News & Update

ลุย “สมาร์ทกริดแม่ฮ่องสอน” หนุนไฟฟ้าสีเขียว เสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า

“แม่ฮ่องสอน” จังหวัดเล็ก ๆ ในภาคเหนือของไทยที่เต็มไปด้วยภูเขาสูงสลับซับซ้อนและรายล้อมไปด้วยป่าต้นน้ำทั้งพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวน และอุทยานแห่งชาติ จึงมีเพียงระบบส่งไฟฟ้าขนาด 115 กิโลโวลต์ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่เชื่อมโยงมาจากจังหวัดเชียงใหม่ด้วยระยะทางกว่า 170 กิโลเมตรเท่านั้น เพราะไม่สามารถก่อสร้างเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงได้พาดผ่านพื้นที่ป่าต้นน้ำได้ ทำให้จังหวัดแม่ฮ่องสอนเกิดปัญหาไฟตกไฟดับบ่อยครั้ง ยิ่งปัจจุบันเมืองมีการขยายตัวทั้งภาคธุรกิจและการเดินหน้าสู่เมืองท่องเที่ยวสีเขียวทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

“โครงการนำร่องการพัฒนาสมาร์ทกริดที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน” ซึ่งเป็นโครงการตามแผนพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะของประเทศไทยในระยะสั้น พ.ศ. 2560 – 2564 เพื่อส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและพัฒนาระบบไฟฟ้าของจังหวัดแม่ฮ่องสอนให้มีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น

โครงการนำร่องการพัฒนาสมาร์ทกริดที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นความร่วมมือระหว่างจังหวัดแม่ฮ่องสอน  กระทรวงพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ กฟภ. เพื่อพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าดั้งเดิมให้เป็นระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid)  โดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและพลังงานสะอาดมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประชาชน และการเป็นเมืองท่องเที่ยวสีเขียวของจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

บริหารจัดการแหล่งผลิตไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยี “สมาร์ทกริด”

แม้จังหวัดแม่ฮ่องสอนจะมีพลังงานไฟฟ้าหลักมาจากระบบส่งไฟฟ้าของ กฟภ. แต่ในพื้นที่ยังมีแหล่งผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนแม่สะงาและเขื่อนผาบ่อง โรงไฟฟ้าดีเซล รวมถึงโรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ผาบ่องของ กฟผ. เพื่อเป็นแหล่งพลังงานสำรองหากระบบส่งไฟฟ้าของ กฟภ. ขัดข้อง

กฟผ. จึงนำเทคโนโลยีสมาร์ทกริดเข้ามาบริหารจัดการเชื่อมโยงระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและโรงไฟฟ้าที่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนให้ทำงานร่วมกัน โดยเก็บรวบรวมข้อมูลด้านต่าง ๆ อาทิ ความสามารถในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ขีดความสามารถในการส่งจ่ายไฟฟ้าของ กฟภ. ตลอดจนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของชาวแม่ฮ่องสอน จากนั้นระบบควบคุมสมาร์ทกริด (Smart Grid Control Center System) ที่ กฟผ. พัฒนาจะประมวลผลและสั่งการให้แหล่งผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของจังหวัดแม่ฮ่องสอนทำงานร่วมกันอย่างสมดุล มีเสถียรภาพ ซึ่งในช่วงเวลาปกติจะเชื่อมต่อกับระบบส่งไฟฟ้าหลักของ กฟภ. ที่จ่ายเข้าสู่อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน และสามารถแยกตัวเป็นอิสระเมื่อระบบไฟฟ้าหลักขัดข้อง (Islanding Operation)

สร้างแหล่งไฟฟ้าสำรอง เสริมความมั่นคง

นอกจากนี้ กฟผ. ยังดำเนินการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์หรือโซลาร์ฟาร์ม ขนาดกำลังผลิต 3 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ตำบลผาบ่อง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน และแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System: BESS) เพื่อเป็นพลังงานไฟฟ้าสำรองให้สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ทันทีเมื่อเกิดไฟตกไฟดับ ทำให้เมืองแม่ฮ่องสอนยังคงมีไฟฟ้าใช้อย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จปลายปี 2565

ขยาย Solar Rooftop ลดกำลังผลิตไฟฟ้าระบบหลัก 

โครงการนำร่องการพัฒนาสมาร์ทกริดที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนยังมีแผนติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคา หรือ Solar Rooftop ขนาดกำลังผลิตรวม 200 กิโลวัตต์ ให้กับหน่วยงานราชการในจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่ทำหน้าที่บริการประชาชน อาทิ เทศบาล โรงพยาบาล ที่ว่าการอำเภอ สถานีตำรวจ เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับหน่วยงาน รวมทั้งลดภาระของระบบส่งและกำลังผลิตไฟฟ้าในระบบให้กับเมืองแม่ฮ่องสอนอีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวสีเขียวของจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยจะจัดเตรียมรถบัสไฟฟ้า (EV Bus) และสถานีอัดประจุไฟฟ้าไว้ให้บริการประชาชน จัดสร้างศูนย์การเรียนรู้โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ กฟผ. แม่ฮ่องสอน เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานและศิลปวัฒนธรรมให้กับผู้สนใจ

โครงการนำร่องการพัฒนาสมาร์ทกริดที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนจึงไม่เพียงช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาพรวมของจังหวัดแม่ฮ่องสอนเท่านั้น แต่จะเป็นต้นแบบสำคัญของการพัฒนาระบบไฟฟ้าสำหรับพื้นที่สูงหรือพื้นที่ห่างไกลให้มีความมั่นคงทางพลังงาน ควบคู่กับการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอย่างมีเสถียรภาพ อีกทั้งยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศอีกด้วย

Source: ไทยโพสต์

ร้อนต่อเนื่อง ยอดใช้ไฟฟ้าพุ่งแตะ 3.06 หมื่นเมกะวัตต์อีกครั้ง จับตาพีคไฟฟ้าช่วงกลางคืน

อากาศร้อนต่อเนื่อง ดันยอดใช้ไฟฟ้าแตะหลัก 3 หมื่นเมกะวัตต์อีกครั้งในวันที่ 15 มี.ค. 2567 หลังเกิดยอดใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) ของไทยปี…

ข่าวจริง! MEA เปิดใช้ MEA EV Application มอบสิทธิพิเศษชาร์จไฟฟรี ถึง 30 มิ.ย. 65

การไฟฟ้านครหลวง เปิดใช้งาน MEA EV Application เวอร์ชันใหม่ ครบทุกเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าซึ่งเปิดให้ดาวน์โหลดฟรี สะดวก แม่นยำ ทันสมัย…

กบง. ปรับสูตรดีเซล ป้องกันราคาพุ่ง เริ่ม 21 พฤศจิกายน นี้

กบง. ปรับสูตรดีเซล หลังราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ปรับตัวสูงขึ้นมากจนกระทบต้นทุนไบโอดีเซล โดยกำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดาและน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 เพื่อช่วยเหลือประชาชน ป้องกันราคาพุ่ง เริ่ม 21 พฤศจิกายน…

Leave a Reply