงขึ้น สิ่งนี้สะท้อนถึงการพัฒนาแนวคิดใหม่ได้กระจายจากโรงเรียนสู่ชุมชน เข้าถึงบ้าน และยังดึงหน่วยงานรัฐเข้ามาให้ความช่วยเหลือ
ต่อมา “โคกอีโด่ยวัลเล่ย์” ดังไปไกลถึงจังหวัดภาคเหนือและบนดอยหลายแห่ง เพราะมีสภาพไม่แตกต่างจากอีสานถิ่นไกลรอยตะเข็บเส้นเขตแดนที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ดังนั้นชุมชนบนดอยติดต่อให้ไปช่วยแก้ปัญหา แบ่งปันความรู้
“ทีมงานเดินทางข้ามเขาหลายชั่วโมงกว่าจะถึง แต่ก็คงจะไปให้ทุกที่ไม่ได้ จึงจำเป็นต้องจัดสื่อการสอนเป็นคลิปวีดิโอ และสื่อการสอน ให้ผู้เข้าอบรมได้สัมผัสจริง ซึ่งจะได้ผลกว่าการเรียนในตำราอย่างเดียว”
ไม่เพียงเท่านั้น นอกศูนย์การเรียนรู้ฯ ได้ออกแบบระบบโซลาร์ปันแสง โดยใช้พื้นที่ทำการเกษตรใต้แผ่นโซลาร์เซลล์ สามารถผลิตพลังงานไปพร้อมกับการทำงานเกษตร ซึ่งมี 2 ลักษณะคือ พืชผักกับโซลาร์เซลล์แบ่งปันพลังงานกัน และการแบ่งปันพลังงานไฟฟ้าที่เก็บในแบตเตอรี่เอามาใช้ภายในวัด และติดตั้งเครื่องแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ให้กับชุมชนหรือชาวบ้าน ที่สนใจเข้าร่วมโครงการขับเคลื่อนการขจัดความยากจน และพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
โดยนวัตกรรม “ปลูกผักใต้แผงโซลาร์เซลล์” ที่จะทำการทดลองปลูกพืชแบบ agrivoltaics ในพื้นที่ “โคก หนอง นา โมเดล” โครงการนี้เกิดขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่าง สวทช. กฟผ. กฟภ. และวัดป่าศรีแสงธรรม ภายใต้ชื่อ Agrivoltaics หรือ agrophotovoltaics ซึ่งมี ผศ.ดร.ชำนาญ บุญญาพุทธิพงศ์ เป็นผู้ออกแบบอาคาร ที่นี่จึงเป็นแหล่งทดสอบ ทดลองงานทางด้านเทคโนโลยีพลังงาน กับการเกษตรอย่างยั่งยืน หรือเป็นที่รู้จักกันดีในนาม “โคกอีโด่ยวัลเล่ย์”
ทั้งหมดทั้งปวงของ “โคกอีโด่ยวัลเล่ย์” เริ่มจากความมุ่งมั่นตั้งโรงเรียนเพื่อคนขาดแคลนโอกาส อีกทั้งเกิดความ “เสียดายแดด” ซึ่งส่องแปลวแสงจ้าในท้องถิ่นอีสาน พระปัญญาวชิรโมลี พระนักพัฒนาเกิดความคิดใหม่เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ทำให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์เป็นหนึ่งในพลังงานทางเลือกของการผลิตไฟฟ้ายุคใหม่ ของของบ้านดงดิบ
กุญแจสำคัญทำให้การใช้พลังงานของบ้านดงดิบ มีต้นทุนต่ำ และนำมาใช้ได้อย่างไม่มีวันหมด ยังนำไปสู่แก้ไขโจทย์ที่สำคัญของโลกใบนี้ คือการสร้างความเท่าเทียม พร้อมเป็นพื้นที่เกษตรวิถีใหม่สามารถปลูกพืช ผัก ภายใต้พลังงานจากแสงแดด
นี่คือต้นแบบของพลังงานสะอาดของชุมชน ที่เกิดจากจุดเริ่มต้นแนวคิดของพระผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง พระนักพัฒนาที่ซึมซับข้อมูลในพื้นที่แล้วผลักดัน ผนึกขอความร่วมมือจากองค์กรภายนอกชุมชนมาพัฒนาคุณภาพชีวิต แล้วแปรรูปการพัฒนาเป็นวิถี “บวร” เชื่อมประสานเกิดศูนย์เรียนรู้ฯ เพื่อชุมชนห่างไกลได้เข้าถึงพลังงานทดแทนและเท่าเทียม
ทุกวันนี้ หมู่บ้านดงดิบและวัดป่าศรีแสงธรรม นับเป็นพื้นที่ต้อนรับข้าราชการและองค์กรต่างถิ่น แม้กระทั่งนายกรัฐมนตรีก็ยังไปเยี่ยมชม รับรู้แนวทางการแก้ปัญหาที่เกิดจากพระนักพัฒนาที่มีแต่ความมุ่งมั่นต้องการช่วยคนยากจน
อ้างอิง
เพจเฟซบุ๊ค https://www.facebook.com/sisaengtham.ac.th/
มูลนิธิสัมมาชีพ https://www.right-livelihoods.org/
Source : MGROnline